คนอำเภอระโนดโดยเฉพาะคนที่เลี้ยงกุ้งโดยเป็นสมาชิกในโครงการของแอควาสต์ย่อมรู้จักฝรั่งพูดไทยตัวสูง
ๆ ท่าทางสุภาพเรียบร้อย พูดจานิ่มนวลเป็นมิตรกับทุกคน
เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาฝรั่งที่ใคร ๆ ในละแวกนี้เรียกว่า "คุณกานต์"
คนนี้ เข้ามาทำความรู้จักตีสนินกับขาวอำเภอระโนด โดยมีเป้าหมายเพื่อชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิกในโครงการนี้เลี้ยงกุ้งของแอควาสตาร์
"ผมเอาสไลด์ไปฉายที่วัด เป็นบทเรียนของไต้หวัน ให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เสียหายไปจากการเลี้ยงกุ้งจนเลี้ยงต่อไปไม่ได้
ผมจะเริ่มต้นว่าอาชีพนี้ถ้าจัดการไม่ถูกต้องจะทำให้เลวลง แต่ในขณะเดียวกันถ้าทำดี
จะมีรายได้งดงาม" คูนซ์ย้อนอดีตไปครั้งที่ชาวระโนดยังไม่รู้จักกุ้งกุลาดำเลย
กานต์ คูนซ์ เป็นคนอเมริกัน เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อเป็นบาทหลวงในวอชิงตัน
ดีซี ตัวเขาเองร่ำเรียนมาทางด้านปรัชญาอิทธิพลจากครอบครัว และการศึกษาทำให้เขามีแนวความคิดไปในทางมนุษยธรรม
ความรัก ความเมตตา และการอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข
หลายคนที่เคยรู้จักพูดคุยกับเขาบอกว่า เขาเหมือนบาทหลวง
คูนซ์สมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการอาสาสมัครเพื่อสันติภาพหรือ PEACE CORPS
เมื่อเรียนจบ ตอนนั้นมีประเทศให้เขาเลือกสามแห่งคือ ฟิจิ ฟิลิปปินส์ และไทย
สองประเทศแรกคนที่เลือกไปต้องไปสอนภาษาอังกฤษ เขาเลือกมาไทยเพราะต้องการมาทำงานทางด้านการเกษตร
คูนซ์ เดินทางมาเมืองไทยเป้นครั้งแรกในฐานะอาสาสมัคร PEACE CORPS เมื่อ
พ.ศ. 2512 พื้นที่ปฏิบัติงานของเขาคือบุรีรัมย์หน้าที่ความรับผิดชอบคือคอยให้ความช่วยเหลือ
คำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงหมูแก่ชาวบ้าน
ด้วยความสุภาพเรียบร้อย อัธยาศัยไมตรีและความจริงใจ ไม่นานนักเขาก็เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน
หนึ่งในจำนวนนั้นที่รักเขาและเขารักมากกว่าใครเป็นสาวชื่อสุจินต์ อีกสิบปี่ต่อมาทั้งสองก็แต่งงานกันและมีลูกด้วยกัน
2 คนแล้ว
คูนซ์บอกว่า เขารักและอยากจะใช้ชีวิตอยู่กับงานเกษตร หลังจากหมดสิ้นระยะเวลาการทำงานเป็นอาสาสมัครแล้วเขากลับไปเรียบต่อทางด้านการเกษตรเพิ่มเติมที่สหรัฐฯ
กลับมาเมืองไทยคราวนี้เขาไปทำไร่มะเขือเทศอยู่ที่กาญจนบุรี แต่ไม่นานนักก็ย้ายไปทำงานกับบริษัท
อาดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ทำไร่ยาสูบทางภาคอีสาน
ที่นี่คูนซ์ได้ทำงานตามความใฝ่ฝันของเขาอย่างเต็มที่ เขาริเริ่ม และพัฒนาโครงการใบยาสูฐพันธ์เตอร์กิชเพื่อส่งไปขายให้กับบริษัท
ฟิลลิป มอริส ผู้ผลิตบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโลในอเมริกา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ถึง
4,000 คน
จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากมายเช่นนี้ทำให้ต้องนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ช่วยบริหารงาน
สมรรถภาพอันน่าทึ่งของเจ้าเครื่องสมองกลนี้ทำให้คนที่คลุกอยู่กับท้องนาท้องไร่อย่างเขา
"บ้า" ไปกับคอมพิวเตอร์ด้วย จนต้องลาไปเรียนอย่างจริงจังที่แคลิฟอร์เนียเป็นเวลาหนึ่งปี
กลับมาเมืองไทยอีกที บริษัท อดัมส์เปิดกิจการขายคอมพิวเตอร์ในนาม บริษัท
แอ็คชั่น ขึ้นเป็นตัวแทนขายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ เอทีแอนด์ที คูนซ์เลยได้ลองวิชาที่เรียนมาด้วยการเป็นผู้บริหารอยู่ที่นี่ถึง
5 ปีเต็ม
ความที่รักในงานเกษตรมากกว่าทำให้เขาหวนกลับไปหามันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เขาไปริเริ่มโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้กับแอควาสตาร์ที่อำเภอระโนด
ใช้ชื่อโครงการว่า "เพื่อนร่วมพัฒนา"
