Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2534
กองทุนรวมบริหารพอร์ตฯ 40,000 ล้านบาท ใช้หลักการซื้อขาย OVER OR UNDER VALUE             
 


   
www resources

โฮมเพจ บลจ. เอ็มเอฟซี

   
search resources

เอ็มเอฟซี, บลจ.
ทวีเกียรติ กฤษณามระ
Funds




เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมในความอุปถัมภ์ค้ำชูของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรรมฯ (IFCT) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ที่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบริษัทโบรกเกอร์ นักลงทุนทั่วไปอย่างดุเด็กเผ็ดมันเปิดเผยวิธีการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ การบริหารงานของบริษัทฯ ที่มาแห่งรายได้ของบริษัทฯ อย่างละเอียดลออ

แถมเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวรุกซักถามอย่างตั้งตัวไม่ติด ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกรณีแรก ๆ ในวงการธุรกิจการเงินไทยที่ใจกว้างถึงขนาด

เหตุทั้งหลายทั้งปวงของเรื่องมาจากกระแสข่าวที่ปรากฏทั่วไปในหนังสือพิมพ์ว่ากองทุนรวมเป็นผู้ชักนำการขึ้นลงของราคาหุ้น ทุบหุ้นบ้าง ไล่ซื้อหุ้นาบางตัวบ้างซึ่งในฐานะผู้บริหารเงินกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวในเมืองไทยแล้วใคร ๆ ย่อมเชื่อว่ากองทุนรวมสามารถทำได้

แต่นักลงทุนที่เชื่อข่าวลือทำนองนี้ไม่เคยเฉลียวใจคิดบ้างหรือว่า กองทุนรวมจะทำอะไรตามอำเภอใจได้ปานฉะนั้น ผู้มีหน้าที่ควบคุมกติกาและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ อย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และธนาคารชาติทำไมไม่จัดการแก้ปัญหานี้

ทวีเกียรติ กฤษณามระ ประธานกรรมการฯ อุดมวิชยาภัย กรรมการจัดการและดำรงสุข อมาตยกุล ผู้จัดการกองทุน ได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยมีเป้าหมายที่จะเคลียร์เรื่องราวทั้งหลายให้จบสิ้นไป

ทวีเกียรติเปิดเผยว่า "วัตถุประสงค์หลักของบริษัทหลักทรัพย์กงทุนรวม คือการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศมาร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งที่ผ่านมากองทุนรวมก็ประสบความสำเร็จในการช่วยทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวเป็นอย่างดี ทำความเจริญให้กับหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นการช่วยในทางอ้อมหลายอย่าง"

ปัจจุบันกองทุนรวมบริหารกองทุนทั้งหมด 17 กองทุนเป็นกองทุนระหว่างประเทศ 10 กองทุนและกองทุนในประเทศ 7 กองทุน มูลค่าเงินกองทุนทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 81 กองทุน (ณ สิ้นปี 2533) มูลค่าประมาณ 764 ล้านบาท

ขอบข่ายการดำเนินงานของกองทุนรวม นอกจากทำหน้าที่บริหารกองทุน 17 กองทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 81 กองทุนแล้ว ยังได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้แก่ พันธบัตรองค์การโทรศัพท์ฯ การรถไฟฯ การสื่อสารฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ และการเคหะแห่งชาติด้วย

กิจกรรมล่าสุดคือ การจัดตั้งบริษัทวาณิชธนกิจใจฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับสถาบัน นิติบุคคลและบุคคลทั่วไปที่สนใจการลงทุนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัทนี้มีชื่อว่า MFC INTERNATIONAL LTD., ยังไม่ได้ดำเนินงานเพราะอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกจที่ปรึกษาการลงทุนกับรัฐบาลฮ่องกง

อุดมเปิดเผยว่า "รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนเราไม่มีรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ และเราต้องวื้อขายผ่านโบรกเกอร์ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นเหมือนนักลงทุนอื่น ๆ ส่วนรายได้ประเภทที่สองคือค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งค่อนข้างแข่งขันกันอย่างมาก และรายได้จากการเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ"

ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี 2532 กองทุนรวมมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในธุรกิจหลักทรัพย์สูงถึง 156.66 ล้านบาท และเมื่อรวมเข้ากับรายการกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ดอกเบี้ยและเงินปันผลแล้ว ปรากฏว่าในปี 2532 มีรายได้ถึง 195.06 ล้านบาท เทียบกับปี 2533 รายได้ทะยานไปถึง 287.97 ล้านบาท

ในส่วนของรายจ่ายนั้นปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่สูงสุด คืออัตราเงินเดือนพนักงาน อุดมกล่าวว่า "เราต้องพยายามรักษาให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ อยู่กับเราให้นานที่สุด ค่าใช้จ่ายด้านนี้จึงค่อนข้างสูง"

