ตลาดหุ้นไทยในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง
ๆ ทั้งจากภายนอก และภายในประเทศมาแล้ว ก็ได้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่อีกครั้ง
การซื้อขายเริ่มเพิ่มความคึกคัก มูลค่าพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 3-4,000 ล้านบาท
ดัชนีราคาหุ้นได้ตีกลับจากที่เคยอยู่ในระยะ 500-600 จุดในช่วงต้นปี ได้พุ่งขึ้นมาทะลุระดับ
900 จุดเมื่อกลางเดือนเมษายน
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาคือนักลงทุนของไทยเรา ค่อนข้างจะมีหลักการในการเล่นหุ้นมากขึ้น
การเก็บกำไรหุ้นแต่ละกลุ่มมีการนำหลักการวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐานเข้ามาประกอบ
โดยเลือกซื้อหุ้นตัวที่จะมีแนวโน้มีในอนาคตหรือห้นุที่มีตัวเลขผลการดำเนินงานสนับสนุน
ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่เวลาจะเก็งกำไร ก็เล่นกันแบบหน้ามืดตามัวไม่สนใจว่าหุ้นที่ซื้อเข้าไปจะดีหรือร้ายอย่างไรขอให้ซื้อให้ได้ก่อนเป็นใช้ได้
ซึ่งทำให้เวลาราคาหุ้นพุ่งขึ้น ก็ขึ้นกันไปทั้งแผง
หลักการวิเคราะห์ สำหรับเลือกซื้อหุ้นเพื่อการลงทุน ในช่วงนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดจะต้องดูจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก
เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลที่ได้รับการคัดเลือกมาจากคณะ รสช. มีความตั้งใจจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่อื่น ๆ ที่ได้ก้าวล้ำหน้าไทยไปมากแล้ว ซึ่งจุดหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน
เพราะจะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากโครงการใหญ่
ๆ หลายโครงการที่เคยถูกดึงไว้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ ได้ถูกเร่งให้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นมาโดยเร็ว
ผลกระทบที่บริษัทในตลาดหุ้นจะได้รับจากการเร่งรัดโครงการต่าง ๆ นั้น ก็ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่าหุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลัก
ๆ เช่นปูนซีเมนต์เหล็กเส้น จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากความต้องการในผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้น
ๆ จะยิ่งมีสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น ขณะนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานรับบาลมากเป็นพิเศษแม้กระทั่งตัวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง
ทางดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเคยกล่าวไว้เลยว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะสนับสนุนให้กิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น
ถึงขนาดที่ว่าอาจจะมีการให้สิทธิ์หรือแรงจูงใจพิเศษ โดยการพิจารณาผ่อนปรนเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของบริษัทนั้น
ๆ ให้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้เกิดขึ้นนั้น
นอกจากในเรื่องของถนนหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรของประเทศแล้ว เรื่องของระบบโทรคมนาคมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ปัจจุบัน รัฐบาลก็มีโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมที่สำคัญ ๆ หลายโครงการด้วยกัน
โดยโครงการที่มีการกล่าวถึงกันมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก็มีโครงการขยายระบบโทรศัพท์อีก
3 ล้านเลขหมาย ซึ่งกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับสัมปทาน หรือโครงการดาวเทียมสื่อสารของกลุ่มชินวัตรคอมพิวเตอร์
ฯลฯ
การเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมดังกล่าวจะมีส่วนกระทบต่อผลการดำเนินงานของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หลายบริษัทด้วยกัน แต่ที่โดยตรงและเห็นได้ชัดที่สุดคือบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการดังกล่าวอย่างเช่น
บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับสัมปทานให้ดำเนินโครงการดาวเทียมสื่อสาร
จากกระทรวงคมนาคม
ซึ่งเชื่อกันว่าการดำเนินโครงการนี้ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์จะต้องใช้เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก
แต่ผลตอบแทนที่บริษัทจะได้รับกลับคืนมาก็มีไม่น้อยเช่นกัน
อีกบริษัทหนึ่งที่น่าจะได้รัผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของรัฐบาล
ก็คือบริษัทจรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิล เนื่องจากเป็นบริษัทผู้ผลิตสายโทรศัพท์และสายไฟฟ้า
1 ใน 4 รายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีโครงการขยายระบบโทรศัพท์ขึ้นไปอีก
3 ล้านเลขหมาย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสายโทรศัพท์รายใหญ่ ย่อมต้องได้รับออร์เดอร์ซื้อสินค้าระยะยาวอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ จอร์จ โรบินสัน อดีตหัวหน้าสำนักงานตัวแทน ของบริษัทดับบลิว
ไอ คาร์ ประจำประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเดียวกันที่ฮ่องกง
ได้เคยกล่าวไว้ว่า บริษัทที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกบริษัทหนึ่งกคือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์
ซึ่งเปแนโฮลดิ้งคัมปะนีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในสายธุรกิจปศุสัตว์ โดยจอร์จได้มองว่าถ้าเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับสัมปทานในโครงการนี้
ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนนับแสนล้านาบาท หนทางหนึ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะสามารถระดมเงินทุนเข้ามาได้
คือต้องใช้กลไกของตลาดหุ้น โดยผ่านทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ดังกล่าว
เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บริษัทซีพีเทเลคอม ที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น
เนื่องจากเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ยังไม่ได้เริ้มประกอบกิจการใด ๆ
ทั้งสิ้น
ยังมีบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของภาครัฐ
แต่จะเป็นการได้รับโดยทางอ้อมนั่นก็คือบริษัทดาต้าแมท ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทเอ็นอีซี
เนื่องจากการพัฒนาระบบโทรคมนาคมนั้น หัวใจสำคัญที่สุดคือในด้านของเทคโนโลยี
ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ยอดขายคอมพิวเตอร์โดยรวมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด
ต้องมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบผลกระทบที่จะได้รับระหว่างบริษัทดาต้าแมท
กับอีก 3 บริษัทที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ความน่าสนใจของดาต้าแมทดูจะเป็นรองกว่า
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพคล่องของหุ้นที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในช่วงที่ผ่านมาแล้วหุ้นดาต้าแมทดูเหมือนจะได้รับความนิยมน้อยกว่าหุ้นอขงอีก
3 บริษัทแรก ซึ่งจุดนี้นักลงทุนก็น่าจะนำเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาประกอบด้วยปัจจัยหนึ่ง
ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจหลักทรัพย์ที่หาตัวจับได้ยากผู้หนึ่ง
ได้เคยกล่าวถึงหุ้นประเภทที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัมปทาน หรือการประมูลงานภาครัฐว่า
นักลงทุนต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางการเมืองเข้ามาประกอบด้วย เพราะว่างานประมูลใหญ่
ๆ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่สำหรับรัฐบาลในยุค รสช.มีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ การจะเปลี่ยนแปลงงานอะไรคงจะทำยาก
เพราะจะต้องมุ่งในเรื่องของการสร้างบ้านสร้างเมืองเป็นหลัก ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่โครงการต่าง
ๆ จะเร่งรีบเดินหน้า ซึ่งหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหลายก็เป็นหุ้นที่น่าจับตามองเอาไว้ด้วยกลุ่มหนึ่ง