ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ แพนคอสเมติคเติบโตอย่างรวดเร็ว ในลักษณะการโตแบบเงียบ
ๆ ไม่หวือหวา หรือลงทุนอย่างใหญ่โต แต่ทำจากเล็กไปหาใหญ่ จนกระทั่งกลายเป็นผู้นำตลาดเวชสำอางรักษาสิวรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
และแตกกิจการไปสู่การลงทุน ขยายอาณาจักร HEALTH INDUSTRY แบบครบวงจรที่มีกิจการไม่ต่ำกว่า
19 บริษัท อะไรคือ ยุทธศาสตร์แห่งการเติบโต ? กลไกภายในและโครงสร้างการบริหารเชิงแพทย์พาณิชย์นี้
เป็นอย่างไร ? เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ยังไม่เคยมีใครเขียนถึง
ภายใต้ปรัชญาบริษัทแม่ "ไบโอไฟล์" ที่ว่าด้วย "คุณภาพชีวิต"
ทำให้แพนคอสเมติคและบริษัทในกลุ่มอีก 18 บริษัทเติบโตไปในแนวทางธุรกิจหลักเพื่อสุขภาพอนามัย
โดยอาศัยฐานธุรกิจเวชสำอางของแพนคอสเมติคเป็นหลัก
ย้อนกลับไปเมื่อสิบเอ็ดปีที่แล้ว กิจการแพนคอสเมติค เริ่มขึ้นจากคลินิกห้องแถวเล็ก
ๆ ชื่อว่า "ราชเทวีโพลีคลินิก" ของหมอพิชิต สุวรรณประกร ที่มีชื่อเสียงจากการรักษาฝ้าได้ผล
จนเป็นที่ร่ำลือถึงผลิตภัณฑ์ครีมแก้ฝ้า "พีเอ็ม 1"
ทุกวันนี้ ฝ้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์จุดแดงบนโลโก้บริษัท ซึ่งลูกค้าของหมอพิชิตคนหนึ่งได้รังสรรค์ขึ้นมาเมื่อสิบปีก่อน
ในยุคแรกการเข้ามาทำตลาดของแพนคอสเมติค โฆษณาจะเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเซลล์สร้างสีและสารอุดตันที่ทำให้เกิดสิว
ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในวิธีการนำเสนอสินค้า ที่ผู้บริหารแพนคอสเมติคต้องทำงานอย่างหนักในการปูพื้นความรู้
จากปากต่อปากทำให้ลูกค้าแพนเพิ่มจากวันละ 10-20 คนเป็นสมาชิกนับแสนคนในขณะนี้
ปัจจุบัน ตลาดเวชสำอางมีมูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท ผู้ครองตลาดส่วนใหญ่
คือ สินค้าระดับล่าง เช่น ครีมกวนอิม เบต้า บีแอน ไดฟู ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าระดับบนที่แพนคอสเมติคครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าฝ้าอยู่
40% และตลาดสินค้าสิว 45%
ผลิตภัณฑ์ของแพนคอสเมติคมีทั้งหมด 17 ชนิดและได้มีการแบ่งประเภทออกมาชัดเจนตามความหมายของเวชสำอาง
คือ หนึ่ง - ผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา เช่น สิว ฝ้า สอง - ผลิตภัณฑ์เพื่อการป้องกัน
และสาม - ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุง
ยอดรายได้เฉพาะของบริษัท แพนคอสเมดอินสติติวท์ที่ทำได้ในปี 2530 มีเพียงแค่ตัวเลข
7,036,310 บาท ได้เพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า โดยในปี 2532 ถือว่าเป็นปีทองของแพนคอสเมติคปีหนึ่ง
เช่น มีการขยายตัวด้านกำลังผลิตที่โรงงานเอ็มซีไอ ที่ตัวเลขรายได้แสดงการเติบโตเป็นสามเท่าของปีที่แล้วจาก
8 ล้านเป็น 21 ล้านบาท
เบื้องหลังการเติบโตทางการตลาดของแพนคอสเมติคนี้มีอยู่สามข้อ คือ หนึ่ง
- การเป็นสถาบันธุรกิจผิวพรรณและเวชสำอางที่ใช้หลักการแพทย์อย่างครบวงจรเป็นรายแรก
