ความเหมือนและความต่างของ 2 เจ้าสัวเมืองไทย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" และ "ธนินทร์ เจียรวนนท์" ในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่แลนด์แบงก์ เงินลงทุนถือว่าใหญ่พอๆกัน แต่วิธีการเดินเกมรุกตลาดอาจจะมีความต่างกัน เจ้าสัวเจริญเน้นโครงการขนาดใหญ่ จับกลุ่มลูกค้าไฮเอ็น แต่อีกรายทำโครงการไม่ใหญ่มาก เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง แต่ทั้งคู่ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม ชุมชน นั้นคือวิธีการเชิงความสัมพันธ์ทางด้านสังคม ผ่านกระบวนการส่งเสริมโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่ที่ครบวงจร
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่หอมหวานเสมอ เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนในธุรกิจนี้คุ้มค้า และยิ่งเศรษฐีเงินหนาที่มักซื้อที่ดินสะสมไว้จำนวนมากและเป็นที่มีต้นทุนต่ำด้วยแล้ว หากจะหยิบที่ดินแปลงงามมาพัฒนา คงสร้างความหนาวๆร้อนๆ ให้แก่ผู้ประกอบการในตลาดขณะนี้ได้ไม่มากก็น้อย
โดยเฉพาะ 2 เจ้าสัวใหญ่ในเมืองไทย อย่างนายเจริญ สิริวัฒนภัคดี เจ้าพ่อตลาดน้ำเมา และนายธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ทั้งสองรายไม่ถือว่าเป็นหน้าใหม่ เพราะเข้าสู่ตลาดนี้มานานพอสมควร ในส่วนเจ้าสัวธนินทร์ จัดตั้งบริษัทดูแลพอร์ตอสังหาฯของตนในนาม ซี.พี.แลนด์ จำกัด พัฒนาโครงการอาคารสำนักงาน ซี.พี.ทาวน์เวอร์, โรงแรมฟอร์จูน, ศูนย์การค้าและไอทีมอลล์ ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยมีแจมบ้างแต่ไม่มาก จนกระทั้งมาประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้มีหนี้สินนับหมื่นล้านบาท
ล่าสุด นายธนินทร์ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ในเชิงรุกสู่ธุรกิจอสังหาฯอีกครั้ง หลังสะสางหนี้สินไปจนหมดสิ้นแล้ว โดยเริ่มจากแนวคิดที่จะนำที่ดินในมือมาพัฒนา และเลือกแปลงที่มีศักยภาพมาพัฒนาก่อน ซึ่งคนในวงการธุรกิจ นักเก็งกำไรที่ดิน หรือนักสะสมที่ดิน รู้กันดีว่า เจ้าสัวธนินทร์ มีที่ดินในมือหลายหมื่นไร่ ทั้งในนามส่วนตัวและบริษัทในเครือ กระจายทั่วประเทศ การรุกตลาดอสังหาฯ ของซี.พี.แลนด์ในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่หวือหวาเปิดเพียง 5 โครงการ มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่มากหากเทียบกับที่ดินที่มีอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงเงินลงทุน
“ ที่ดินเรามีเยอะก็จริง แต่ต้องเลือกที่มีศักยภาพสูงสุด และต้องดูด้วยว่าจะพัฒนาเป็นอะไรที่สามารถขายได้ ซี.พี.เรามีแบรนด์เนมอยู่แล้ว ประชาชนรู้จักชื่อเสียงของเราดี แต่เราก็ไม่ได้ทำทุกอย่างให้เป็น 5 ดาว การทำของเรามีเป้าหมาย การพัฒนาให้อยู่ในระดับไหนนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของที่ดินแปลงนั้นๆ ซึ่งประธานธนินทร์ให้นโยบายว่า ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยชานเมือง ตามส่วนต่อขยายของโครงข่ายคมนาคมหรือระบบขนส่งมวลชนไปถึง เพื่อให้คนสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองได้สะดวก เพื่อลดปัญหาความแออัด ไม่จำเป็นต้องอยู่กลางเมือง”นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ กล่าวสะท้อนแนวคิดของประธานใหญ่ซี.พี.