"หลักก็คือ ให้เจ้าของเป็นผู้ทำฟาร์มหรือเป็นผู้เลี้ยง เกษตรกรที่ไม่มีอะไร
มีแต่ที่ดินและความขยันถ้าเราให้การสนับสนุนเขา เราเชื่อว่าเขาทำได้ ผลิตสินค้าที่คนทั้งโลกยอมรับในคุณภาพ
เรามั่นใจเพราะเราเคยทำมาเราจึงลงไปที่ภาคใต้" คูนซ์กล่าว
จากที่นาว่างเปล่าที่ไม่เคยให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยภายในเวลาสามปีนับจากปี
2530 กลายมาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งจำนวน 310 บ่อ มีเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของที่นานั้นมาร่วมโครงการ
302 คน ชาวบ้านที่มาร่วมโครงการได้จับเงินหมื่น เงินแสนเป็นครั้งแรกในชีวิต
จากรายได้เฉลี่ยบ่อละหนึ่งล้านหกแสนบาท หักต้นทุนการเลี้ยง เงินที่กู้มาสร้างบ่อพร้อมดอกเบี้ย
มีรายได้เข้ากระเป๋ากันคนละสามแสนบาทต่อปี
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมากานต์ คูนซ์ไม่ค่อยจะมีความสุขนักจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมโครงการกับแอควาสตาร์
เขาตกอยู่ในฐานะคนกลางระหว่างเกษตรกรกับบริษัท
ในความเป็นกานต์ คูนซ์ที่คนรักสงบ อยากเห็นการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับกานต์
คูนซ์ที่เป็นตัวแทนแอควาสตาร์ซึ่งมีผลประโยนช์ทางธุรกิจต้องปกป้องรักษา เขาถูกสร้างภาพให้เป็นคนบาปที่อยู่ในคราบของนักบุญอย่างช่วยไม่ได้
ครั้งหนึ่งในการประชุมร่วมกับ นิพนธ์ บุญญภัทรโร ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
เขาถูกกดดันอย่างหนักจนถึงกับต้องหลั่งน้ำตาและอีกครั้งหนึ่งที่การเจรจาลัมเหลว
เขาถึงกับเอ่ยาขึ้นมาอย่างท้อแท้ว่า แม้แต่คนที่เป็นเพื่อนรักกันมาแต่บังเอิญมีฐานะเป็นเกษตรกรที่ร่วมอยู่ในความขัดแย้งด้วยก็ยังหันหลังให้เขา
"คุณกานต์เป็นคนดี พวกเรารักเขาเพราะทำให้เราเลี้ยงกุ้งได้แต่ตอนนี้มีปัญหาขัดแย้งกันอยู่
ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร" เกษตรกรรายหนึ่งในโครงการพูดถึงความรู้สึกของตนเองและเพื่อน
ๆ ที่มีต่อคูนซ์
การนต์ คูนซ์พูดถึงความคิดของเขาในการดำเนินโครงการนี้ว่า เป้นการนำเอาอุดมการณ์ในการพัฒนามารวมกับผลประโนชน์ทางธุรกิจเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจเพื่อให้ได้ประโยนช์สูงสุด
"เหมือนน้ำกับน้ำมันที่รวมกันไม่ค่อยได้ แต่ต้องรวมกันให้ได้"
ถึงวันนี้เขาคงมีคำตอบให้กับตัวเองว่าความคิดทั้งสองย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นจะมารวมกันได้หรือไม่
การบุกเบิกของเขาตั้งแต่แรกทำให้แอควาสตาร์มีฐานการผลิตที่แน่นอนในระดับหนึ่งแล้ว
เพียงพอที่จะป้อนให้กับห้องเย็น นี่คืองานในขั้นพัฒนาซึ่งต้องนับว่าคูนซ์ทำได้สำเร็จ
แต่เมื่อถึงจุดที่จะต้องขยายต่อไป ผลประโยชน์ทางธุรกิจเริ่มเข้ามาครอบงำมากขึ้น
เหตุการณ์ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าแนวทางประนีประนอมของเขานั้นทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนาน
ช่วงเวลาของการบุกเบิกด้วยแนวความคิดแบบพัฒนาของแอควาสตาร์ได้จบลงแล้ว
แนวความคิดแบบธุรกิจกำลังเข้ามาแทนที่ แอควาสตาร์ไม่จำเป็นต้องใช้คนอย่างคูนซ์อีกต่อไปแล้ว
ชาวบ้านรู้แล้วว่าการเลี้ยงกุ้งมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขาและจะต้องเลี้ยงแบบไหน
สำหรับกานต์ คูนซ์ เวลาของเขาหมดลงแล้ว
กานต์ คูนซ์ ยื่นใบลาออกจากแอควาสตาร์เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากไม่สามารถหาข้อยุติในปัยหาความขัดแย้งกับเกษตรกรได้
แต่คณะกรรมการของแอควาสตาร์ยับยั้งใบลาไว้ และให้ลดบทบาทที่ระโนดลง
ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะอยู่กับแอควาสตาร์ไปได้นานอีกเท่าไร จากนี้ไปฝรั่งพูดไทย
ตัวสูง ๆ พูดจานิ่มนวล เป็นมิตรกับทุกคน ที่ใคร ๆ เรียกกันว่า "คุณกานต์"
คนนี้อาจจะมีตัวตนเป็นแค่ความทรงจำของชาวระโนดเท่านั้น