Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2534
กุ้งกุลาดำ จากสามสมุทรถึงแผ่นดินผืนสุดท้ายบนฝั่งอันดามัน             
 


   
www resources

Unicord Public Company Limited Homepage

   
search resources

วีระศักดิ์ ช่วยพัฒน์
Agriculture
Environment
ยูนิคอร์ดอควาเทค




การเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็เหมือนกับการทำไร่เลื่อนลอย ที่ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่ทำกินไปเรื่อย เมื่อที่เดิมหมดสภาพ วันนี้ธุรกิจกุ้งกุลาดำเคลื่อนตัวลงใต้จนครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกตารางนิ้วแล้ว บางแห่งเพิ่งจะเริ่ม แต่หลาย ๆ แห่งเริ่มนับถอยหลังแล้ว ไม่มีใครรู้ว่า ธรรมชาติจะปราณีให้อาชีพนี้มีอายุที่ยืนยาวเพียงใด

ว่ากันว่า อาชีพที่ลงทุนลงแรงไปแล้วได้ผลตอบแทนสูงและรวดเร็วที่สุดมีอยู่สองอย่างคือขายเฮโรอีนและเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ถ้าเป็นเมื่อสามสี่ปีที่แล้วที่ราคากุ้งอยู่ระหว่าง 250-280 บาทต่อกิโลกรัมพูดอย่างนี้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าไหร่นัก

แต่แม้ว่าราคากุ้งในตอนนี้ จะลดลงมาอยู่ระหว่าง 160-180 บาทต่อกิโลกรัม อาชีพนี้ก็ยังให้ผลตอบแทนที่งดงามกว่าอาชีพอื่นใดที่ถูกกฎหมายที่เป็นเช่นนี้ก็ เพราะกุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น

ถึงตอนนี้ไทยผลิตกุ้งได้ประมาณปีละ 100,000 ตัน 95% ถูกส่งออกไปต่างประเทศเกือบ 60% ของจำนวนนี้ส่งไปที่ญี่ปุ่นซึ่งนิยมกินกุ้ง แถมมีกำลังซื้อสูงที่จะบริโภคอาหารราคาพงแบบนี้ได้ อีกราว ๆ 20% ส่งไปที่สหรัฐอเมริกา

ญี่ปุ่นบริโภคกุ้งร้อยละ 22 ของกุ้งที่ทั้งเลี้ยงและจับตามธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ซึ่งบริโภคในอัตราร้อยละ 25 แต่ญี่ปุ่นนำเข้ามากกว่าคือนำเข้าร้อยละ 90 ของการบริโภค โดยนำเข้าจาก 5 ประเทศเป็นหลักคือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ไทย และไต้หวัน กุ้งไทยมีส่วนแบ่งประมาณ 15% ในตลาดญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้กุ้งกุลาดำจึงเป็นสินค้าภาคเกษตรกรรมตัวสำคัญในระยะสามสี่ปีมานี้ ปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกสูงถึง 19,200 ล้านบาท

กุ้งกุลาดำเลี้ยงกันมานานแล้วในไทย แต่ว่าเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติคือในพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง เวลาน้ำขึ้น เชื้อกุ้งและอาหารกุ้งตามธรรมชาติจะลอยมากับน้ำด้วยชาวบ้านจะทำคันดินกักน้ำไว้เหมือนการทำนาเกลือ แล้วก็ปล่อยให้กุ้งโตตามธรรมชาติ อาจจะให้อาหารเสริมบ้าง ถึงเวลาก็จับขาย

สมนึก เวชประเสริฐ กับหัสนัย กรองแก้วเป็นคนไทยสองคนแรกที่บุกเบิกการเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยไปทำฟาร์มให้กับบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ที่คลองด่าน สำโรง แต่ว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไร ปัจจุบันสมนึกทำงานอยู่กับบริษัท อินอาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและรับจ้างเลี้ยงกุ้ง ส่วนหัสนัยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำขององค์การอาหารโลก (FAO) หลังจากร่วมงานกับสมนึกที่อินอาร์มได้ระยะหนึ่ง

