"ชินคอร์ป" เดินแผนผ่องถ่ายทรัพย์สิน บอร์ดอนุมัติขายหุ้นในเอเชีย เอวิเอชั่น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สายการบินต้นทุนต่ำ "ไทยแอร์เอเชีย" สัดส่วน 49% ให้ผู้บริหารเดิม รับทรัพย์ 472 ล้านบาท "เอกยุทธ" แนะตรวจสอบเส้นทางเงินที่เข้ามาซื้อ แม้ว่าจะยากกว่ากรณีกุหลาบแก้ว ห่วงเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้น ขณะที่โบรกเกอร์เชื่อไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ที่ตกลงขายในช่วงนี้ เชื่อได้ผลกระทบจากกรณีอายัดทรัพย์"ทักษิณ-พจมาน" ตัดปัญหาการเป็นบริษัทสัญชาติต่างด้าว ด้านทัศพล รวมกลุ่มผู้บริหารกู้แบงก์นอกซื้อหุ้น ย้ำเป็นดีลที่คุยตั้งแต่ปีที่แล้ว เชื่อธุรกิจการบินไม่ใช่ธุรกิจหลักชินจึงปล่อยทิ้ง
นายสมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ SHIN กล่าวว่า บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จํากัด (ดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 49% คิดเป็นจำนวน 20,089,993 หุ้น ให้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในราคาหุ้นละ 23.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 472,114,835.50 บาท โดยจะทำสัญญาซื้อขายภายในเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับผู้บริหารระดับสูงที่รับซื้อหุ้นประกอบด้วย นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จํานวน 11,049,497 หุ้น, นายพรอนันต์ เกิดประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน จํานวน 2,008,999 หุ้น , นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง ผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน จํานวน 2,008,999 หุ้น, นายปรีชญา รัศมีธานินทร์ ผู้อํานวยการฝ่ายวิศวกรรม จํานวน 2,008,999 หุ้น, หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล ผู้อํานวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จํานวน 2,008,999 หุ้น และนายสันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อํานวยการฝ่ายพาณิชย์ จํานวน 1,004,500 หุ้น
ส่วนบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น ถือเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี้ที่ถือหุ้น 50% ในไทยแอร์เอเชีย ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการสายการบินราคาประหยัดภายในประเทศและย่านอาเซียนเป็นหลัก
นายเอกยุทธ อันชัญบุตร ประธานเครือข่ายโอเรียลเต็ลมาร์คกรุ๊ป กล่าวว่า การขายหุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านสื่อสารของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นที่กลุ่มเทมาเสกต้องการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำน่าจะเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าเส้นทางของเงินในส่วนของผู้บริหารที่เข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากแหล่งเงินที่ไหน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าอาจจะมีกลุ่มทุนหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเงินจำนวนดังกล่าว แต่ส่วนตัวมองว่าการตรวจสอบในเรื่องนี้น่าจะยากว่าการตรวจสอบในกรณีบริษัทกุหลาบแก้วที่เข้ามาซื้อหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น
สำหรับราคาที่มีการเสนอซื้อในครั้งนี้หากมองที่จำนวนเงินที่เข้าไปซื้อก็ถือว่าไม่น้อยเนื่องจากจะต้องพิจารณาถึงสินทรัพย์ที่แท้จริงของบริษัท ประกอบว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ เพราะหากมีแค่สัปทานในเรื่องสิทธิการบินก็ไม่ได้ถือว่ามีมูลค่ามาก
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้บริหารของบริษัทอาจจะมีความสนใจต่อการเข้ามาลงทุนเอง จึงสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพื่ออำนาจในการบริหารงานอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอ็คคินซัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่กลุ่ม SHIN ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น ให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะธุรกิจสายการบินไม่ใช่ธุรกิจหลักของกลุ่มการที่สามารถตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจมากกว่า
นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดว่าการขายหุ้นในครั้งนี้ของ SHIN ไม่น่าจะเกิดมาแรงกดดันเรื่องที่พ.ต.ท.ทักษิณถูกอายัดทรัพย์ แต่น่าจะเป็นการตัดสินใจจากการพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มมากกว่า ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีความเหมาะสมแล้ว
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า การที่บริษัทตกลงขายหุ้นของแอร์เอเชียน่าจะไม่ใช่ความบังเอิญว่าบริษัทสามารถตกลงการซื้อขายได้ในช่วงนี้ แต่น่าจะเป็นการได้รับแรงกดดันจากกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวถูกอายัดทรัพย์
"การที่ SHIN สามารถขายออกหุ้นของแอร์เอเชียออกไปนั้นคงส่งผลดีต่อทางแอร์เอเชียมากกว่าผลเสีย เพราะจะทำให้บริษัทไม่ได้มีสัญชาติต่างด้าวเหมือนที่ผ่านมาและน่าจะทำให้ง่ายต่อการบริหารและจัดการองค์กรมากกว่า"
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SHIN วานนี้ ราคาปิดที่ 27.75 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.89% มูลค่าการซื้อขาย 2.27 ล้านบาท, หุ้น SATTELราคาปิดที่ 10.00 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 1.96% มูลค่าการซื้อขาย 221.13 ล้านบาท, หุ้น ADVANC ราคาปิดที่ 82 บาท ลดลง 4 บาท หรือ 4.65% มูลค่าการซื้อขาย 199.71 ล้านบาท
ทัศพลวิ่งกู้แบงก์นอกซื้อหุ้น
นายทัศพล แบแลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย กล่าวถึงกรณี บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท เอเชีย เอวิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทยแอร์เอเชียนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้มีการเจรจาขายหุ้นดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลหลักน่าจะมาจากการทำสายการบิน ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกลุ่มชินคอร์ป
ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนที่ชินคอร์ป เข้าไปลงทุน มี 2 แห่ง คือ แคปปิตอลโอเค กับ ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งหากมองถึงรายได้แล้ว ทั้ง 2 บริษัท ทำรายได้ให้แก่ชินคอร์ปต่อปีเพียงไม่กี่ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา ชินคอร์ปได้รับส่วนแบ่งกำไรของไทยแอร์เอเชียเพียง 12 ล้านบาท นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบรายได้ของทั้งเครือชินคอร์ป
“หากจะให้คาดเดาเพิ่มถึงสาเหตุของการขายหุ้นครั้งนี้ นอกจากประเด็นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ก็น่าจะว่าเขาอยากอยู่นิ่งๆ ไม่อยากให้ใครพูดถึงเขาอีกก็ได้ ก็เหมือนกับไทยแอร์เอเชีย ที่ไม่ต้องการให้นำบริษัทเข้าไปเกี่ยวโยงกับการเมือง”
นายทัศพลกล่าวว่า หากดูโครงสร้างผู้บริหารของไทยแอร์เอเชีย จะเห็นชัดเจนว่า ไม่มีคนจากชินคอร์ปเข้ามานั่งบริหารงาน แม้แต่ตัวผมเองก็ไม่ใช่คนของชินคอร์ป แต่ในส่วนของพนักงานอาจมีบ้างเล็กน้อย ซึ่งเราเห็นใครที่มีความสามารถก็ไปดึงตัวเขามา การกำหนดแผนการตลาดก็เป็นไปตามธุรกิจการบิน โดยบริษัทนำจุดหลักๆที่ใช้ในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย
สำหรับเงินที่ผู้บริหาร 6 คน ของบริษัทนำมาซื้อหุ้นจากชินคอร์ปในครั้งนี้ เป็นเงินที่กู้จากธนาคารในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ธนาคารดังกล่าวได้อนุมัติปล่อยกู้ให้แล้ว กำลังอยู่ระหว่างทำสัญญา คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งจำนวนเงินกู้และชื่อของธนาคารที่ปล่อยกู้
“เราหารือกันในกลุ่มผู้บริหารอยู่นานก่อนจะตัดสินใจร่วมกันซื้อหุ้นจากชินคืนมา โดยคำนึงถึงพนักงาน 1,200 คน เป็นหลัก ซึ่งชินคอร์ปถือหุ้นในไทยแอร์เอเชียเพียง 24.5% สำหรับแบงก์ที่ปล่อยกู้ยังเปิดเผยชื่อไม่ได้แต่เป็นแบงก์ที่น่าเชื่อถือ ติด 1 ใน 5 ของ โลก แต่ไม่มีสาขาในประเทศไทย มีเพียงบริษัทวิจัยหลักทรัพย์ในประเทศไทยเท่านั้น”
|