|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปัจจุบันธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากเครื่องบินส่วนตัวที่แย่งผู้โดยสารระดับบน และสายการบินต้นทุนต่ำที่แย่งผู้โดยสารระดับล่าง สายการบินต่างๆ จึงต้องพยายามปรับการดำเนินงานเพื่อหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะการแย่งผู้โดยสารศักยภาพสูง ซึ่งโดยสารในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ
เดิมสายการบินจะเก็บค่าโดยสารในอัตราเดียวกัน เป็นชั้นมาตรฐาน แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1940 สายการบินได้รับอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนของสหรัฐฯ ให้เก็บค่าโดยสารในอัตราแตกต่างกันสำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัด เครื่องบินในช่วงนั้นจะมีที่นั่งมาตรฐานสำหรับผู้โดยสารที่จ่ายที่นั่งเต็มราคาเกือบทั้งลำ จะมีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัดที่ลูกค้าจ่ายค่าโดยสารในราคาต่ำเพียงไม่กี่ที่นั่ง โดยราคาตั๋วชั้นมาตรฐานและชั้นประหยัดไม่แตกต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อราคาตั๋วระหว่างชั้นมาตรฐานและชั้นราคาประหยัดแตกต่างกันมากขึ้น ผู้โดยสารจึงหันมานิยมซื้อตั๋วราคาประหยัด ทำให้สถานการณ์พลิกผัน ทำให้สัดส่วนที่นั่งราคาประหยัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบทั้งลำเครื่องบิน ส่วนเหลือที่นั่งสำหรับราคามาตรฐานเหลือเพียงส่วนน้อยของเครื่องบินเท่านั้น ทำให้ที่นั่งซึ่งเดิมเป็นชั้นมาตรฐานกลายเป็นที่นั่งชั้นหนึ่ง
ต่อมาได้เกิดนวัตกรรมใหม่เมื่อสายการบินแคนตัสได้เริ่มที่นั่งชั้นธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2522 ทำให้เครื่องบินมี 3 ชั้น คือ ชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด จากนั้นสายการบินอื่นๆ ได้พยายามลอกเลียนแบบ
ปัจจุบันความสามารถในด้านการตลาดเพื่อแย่งผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจนับว่าสำคัญมากต่อความอยู่รอดของสายการบิน เนื่องจากธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากสายการบินต้นทุนต่ำที่แย่งผู้โดยสารระดับล่าง ทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารชั้นประหยัดได้มากนัก โดยอัตราค่าโดยสารในชั้นประหยัดสำหรับเที่ยวบินในประเทศของสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ที่ระดับคงที่ประมาณ 0.12 เหรียญสหรัฐ/ไมล์ หรือ 2.6 บาท/กม. แม้ว่าต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น น้ำมัน เงินเดือน ฯลฯ จะเพิ่มขึ้นก็ตาม
กำไรของธุรกิจการบินจึงมาจากผู้โดยสารในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผู้จ่ายค่าโดยสารในราคาแพง โดยเฉลี่ยจ่ายเงินสูงเป็น 11 และ 4 เท่า ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารในชั้นประหยัด
ปัจจุบันแม้มีสายการบินจำนวนมากเสนอบริการชั้นหนึ่ง แต่มีสายการบินเพียงไม่กี่แห่งที่ประสบผลสำเร็จ โดยเรียกสายการบินเหล่านี้ในชื่อว่า Premium Carriers เป็นต้นว่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ ลุฟต์ฮันซ่า คาเธ่ย์แปซิฟิก ฯลฯ สำหรับสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิกได้รับการจัดอันดับว่าบริการชั้นหนึ่งซึ่งดีที่สุดในโลกเมื่อปี 2549 ได้ปรับปรุงบริการในด้านต่างๆ เป็นพิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ขนาดของโทรทัศน์ส่วนตัวที่มีขนาดใหญ่ เก้าอี้นั่งที่ออกแบบพิเศษให้สามารถปรับเอนเป็นเตียงนอนให้แบนราบอย่างแท้จริง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย
เพื่อสร้างความพึงพอใจมากขึ้นไปอีก สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิกได้นำเสนออาหารในระดับสุดยอดของภัตตาคาร เคล็ดลับการคัดสรรอาหารจีนต้องผ่านการทดสอบมากถึง 4 ครั้ง เริ่มต้นจากพ่อครัวของโรงแรมจะต้องเดินทางไปปรุงกันสดๆ ตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิมในโรงครัวของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิก ก่อนนำไปเสิร์ฟบนเครื่องบินเพื่อทดสอบรสชาติอาหาร
แต่ผลการทดสอบกลับปรากฏว่ารสชาติกลับต่างกันสิ้นเชิง เพราะเมื่ออยู่บนเครื่องบิน ระบบภายในร่างกายของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยปุ่มรับรสบนลิ้นของมนุษย์เราจะรับรสได้น้อยลงขณะที่บินอยู่ในระดับสูง ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นคล้ายกับไม่มีรสชาติ ดังนั้น กุ๊กต้องปรุงอาหารสูตรพิเศษขึ้นมา โดยเพิ่มความเข้มข้นของซอสมากกว่าปกติ เมื่อไปกินบนเครื่อง รสชาติจะได้ไม่แตกต่าง แม้ว่าอาหารจะผ่านการอุ่นให้ร้อนอีกครั้งแล้วก็ตาม
สำหรับสายการบินบริติสแอร์เวย์ก็ได้ออกแบบภายในห้องโดยสารชั้นหนึ่งโดยลอกเลียนแบบการตกแต่งภายในของรถยนต์โรลสรอยส์ สำหรับห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งของสายการบินแห่งนี้ภายในท่าอากาศยาน Heathrow ของกรุงลอนดอนและท่าอากาศยานเจเอฟเคของนครนิวยอร์ก จะมีอภินันทนาการเป็นสปา ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำเสนออาหารสุขภาพบนเครื่องบินตามสูตรของชีวาศรมของไทยด้วย
สำหรับการบินไทยก็ได้ปรับปรุงบริการเช่นเดียวกันเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง โดยการลดจำนวนที่นั่งเพื่อให้ห้องโดยสารมีบรรยากาศกว้างขวางสะดวกสบาย นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงเก้าอี้ชั้นหนึ่งให้มีช่วงห่างเพิ่มขึ้นเป็น 207.5 นิ้ว และสามารถปรับเอนได้แบนราบที่ระดับ 180 องศา
สำหรับชั้นธุรกิจของเครื่องบิน เดิมจะมีคุณภาพบริการไม่แตกต่างจากชั้นประหยัดมากนัก เป็นต้นว่า เก้าอี้ชั้นประหยัดจะมีส่วนห่างระหว่างเก้าอี้แต่ละแถว 80 - 90 ซม. แต่ในชั้นธุรกิจจะมีช่วงห่างมากขึ้นเป็น 120 ซม. ขณะที่อาหารก็มีคุณภาพดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่เมื่อสายการบินเวอร์จินแอตแลนติกของนายริชาร์ด แบรนด์สัน ซึ่งเดิมในช่วงแรกมีภาพลักษณ์ว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ได้พยายามล้างภาพลักษณ์ข้างต้น โดยเมื่อปี 2543 ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ คือ นำเสนอเก้าอี้นั่งในชั้นธุรกิจที่สามารถปรับเอนนอนได้เกือบแบบราบ เพื่อให้มีความสบายใกล้เคียงกับเก้าอี้ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ นับเป็นสายการบินแห่งแรกของโลกที่มีเก้าอี้นั่งคุณภาพสูงแบบนี้มาใช้กับชั้นธุรกิจ
การให้บริการแบบพิเศษของสายการบินเวอร์จินแอตแลนติกได้สร้างความตกใจให้กับสายการบินบริติสแอร์เวย์ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น ภายหลังที่สายการบินเวอร์จินแอตแลนติกได้เปิดให้บริการพิเศษสำหรับชั้นธุรกิจเป็นเวลาเพียงไม่ถึงปี สายการบินบริติสแอร์เวย์ก็ได้เกทับ โดยนำเสนอนวัตกรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ นับเป็นสายการบินแห่งแรกของโลกที่นำเสนอเก้าอี้นั่งในชั้นธุรกิจที่แบนราบเหมือนเตียงนอนเช่นเดียวกับเก้าอี้ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
การแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่าง 2 สายการบินข้างต้น ได้กระตุ้นให้สายการบินอื่นๆ ปรับปรุงบริการชั้นธุรกิจบ้าง ทำให้ช่วงห่างระหว่างแถบของชั้นธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 120 ซม. เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว มาอยู่ที่ระดับ 140 - 220 ซม. เป็นต้นว่า สายการบิน Eos ห่างมากถึง 2.18 เมตร สายการบินบริติสแอร์เวย์ 1.82 เมตร ส่วนลุฟต์ฮันซ่าและเดลต้าแอร์ไลน์เท่ากัน คือ 1.5 เมตร อเมริกันแอร์ไลน์ 1.48 เมตร ทำให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจสามารถยืดแข้งยืดขาได้อย่างสะดวกสบาย
สำหรับการปรับเอนของเก้าอี้ในชั้นธุรกิจก็ปรับปรุงดีขึ้นมาก จากการสำรวจเมื่อปลายปี 2549 พบว่าหลายสายการบิน คือ บริติสแอร์เวย์ เวอร์จินแอตแลนติก มีเก้าอี้เป็นแบบ Fully Flat Seat กล่าวคือ สามารถปรับเอนได้เต็ม 180 องศา แบนราบเหมือนกับเตียงนอน ยิ่งไปกว่านั้น เก้าอี้นั่งของสายการบินเวอร์จินแอตแลนติกยังสามารถนวดหลังได้อีกด้วย ช่วยแก้ไขอาการเมื่อยล้าขณะนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน
ขณะที่สายการบินอื่นๆ แม้ไม่สามารถปรับเอนได้แบนราบ แต่ก็สามารถปรับเอนได้มากกว่าเดิมมาก กล่าวคือ อเมริกันแอร์ไลน์และลุฟต์ฮันซ่าปรับเอนได้มากถึง 171 องศา ส่วนสายการบินเดลต้าแอร์ไลน์เป็นแบบ Cradle Seat ปรับเอนได้ 160 องศา
ปัจจุบันช่องว่างระหว่างบริการชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นต้นว่า กรณีของการบินไทย ระยะห่างของเก้าอี้แต่ละแถวของชั้นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 150 ซม. แต่ของชั้นประหยัดอยู่ที่ระดับเพียง 80 ซม สำหรับเที่ยวบินในประเทศ และ 85 ซม. สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ นับว่าเป็นช่องว่างทางการตลาดสำคัญ ดังนั้น บางสายการบินจึงพยายามอุดช่องว่างเพื่อรองรับลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ซึ่งต้องการบริการดีกว่าชั้นประหยัดธรรมดา แต่ไม่ต้องการจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเดินทางในชั้นธุรกิจ โดยนำเสนอชั้น Premium Economy
ตัวอย่างหนึ่ง คือ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340 ซึ่งกรณีเป็นชั้นประหยัดตามปกติแล้ว แต่ละแถวจะมีจำนวนมากถึง 8 ที่นั่ง จัดเป็นแบบ 2-4-2 แต่เมื่อดัดแปลงเป็นแบบ Premium Economy แล้ว จะลดลงเหลือเพียงแถวละ 7 ที่นั่ง เป็นแบบ 2-3-2 ทำให้เก้าอี้นั่งและทางเดินกว้างขึ้น
ขณะเดียวกันหากเป็นชั้นประหยัดธรรมดา ช่วงห่างแต่ละแถวจะอยู่ที่ระดับ 81 ซม. สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้เพิ่มสำหรับชั้น Premium Economy เป็น 94 ซม. พร้อมกับออกแบบเก้าอี้เป็นพิเศษให้สามารถปรับเอนได้มากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ทุก 2 แถว จะมีปลั๊กสำหรับเสียบสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ก ตอนท้ายของเครื่องบินยังมีที่ว่างออกแบบเหมือนกับบาร์สำหรับผู้โดยสารให้สามารถสั่งเครื่องดื่มและนั่งคุยกัน
|
|
|
|
|