วีระศักดิ์ ช่วยพัฒน์ ผู้จัดการบริษัทยูนิคอร์ดอควาเทค และนายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอีกคนหนึ่งที่บุกเบิงการเลี้ยงกุ้ง ปี 2529 เขาลงไปเลี้ยงกุ้งให้ฟาร์มของยูนิคอร์ดที่ปากแม่น้ำปราณบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 500 ไร่ เป็นการเลี้ยงแบบที่เรียกว่า กึ่งพัฒนา (SEMI INTENSIVE) คือปล่อยลูกกุ้งบาง ๆ แค่ 14 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารวันละ 2 มื้อ ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่ใช้ต้นทุนต่ำคือประมาณ 80 บาทต่อกุ้งหนึ่งกิโลกรัมในขณะที่การเลี้ยงแบบพัฒนา (INTENSIVE) มีต้นทุนระหว่าง 110-120 บาทต่อกิโลเพราะปล่อยกุ้งมากกว่า 30 ตัวต่อตารางเมตร ต้องให้อาหารวันละ 5-6 มื้อ

"ตอนนั้นคุณดำริห์ คิดว่าหัวใจของการเลี้ยงกุ้งที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้คือต้องมีต้นทุนต่ำที่สุด" วีระศักดิ์พูดถึงที่มาของการเลี้ยงกุ้งแบบนี้ ดำริห์ที่เขาพูดถึงคือดำริห์ ก่อนันทเกียรตินั่นเอง

ฟาร์มยูนิคอร์ดที่กุยบุรีให้ผลผลิตไร่ละ 500 กิโลกรัม ถือว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร มีการเผยแพร่วิธีการเลี้ยงออกไป ข้อสรุปจากการเลี้ยงในครั้งนี้คือ จะเลี้ยงกุ้งให้ได้ดีต้องเลี้ยงในน้ำกร่อยมีระดับความเค็มที่ 15

พื้นที่ที่จะเป็นน้ำกร่อยตามธรรมชาติคือ ปากแม่น้ำ ที่ที่เหมาะสมและใกล้มือที่สุดในตอนนั้นคือนาเกลือในย่านมหาชัย แม่กลอง ที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมาผสมกับน้ำจืดในแม่น้ำ ลำคลอง

"หลังจากที่ผมไปพูดในที่ต่าง ๆ เพียงหกเดือนพื้นที่แถบนี้ก็เต็มไปด้วยนากุ้ง" วีระศักดิ์กล่าว แต่ฟาร์มที่กุยบุรีในระยะต่อมานั้นได้ผลผลิตไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะไม่ได้คิดคำนวณในเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงเอาไว้ก่อนทำให้มีปัญหาในการถ่ายเทน้ำ ปลายปี 2532 การเลี้ยงกุ้งก็ต้องยุติลง ที่ดิน 500 ไร่นี้ปัจจุบันกำลังประกาศขายอยู่

ช่วงปี 2528 บริษัทเพรสวิเดนท์ ฟีดจากในเครือต้าถุงแห่งไต้หวันเข้ามาสร้างโรงงานอาหารกุ้งที่มหาชัย พร้อมกับสร้างฟาร์มเลี้ยงกุ้งขึ้นที่คลองโคนแม่กลองด้วย ฟาร์มแห่งนี้นับได้ว่าเป็นต้นแบบการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในแถบมหาชัย แม่กลองก็ว่าได้ นักเลี้ยงกุ้งหลาย ๆ คนเริ่มต้นาจากการฝึกงานที่ฟาร์มแห่งนี้ก่อนที่จะไปลงทุนทำเอง

ไต้หวันนั้นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเทคโนโลยีในเรื่องการเลี้ยงกุ้งและอาหารกุ้ง เป็นประเทศที่เคยส่งกุ้งกุลาดำไปขายให้ญี่ปุ่นมากที่สุด ก่อนที่ธุรกิจนี้จะพังพินาศไปในปี 2530 เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม

การเข้ามาของเพรสซิเด้นท์ ฟีดนับได้ว่าเป็นการนำเอาการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาคือ ปล่อยลูกกุ้งหนาแน่น ให้อาหารวันละ 5-6 มื้อเข้ามาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในแถบที่เรียกว่าสามสมุทรคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก่อนที่เพรสซิเด้นท์ ฟีดจะเข้ามา ในพื้นที่เดียวกันซีพีเคยทำฟาร์มทดลองเลี้ยงกุ้งอยู่สามปี แต่มีปัญหาเรื่องน้ำเลยเลิกราไป

โดยเนื้อแท้แล้ว ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแอบแฝงอยู่ด้วยผลประโยชน์ของธุรกิจอาหารกุ้ง อาหารกุ้งมีราคาสูงกว่าอาหารสัตว์อื่น ๆ ถึงสี่เท่าตัวเพราะใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงและมีมาร์จินสูงถึง 20%

ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งหนึ่งกิโลกรัมจะเป็นต้นทุนค่าอาหารระหว่าง 40-50% ยิ่งมีคนเลี้ยงกุ้งมาก อาหารกุ้งก็ยิ่งขายดี การแนะนำการเลี้ยงกุ้งของเพรสซิเด้นท์ ฟีด จุดประสงค์หลักก็คือผลประโยชน์จากการขายอาหารกุ้ง ซีพีเองเคยประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้แรพ่หลายก็เพราะว่าเป็นตลาดรองรับธุรกิจอาหารกุ้งของตน

การเลี้ยงกุ้งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศไทยนับจากปี 2530 เป็นต้นมา จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลจากยุทธศาตร์การขยายธุรกิจอาหารกุ้งนั่นเองโดยเฉพาะพื้นที่ย่านมหาชัย แม่กลอง มีพื้นที่ถึง 30,000 ไร่ในปี 2532 ผลิตกุ้งได้ถึง 40% ของกำลังการผลิตทั่วประเทศ
แต่ชั่วระยะเวลาไม่ถึงสามปี พื้นที่นากุ้งก็พังพินาศเพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย การเลี้ยงกุ้งนั้นเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการเบียดบังธรรมชาตินั่นเอง ถึงจุดหนึ่งธรรมชาติต้านความโลภของคนไม่ไหว นากุ้งก็ถึงคราวอวสาน

สิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ น้ำ น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะมีของเสียพวกขี้กุ้ง เศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียอยู่มาก จะต้องมีการเปลี่ยนน้ำทุก ๆ วัน น้ำทิ้งจากบ่อกุ้งถูกถ่ายลงคลอง ส่วนน้ำใหม่ที่ถ่ายเข้าบ่อก็มาจากคลองเดียวกันนั่นแหละ เมื่อเลี้ยงกันมาก ๆ ของเสียที่ปล่อยลงคลองก็มากเกินกว่าธรรมชาติจะรับไหว น้ำที่ดูดเข้าไปในบ่อก็คือน้ำเสียที่ทิ้งออกมาจากบ่อข้างเคียง ในที่สุดน้ำทิ้งคลองก็ใช้เลี้ยงกุ้งไม่ได้อีกต่อไป

ความมักง่ายและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกรูปแบบหนึ่งคือ การฉีดเลนลงไปในคลอง หลังจากการจับกุ้งขาย ต้องมีการทำความสะอาดก้นบ่อ ซึ่งมักจะทำกันโดยการระบายหน้าดินลงไปในคลองเชื้อโรคที่อยู่ในดินก็เลยลงไปวนเวียนผสมกับน้ำเสียจากบ่อในคลองสายเดิม

เมื่อสมดุลทางนิเวศวิทยาถูกทำลาย ธรรมชาติก็ลงโทษถึงแก่ชีวิตของกุ้ง อันส่งผลมาถึงความย่อยยับของนักลงทุน พื้นที่แถวมหาชัย แม่กลองกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าตั้งแต่นั้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ผลผลิตลดลงไปเหลือไม่ถึง 10% จากเดิม

มีคนเปรียบการทำนากุ้งเหมือนการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อที่ที่เคยทำอยู่ทำต่อไปไม่ได้แล้วเพราะสภาพแวดล้อมเป็นพิษก็ต้องอพยพหาที่ใหม่ ธุรกิจกุ้งกุลาดำเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางตะวันออกแทน ตั้งแต่ชลบุรีไปจนถึงตราด ปัจจุบันผลผลิตในย่านนี้เป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ

ข้อจำกัดของพื้นที่แถบนี้คือ 1. ที่ดินมีราคาสูงจนไม่คุ้มต่อการลงทุนเลี้ยงกุ้ง เพราะอยู่ในย่านอีสเทอร์ซีบอร์ด โดยเฉพาะชลบุรีและระยอง 2. การเลี้ยงในจังหวัดระยองและจันทบุรี ส่วนใหญ่เลี้ยงตามปากแม่น้ำ สองจังหวัดนี้มีสวนผลไม้มาก เวลาฝนตก น้ำฝนจะชะล้างยาฆ่าแมลงลงไปในแม่น้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตกุ้ง 3. วงจรเดิมที่เคยเกิดขึ้นที่ภาคกลางกำลังกลับมา เมื่อเลี้ยงกันมาก ๆ เข้าสภาพแวดล้อมก็เสียได้ผลผลิตไม่ดี

พื้นที่ฝั่งตะวันออกยังไม่ใช่พื้นที่ดีที่สุดเพราะมีอ่าวอยู่หลายอ่าว เป็นอุปสรรคในการไหลเวียนของน้ำทะเลสู่ทะเลลึก

ขบวนการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเริ่มเคลื่อนย้ายลงใต้ซึ่งมีฝั่งทะเลยาวเหยียด ไล่กันลงไปตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดชุมพรไปจนถึงปัตตานี นราธิวาสแล้วในขณะนี้ ภาคใต้กำลังกลายเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งที่ใหญ่ขึ้นทุกที ปีที่แล้วมีกำลังการผลิตประมาณ 30% ของผลผลิตทั้งประเทศ

แหล่งเลี้ยงใหญ่ที่สุดคือ พื้นที่ในเขตอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชและอำเภอระโนดจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ติดกัน ความยาวชายฝั่งจาหัวไทรถึงระโนดยาว 70 กิโลเมตร พื้นที่ที่นำนากุ้งได้นับจากชายฝั่งขึ้นมา 2 กิโลเมตร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 200,000 กว่าไร่ ปัจจุบัน 70% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นนากุ้ง

พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่ดีที่สุดในประเทศไทยในการเลี้ยงกุ้ง เพราะอยู่ติดกับอ่าวไทยฝั่งตะวันตกและทะเลตรงนี้เป็นชายฝั่งยาวขนานเป็นเส้นตรงไปกับแผ่นดินโดยไม่มีอ่าวมาคั่น ทำให้น้ำไหลเวียนออกสู่ทะเลได้โดยตรง ในหน้ามรสุม ลงมรสุมจะพัดเอาน้ำซึ่งปล่องทิ้งจากบ่อกุ้งนับพัน ๆ บ่อออกไปสู่ทะเลลึก เป็นการบำบัดสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ

แต่อย่าลืมว่าไต้หวันเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเลทุกด้าน ก็ยังพังมาแล้วจากปัญหาสิ่งแวดล้อม "ตอนนี้ชายทะเลตั้งแต่ปากพนักลงไปจนถึงหัวไทรระโนดเต็มไปด้วยแบคทีเรีย" แหล่งข่าวในวงการนักเพาะเลี้ยงกุ้งรายหนึ่งเปิดเผย

อย่างไรก็ตามคาดว่าพื้นที่แถบนี้น่าจะเลี้ยงกันได้ถึง 10 ปี โดยประเมินกันอย่างง่าย ๆ จากการลงทุนของซีพีและแอควาสตาร์ในย่านนี้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลี้ยงกันอย่างถูกวิธี แยกน้ำดีและน้ำที่มหาชัยให้เร็วขึ้น

แต่สำหรับพื้นที่เหนือขึ้นไปคือ ที่อำเภอปากพนังและปากแม่น้ำนครจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีผู้เลี้ยงรายย่อยนับพันรายขณะนี้ได้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในภาคกลาง คือปัญหาน้ำเสีย ความสำเร็จและความล้มเหลวในย่านนี้อยู่ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50

จากฝั่งอ่าวไทย ธุรกิจเลี้ยงกุลาดำเดินทางข้ามคาบสมุทรไปยังฝั่งทะเลอันดามันซึ่งถือว่ายังเป้นดินแดนบริสุทธิ์อยู่ จังหวัดตรัง กระบี่ สตูล คือพื้นที่เป้าหมายที่บัดนี้บริเวณทะเลที่จะเลี้ยงได้ถูกจับจองไปหมดแล้ว ส่วนพังงานและภูเก็ตที่ดินมีราคาแพงเกินไป

พื้นที่ฝั่งอันดามันนี้ได้รับการคาดหมายว่าจะเลี้ยงได้นานที่สุด เพราะว่ามีพื้นที่น้อย ไม่สามารถเลี้ยงเป็นแปลงใหญ่ได้ เมื่อเลี้ยงน้อยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมก็น้อยลงไปด้วย ในขณะที่น้ำทะเลจะขึ้นลงเร็วมาก ครั้งละ 3-4 เมตร ทำให้กวาดเอาของเสียจากบ่อกุ้งออกไปได้หมด

ความจำกัดของพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะควบคุมการขยายตัวของพื้นที่การเลี้ยง ซึ่งจะรักษาสภาพแวดล้อมไปในตัว

อีกสิบปีข้างหน้าที่นี่อาจจะเป็นฟาร์มกุ้งกุลาดำแห่งสุดท้ายในประเทศไทยให้คนรุ่นหลังได้ดูเป็นอนุสรณ์ หลังจากที่ธุรกิจนี้ได้แผ่ขยายไปสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมทั่วทุกตารางนิ้วของชายฝั่งทะเลไทย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us