แบงก์ชาติเผยยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตเดือนเม.ย.ยังชะลอลงอย่างต่อเนื่องลดวูบจากเดือนก่อน 2 พันล้าน ระบุผลยังไม่เชื่อมั่นในสถาการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจ และสินเชื่อเต็มวงเงิน ขณะที่ปริมาณบัตรใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 39,000 บัตร หลังผู้ประกอบการโหมแข่งออกโปรโมชั่น แต่ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ผู้ว่าการธปท.ยันการขยายตัวของบัตรเครดิตที่อยู่ในตระดับ 10% เป็นอัตราที่เหมาะสม
รายงานข่าวจากฝ่ายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แจ้งถึงปริมาณบัตรเครดิตของทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมาว่า มีจำนวนบัตรเครดิตในระบบทั้งสิ้น 11,126,469 บัตร มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2550 จำนวน 39,306 บัตร ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากการเร่งทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
โดยจากปริมาณบัตรเครดิตรวมแบ่งเป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ 4,453,675 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 12,584 บัตร ออกโดยธนาคารต่างประเทศ 1,236,007 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2,756 บัตร และออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 5,436,967 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 23,966 บัตร
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตในเดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมียอดสินเชื่อทั้งสิ้น 169,746.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียง 3,363.57 ล้านบาท โดยสินเชื่อบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์มีจำนวนทั้งสิ้น 56,991.11 ล้านบาท สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 34.522.96 ล้านบาท และนอนแบงก์ที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 78,232.28 ล้านบาท โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปริมาณการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์บ้านเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และอีกส่วนมาจากในช่วงที่ผ่านมา มีบัตรเครดิตส่วนหนึ่งที่ใช้จำนวนสินเชื่อจนเต็มวงเงินแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถใช้วงเงินเครดิตจากบัตรได้อีก
ด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนเมษายนมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งสิ้น 68,349 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,988.29 ล้านบาท เป็นการลดลงของการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก โดยมีปริมาณการใช้จ่าย 48,188.48 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,994.72 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น มียอดการใช้จ่าย 3,191.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 786.24 ล้านบาท เนื่องจากมีคนไทยท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงหยุดสงกรานต์ และแรงจูงใจจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
และยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้ายังคงอยู่ในระดับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า แม้ว่าจะลดลงจากเดือนก่อน โดยในเดือนเม.ย.มียอดเบิกเงินสดล่วงหน้าทั้งสิ้น 16,969.01 ล้านบาทลดลงจากเดือนก่อนหน้า 889.81 ล้านบาท
ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ(บีไอเอส)ออกมาเตือนถึงความร้อนแรงการเติบโตธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงินปรเทศต่างๆในแถบเอเชีย ซึ่งเกรงว่าอาจมีผลทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินลดลงว่า จากการที่ธปท.สำรวจธุรกิจบัตรเครดิตพบว่าขณะนี้ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตยังไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างสินเชื่อบัตรเครดิตกับสินเชื่อโดยรวมในระบบยังอยู่ที่ระดับ 2-3%ของสินเชื่อโดยรวม ถือว่าสัดส่วนยังไม่สูงมากนัก
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากที่ผ่านมาธปท.มีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกรณีที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิตให้รายได้ขั้นต่ำไม่เกิน 15,000 บาท ดังนั้น การขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตขยายตัวไม่มากเกินไป ถือเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดล่วงหน้า
"ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน เกาหลี จากที่เคยมีปัญหา ตอนนี้ก็สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ส่วนการเติบโตธุรกิจบัตรเครดิตของไทยในขณะนี้ก็ไม่ได้หวือหวามากนัก เมื่อเทียบกับในช่วงอดีตที่เคยผ่านมา โดยจากเดิมที่เคยเติบโตถึง 40% แต่วันนี้อัตราการเติบโตเหลือเพียงกว่า 10% เท่านั้น จึงยืนยันได้ว่าธุรกิจบัตรเครดิตตอนนี้ยังไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด”นางธาริษา กล่าว
|