สมาคมประกันวินาศภัยประเมินปี 50 เบี้ยประกันวินาศภัยหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ คาดขยายตัวในช่วง 5.8-7.4% ภายใต้จีดีพีที่ขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% จากในปี 2549 ที่มียอดเบี้ยประกันภัยรวม 9.5 หมื่นล้าน ขยายตัว 7% โดยเป็นการชะลอลงทั้งในส่วนของประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง และประกันภัยรถยนต์ พร้อมประกาศนโยบายการดำเนินงานในปี 50-51 มุ่งพัฒนาบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่
นายสุจินตน์ หวั่งหลี นายกสมาคม ประกันวินาศภัย เปิดเผยถึงยอดเบี้ยประกันวินาศภัยรวมของไทยในปี 2549 ว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 95,091 ล้านบาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP) ร้อยละ 1.22 ส่วนปี 2550 หากการขยายตัวของ GDP อยู่ระหว่างร้อยละ 3.5–4.5 คาดว่าเบี้ยประกันวินาศภัยจะอยู่ระหว่าง 100,576–102,171 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2549 ระหว่างร้อยละ 5.8–7.4 ทั้งนี้ คิดเป็นเบี้ยประกันต่อ GDP ร้อยละ 1.24 – 1.25 โดยเบี้ยประกันอัคคีภัยจะเท่ากับ 6,931-6,960 ล้านบาท หรือหดตัวระหว่างร้อยละ 3.0-3.4 เบี้ยประกันภัยทางทะเลและการขนส่งจะอยู่ระหว่าง 3,865 – 4,016 ล้านบาทหรือ หดตัวร้อยละ 0.1 หรือขยายตัวร้อยละ 3.8 เบี้ยประกันภัยรถยนต์จะอยู่ระหว่าง 59,485–60,328 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 4.8 – 6.3 และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดจะอยู่ระหว่าง 30,294 – 30,868 ล้านบาทหรือขยายตัวร้อยละ 11.0–13.1
นอกจากนี้ หากคาดการณ์เบี้ยประกันวินาศภัย ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีสมมติสถานการณ์ที่ GDP จะขยายตัวร้อยละ 4 และ 5 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551-2555 แล้ว กรณีที่ GDP ขยายตัวร้อยละ 4 ตลอดระยะเวลาระหว่างปี 2551-2555 คาดว่าเบี้ยประกันวินาศภัยของไทยจะเพิ่มจาก 108,971 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 147,943 ล้านบาทในปี 2555 โดยในปี 2551 เบี้ยประกันภัยต่อ GDP จะเท่ากับร้อยละ 1.29 และเพิ่มเป็น 1.50 ในปี 2555 โดยการประกันอัคคีภัย ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 6,920 ล้านบาท หรือหดตัวจากปี 2550 เล็กน้อย และเพิ่มเป็น 7,544 ล้านบาทในปี 2555 การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 4,137 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 5.2 และเพิ่มเป็น 5,144 ล้านบาทในปี 2555 การประกันภัยรถยนต์ ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 64,099 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 7.0 และเพิ่มเป็น 84,802 ล้านบาทในปี 2555 และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 33,815 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 10.5 และเพิ่มเป็น 50,453 ล้านบาทในปี 2555
ส่วนกรณีที่ GDP ขยายตัวร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลาระหว่างปี 2551-2555 คาดว่าเบี้ยประกันภัยของไทยจะเพิ่มจาก 110,625 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 161,150 ล้านบาทในปี 2555 โดยในปี 2551 เบี้ยประกันภัยต่อ GDP จะเท่ากับร้อยละ 1.30 และเพิ่มเป็น 1.55 ในปี 2555 โดยการประกันอัคคีภัย ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 6,959 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 เล็กน้อย และเพิ่มเป็น 7,736 ล้านบาทในปี 2555 การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 4,160 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 5.8 และเพิ่มเป็น 5,253 ล้านบาทในปี 2555 การประกันภัยรถยนต์ ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 65,392 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 9.2 และเพิ่มเป็น 92,881 ล้านบาทในปี 2555 และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ในปี 2551 เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 34,113 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2550 ร้อยละ 11.5 และเพิ่มเป็น 55,281 ล้านบาทในปี 2555
สำหรับแนวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสมาคมประกันวินาศภัยในปี 2550-2552 นั้น ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 1 ให้สำเร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการสร้างเสถียรภาพและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานในการบริการ เป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน เป็นศูนย์กลางในการประสานและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาคราชการและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีบทบาทนำในการพัฒนาสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกระดับ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขายใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์ให้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแก่ประชาชน และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและเสนอแนะเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัยโดยรวม อีกทั้งเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีของมวลสมาชิก
นายสุจินต์กล่าวอีกว่า นอกจากแนวนโยบายการดำเนินงานของสมาคมฯ ตามเป้าหมายหลักดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ยังได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในการพิจารณาเรื่องเร่งด่วน เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในเรื่อง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ให้ดำเนินการไปได้ด้วยดี และมีผลกระทบไม่มากต่อบริษัทสมาชิกและธุรกิจประกันภัย โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยให้ลุล่วงไปด้วยดี เกิดการเกื้อหนุนต่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย ให้มีผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
พร้อมกันนั้น ได้ศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันภัย ตามที่ได้กำหนดในร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ส่งเสริมการเตรียมตัวของบริษัทประกันวินาศภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางสำหรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในช่วงเวลา 13 ปีที่เหลือ โดยมีเป้าหมายในการรักษา Market Share ของบริษัทประกันวินาศภัยไทย และศึกษา-พิจารณาร่วมกับหน่วยงานรัฐในการกำหนดขนาดเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะ ตามความเหมาะสมกับสถานะของธุรกิจ และให้มีผลกระทบต่อบริษัทสมาชิกน้อยที่สุด พร้อมทั้งช่วยหาทางออกแก่บริษัทที่มีปัญหา ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามกำหนดได้
|