ประเทศไทยขณะนี้กำลังทดสอบแนวความคิดใหม่ที่อีกหลายประเทศยังไม่ทำกัน ก็คือการให้สัมปทานเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
โดยเฉพาะสัมปทานในโครงการด้านการจราจร และขนส่งขนาดใหญ่อันเป็นความผูกพันระหว่างนักการเมืองกับนักลงทุนข้ามชาติอย่างมาก
นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลพวงแห่งนโยบายการให้สัมปทานอย่างไม่มีประสิทธิภาพในรัฐบาลชุดพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณได้กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ในอนาคตของระบบการจราจร และขนส่งในกรุงเทพมหานครที่ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไร้ทิศทางและอาจจะประสบความล้มเหลวในที่สุด
จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ความสิ้นหวังขั้นวิกฤตของระบบการจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร
ก็ได้ปรากฏเป็นปัญาที่นำความสูญเสียโอกาสพัฒนาประเทศอันมีค่าใหญ่หลวงมาสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย
และต่อไปในอีก 9 ปีข้างหน้านี้หรือราวปี 2543 คนกรุงเทพจะยิ่งประสบความวิบัติอย่างรุนแรงด้านจราจรและขนส่ง
เพราะกรุงเทพ จะเป็นมหานครที่แออัดไปด้วยประชากร 10 ล้านคน มีรถยนต์ ส่วนบุคคลเพิ่มอีกเท่าตัวจาก
560,000 คันในขณะนี้เพิ่มเป็น 1,200,000 คันในปี 2540 และความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดยั้ง
ในอีก 6 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านเที่ยวต่อวันเป็น 23 ล้านเที่ยวต่อวัน
ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติจึงได้ว่าจ้างบริษัท
HFA HALCROW FOX AND ASSOCIATES ซึ่งเป็นเครือของ PPK PAK POY & KNEEBONEPTY
LTD และ AECASIAN ENGINEERING CONSULTANTS CORP.LTD ทำการศึกษาการจราจรและขนส่งในเขตเมืองและภูมิภาคที่จะบรรจุในแผนพัฒนาฯฉบับที่เจ็ด
(ระหว่างปี2535-2539(หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "SPURT" (SEVENTHPLANURBANANDREGIONAL
TRANSPORT)
ตามแผนการศึกษาของ HFA คาดว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 230,000,000,000 บาท
โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นของเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางจราจรและขนส่ง ด้วยการลงทุนสร้างโครงการขนาดใหญ่
ซึ่งปัจจุบันมีถึง 9 โครงการภายใต้การบริหารโครงการของหน่วยงานรัฐต่างๆ
โครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของการเดินทางในทศวรรษหน้าได้แก่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของทั้งลาวาลิน
โฮปเวลล์และล่าสุดโครงการรถรางไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์การส่งเสริมสภาพคล่องทางการจราจรและขนส่งในระยะยาวของคนกรุงเทพ
แต่กว่าฝันจะกลายเป็นจริงได้ เพราะระบบเครือข่ายรถไฟ้ฟ้าขนส่งมวลชนทั้งระบบจะเปิดบริการใช้ได้ก็ล่วงเข้าสิ้นปี
2540 ซึ่งถึงเวลานั้นจราจรกรุงเทพก็อัมพาตเสียแล้ว
จากการศึกษาเรื่องการให้สัมปทานเอกชนทำโครงการจราจรและขนส่ง HFA ให้สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่ผิดพลาดสำคัญ
ๆ ของโครงการขนาดยักษ์เหล่านี้ไว้สี่ข้อคือ
หนึ่ง -โครงการเกือบทั้งหมด โดยเนื้อแท้แล้วมีผลตอบแทนทางการเงินไม่คุ้มค่า
ถ้าหากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่า เงินนี้จะให้เมื่อใดและจำนวนเท่าใด
สอง -ยังไม่มีระบบการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เพราะรัฐบาลปล่อยโครงการต่าง
ๆ ไปตามสถานการณ์ ทำให้โครงการสัมปทานของเอกชนแข่งขันกันเองมากมาย เป็นการวางแผนระบบจราจรขนส่งที่ไม่ดีเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงและยุ่งยากในการก่อสร้าง
สาม -รัฐบาลได้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดหวังมาก่อนจากโครงการสัมปทาน
และเป็นการเสี่ยงที่รัฐบาลอาจต้องรับภาระจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลนับหลายพันล้านบาท
จากคำฟ้องร้องของผู้ได้สัมปทานได้
และสี่ -อาจจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน
"รัฐบาลชุดที่แล้วทำเสียไว้มาก" แหล่งข่าวที่เป็นคนทำงานที่เกี่ยวข้องในโครงการสัมปทานเอกชนรายหนึ่งบ่นให้ฟัง
ผู้รับกรรมในบั้นปลายก็ไม่พ้นคนใช้รถใช้ถนนที่เดือดร้อนไปทั่วทุกหนแห่งนั่นเอง
ฉะนั้นการพัฒนาโครงการจราจรและขนส่งมูลค่านับแสนล้านนี้ หากขาดซึงกรอบนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนแน่นอน
จึงเสมือนหนึ่งยิ่งแก้ปัญหาจราจรก็ยิ่งยุ่ง จนกระทั่งกลายเป็นจลาจลไปในที่สุด