ด้วยเหตุนี้ กำไรสุทธิในปี 2532 และ 2533 จึงลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ เป็น 82.30 และ 127.41 ล้านบาทตามลำดับ

ว่าไปแล้วผลการดำเนินงานของกองทุนรวมยังดีกว่าบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกเป็นจำนวนมาก

ดำรงสุขเปิดเผยวิธีการทำงานในการบริหารกองทุนแต่ละกองทุนว่า "ในโครงสร้างการทำงานของบริษัทจะมีกระบวนการตัดสินใจในการลงทุน (DECISION MAKING PROCESS) ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานวิจัยและวางแผน มีคณะกรรมการจัดการลงทุนของแต่ละกองทุนแต่ละชาติ มีเจ้าหน้าที่สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของฝ่ายการตลาดและมีผู้จัดการกองทุนของแต่ละกองทุนซึ่งจะไปร่วมงานกับคณะกรรมการฯ ของกองทุนนั้น ๆ "

หน่วยงานวิจัยและวางแผนทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเก็บไว้เป็นดาต้าเบสของบริษัททำหน้าที่เยี่ยมเยียนบริษัทในตลาดฯ ในทุกไตรมาสเพื่อนำข้อมูลมาเขียนรายงานสรุป โดยนักวิจัยนจะเป็นผู้ประเมินว่าบริษัทไหนควรลงทุนในระดับราคาเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังทำการวบรวมข้อมูลวิจัยจากโบรกเกอร์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับนักวิจัยของกองทุนรวม ข้อมูลทั้งหมดจะส่งไปให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณาดำเนินการลงทุนตามระเบียบการของธนาคารชาติ

ในส่วนของคณะกรรมการจัดการลงทุนจะมีคณะกรรมการประจำแต่ละกองทุนโดยมีคนของกองทุนต่างประเทศมาร่วมงานด้วย ทำหน้าที่ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายว่าจะซื้อขายหลักทรัพย์ตัวไหนเท่าไหร่ ในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะลงทุนเท่าไหร่ ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่ธนาคารชาติกำหนด

ดำรงสุขกล่าว่า "ผู้จัดการกองทุนคนหนึ่งต้องติดต่อกับฝรั่ง คนหนึ่งติดต่อกับญี่ปุ่นคนหนึ่งติดต่อกับยุโรป ทั้งนี้นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนจะไม่เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น ต้องการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง เราก็ต้องซื้อหุ้นแบงก์ให้ แต่ยุโรปต้องการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเป็นต้น"

ในด้านของการสั่งซื้อขายนั้น ผู้จัดการกองทุนไม่สามารถยกหูโทรศัพท์สั่งซื้อขายได้ตามสะดวกใจ ดำรงสุขเปิดเผยว่า "เราใช้ระบบอเมริกากัน คือ มีเจ้าหน้าที่สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในห้องค้าของเรา ผู้จัดการกองทุนจะส่งคำสั่งซื้อขายไปที่ห้องค้าแล้วเจ้าหน้าที่จะสั่งไปยังโบรกเกอร์อีกที เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีการตัดสินใจเลย ทำตามที่ผู้จัดการกองทุนสั่ง ทุกวันนี้เราใช้โบรกเกอร์ประมาณ 4-5 รายเท่านั้น เราพยายามแบ่งแยกการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้เป็นอิสระแก่กัน และคำสั่งซื้อขายของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนก็จะเป็นรายการวันต่อวันไม่มีการสั่งล่วงหน้า หากซื้อขายไม่ได้ คำสั่งจะยกเลิกโดยปริยายในห้องค้าจะไม่มีการทราบว่าพรุ่งนี้จะมีการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ใดก่อนหน้าเป็นอันขาด"

ดำรงสุขเปิดเผยต่อไปถึงหลักการในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "ในการซื้อนั้น ผมต้องดูว่าหลักทรัพย์นั้น UNDER VALUE อยู่หรือเปล่า ซึ่งคำนี้ก็มีความหมายต่าง ๆ กันในความเห็นของผู้จัดการกองทุนแต่ละคน นอกจากนี้เราดูด้วยว่าหากหลักทรัพย์ทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะขึ้นเราก็ซื้อ และอีกส่วนก็เป็นการจองซื้อตามสิทธิต่าง ๆ เมื่อมีการเพิ่มทุนมีส่วนที่เราซื้อผิดคือซื้อไปแล้วหุ้นตก เราก็ต้องซื้อเพิ่มเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ลดลง ในส่วนที่ต้องทำตามระเบียบของธนาคารชาติก็คือเราจะถือเงินสดเกิน 25% ของกองทุนไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องคอยบริหารให้เป็นไปตามกฎ"

