Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550
ลำปาง : สาขาธนาคารไทยเก่าแก่ที่สุดในต่างจังหวัด ร่องรอยภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ             
โดย บัณรส บัวคลี่
 

   
related stories

SCB Way สู่ปีที่ 101 จาก Blue blood Banker สู่ Sales force
ทวิภพในพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย SCB's Collection Inspiration

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารไทยพาณิชย์

   
search resources

ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ.
Banking




ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง น่าจะเป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่มีเนื้อที่กว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่ง แม้จะตัดที่ดินส่วนที่เป็นชายธงขายทิ้งไปก่อนหน้า แต่ปัจจุบันก็ยังมีเนื้อที่เหลืออยู่กว่า 5 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารเก่าแก่อายุ 77 ปี และอาคารใหม่โอ่อ่าที่ให้บริการประชาชนชาวลำปางตั้งอยู่เคียงข้างติดกัน

อาคารเก่า เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคาร ขณะที่อาคารใหม่คือสำนักงานสาขาที่ให้บริการลูกค้ามายาวนานต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น

สาขาแห่งนี้นับเป็นสาขาในต่างจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดของบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ที่ยังเหลืออยู่ เพราะ 2 สาขาแรกก่อนหน้า คือ สาขาทุ่งสง และสาขาเชียงใหม่ใช้วิธีเช่าและย้ายไปสร้างสำนักงานแห่งใหม่

ขณะที่สาขาลำปาง ที่เปิดทำการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2473 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี เป็นสาขาที่ทางธนาคารได้จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างเอง จึงยังสามารถรักษาอาคารสำนักงาน และเครื่องมืออุปกรณ์ตลอดจนร่องรอยการดำเนินธุรกรรมในต่างจังหวัดตกทอดมาถึงยุคนี้ได้

แต่ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคที่สำคัญทั้ง 2 แห่ง ทั้งที่ทุ่งสง และ เชียงใหม่ แทบจะไม่เหลือรูปรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ติดตามภารกิจของคนยุคนั้น

หากมองย้อนหลังกลับไปในยุคกว่า 80 ปีก่อน หัวเมืองต่างๆ ในภูมิภาคปัจจุบัน ก็คือชุมชนขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนมีขนาดเศรษฐกิจขนาดเล็กไม่คุ้มกับการออกไปตั้งสาขาในพื้นที่

ในยุคนั้นเป็นยุคปลายของขบวนการปฏิรูปการปกครอง กระชับอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 อำนาจรัฐส่วนกลางจากกรุงเทพฯ ออกไปตั้งหน่วยงานและองค์กรในพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทางการปกครอง การศึกษา ตลอดถึงระบบการเงินการคลังให้เป็นไปตามแบบแผนเดียวกัน

ทางรถไฟ เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่เป็นพลังหลักในกระบวนการเชื่อมโยงหัวเมืองกับอำนาจรัฐศูนย์กลางในยุคที่ถนนหนทาง หรือแม้แต่การเดินทางด้วยเรือยังล่าช้า ล้าสมัย

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจใหม่ในหัวเมืองจึงตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีทางรถไฟผ่าน หรือเป็นแหล่งชุมทางสำคัญ

อย่างเช่นที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสาขาแห่งแรก เปิดเมื่อ พ.ศ.2463 เป็นชุมทางรถไฟ เป็นที่จอดพัก ซ่อมบำรุงของรถไฟในภาคใต้ ทางหนึ่งสามารถแยกไปตัวเมืองนครศรีธรรมราช อีกทางหนึ่งดิ่งลงไปถึงภาคใต้สุดเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ทุ่งสง จึงเป็นแหล่งชุมทางการขนส่ง แร่ดีบุก เพื่อขนส่งไปถลุงที่เมืองปีนังต่อ

ขณะที่ทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งแรกก่อสร้างมาหยุดอยู่ที่จังหวัดลำปาง นานกว่า 12 ปี เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2461

ในระหว่างนั้น ทางรถไฟเป็นปัจจัยผลักดันให้ลำปาง ที่เดิมมีทำเลภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางบกระหว่างหัวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนอยู่เดิมแล้ว กลายเป็นเมืองศูนย์กลางหลักของการคมนาคมเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

