ซี.พี.ทำใจเศรษฐกิจปีนี้ถดถอย คาดทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์รายได้เติบโตแค่ 5-10 % จากยอดขายรวม 1.4 หมื่นล้านเหรียญฯ เทียบกับปี 49 เติบโตกว่า 10% พร้อมปรับกลยุทธ์เบนเข็มลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น กดดันเบรกลงทุนในไทย ย้ำฐานที่มั่นใจในจีนจะมีการขยายลงทุนอย่างต่อเนื่อง เล็งนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อดัง "เชอรี่"จากจีนเข้ามาตีตลาดในไทย ด้านธุรกิจอสังหาฯ เตรียมดึงที่ดินในเครือฯทั้งหมด ให้ซี.พี.แลนด์ฯบริหารและพัฒนา เดินหน้างัดที่ดินสะสมทั้งในและต่างจังหวัดผุดโปรเจกต์ใหม่มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท คุยฟุ้งอีก 2 ปีดันเข้าตลาดหุ้น ซีพีเอฟลั่น สิ้นปีโกยแชร์ตลาดอาหารแช่แข็งและสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน นั่งแท่นผู้นำไม่ต่ำกว่า 25% แทนพรานทะเล
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า ซี.พี.ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปีนี้ เน้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งจีน อินเดียและยุโรปตะวันออก โดยชะลอการลงทุนในประเทศลง หลังจากต้นปีได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง แต่ซี.พี.ก็ยังรักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิม ส่งผลให้ภาพรวมเครือฯยังเติบโตประมาณ 5-10%จากยอดขายปีที่แล้ว 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
" ผลดำเนินงานของซี.พี.ในช่วงไตรมาสแรกถือว่าพอใช้ได้ แม้ว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารฯ จะประสบปัญหาไก่และสุกรก็ตาม แต่บริษัทได้มีการขยายการลงทุนธุรกิจการเกษตรและอาหารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ในประเทศก็รักษาตลาดไว้เหมือนเดิม โดยชะลอการลงทุนในธุรกิจอาหาร แต่ยังมีการลงทุนในธุรกิจพืชเกษตร เช่น ข้าวโพด ทำให้ภาพรวมซี.พี.ในปีนี้ขยายตัว 5-10% ไม่มากเหมือนปีก่อนที่โต10กว่า% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศหดตัวลง "
ในปีนี้ ซี.พี.ยังได้ขยายธุรกิจอาหาร การเกษตรและปศุสัตว์ในอินเดียและจีน ส่วนโรงงานอาหารสัตว์ได้ขยายไปยังยูเครนและรัสเซีย ขณะเดียวกันก็มีการขยายธุรกิชการเกษตรไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาทิ ลาวและกัมพูชา เป็นต้น
นายอาชว์ วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะเติบ 3.5-4% ต่ำกว่าที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ตั้งเป้าหมายไว้ 4-4.5% คงต้องติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง หากมีความรุนแรง จีดีพีน่าจะลดลงอยู่ที่ 3% ขณะเดียวกันยังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอลงมาอยู่ที่ 4.9-5% แต่เศรษฐกิจในเอเชียยังเติบโตสูงถึง 8% ซึ่งได้รับสนับสนุนมาจากจีนและอินเดีย ส่วนเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค
ซี.พี.ขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในลาว-เขมร
นายเอี่ยม งามดำรงค์ ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทฯมีแผนจะขยายการเพาะปลูกข้าวโพดไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาวและกัมพูชา หลังจากประสบปัญหาราคาข้าวโพดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากสหรัฐฯนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอล และไทยมีพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการเจรจากับธนาคารโลกเพื่อขอให้พิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่รัฐบาลลาว ในการนำมาใช้เพาะปลูกข้าวโพด โดยซี.พี.จะเป็นผู้ให้เทคโนโลยีสายพันธุ์ และรับซื้อคืนโดยประกันราคาขั้นต่ำไว้ที่ 5.50 บาท/กก. ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง โดยผลผลิตที่รับซื้อจะป้อนโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซี.พี.ที่นั่น
นำเข้ารถเชอรี่จากจีนทำตลาดในไทย
นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าในปีนี้โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในจีนของเครือซี.พี.จะผลิตได้ 2.5 ล้านคัน ทำให้กลายเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 ของจีน และจะผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคันในปี 2553 โดยรถจักรยานยนต์ที่ผลิตได้เดิมจำหน่ายในประเทศจีน90% แต่ปีนี้จะเน้นส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 30% โดยส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ไนจีเรีย สหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกได้กำไรดีกว่าการขายในประเทศ
รวมทั้งยังมีแผนจะซื้อกิจการโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กของจีนเพิ่มเติม หลังจากโรงงานดังกล่าวประสบปัญหาขาดทุนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นายธนากร กล่าวว่า ในปลายปี 2550 ซี.พี.จะจับมือกับบริษัท เชอรี่ ออโต โมบิล ประเทศจีน ในการนำเข้ารถยนต์จากจีนเข้ามาจำหน่ายในไทยจำนวน 3 รุ่น คือโดยรุ่นแรกเป็นรถอีโคคาร์ ขนาด 850-1000 ซี.ซี. ราคา 3.2-4 แสนบาท รุ่นTIGO คล้ายซีอาร์วี ราคา 7-8 แสนบาท และรถแวน ราคา7-8 แสนบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายในปีแรกมากกว่า 5 พันคัน
ทั้งนี้ ซี.พี.ได้เจรจากับบริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจยานยนต์ 2-3 รายเพื่อร่วมทุนกันทำตลาดรถยนต์เชอรี่ที่จะนำเข้ามาจากโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนจักรยานยนต์นั้น ซี.พี.ก็จะนำเข้าจากจีนมาทำตลาดในไทย โดยเริ่มแรกจำหน่ายในจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ และ ภูเก็ต เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ทางซี.พี.ยังมั่นใจถึงศักยภาพในการขยายสาขาห้องโลตัสในจีน โดยจะเพิ่มจาก 79 สาขาเป็น 100 สาขาในปี 2551 และในอนาคต อาจจะขยายสาขาได้ถึง 3,000 สาขาในช่วงเวลา 15-20 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ของธุรกิจซี.พี.ในจีนจะขยายตัว 10%จากปีที่แล้วมีรายได้รวม 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 40%ของรายได้ในเครือซี.พี.ทั้งหมด
เจ้าสัวธนินทร์สั่งซี.พี.แลนด์ฯรุกอสังหา
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด กล่าวว่าตนได้รับนโยบายจากนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการนำที่ดินของกลุ่มที่มีศักยภาพมารวบรวมไว้ในซี.พี.แลนด์ และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ มีนโยบายที่จะรวบรวมบริษัทลูกของซี.พี.แลนด์ เข้าเป็นบริษัทเดี่ยวกันหรือการบริหารงานแบบรวมศูนย์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 10 บริษัท ดูแลในแต่ละโครงการ โดยปัจจุบันบริษัทซี.พี.แลนด์ มีที่ดินสะสมอยู่ในมือประมาณ 5,000 ไร่ ไม่นับรวมที่ดินของกลุ่มซี.พี.ทั้งหมด ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลติดถนนใหญ่ โดยแปลงใหญ่ที่สุดขนาด 3,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง เดิมบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ได้หยุดไป เพียงแบ่งขายพื้นที่บางส่วนขนาด 400-500 ไร่ให้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ในด้านฐานะการเงินของซี.พี.แลนด์ ทางบริษัทสามารถสะสางหนี้สินนับหมื่นล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงานนับพันล้านบาท และในปี 2549 ซี.พี.แลนด์และในเครือมีกำไรกว่า 500 ล้านบาท
ปูพรมโครงการใหม่
นายสุนทร กล่าวถึงแผนการลงทุนว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนพัฒนา 5 โครงการ ได้แก่ 1. อาคารสำนักงาน ซี.พี.ทาวเวอร์ 4 ในจ.ขอนแก่น บนเนื้อที่ 20 ไร่ จากทั้งหมด 50 ไร่ ซึ่งอีก 30 ไร่ได้แบ่งให้โลตัสเช่า โดยพัฒนาเป็นอาคารสูง 11 ชั้น ขนาด 9,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการ 200 ล้านบาท ราคาค่าเช่า 270-280 บาท/ตร.ม./เดือน เริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม 2550 และก่อนหน้านี้ได้พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ซี.พี. ทาวเวอร์ 3 ปัจจุบันมีผู้เช่าเต็ม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาชอปปิ้งเซ็นเตอร์ รวมไปถึงอาคารพาณิชย์