สอง - แพนคอสเมติคมี MARKET NICHE เป็นสินค้าเวชสำอางที่มีศูนย์บริการควบคู่กับการขายผลิตภัณฑ์
ช่วยเสริมความมั่นใจและสร้างความรับผิดชอบต่อลูกค้า
สาม - จุดแข็งที่ทีมแพทย์ผู้บริหารของหมอพิชิต และทีมที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยประภาศรี
อมรสิน ยุทธนา ศุขสมิติ ดร.ทวีศักดิ์ เศวตเศรนี และไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ
"เราเชื่อว่า คอสเมติคไม่ใช่ตัวเรา เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ คือ เวชสำอาง
(MEDIACTED COSMETIC)" พินสวัสดิ์ สุวรรณประกร รองประธานบริษัท ไบโอไฟล์
กล่าวถึงจุดยืนของผลิตภัณฑ์ที่มีผลถึงการเปลี่ยนชื่อจาก หจก.แพนคอสเมติค
มาเป็นบริษัทแพนคอสเมดอินสติติวท์ ในปี 2529 นี้เอง
บริษัทแพนคอสเมดอินสติติวท์ปัจจุบันบริหารโดยอรรควุฒิ สุวรรณประกร ซึ่งเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของหมอพิชิต
สุวรรณประกร ประธานบริษัท ผู้ชักชวนให้มาร่วมงานด้วยเมืองแปดปีที่แล้ว
บิดาของอรรควุฒิชื่อ สุวรรณ และมารดาชื่อ รุจี มีบุตรด้วยกันเพียงสามคน
คนโตชื่อจิราภา สุวรรณประกร ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ช่วยประธานบริษัทไบโอไฟล์ คนที่สองคือ
อรรควุฒิ และคนที่สามชื่อ สรสัณฑ์
อรรควุฒิเข้ามาที่แพนคอสเมติคแบบพนักงานคนหนึ่ง ไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่ดูแลของแถมลูกค้าที่คลินิกราชประสงค์
สมัยที่แพนใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย โดยให้ลูกค้าสะสมแสตมป์แล้วมาแลกของใช้ได้
เช่น เตารีด หม้อต้มน้ำ อรรควุฒิก็ดูแลตรงนี้ จนกระทั่งได้รับการโปรโมทสูงขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วย
หัวหน้าส่วน หัวหน้าฝ่าย และผู้จัดการฝ่ายการตลาด
และในงานครบรอบ 11 ปีของแพนคอสเมติคเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว อรรควุฒิก็ได้รับการประกาศเป็นทางการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการบริษัทแพนคอสเมดอินสติติวท์
สืบต่อจากพินสวัสดิ์ที่ได้วางมือขึ้นไปกำกับนโยบายระดับสูงที่บริษัทแม่ คือ
ไบโอไฟล์คอร์ปอเรชั่นซึ่งเกิดหลังบริษัทลูก
แพนคอสเมติคในยุคของอรรควุฒิได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในใหม่
ที่ยืดหยุ่นต่อความเติบโต และกระจายอำนาจมากขึ้นให้แก่ผู้จัดการฝ่ายที่มีอยู่
4 ฝ่าย คือ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายเทคนิคและบริการ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ โดยเฉพาะการเพิ่มฝ่ายกิจกรรมพิเศษขึ้นมาใหม่
เพื่อทำหน้าที่คล้ายหน่วยเฉพาะกิจในการจับโครงการสำคัญที่ต้องอาศัยความรวดเร็วหลังจากได้รับการมอบหมายจากผู้บริหารแล้ว
"มันเป็นการ SHORT CUT OPERATION" อรรควุฒิ กล่าวถึงการลดขั้นตอนการทำงานที่ต้องการความฉับไว
การตลาดของแพนคอสเมติคในยุคสมัยของอรรรควุฒิเป็นผู้อำนวยการนี้ มีแผนการสำคัญในการ