หน่วยงานสำคัญๆ ในระดับภาคที่จัดตั้งจากรัฐ อาทิ ศูนย์กลางการทหาร ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ถูกตั้งขึ้นที่นี่ก่อนจังหวัดเชียงใหม่ และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงประมาณปี 2535-2540 จึงย้ายไปสู่เชียงใหม่ อาทิ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 (ภาคเหนือตอนบน) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หรือแม้แต่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือก็ถูกจัดตั้งขึ้นที่ลำปางก่อน เพิ่งย้ายไปอยู่เชียงใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

เอกสารของพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุถึงเหตุผลการก่อตั้งธนาคารสาขาในเชียงใหม่ และลำปาง หลังสาขาแรกในภาคใต้ได้เปิดดำเนินการว่า

"...ต่อมาอีก 7 ปี เมื่อพิจารณาเห็นว่า ในภาคเหนือของประเทศ กิจการป่าไม้ที่ชาวอังกฤษดำเนินการอยู่มีกิจการอย่างอื่นที่ต่อเนื่องกัน เช่น โรงเลื่อยเป็นจำนวนมากจึงได้เปิดสาขาขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อพบว่ากิจการผลิตใบยาสูบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงบ่มเป็นจำนวนมากในภาคเหนือเป็นธุรกิจ ที่สำคัญ จึงพิจารณาเป็นสาขาขึ้นที่จังหวัดลำปาง ใน พ.ศ.2473 นับได้ว่า แบงก์สยามกัมมาจลได้นำระบบธนาคารสาขาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคมีแหล่งเงินทุนที่สำคัญขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนในภูมิภาคมีการใช้เงินตราของไทยกันกว้างขวางมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกด้วย"

เชียงใหม่ และลำปาง เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในยุคนั้น เฉพาะที่ลำปาง มีกิจการไม้สักของต่างประเทศถึง 4 ราย คือ

1. บริษัท บริติชบอร์เนียว จำกัด (British Borneo Ltd.)
2. บริษัท บอมเบย์เบอร์มา จำกัด (Bombay Burma Trading coporation)
3. บริษัทสยามฟอร์เรสต์ จำกัด (Siam Forest)
4. บริษัท แอล.ที.เลียวโนเวนส์ จำกัด (L.T.Leonowens Ltd.)

ยุคนั้น พม่ายังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ จึงปรากฏว่ามีแรงงานชาวพม่า-กะเหรี่ยง-ไทใหญ่ ที่เป็นแรงงานในกิจการทำไม้จำนวนมากอพยพมาอยู่ในลำปาง

และที่สำคัญที่สุด แม้ว่ารัฐไทยจะพยายามปฏิรูปการเศรษฐกิจการเงินการคลังมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาถึงก่อนยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ทว่าเงินบาทของไทยกลับยังไม่มีบทบาทในพื้นที่ภาคเหนือ

ในยุคนั้น อันเป็นยุคที่ทางรถไฟเพิ่งจะเชื่อมไปถึงพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังเป็นพื้นที่ใกล้ชิดกับพม่า ดินแดนในปกครองอังกฤษ แถมยังมีกิจการทำไม้สักมาดำเนินกิจการอยู่ทั้ง 2 หัวเมืองหลัก กิจการของมิชชันนารีตะวันตก ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นกิจกรรมสมัยใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูง

บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดจึงต้องมีบทบาทสำคัญทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการสถาปนาระบบการเงินยุคใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน ด้วยการกระตุ้นให้คนในพื้นที่หันมาใช้เงินบาทแทนเงินรูปี ซึ่งตะวันตกนำมาใช้ และมีอิทธิพลครอบคลุมภาคเหนือตอนบนทั้งภาค

เรื่องดังกล่าวมาจากปัจจัย 2 ด้านผนวกกัน ด้านแรกคือความเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับอิทธิพลของอังกฤษและธุรกิจทำไม้

อีกปัจจัยหนึ่งคือ รัฐไทยเองไม่สามารถจะส่งเงินตราไทย กระจายเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางพอเพราะไม่มีกลไกดำเนินการ

เอกสารของพิพิธภัณฑ์ระบุว่าในยุคนั้น "เงิน 1 บาทแลกเป็นเหรียญไทยได้เพียง 95 สตางค์เท่านั้น"

บันทึกประวัติหลายชิ้นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะคนไทยคนแรกที่ถูกส่งมาทำหน้าที่ผู้จัดการ บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง ในยุครอยต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลานานถึง 8 ปี (2486) ระบุว่า หน้าที่หนึ่งในฐานะผู้จัดการสาขาทำก็คือ