จับมือบริษัทลูกสาวลุยคอนโดฯพัทยา
สำหรับโครงการที่ 2 จะเป็นในรูปแบบโครงการคอนโดมิเนียม ที่พัทยาใต้ บนเนื้อที่ 30 ไร่ พัฒนาเป็นคอนโดฯสูง 7 ชั้น 10 อาคาร จำนวน 700 ยูนิต ขนาด 45-135 ล้านบาท ราคาขายเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้บริษัทได้ร่วมกับบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซึ่งมีลูกค้าคนเล็กนั่งเป็นประธานอยู่ ) ในการพัฒนาและก่อสร้าง โดยจะพัฒนาภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี.แมกโนเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มดำเนินโครงการในเดือนตุลาคม 2550 นี้ 3.โครงการคอนโดมิเนียม บนถนนศรีนครินทร์ กม.8 ด้านข้างศูนย์สรรพสินค้าโลตัส อาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 550 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 9 แสนบาท มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2550,โครงการที่ 4.โครงการ โคซี่ พาร์ค บนถนนประชารวมใจ มีนบุรี พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 274 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท และ 5. โครงการซิตี้โฮม พาร์ค กลางเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยว ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท จำนวน 320 ยูนิต มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท
แต่งตัวเข้าตลาดหุ้นในอีก 2 ปี
นอกจากนี้ ในแผนระยะยาวของซี.พี.แลนด์ ได้วางเป้าที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2552 เนื่องจากขณะนี้ บริษัทเริ่มมีแนวโน้มการรับรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการขายประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอย โดยโครงสร้างรายได้ในปีหน้าจะแบ่งเป็นรายได้จากการเช่า 50% จากที่ในปีนี้มีรายได้จากการเช่า 80% รายได้จากการขาย 40% และอีก 10% จะมาจากบริหารการโครงการ
ตลาดอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มเติบโต
นายสุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า หลังจากทางบริษัทฯมีนโยบายในเรื่องของการสร้างแบรนด์ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ปี 2549 จากเดิมที่ผลิตสินค้าในรูปต้นน้ำ มาสู่ปลายน้ำด้วยการผลิตอาหารในรูปแช่แข็ง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน หรือ เรดดี้มีล ภายใต้แบรนด์ ซีพีเอฟ พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดของอาหารแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานกว่า 17% ตามหลังพรานทะเลที่เป็นผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งประมาณ 20-21%
"ดังนั้น ทางบริษัทได้ทุ่มงบการตลดาถึง 100 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์ และเพิ่มจำนวนเมนูอาหารให้มีหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเรดดี้มีล จะเพิ่มจากที่มีอยู่ 7 เมนู จะเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 เมนู คาดว่าภายในสิ้นปีส่วนแบ่งตลาดขยับเป็น 25% "
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ตลาดอาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานของไทยมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ละปีมีอัตราการเติบโตกว่า 30% โดยในปีนี้คาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามปกติ แม้สภาพการเมืองและเศรษฐกิจจะยังไม่ดีก็ตาม
ในส่วนของการทำตลาดต่างประเทศนั้น ทางบริษัทฯได้เริ่มวางจำหน่ายเกี๊ยวกุ้งแล้วในหลายๆประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส แคนาดาและอเมริกา ขณะที่ในฮ่องกงและสิงคโปร์ หลังทำการตลาด ปัจจุบันซีพีเอฟ มีส่วนแบ่งทางการตลาดไปแล้ว 20% ในฮ่องกง และมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 700% ในสิงคโปร์
|