REPOSITION ศูนย์แพนคอสเมติคให้มีลักษณะเป็น PRIMARY CARE และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสุขภาพแก่สมาชิกศูนย์แพนคลินิก
ครั้งหนึ่ง อรรควุฒิเคยคิดจะนำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหารศูนย์บริการแพนคลินิคทั่วไปให้มีภาพพจน์ของความทันสมัย
แต่เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาในศูนย์แพนคลินิคยังมีความต้องการที่จะได้รับคำแนะนำและสัมผัสใกล้ชิดในการวิเคราะห์ปัญหา
จึงทำให้โครงการนี้ต้องระงับไป
ผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ได้ทำให้ผู้บริหารบริษัทต้องแช่แข็งโครงการต่าง
ๆ ที่มีการคืนทุนเกินกว่าสองปีลงไป อาทิเช่น โครงการศูนย์ฝึกอบรมที่ชลบุรี
ซึ่งต้องใช้ทุน 17 ล้าน ลักษณะสร้างเป็นกึ่ง ๆ รีสอร์ทกับศูนย์ฝึกอบรม
"ศูนย์แห่งนี้เราทำไว้สำหรับพนักงานและส่วนหนึ่งรับลูกค้าทั่วไป เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้
แต่เราคิดว่ากว่าจะคืนทุนได้ก็ใช้เวลา 12 ปี ดังนั้นเราจึงหยุดไว้ก่อน"
อรรควุฒิเล่าให้ฟัง
การเติบใหญ่อย่างเงียบ ๆ ของแพนคอสเมติค ทำให้ผู้นำองค์กรนี้มีวัฒนธรรมการบริหารที่เก็บตัวมากกว่านักประชาสัมพันธ์
แต่เมื่อกิจการนี้ใหญ่จนกลายเป็นผู้นำเวชสำอาง ที่ต้องเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง
ภาพพจน์องค์กรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ดังนั้น ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปิดเผยถึงนโยบายการประชาสัมพันธ์และโฆษณาเพื่อมุ่งสู่ภาพพจน์บริษัทสู่สายตาสาธารณชน
"เราจะทำโฆษณาเชิง CORPORATE ADVERTISING ในเรื่องภาพพจน์ซึ่งคาดว่าจะออกในกลางปีนี้"
อรรควุฒิกล่าวถึงโฆษณาที่จ้างเอเยนซีมืออาชีพอย่างลินตาสทำให้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายในปีที่แล้ว
แพนคอสเมติคใช้ไปถึง 30 กว่าล้านและในปีนี้คาดว่ากิจกรรมทางการตลาดที่ต้องอาศัยการส่งเสริมการขายนี้คงไม่ต่ำกว่าเดิม
"เรามารู้ว่า ตัวเองใหญ่ขึ้นก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมาบอก" ผู้อำนวยการแพนคนใหม่เอ่ยอย่างถ่อมตัว
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พนักงานแพนคอสเมติคมีไม่ถึง 20 คน แต่ปัจจุบันแพนมีพนักงานจำนวนมากถึง
1,400 คน เป็นหมอประจำถึง 60 คน พยาบาล 300 คน และพนักงานบี.เอ. 350-370
คน และผู้ช่วยอีก 400 คน ที่เหลือเป็นพนักงานประจำศูนย์และสำนักงานใหญ่
ผู้บริหารแพนคอสเมติค กล่าวว่า ในแต่ละปี เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรสูงมาก
เช่น มีการส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง มีห้อง BIO FITNESS ที่ใช้เงินลงทุนซื้ออุปกรณ์การออกกำลังกายมูลค่าไม่ต่ำกว่าล้านบาท
"เราอยู่ใน HEALTH INDUSTRY คนของเราควรจะมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง"
อรรควุฒิกล่าว
จุดแข็งของแพนคอสเมติคนั้นอยู่ที่แพทย์และพยาบาลเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ
แต่การบริหารแพทย์และพยาบาลไม่ใช่เรื่องธรรมดา !!