"หาทางให้คนไทยหันมาใช้เงินบาทไทยแทนเงินรูปีของพม่า ซึ่งเคยเป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยทางภาคเหนือ"

ในอีกมุมหนึ่ง บทบาทหน้าที่ของบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ก็คือ การทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพทางการเงิน เป็นประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบาล

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความผูกพันกับจังหวัดลำปางมาก ผลงานหลายชิ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้กล่าวถึงชีวิตและเกร็ดความรู้เกี่ยวข้องกับลำปางบ่อยครั้ง ได้สรุปความเป็นลำปางยุคนั้นว่า

"ในลำปางมีพ่อเลี้ยงอยู่ 2 ประเภท คือ พ่อเลี้ยงค้าไม้ กับพ่อเลี้ยงค้าฝิ่น"

ในฐานะของผู้จัดการสาขา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงต้องมีสัมพันธ์ที่ดีกับ "พ่อเลี้ยง" ต่างๆ ในการบริการธุรกรรมการเงินให้ ซึ่งบางครั้งต้องเดินทางร่วมไปกับชาวต่างประเทศที่กิจการทำไม้ในป่า นั่นจึงเป็นที่มาของการขอแบ่งซื้อที่ดินบนดอยขุนตาลจากชาวอังกฤษที่ได้สัมปทานทำไม้ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวนหรือเขตป่าของรัฐ จึงปรากฏว่าบ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บนยอด ย.-2 ดอยขุนตาล เป็นที่แปลงเดียวที่มีเอกสารสิทธิมาถึงบัดนี้

หลักฐานน่าสนใจที่ยังปรากฏในพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลำปาง อีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงธุรกรรมการบริการการเงินให้กับลูกค้าผู้เป็น "พ่อเลี้ยงทำไม้" ก็คือ เอกสาร "สัญญาจำนองช้างเป็นประกัน" ซึ่งทางธนาคารได้เก็บรักษาไว้

เอกสารดังกล่าวคือหลักฐานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจท้องถิ่นภาคเหนือที่น่าสนใจ เพราะช้างคือทรัพย์สินที่มีค่าในการประกอบการชักลากไม้ของท้องถิ่น แม้ในระบบการเงินท้องถิ่นดั้งเดิมก็มักจะมีการจำนองช้างเพื่อกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลแล้ว เมื่อธนาคารพาณิชย์สมัยใหม่เข้ามาตั้งสาขาในพื้นที่ ก็เปิดให้บริการรับจำนองหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยใช้ชีวิตตลอด 8 ปี ที่ลำปางในอาคารแห่งนี้ด้วยจึงมีความผูกพันกับอาคารแห่งนี้เป็นพิเศษ

ศิริชัย ศิริสารกูล ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง คนปัจจุบัน ซึ่งเข้าบรรจุทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2525 ณ สาขาแห่งนี้ เล่าว่า เมื่อครั้งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ มักจะเดินทางมาพักผ่อนที่ภาคเหนือบ่อยๆ ทั้งที่บ้านขุนตาล ลำปาง และที่บ้านริมปิง เชียงใหม่ และมักจะปลีกเวลามาเยี่ยมบ้านพักเมื่อครั้งใช้ชีวิตที่ลำปางแห่งนี้ด้วย

"วันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เมื่อท่านมาลำปาง ก็มักจะมาแวะกินข้าวซอยร้านประจำ แล้วก็นั่งรถม้ามาที่นี่ แล้วก็มาเดินรอบๆ บ้าน เดินที่หน้าสนาม ...พอเช้าวันจันทร์ยามก็จะบอกพวกเราว่าท่านมา"

ด้วยความเป็นสำนักงานสาขาที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ในภูมิภาค และเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามประจำปี 2540 ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์อาคารไม้สักทองทั้งหลัง ก่อสร้างด้วยศิลปะผสมตามที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ระบุว่าเป็นอาคารรูปทรงอังกฤษ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

อาคารแห่งนี้จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้ชั้นล่างเป็นสำนักงานที่มีเคาน์เตอร์บริการ เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงห้องมั่นคง (ตู้นิรภัย) ที่ออกแบบก่อสร้างอย่างหนาแน่นเท่าที่ยุคนั้นจะสามารถทำได้ ขณะที่ชั้นบนเป็นที่พักของผู้จัดการสาขาซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้บรรจุอาคารแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัดลำปางอีกแห่งหนึ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us