p> ธุรกิจด้านโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ผูกขาดโดยรัฐบาลมาโดยตลอด การที่มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการปล่อยเสรีให้เอกชนรายใดก็ได้
เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือผลประโยชน์ของรัฐ
นั่นย่อมหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่อาจสูญเสีย ไปด้วยในกรณีนี้
คำว่าเสรีต้องพิจารณาว่าเสรีอย่างไร เช่นที่อังกฤษการเปิดเสรีไม่ได้เสรีแบบใครก็ได้
แต่เป็นเสรีอย่างมีกติกา เขามีนโยบายเลยว่าจะมี 2 หน่วยงานคือหน่วยงานเก่าที่ดูแลเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน
และหน่วยงานใหม่ที่ถูกสร้างให้มีหน้าที่ให้บริการหลาย ๆ อย่างรวมถึงการให้สัมปทานเหมือนเมืองไทย
ส่วนอเมริกาเองจะเสรีอย่างไรในเมื่อประเทศเขายังแบ่งแยกออกเป็น 7 โซนโดยที่แต่ละโซนให้รายเดียวเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์
ในกรณีของญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการอยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ถูกแรงกดดันจากอเมริกาเข้าไป
ถ้าเราจะมองดูว่าเขาอยากจะขายของ เสรีของญี่ปุ่นคือญี่ปุ่นดูแลแต่ญี่ปุ่นต้องซื้อของจากคนอื่นบ้าง
ในประเทศที่เจริญแล้ว ปัญหาเรื่องโทรคมนาคมของเขาไม่เหมือนเรา เขาไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ
แต่เขามีปัญหาเรื่องการผูกขาดเรื่องอุปกรณ์ อย่างเช่น เอทีแอนด์ทีที่ทำเองซื้อเองขายเอง
คนอื่นทำไมซื้อ ดังนั้นจึงเกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้ลดการผูกขาดเรื่องการซื้ออุปกรณ์ลง
แต่เรื่องของการบริการยังคนมีการผูกขาด
มาในบ้านเรา เราต้องซื้ออุปกรณ์จากเขา เราจึงไม่มีการผูกขาดทางด้านนี้
ความจริงแรงกดดันไม่น่าจะมีผลกับเรามาก แต่ก็มี ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้ให้บริการในประเทศ
ๆ หนึ่งที่เจริญแล้วมีประชากร 3-5 ล้านคน เขาบอกว่าเขาให้บริการเรียบร้อยแล้ว
ใครอยากมีโทรศัพท์ 1 ต่อ 1 หรือมากกว่านั้นเขาให้ได้หมด ธุรกิจเขาหยุดอยู่แค่นั้นขยายไม่ได้เนื่องจากประชากรน้อย
การที่เขาจะขยายบริษัทเพื่อทำรายได้ให้มากขึ้นจึงจำเป็นต้องมุ่งมายังประเทศที่ด้อยพัฒนาเช่นเรา
โดยอาศัยปัญหาเรื่องการขาดแคลนของเราเป็นจุดในการสร้างรายได้ ดังนั้นถ้าเราดูประเด็นนี้ว่าเราจำเป็นหรือไม่
ซึ่งผมเองยังไม่มีคำตอบ เพราะเรื่องนี้ต้องพิจารณากันหลายฝ่าย
ผมคิดว่าการเปิดเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอามันเป็นไปไม่ได้และไม่มีประเทศไหนทำด้วย
มันเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมดูแล ให้เสรีอย่างไรก็ต้องมีขอบเขต
เพราะถือว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติ อยู่ดี ๆ จะเอาผลประโยชน์ของชาติไปยกให้คนอื่น