ส่วนเกณฑ์ในการขายหุ้นดำรงสุขกล่าวว่า "เราจะขายเมื่อมันมีราคาขึ้นไปมากพอสมควรหรือที่เรียกว่า OVER VALUE และขายในกรณีที่เมื่อเทียบราคาหุ้นกับเงินปันผลแล้วไม่คุ้มกัน เราจะขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมายราคาที่เรากำหนดไว้ หรือมีการลงทุนเกินกำหนดไว้ หรือมีการลงทุนเกินกำหนดที่แบงก์ชาติตั้งไว้ ในอีกกรณีหนึ่งคือเมื่อเทียบกับหุ้นที่เรามีกับหุ้นที่เราไม่มี ผลตอบแทนดีกว่าเราก็จำเป็นต้องขายหุ้นที่เรามีไปซื้อหุ้นที่เราไม่มี แต่ผลตอบแทนดีกว่า ในบางกรณีเราต้องขายหุ้นบางส่วนเพื่อจะเอาเงินไปจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน"

หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดดูเป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงุทนอาชีพหรือผู้บริหารพอร์ทฯ ทั้งหลายจำเป็นต้องยึดถือ แต่ในรายละเอียดที่ยิ่งกว่านี้นั้นจำเป็นต้องอาศัยชั้นเชิงและความได้เปรียบในวงเงินลงทุนเป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่าผู้จัดการกองทุนในกองทุนรวมจะบริหาร "ซี้ซั้ว" ได้อย่างไร ในเมื่อมีระเบียบการของทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และแบงก์ชาติดูแลกำกับอยู่

กองทุนรวมต้องส่งรายงานมูลค่าพอร์ทฯ ลงทุนให้กับธนาคารชาติทุกสัปดาห์ และยังต้องมีเรคคอร์ดการซื้อขายหลักทรัพย์ปรากฏที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

มาตรการเหล่านี้คงจะทำให้เกิดการทุบขายและทุ่มซื้อได้ยาก

อุดมแจกแจงตัวเลขมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า "มูลค่าการซื้อขายในแต่ละวันมีไม่เกิน 10% อย่างต่ำสุดมี 2% และสูงสุดมี 9.5% ถ้าคิดเฉลี่ยก็ประมาณ 5-6% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดซึ่งตอนนี้มีประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท เท่ากับว่ากองทุนรวมซื้อขายสูงสุดไม่เกินวันละ 530 ล้าน"

หลักทรัพย์ที่กองทุนรวมถืออยู่ในปัจจุบันมีประมาณ 70 หลักทรัพย์ ในส่วนหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเช่นกลุ่มแบงก์ก่อสร้าง ไฟแนนซ์ ถือเก็บระยะยาว หรือกล่าวได้ว่าประมาณ 80% ของมูลค่าพอร์ทฯ แทบจะไม่ได้ขายเลย

อุดมโต้ข้อกล่าวหาที่ว่ากองทุนรวมทุบขายหุ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคมว่า "ในวันนั้นกองทุนรวมซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 6.8% ซึ่งถือเป็นการซื้อขายตามปกติ"

ในส่วนของข้อกล่าวหาเรื่องความเกี่ยวพันของกองทุนรวมกับบริษัทเอ็นอีพี
อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม จก. อุดมชี้แจงว่า "กองทุนรวมลงทุนในหุ้นเอ็นอีพีฯ น้อยมาก ไม่ถึง 1% เหตุที่ลงทุนเพราะมันมีราคาต่ำมาก แต่ไม่ได้ลงทุนมากเพราะเกรงปัญหาเรื่องการขัดแย้งในผลประโยชน์ธุรกิจ"

ทั้งนี้ ประธานกองทุนรวมฯ คือทวีเกียรติดำรงตำแหน่งประธานเอ็นอีพีฯ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

กองทุนรวมลงทุนหุ้นกระสอบอิสานซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นเอ็นอีพีฯ ตั้งแต่เมื่อพฤษภาคม 2533 เมื่อหุ้นมีราคาที่ 30 กว่าบาทจำนวน 2 แสนหุ้นปัจจุบันกองทุนรวมถืออยู่เพียง 60,000 หุ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด 50 ล้านหุ้น และมีการซื้อขายวันละ 2-3 ล้านหุ้น

กองทุนรวมไม่สามารถแก้ไขความข้องใจของนักลงทุนได้อย่างหมดจด แต่ข้อหนึ่งที่นักลงทุนพึงสังวรคือ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าธุรกิจอย่างกองทุนรวมนั้นดำเนินไปภายใต้ระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการ เมื่อกองทุนรวมยืนขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

หวังว่าการเปิดเผยข้อมูลในครั้งต่อ ๆ ไปที่จะมีขึ้น จะช่วยไขความกระจ่ายให้ผู้ลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ และผู้บริหารในกองทุนรวมก็ควรจะทำตัวให้เปิดเผยมากกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชนและมีนักลงทุนรายย่อยชาวไทยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us