โดยทั่วไปวิชาชีพทั้งสองนี้มีความสามารถด้านรายได้ค่อนข้างสูง และ TURNOVER
ค่อนข้างสูง แต่ในแพนคอสเมติค อัตราการลาออกนี้ต่ำมาก
ความเป็น "ตักศิลา" ของแพนคอสเมติคมีอยู่สูงมาก กล่าวกันว่า ในยุคแรกเริ่มของแพนคอสเมติคที่ยังไม่มีศูนย์บริการ
แพนเคยมีแพทย์คลินิคในสังกัดถึง 400-500 คนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ความรู้ที่แพนฝึกอบรมให้ไปเปิดคลินิกสิวฝ้า
ปัจจุบันแพทย์ทั่วไปที่มาเรียนที่คลินิกโรคผิวหนังไลออนส์สุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนาของแพนและเป็นคลินิกรักษาโรคผิวหนังสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ
ต้องได้รับเงินทุนอุดหนุนปีละ 360,000 บาท
ระหว่างการศึกษาสองปี แพทย์เหล่านี้ใช้เวลาเรียนและตรวจรักษาด้วย เมื่อจบก็ทำงานที่แพน
ลแะบางรายที่เรียนเก่งก็จะได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขด้วย
แม้ว่าการลงทุนแพทย์แต่ละรายนี้จะต้องใช้เงินสูงมากก็ตาม ปีหนึ่งจะเปิดรับเพียง
4-5 คนเท่านั้นเอง
"หมอที่จบโรคผิวหนังไลออนส์สุพรรณหงส์จะมีความเชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
เพราะเราใช้หลักสูตรเหมือนโรงเรียนแพทย์ทุกอย่าง แต่เราอาจจะเน้นหนักไปทางด้านวิจัยค้นคว้ามาก
ซึ่งเราให้ความสำคัญตรงนี้มาก"
คำกล่าวนี้เป็นของหมอชลิต พงษ์สมบูรณ์ ที่เป็นกำลังหลักสำคัญของแพนคอสเมติคมาตั้งแต่ต้น
ปัจจุบันหมอชลิตมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายเทคนิคและบริการ และผู้จัดการส่วนบริการด้วย
ปัจจุบัน บริษัทแม่ "ไบโอไฟล์" มีแพทย์ในสังกัดทั้งสิ้น 120 คน
โดยครึ่งหนึ่งประจำอยู่ตามศูนย์แพนคลินิค และอีกครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในศูนย์แพทย์โรคผิวหนังไลออนส์สุพรรณหงส์บ้าง
ราชเทวีโพลีคลินิค และเพลินจิต ไฮเทค เลเซอร์บ้าง
มีแพทย์ที่อยู่ระดับบริหารในเครือไบโอไฟล์ก็เช่น หมอสุเทพ จิระสุทัศน์ ผู้บริหารคลินิคโรคผิวหนังไลออนส์สุพรรณหงส์
ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยค้นคว้าล่าสุดสามารถพบวิธีรักษาโรคด่าวขาวได้ นอกจากนี้ยังมีหมอสมพงษ์
ผู้บริหาร "ราชเทวีโพลีคลินิก" หมอชวลิต ช่วงชัยชัชวาลที่มีความสามารถเชิงยุทธ์การตลาดบริหารกิจการราชเทวี
ฟาร์มาซูติคอล ซึ่งจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาตามสถานพยาบาลทั่วประเทศ
ชั่วระยะเวลาสิบเอ็ดปี แพนคอสเมติคได้ผันตัวเองจากการเป็นคลินิคนรักษาโรคสิวฝ้ามาสู่การเป็นผู้นำตลาดเวชสำอางที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า
500 ล้าน
ยิ่งกว่านั้นทุนและกำไรที่สั่งสมจากแพนคอสเมติคตั้งแต่ปี 2522-2529 ได้ถูกนำไปใช้ลงทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจให้ครบวงจร
ที่เข้าสู่ HEALTH INDUSTRY เต็มตัว