มันคงไม่ถูกเรื่อง ในเมื่อเรามีตลาดที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาลงทุน เราคงต้องมีวิธีการโดยคำนึงผลประโยชน์ให้ตกอยู่กับประเทศชาติมากที่สุด
ก่อนที่เราจะพูดเรื่องเสรี เราน่าจะมีแผนอะไรสักอย่าง อย่างเช่น แผนระยะยาวซึ่งที่จริงก็มีอยู่แต่ไม่ได้ใช้
จะทำอย่างไรให้มีการใช้แผนที่วางไว้กันอย่างแท้จริง ปัญหาอยู่ที่ตรงนี้ ยกตัวอย่างเช่นเราจะทำอย่างไรกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เวลานี้เรายังไม่มีแผนเลย
นี่คือลูกหลายเรา สมบัติเราเรายังไม่รู้เลยว่าลูกเราแต่ละคนจะทำอะไร ในขณะที่ลูก
ๆ ก็มีเรื่องขัดแย้งกันแล้วอยู่ดี ๆ ก็จะมาเปิดเสรี ลูกเราก็แย่
เราต้องดูแลบ้าน ดูแลลูกเราให้แข็งแรงพร้อมที่จะผจญกับดินน้ำลมไฟเสียก่อน
3 ปีที่ผ่านมามีความรู้สึกว่ามันไม่ได้อยู่ในแผ่นของกระทรวง มือใครยาวสาวได้สาวเอา
เอกชนเข้ามาก็เสนอความคิดเห็นเข้าท่าก็เอา โดยอาศัยประเด็นเรื่องการขาดแคลนการให้บริการ
และเพดานเงินกู้ของส่วนราชการเข้ามาดึงผลประโยชน์ออกไป
ในสายตาของผม การที่หน่วยงานทั้ง 2 ขัดแย้งกันได้สร้างประโยชน์ให้กับคนอีกหลายคน
ถ้าหาก 2 หน่วยงานเลิกขัดแย้งกัน ผมเชื่อเลยว่าผลประโยชน์ของหลาย ๆ คนต้องหายไป
และเวลานี้ก็มีผู้ที่อยากให้ทั้ง 2 หน่วยงานขัดแย้งกันไปเรื่อย ๆ
ความจริง 2 หน่วยงานนี้ไม่ผิด มันมีต้นเหตุที่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร้วของเทคโนโลยีช่วง
5 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความวุ่นวายในเรื่องการให้บริการ ทำให้หน่วยงานเดิมที่ถูกขีดเส้นกำหนดชัดเจนในเรื่องการให้บริการเกิดทับเส้นกันจนเกิดเป็นความขัดแย้งที่มีผลประโยชน์ในตัว
ถ้าพรุ่งนี้มีการขีดเส้นปุ๊บผลประโยชน์อาจหายไปมาก ส่วนใครจะเป็นคนขีดเส้น
ผมไม่รู้
ก่อนที่จะถึงเรื่องการเปิดเสรี ควรจะทำความสะอาดบ้านของตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อน
ตกลงกันให้แน่ว่าจะให้รูปแบบเป็นอย่างไรใครจะอยู่ตรงไหน ใครจะเล่นอะไร จัดกติกาและกำหนดไปเลยว่าส่วนนี้จะเปิดเสรี
กสท. และ ทศท.อยู่ตรงนี้ และคนที่จะเข้ามาตรงนี้จะต้องมีคุณสมบัติ มีขอบเขต
เมื่อจัดตั้งกันเรียบร้อยแล้วค่อยมาดูเรื่องกฎหมาย
การผูกขาดของทั้ง กสท. และ ทศท. ในสถานการณ์ที่ผ่านมา มันอาจจะไม่ดูดี แต่ถ้ามองโดยภาพรวมผมก็ว่าโอเคและเห็นด้วยว่ามันจำเป็น
แต่มาถึงขณะนี้การผูกขาดมันเริ่มไม่มีประสิทธิผล เนื่องจากธุรกิจที่ใช้โทรคมนาคมมันไม่มีรูปแบบที่แน่นอนอย่างเช่นชุมสายโทรศัพท์เมื่อก่อนส่งได้แค่โทรศัพท์
แต่เดี๋ยวนี้ส่งได้สารพัด พอรูปแบบไม่ชัดเจนสิ่งที่ กสท. และ ทศท. ปฏิบัติกันมาจนเคยชินคือการเป็นหน่วยงานของรัฐมีกฎระเบียบในการทำงานมากจึงไม่เอื้ออำนวยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามา
อย่างเพจจิ้งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
ผมไม่เชื่อว่า กสท. และ ทศท. ภายใต้กฎระเบียบนี้จะวิ่งหาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเอกชน
ผมคิดว่าเราน่าจะมามองดูว่ารัฐบาลควรจะผูกขาดอยู่หรือไม่ ถ้าผูกขาดควรจะผูกขาดในอะไรที่เหมาะสมกับทั้ง
2 หน่วยงาน อะไรที่คิดแล้วว่าโดยกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่เขาไม่สามารถทำได้ก็น่าจะปล่อยให้คนอื่นทำ
ผมกำลังบอกว่าอะไรที่ไม่ถนัดก็อย่าไปทำ เช่น พวกเอกชนบางกลุ่มมีความต้องการที่พิสดารเหลือเกิน
ก็เป็นเรื่องของเขาเพราะมีเงินที่จะจ่าย แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เราก็ได้ประโยชน์ด้วยแต่ผลประโยชน์อย่างไรก็ขอให้เป็นธรรม
ไม่ใช่เก็บเขาเสียอานเพราะถึงเวลาแล้วปลายทาง (ผู้ใช้บริการ) จะแย่
บางครั้งเงื่อนไขที่ให้สัมปทานไม่ได้เรื่องเลย แต่ก็ยังมีคนเอา คนให้ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ก็ช่างมัน
เจ๊งก็ช่างมันเพราะถือว่าเราไม่ได้เป็นคนเสี่ยง บางอย่างผมดูว่าผลประโยชน์ที่ให้มากเดินความจริง
ซึ่งทุกคนก็เห้ฯแต่จะไม่ให้ก็ไม่ได้เพราะกติกาบอกว่าคนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดเป็นผู้ประมูลได้
ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปหาประโยชน์จากใคร แต่ผมเชื่อว่าใครสักคนต้องโดยซึ่งก็คงหนีไม่พ้นผู้ใช้บริการ
มีบางคนบอกว่ามีหลาย ๆ รายเข้ามาเป็นเรื่องดีจะได้มีการแข่งขันกันทั้งคุณภาพ
และราคา แต่ธุรกิจโทรคมนาคมคงไม่เหมือนขายผงซักฟอก ถ้ารายใดรายหนึ่งพังเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบมากเพราะมันเกี่ยวพันกับการใช้
ในหลักการแล้วถึงแม้จะให้ใครเข้ามาทำหรือให้เขาเข้ามาแข่งขันก็ต้องแข่งในระดับที่แข่งแล้วยุติธรรม
ไม่ใช่แข่งกันตายเวลาตายแล้วมันมีความเสียหายเกิดขึ้น อย่างเช่นวีแสท ธุรกิจอย่างเดียวกันแต่ให้ไม่รู้กี่ราย
ทุกวันนี้มันมีการผ่อนคลายกฎระเบียบลง แต่เป็นแบบไม่มีระบบเป็นการผ่อนคลาย
ที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐที่มองเห็นว่าสิ่งนี้ควรจะต้องทำ แต่กลายเป็นเรื่องของคนสมองใสที่มองเห็นปัญหาต่าง
ๆ และเข้ามาตรงจุดโน้นทีจุดนี้ที มันควรที่จะมีระบบที่มาจากกระทรวงอย่างชัดเจนและถูกต้อง
ผมเห็นด้วยกับการลดการผูกขาดลง โดยมีกรอบที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ
และผู้ใช้บริการรวมถึงผู้ที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องมีหลักประกันให้เขาได้ผลประโยชน์พอสมควร
แต่ผมคัดค้านใน 2 ประเด็นคือการเอาผลประโยชน์ของชาติมาชนกันเอง และการย้ายการผูกขาดจากหน่วยงานของรัฐไปสู่หน่วยงานของเอกชน