ถึงเวลา "เจียรวนนท์" รุกหนักอสังหาฯ ดึงแลนด์แบงก์ ซี.พี. พัฒนาโครงการทุกรูปแบบ หลังโตแบบเงียบๆ จากออฟฟิศ ศูนย์การค้ามากว่า 20 ปี เชื่อมั่นประสบการณ์หลากหลาย ฐานะการเงินแข็ง ช่วยสร้างจุดแกร่ง เร่งสร้างผลงาน ซี.พี. แลนด์ ขึ้นแท่นดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ ควบคู่ ดีที กรุ๊ป ธุรกิจส่วนตัวลูกสาวเจ้าสัว ซี.พี. เดินหน้ารุกอสังหาฯ เต็มสูบ
น้อยคนนักที่จะคุ้นเคยกับชื่อของ “ซี.พี. แลนด์” หนึ่งในธุรกิจพัฒนาที่ดินของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งวงการธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปเมืองไทย แม้จะมีฐานะเป็นหนึ่งในบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ตาม โดย ซี.พี. แลนด์ มีประสบการณ์ในการลงทุนและดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือฯ มาแล้วกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า เช่น อาคารสำนักงาน ซี.พี. ทาวเวอร์ 1 และ 2, โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน, ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์,ศูนย์การค้าไอที มอลล์ อีกทั้งยังมีการสะสมแลนด์แบงก์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก รอเพียงเวลาเหมาะสมที่จะหยิบขึ้นมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งสะท้อนได้ว่า ธนินท์ ให้ความสนใจกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานาน
ประสบการณ์ของ ซี.พี. แลนด์ เริ่มมาจากการพัฒนาอาคารสำนักงานย่านสีลม “ซี.พี. ทาวเวอร์ 1” ก่อนจะขยับไปพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่ คือ อาคารฟอร์จูนทาวน์ ถ.รัชดาภิเษก บริเวณสี่แยกพระราม 9 ซึ่งพื้นที่เช่ารวมนับ 100,000 ตร.ม. ขณะนี้มีอัตราการเช่า 100% สามารถสร้างรายได้จากค่าเช่ามาหล่อเลี้ยง ซี.พี. อย่างต่อเนื่องได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน อย่างครบวงจร
นอกจากนี้ยังพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ทั้งลงทุนเอง หรือจับมือพัฒนาร่วมกับพันธมิตรเป็นบางโครงการ แต่ก็เป็นการพัฒนาแบบเงียบๆ ไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เช่น ตึกอับดุลราฮิม อาคารสำนักงานบน ถ.พระราม 4 ที่ ซี.พี. แลนด์ พัฒนาเสร็จแล้วขายให้นักลงทุนต่อทันที เนื่องจากมีความจำเป็นต้องสร้างรายได้เข้าบริษัทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
ในส่วนของ ซี.พี. แลนด์ มีแลนด์แบงก์ในมือรวมกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งปลอดภาระผูกพัน เมื่อบวกกับประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มายาวนาน เอาตัวรอดผ่านห้วงเวลาแห่งวิกฤตมาได้หลายครั้ง จนมีบริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง ทำให้ ซี.พี. แลนด์ พร้อมที่จะประกาศลุยอสังหาริมทรัพย์อย่างเป็นทางการ ซึ่ง ธนินท์ มีแนวคิด อยากจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ในทุกรูปแบบทั้งอาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีแผนที่ชัดเจน
สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด กล่าวว่า ต่อจากนี้จะเริ่มทยอยนำแลนด์แบงก์ที่มีอยู่พัฒนาอย่างเต็มที่ เพราะบริษัทฯ มีความพร้อมทั้งฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนในระดับต่ำอยู่ที่ 0.8:1 รวมทั้งประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรูปแบบ รวมทั้งมีธุรกิจรับบริหารการก่อสร้างของโครงการต่างๆ โดยแผนการลงทุนในปีนี้มี 5 โครงการ ภายใต้งบลงทุนกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ใช้เวลาพัฒนา 1-2 ปี ได้แก่