ตั้งแต่ปี 2529-2533 ผู้บริหารระดับสูงของแพนคอสเมติคได้ตั้งบริษัทใหญ่มากมายชนิดโตไม่หยุด
โดยขยายการลงทุนที่เอื้อปัจจัยสำคัญต่อการผลิตและจำหน่ายแพนคอสเมติคเป็นหลัก
ปี 2530 เกิดบริษัทเอ็ม ซี ไอ โรงงานผลิตเวชสำอางและเครื่องสำอาง ภายใต้ชื่อ
"แพนคอสเมติค" และ "สกินเมทส์" และโรงงนผลิตยาแผนปัจจุบัน
"ท็อปเดิร์ม"
ผลการดำเนินงานของบริษัทเอ็มซีไอ เมื่อปี 32 สูงกว่าปี 31 ถึงสามเท่า โดยดูจากปี
2532 รายได้รวม 21,831,649 บาท ขณะที่ปี 2531 เพียงแค่ 7,834,146 บาท
แต่สำหรับบริษัทท็อปเดิร์มที่ผลิตยาแผนปัจจุบันมีรายได้เพียง 2,463,469
บาทในปี 2532 นี้เอง
การเติบโตที่สูงมากเป็นสามเท่าตัวเมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้โรงงานผลิตยาทั้งสองแห่งได้ย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่จากถนนพัฒนาการไปอยู่ที่บางพลี
จ.สมุทรปราการ
"เราขยายไว้รองรับการเติบโตในอนาคต ตอนนี้เรากำลังจะมีอีกโรงงานหนึ่งแล้ว
โดยกำลังดำเนินการขออนุญาต GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTICE) ซึ่งอีก 2-3
เดือนคงจะเรียบร้อย" พินสวัสดิ์ รองประธานไบโอไฟล์ กล่าวถึงการขออนุญาตมาตรฐานโรงงานผลิตยา
ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ แพนยังมี "บริษัท วงศ์พิน" โรงงานผลิตหลอดบรรจุภัณฑ์พลาสติกเอง
หลังจากที่อดีตเคยต้องจ้างต่างประเทศผลิตให้ แต่เมื่อตลาดขยายตัวและต้องใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมหาศาลการตั้งโรงงานผลิตเองจึงเป็นการลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพการผลิตได้
"ตอนนี้เรากำลังเน้นหนักการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ ที่จะนำมาผลิตแพ็คเกจจิ้งในต้นปีนี้
โดยจะมีเครื่องจักรใหม่เข้ามาจากญี่ปุ่นและเยอรมนีสองเครื่อง" พินสวัสดิ์เอ่ยถึงการลงทุนเพิ่มขึ้น
งานนี้ บริษัทวงศ์พิน ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4.5 ล้านบาท จากเดิม 3
ล้านบาท มีรายได้ในปี 2532 เท่ากับ 4,284,311 บาท
หลังจากการขยายตัวทางด้านนี้เต็มที่แล้ว ทิศทางการลงทุนที่ชัดเจนในสายธุรกิจสุขภาพอนามัย
ทำให้ผู้บริหารแพนคอสเมติคได้ตั้งบริษัทไบโอคอนเซปท์ขึ้นมาเพื่อผลิตอาหารเสริม
เช่น วิตามินอี พลัส
นอกจากนี้ ยังมีไร่ท็อปฟาร์มปลูกพืชผลที่ให้คุณค่าโภชนาการ เช่น น้ำฝรั่ง
ซึ่งผู้บริหารแพนได้ลงทุนนับล้านให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิจัยและพัฒนาขึ้นมา
ส่วนบริษัทวิบูลย์ฟาร์มซึ่งเป็นกิจการฟาร์มโคนมที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่
30 ตัวก็อยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเป็นร้อยตัวในปีนี้ เนื่องจากเป้าหมายต้องผลิตน้ำนมและอาหารนมเข้าสู่ตลาดวันละ
15,000 ลิตร
"แนวโน้มของการตื่นตัวด้านสุขภาพของคนไทย ทำให้สินค้าในแนวอาหารเสริมสุขภาพ
