ออฟฟิศเมท ปรับเกมรุก ขยายฐานตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น วางแผนและเกมตลาดใหม่ ปรับเงื่อนไขการสั่งซื้อและจัดส่ง ดึงดูดตลาด รองรับคลังสินค้าใหม่ที่จะเปิดใช้เร็วๆนี้หลังทุ่มงบ 150 ล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนนิตยสารเป็น 200,000 เล่มในปีหน้า คาดรายได้ทะลุพันล้านบาทในปีหน้าแน่นอน
นายวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ออฟฟิศซัปพลายผ่านระบบแค็ตตาล็อกเซล เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจในส่วนของตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นนับจากนี้ไป โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% ในอนาคตไม่กี่ปีนี้ จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากกรุงเทพฯมากกว่า 85% และต่างจังหวัดเพียง 15% เท่านั้น โดยในต่างจังหวัดนั้นมีลูกค้าที่อยู่ภาคตะวันออกประมาณ 30% จากฐานของลูกค้า ทั้งหมด เนื่องจากยังเห็นช่องว่างและโอกาสในการทำตลาดอีกมาก
อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายนี้บริษัทฯจำเป็นต้องวางแผนการตลาดและการลงทุนรวมทั้งยุทธวิธีในการดำเนินธุรกิจใหม่ด้วย โดยบริษัทฯจะต้องลงทุนเพิ่มบางส่วนประมาณ 40 ล้านบาทในปีนี้ เช่น ระบบไอที ระบบการจัดส่ง รถขนส่งต่างๆ ซึ่งงบประมาณนี้ไม่รวมกับงบการตลาดที่จะต้องใช้อีกต่างหาก
อีกทั้งต้องปรับระบบการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนขั้นต่ำในการสั่งซื้อสินค้าใหม่ระหว่าง 2,000-3,000 บาท รับออร์เดอร์ได้พร้อมส่งให้ฟรี จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ต้องสั่งขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป และคิดค่าขนส่ง 250 บาทต่อออร์เดอร์ไม่ยกเว้นระยะทาง ซึ่งแต่เดิมปริมาณการสั่งซื้อสินค้าต้องเริ่มต้นที่ 7,000 บาท และปรับลงมาเหลือ 5,000 บาท ต่อออร์เดอร์ ล่าสุดอยู่ที่ 2,000 บาท ส่วนในกรุงเทพฯบริษัทฯจัดส่งให้ฟรีหากซื้อสินค้าขั้นต่ำ 500 บาทต่อครั้งต่อราย และลูกค้าจะได้สินค้าในวันนั้นเลย
โดยตัวเลขของลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าเข้ามายังบริษัทฯนั้น ส่วนใหญ่แล้วที่ผ่านมาจะมีออร์เดอร์ครั้งละประมาณ 9,000-10,000 บาทต่อรายโดยเฉลี่ย โดยมีสินค้าประเภทหมึกพิมพ์ กระดาษ แฟ้ม ขายดีที่สุด และมีทีมขายประมาณ 30 กว่าคนที่ออกพบลูกค้าประจำ
สำหรับคลังสินค้าแห่งใหม่ที่บริษัทฯทุ่มงบก่อสร้างไปมากกว่า 150 ล้านบาทบริเวณเลียบทางด่วนมอเตอร์เวย์ เตรียมเปิดใช้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้ โดยมีพื้นที่ในเฟสแรก 7,000 ตารางเมตร เพิ่มจากคลังเดิมที่อ่อนนุชที่มีพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร นอกนั้นยังเตรียมเฟสที่สองอีกพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรในอนาคตด้วย ซึ่งจะสามารถรองรับการขยายตัวของบริษัทฯได้อีกหลายปี
นอกจากนั้นบริษัทฯยังได้เพิ่มจำนวนการพิมพ์ แค็ตตาล็อกเซลเพิ่มเป็น 150,000 เล่ม จากเดิมที่มีเพียง 100,000 เล่ม หรือเพิ่มขึ้น 50% เพื่อให้กระจายในวงกว้างมากขึ้น โดยแบ่งเป็นการแจกในต่างจังหวัดประมาณ 50,000 เล่ม แจกในกรุงเทพฯและปริมณฑล 100,000 เล่ม ทั้งนี้ในปีนหน้ามีแผนที่จะเพิ่มการพิมพ์อีกเป็น 200,000 เล่ม เพื่อทำการแจกให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
ส่วนความพร้อมในเรื่องของการจัดส่งหรือลอจิสติกส์นั้น นายวรวุฒิย้ำว่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของธุรกิจแค็ตตาล็อกเซลที่ทำอยู่ เพราะว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับเรื่องการขนส่งเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมีการวางแผนงานทั้งทางด้านการจัดส่ง เส้นทางที่รถวิ่ง รวมทั้งการจัดคิวรถและการลงทุนทางด้านลอจิสติกส์และรถให้เพียงพอ ซึ่งบริษัทฯสามารถควบคุมการจัดส่งได้อย่างดี โดยทุกวันนี้ ลูกค้าได้สินค้าทันเวลามากถึง 99% โดยในปีหน้ามีแผนที่จะเพิ่มปริมาณรถเป็น 80 คัน หลังจากที่คลังใหม่เปิดใช้สมบูรณ์แบบแล้ว
ปัจจุบันบริษัทฯมีลูกค้าประจำที่สั่งซื้อสินค้าสม่ำเสมอประมาณ 50,000 กว่าราย โดยเป็นสัดส่วนขององค์กร บริษัท หน่วยงานต่างๆ 99% ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนที่เหลืออีก 1% เป็นในนามบุคคล การที่เพิ่มยอดพิมพ์แค็ตตาล็อกนั้นก็เท่ากับเพิ่มโอกาสให้ออฟฟิศเมทด้วย เช่น หากเราแจกไปทุกๆ 3 เล่ม แล้วมีลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าเราเพียง 1 รายก็พอแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทฯมีลูกค้าใหม่ๆที่เข้ามาซื้อสินค้าเฉลี่ย 40-50 รายต่อวัน
อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีนโยบายที่จะปรับราคาสินค้าไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี หากมีความจำเป็น เช่น ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมาปรับราคาสินค้าบางตัวประมาณ 200-300 เอสเคยู ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนสินค้าที่มีมากกว่า 10,000 รายการในคลังสินค้า
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯไตรมาสแรกของปีนี้พบว่า สามารถทำรายได้ 300 กว่าล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้อยู่ที่ 200 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำตลาดในเชิงรุกและสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจแค็ตตาล็อกซัปพลายเติบโตขึ้นได้ด้วยส่วนหนึ่ง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นระบบเครดิตมากกว่า 70% ระยะเวลานาน 30 วัน ส่วนลูกค้าเงินสดประมาณ 30% ซึ่งระบบการจัดการด้านบัญชีของบริษัทฯอยู่ในเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทำให้มีหนี้สูญน้อยมากแค่ 0.005%
สำหรับผลประกอบการในอนาคตเมื่อเปิดใช้คลังใหม่เรียบร้อย คาดว่าในปีหน้า จะมีรายได้รวมประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีอีโคโนมีออฟสเกลที่ดีขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 900 ล้านบาท
นายวรวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยว่า ยังมีแผนที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ แต่ต้องรอความเหมาะสมก่อน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มทุนเป็น 20 ล้านบาท ในอนาคตเร็วๆนี้
|