1.อาคารสำนักงาน ซี.พี. ทาวเวอร์ 4 และศูนย์การค้าแนวราบ ในลักษณะช็อปปิ้งอาเขต บนที่ดิน 50 ไร่ติดกับโลตัส จ.ขอนแก่น ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท
2.คอนโดมิเนียมบนที่ดิน 30 ไร่ริม ถ.สุขุมวิท ย่านพัทยาใต้ จำนวน 700 ยูนิต ราคาขายต่อยูนิต 1.9 ล้านบาทขึ้นไป เจาะกลุ่มชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า ใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท โดยจะเอ๊าท์ซอร์ซให้ 2 บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำตลาดแยกกันดูแลลูกค้าคนไทยและลูกค้าชาวต่างชาติ
3.คอนโดมิเนียมบนที่ดินข้างโลตัส ถ.ศรีนครินทร์ จำนวน 550 ยูนิต มูลค่า 700 ล้านบาท 4.โครงการ Cozy Park ถ.ประชาร่วมใจ มีนบุรี บนพื้นที่ 70 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวสไตล์ทรอปิคอล คอนเทมโพรารี่ จำนวน 274 ยูนิต พื้นที่ใช้สอย 50-100 ตร.วา ราคา 2.5 ล้านบาทขึ้นไป มูลค่า 960 ล้านบาท 5.โครงการบนที่ดิน 69 ไร่ข้างโลตัส จ.นครศรีธรรมราช ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางรูปแบบการพัฒนาโครงการ
สำหรับแลนด์แบงก์แปลงอื่นๆ สุนทร กล่าวว่า ในอนาคตจะทยอยนำแลนด์แบงก์ของบริษัทฯ หรือของบริษัทในเครือฯ ที่มีความเหมาะสมออกมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนชัดเจน เพราะอยู่ในระหว่างศึกษารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม รวมทั้งมีความพร้อมที่จะซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่น่าสนใจ
ในอนาคต ซี.พี. แลนด์ ยังตั้งเป้าที่จะก้าวไปสู่การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายใน 2 ปี ซี่งการที่บริษัทฯ เติบโตมาจากรายได้จากค่าเช่า สุนทร กล่าวว่า “เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของดีเวลลอปเปอร์ก่อนที่จะก้าวไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ระยะยาวที่แน่นอนมาหล่อเลี้ยง นอกเหนือจากรายได้จากการขาย ซึ่งปัจุบันบริษัทฯ มีรายได้จากค่าเช่าต่อปีกว่า 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้รวม และต่อจากนี้ ซี.พี. แลนด์ จะปูพื้นด้วยการมุ่งทำตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-บนขึ้นไป โดยเน้นเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพในการบริหารโครงการและต้นทุน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะสำหรับ ซี.พี. ชื่อเสียงเป็นเรื่องสำคัญ สังคมต้องให้การยอมรับ”
นอกจากนี้ในด้านของบริษัท ดีที กรุ๊ป ที่มี ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ บุตรสาวของธนินท์ นั่งในตำแหน่งประธานบริหาร แม้จะเป็นธุรกิจส่วนตัวที่อยู่นอกเครือก็ตาม แต่ก็น่าจะเป็นส่วนผลักดันให้ตระกูลเจียรวนนท์ต่อจากนี้เป็นที่น่าจับตามากขึ้นในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เพราะในมีการทำธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, สถาปัตยกรรม, ออกแบบภายใน และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งในช่วงหลังเริ่มมีการรุกตลาดอย่างเปิดเผยมากขึ้น เช่น แมกโนเลียส์ บ้านเดี่ยวระดับบนและคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ในย่านบางนา-ตราด, The Muse คอนโดมิเนียม ซ.สุขุมวิท 64/1 โดยปีนี้มีแผนจะพัฒนาคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่องอีก 2 โครงการ และเตรียมพัฒนาบ้านประหยัดพลังงาน ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทถึง 3 ล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ในทำเลชานเมืองที่สามารถเดินทางได้สะดวก ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปลายปี 2551 ทั้งนี้ ดีที กรุ๊ป ได้ตั้งเป้าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกันภายใน 3 ปี
|