NUTRITION และ PREVENTIVE PRODUCT มีอนาคตสดใส" อรรควุฒิคาดการณ์ในภาวะที่คนไทยตื่นตัวเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้นนี้
นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของแพทนยังได้ขยายการลงทุนไปสู่การพัฒนาที่ดิน
ในนามบริษัท ไบโอไฟล์ บ้านและที่ดิน ชื่อโครงการ "ธัญธานี คันทรีคลับ"
ที่จัดสรรที่ดินแถวปทุมธานีจำนวน 1,500 ไร่ให้กลายเป็นบ้านจัดสรรและมีสปอร์ตคลับศูนย์สุขภาพด้วย
ล่าสุด "ไบโอมาร์ท" ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ผู้บริหารแพนเริ่มที่จะเข้ามาทำขึ้น
เพื่อเน้นกลุ่มเป้าหมายแม่และเด็กก็เกิดขึ้น
"ไบโอมาร์ทจะพลิกแพลงตัวเองไปสู่วงจรที่เน้นการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก
รวมถึงบุคคลทั่วไป และยังเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเอาท์เลทรองรับผลิตภัณฑ์บริษัทในเครือด้วย"
พินสวัสดิ์เล่าให้ฟังถึงวัตถุประสงค์การเกิดของไบโอมาร์ม ซึ่งปัจจุบันเปิดแห่งแรกที่บริเวณใกล้ศูนย์แพนคลินิค
เพลินจิต เป็นการทดลองตลาด
กิจการที่แตกตัวออกไปจากแพนคอสเมติคทั้งหมดนี้ ยังคงรักษาแนวการดำเนินธุรกิจเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตตลอดมา
ฉะนั้นสินค้าประเภทเบียร์ เหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดอื่น ๆ จะไม่พบอยู่ในการลงทุนของเครือไบโอไฟล์นี้
กุญแจแห่งความสำเร็จจากผลิตภัณฑ์แพนคอสเมติคนี้ได้เปิดประตูแห่งโอกาสทางการลงทุนใหม่
ๆ ให้กับพี่น้องตระกูลสุวรรณประกรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกลุ่มบริษัทเครือไบโอไฟล์ทั้หงมด
ตระกูลสุวรรณประกรโดยถิ่นกำเนิดเป็นชาวเมืองลพบุรี เล่ากันว่า ครึ่งเมืองลพบุรีเป็นคนในตระกูลนี้
ต่อมาได้แยกย้ายทำอาชีพรับราชการเป็นส่วนใหญ่
หมอพิชิต สุวรรณประกร ก็รับราชการเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เช่นกัน และประสบความสำเร็จจากการทำ
"ราชเทวีโพลีคลินิค" เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
หมอพิชิตเป็นคนที่ LOW PROFILE มาก ๆ แต่ในวงการแพทย์ชื่อเสียงของหมอพิชิตเป็นที่รู้จักกันดี
เพราะมีแพทย์ผิวหนังไทยไม่กี่คนที่จะมีความสามารถสอบผ่าน AMERICAN BOARD
OF DERMATOLOGY ได้และเรียนมาทางเซลล์สร้างสีโดยตรง
ผู้ที่ชักชวนหมอพิชิตให้เข้าสู่วงการแพทย์ผิวหนังหลังจากจบหมอที่จุฬาฯ แล้วก็คือ
หมอประสพ นิติฑัณฑ์ประภาส ความรู้สึกที่รักอาชีพหมอนี้จึงทำให้หมอพิชิตยังคงทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์
จุฬาฯ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ แม้จะร่ำรวยและมีชื่อเสียงแล้วก็ตาม
หมอพิชิตมีบิดาชื่อ ฉันท์ และมารดาชื่อ สลับศังสย์ พี่น้องท้องเดียวกันกับหมอพิชิตมี
6 คน คือ เฉลิมพันธ์ - พี่สาวคนโต ทำหน้าที่เป็นประธานบริษัทไบโอไฟล์ และดูแลด้านที่ดินเป็นหลัก