สำหรับ 5 โครงการที่ว่า ได้แก่ 1. อาคารสำนักงาน ซี.พี.ทาวเวอร์ 4 ในจังหวัดขอนแก่น บนเนื้อที่ 20 ไร่ จากทั้งหมด 50 ไร่ ซึ่งอีก 30 ไร่ได้แบ่งให้โลตัสเช่า โดยพัฒนาเป็นอาคารสูง 11 ชั้น ขนาด 9,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการ 200 ล้านบาท ราคาค่าเช่า 270-280 บาท/ตร.ม./เดือน เริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม 2550 และก่อนหน้านี้ได้พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ซี.พี. ทาวเวอร์ 3 ปัจจุบันมีผู้เช่าเต็ม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาชอปปิ้งเซ็นเตอร์ รวมไปถึงอาคารพาณิชย์
2.โครงการคอนโดฯ ที่พัทยาใต้ บนเนื้อที่ 30 ไร่ พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมสูง 7 ชั้น 10 อาคาร จำนวน 700 ยูนิต ขนาด 45-135 ล้านบาท ราคาขายเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้บริษัทได้ร่วมกับบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(ซึ่งเป็นบริษัทที่ลูกสาวคนเล็กถือหุ้นในสัดส่วน 60%) เนื่องจากต้องการใช้ความชำนาญในการพัฒนาและก่อสร้าง โดยจะพัฒนาภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี.แมกโนเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มดำเนินโครงการในเดือนตุลาคม 2550 นี้
3.โครงการคอนโดฯ บนถนนศรีนครินทร์ กม.8 ด้านข้างศูนย์สรรพสินค้าโลตัส ตั้งอยู่บนเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 550 ยูนิต ขนาดห้อง 30-60 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 9 แสนบาท มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2550, 4.โครงการ โคซี่ พาร์ค ตั้งบนถนนประชารวมใจ มีนบุรี พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 274 ยูนิต ขนาด 50-80 ตร.ว. บนเนื้อที่โครงการ 70 ไร่ ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท
และ 4. โครงการซิตี้โฮม พาร์ค กลางเมืองนครศรีธรรมราช ติดกับศูนย์สรรพสินค้าโลตัส พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยว ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท และบ้านแฝด ราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท ขนาด 50 ตร.ม.ขึ้นไป จำนวน 320 ยูนิต บนเนื้อที่ 69 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท
“แต่ละแปลงเป็นที่ดินเก่า ซื้อมาในราคาถูก ถ้าเทียบกับราคาที่ดินในปัจจุบัน อย่างแปลงที่พัทยาซื้อมาในราคาไร่ละประมาณ 5-6 ล้านบาท เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันราคาอยู่ที่ไร่ละ 10 ล้านบาท ส่วนแปลงที่ศรีนครินทร์เราซื้อตร.ว.ละ 30,000-40,000 บาท ส่วนตอนนี้ราคา 50,000-60,000 บาทเข้าไปแล้ว ทำให้เรามีต้นทุนที่ดินถูกว่าคู่แข่งมาก” นายสุนทรกล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเข้าสู่ตลาดอสังหาฯของเจ้าสัวธนินทร์ในครั้งนี้ จับกลุ่มลูกค้าตลาดกลางเป็นหลัก ระดับราคาบ้าน 1-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ ซึ่งหากเทียบกับ บริษัท ทีซีซี แลนด์ของเจ้าสัวเจริญแล้วต่างกันมาก เพราะเจ้าสัวเจริญเข้าสู่ตลาดอสังหาฯในระดับบน (ไฮเอ็น)ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ อย่างตึกเอ็มไพร์ ทาวน์เวอร์, เอ็มไพร์ เพลส ที่จะเปิดในเร็วๆนี้, โรงแรม พลาซ่าแอทธินีและโรงแรมอีกหลายแห่งที่กำลังจะตามมาล้วนเป็นระดับ 5 ดาวเกือบทั้งสิ้น ส่วนที่อยู่อาศัยก็จับกลุ่มระดับบนเช่นเดียวกัน
ล่าสุดทีซีซี แลนด์ เริ่มหันมาจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางในโครงการ วิลล่า ราชเทวี คอนโดฯราคาเริ่มต้น 2.8 ล้านบาท หลังตลาดระดับชะลอตัวจากพิษการเมือง และภาวะเศรษฐกิจ นอกจากโครงการขนาดเล็กแล้วทีซีซี แลนด์ ยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ถึง 18 โครงการ มูลค่านับแสนล้านบาทภายใน 5 ปีนี้ ครอบคลุมหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ,เชียงใหม่ และภาคใต้ ภูเก็ต ,สมุย และกระบี่ ตามแผนจะพัฒนาทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อรองรับกับการท่องเที่ยว
" การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ๆ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคนั้น นอกจากจะดำเนินการเองแล้ว ในบางโครงการหากมีความชัดเจนในการลงทุนแล้ว มีความเป็นไปได้สูง จะประสานงานกับรัฐบาลกลางและหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเข้ามาสนับสนุนโครงการของบริษัท เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างรายได้ และสร้างงาน ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว "นางวัลลภา ไตรโสรัตน์ ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ ผู้ดูแลพอร์ตอสังหาฯของตระกูลกล่าวให้เห็นถึงอาณาจักรธุรกิจอสังหาฯของบริษัทในอนาคต
การขยายอาณาจักรธุรกิจอสังหาฯ ของเจ้าสัวเจริญยังไม่หยุดแค่นั้น ล่าสุด ทุ่มเงินกว่า 700 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ในนามลูกชายนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ใน UV พร้อมส่งตัวแทนนั่งกรรมการ 3 คน
นายฐาปน ได้ให้เหตุผลการลงทุนในบริษัทยูนิเวนเจอร์ฯว่า " เชื่อมั่นในผลการดำเนินงาน แนวทางการลงทุน และทีมงานผู้บริหารของบริษัทฯ ซึ่งทางเราเชื่อว่าจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ที่จะลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพ และสร้างผลตอบแทนได้เป็นที่น่าพอใจ "
อนึ่ง UV ประกอบธุรกิจการลงทุนและพัฒนาด้านอสังหาฯ โดยใช้วิธีร่วมทุนกับพันธมิตร ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯทั้งแนวราบ และแนวสูง บริษัทร่วมทุนหลักได้แก่ แกรนด์ยูนิตี้ ดี้เวลล็อป เมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง UV,บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ฯ หรือ (LPN ) และบริษัทเยาววงศ์ ในสัดส่วนเท่าๆกัน นโยบายการลงทุนเน้นซื้ออาคารสร้างค้างมาพัฒนาแล้วขาย นอกจากนี้ยังมีบริษัท ปริญเวนเจอร์ จำกัด เป็นการร่วมทุนกับบริษัทปริญสิริ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ยูนิเวนเจอร์ฯ เป็นต้น
|