น้องสองคนถัดมาก็คือ นคร และเอกศักดิ์ ซึ่งคนหลังทำหน้าที่เป็นกรรมกรในบริษัทท็อปเดิร์มโรงงานผลิตยา
ส่วนคนที่สี่ คือ หมอพิชิต
และคนที่ห้า คือ พินสวัสดิ์ ผู้มีบทบาทมากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ พินสวัสดิ์นั้นพื้นฐานการศึกษาจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์
จุฬาฯ และไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่อเมริกา มีภรรยาเป็นชาวต่างประเทศ
ชื่อ แพทริเชียนแอน และบุตรชายชื่อ ริชาร์ดแอชลี ปัจจุบันพินสวัสดิ์เป็นรองประธานบริษัทไบโอไฟล์ฝ่ายจัดจำหน่ายและบริการ
ส่วนน้องคนสุดท้อง คือ กอบทิพย์ ศรีจอมขวัญ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือด้วย
เมื่อต้นปีที่แล้ว ความคิดที่จะจัดตั้งบริษัทลงทุนของครอบครัวได้เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดการแตกตัวไปสู่กิจการทั้งภาคอุตสาหกรรมและการค้าบริการรวม
19 แห่งจนเกรงว่า การเติบโตอย่างเร็วในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ จะกุมสภาพการบริหารที่รวมศูนย์การกำหนดทิศทางไม่ได้
ราวเดือนกันยายน 2533 "บริษัทไบโอไฟล์ คอร์ปอเรชั่น" จึงก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท
เป็นบริษัทส่วนตัวของครอบครัวสุวรรณประกร ซึ่งมี หมอพิชิต สุวรรณประกร ถือหุ้น
4,000 หุ้น เฉลิมพันธ์ถือหุ้น 2,500 หุ้น พินสวัสดิ์ถือหุ้น 1,500 หุ้น จิราภาถือหุ้น
500 หุ้น อรรควุฒิถือหุ้น 500 หุ้น ส่วนที่เหลือ 1,000 หุ้นนั้นเป็นการถือหุ้นคนละ
500 หุ้นในนามของลูกน้องเก่ารุ่นบุกเบิก คือ พัทนิล เหลืองไพฑูรย์ และรสสุคนธ์
พะลายานนท์
เป็นที่คาดหมายว่า ในอนาคตบทบาทการลงทุนของบริษัทแม่ "ไบโอไฟล์"
นี้จะเกิดขึ้น โดยมีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทลูกต่าง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการถือหุ้นและควบคุมกำหนดการบริหารและนโยบายได้
โครงสร้างการบริหารภายในไบโอไฟล์ เฉลิมพันธ์ สุวรรณประกร พี่สาวหมอพิชิต
เป็นประธานบริษัท และระดับรองประธานผู้มีบทบาทมากที่สุดก็คือ พินสวัสดิ์
สุวรรณประกร ที่ดูแลบริษัทในกลุ่มจัดจำหน่ายและบริการ ส่วนรองประธานสำนักนโยบายและแผนอีกคน
คือ ยุทธนา ศุขสมิติ
ในทางปฏิบัติ ขณะนี้หมอพิชิตเข้ามาดูแลชั่วคราวด้านโรงงานผลิตยา เนื่องจากรองประธานฝ่ายบริษัทฝ่ายผลิตยังว่างอยู่
โดยมี จิราภา สุวรรณประกร ผู้ช่วยรองประธานร่วมรับผิดชอบในบริษัททั้งหมด
7 บริษัท คือ บริษัทเอ็มซีไอ บริษัทวงศ์พิน บริษัทท็อปเดิร์ม บริษัทพิศักดิ์เอนเตอร์ไพรส์
บริษัทศูนย์การพิมพ์กิจ บริษัทวิบูลย์ฟาร์ม และบริษัทท็อปฟาร์ม
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มบริษัทฝ่ายจัดจำหน่ายที่เป็นแขนขาทางการตลาดให้กับธุรกิจในเครือไบโอไฟล์ก็มีอยู่
7 บริษัทเช่นกัน คือ บริษัทแพนคอสเมดอินสติติวท์ บริษัทสกินเมทส์ หจก.ราชเทวี
ฟาร์มาซูติคอล บริษัทเน็คเวฟส์ บริษัทไบโอไฟล์บ้านและที่ดิน บริษัทไซเบอร์เทค
เอ็ม
ในแต่ละหน่วย CBU หรือ STRATEGIC BUSINESS UNIT นี้จะมีผู้อำนวยการหรือบริษัทบริหารภายใต้การดูแลด้านกำกับนโยบายจากพินสวัสดิ์ในฐานะเป็นรองประธานฝ่ายจัดจำหน่ายและบริการนี้
"เราอยู่ในวงการนี้เราก็อยากจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายหลาย ๆ รูปแบบ
เพราะเราถือว่าช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นเส้นเลือดและหัวใจสำคัญของการทำตลาด"
พินสวัสดิ์ เล่าให้ฟัง
และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มบริษัทฝ่ายบริการ ได้แก่ บริษัทศูนย์การแพทย์สุพรรณหงส์
หจก.ราชเทวีโพลีคลินิค บริษัท พี บี ซี มาร์เกตติ้ง บริษัทเพลินจิต ไฮ-เทค
เลเซอร์ เซ็นเตอร์ และชมรมเพื่อนพัฒนา
พินสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในอนาคต 3 ปีข้างหน้านี้
บริษัท พี บี ซี มาร์เกตติ้งซึ่งก็คือศูนย์บริการ "แพนคลินิค"
56 แห่งนั้น จะถูกวางแผนปรับปรุงโครงสร้างใหม่เพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"บริษัท พี บี ซี มาร์เกตติ้งนี้ โดยทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับแพน แต่เราจะเริ่มดำเนินการแยกและพัฒนาโครงสร้างนี้ออกมาเป็นขาของตัวเองอย่างชัดเจนในอนาคต"
พินสวัสดิ์เล่าถึงแผนการปรับปรุง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท พี บี ซี มาร์เกตติ้งนี้ มีรายได้ 25,594,108
บาทในปี 2532 นี้ และมีสินทรัพย์เพียง 4,625,275 บาท ทั้งนี้เพราะลักษณะการบริหารทุนของศูนย์บริการแพนคลินิคใช้วิธีการเช่าอาคารทั้หงมด
56 แห่ง
"เราจะมีการปรับให้เป็น PROFIT CENTER มากขึ้น เพราะทางบัญชีและหลักการแล้ว
แพนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับแพนคลินิค เรามีการทำ CROSS บัญชีในสองหน่วยงานนี้แล้ว
ในที่สุดศูนย์นี้ก็ต้องแยกไปสร้างกำไรให้เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยการให้บริการแก่ลูกค้าแพนและกลุ่มอื่น
ๆ ในเครือ" พินสวัสดิ์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
การระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ในระยะสามปีข้างหน้า จะทำให้ลดภาระหนี้สินจากดอกเบี้ยที่กู้ยืมธนาคาร
ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารกสิกรไทยและไทยพาณิชย์นั้น ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดทุนมหาศาลในการขยายกิจการไปได้อย่างมั่นคง
แม้จะเกิดมีความผันผวนทางภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อถึงเวลานั้น โอกาสที่แพนคอสเมติคจะรุดก้าวเป็นผู้นำใน HEALTH INDUSTRY
ครบวงจรของเมืองไทยก็น่าเกิดขึ้น และอาจจะเป็นเอกชนรายแรกที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจับตา
!!