การกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาเป็นปัญหาเรื้องรังมานานนับ 10 ปี มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มเภสัชกรที่ต้องการยกเลิกโควตาและสมาคมร้านขายยาที่ต้องการคงระบบโควตาไว้
ประเด็นโควตาไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะเรื่องการแข่งขัน และผลประโยชน์ที่จะตามมาอีกมากมายของบรรดาผู้ค้ายาเท่านั้น
แต่ยังมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการผลิต สิทธิบัตรยา และความซับซ้อนในกลไกการจัดจำหน่ายยา
ประเด็นทั้งหลายร้อยรัดเกี่ยวโยงเป็นลูกโซ่ ปัญหาหลักส่วนหนึ่งขมวดปมอยู่ที่การบริหารงานสาธารณสุขของประเทศ
ซึ่งรวมถึงระบบการกระจายยาด้วยข้อเสนอที่รุนแรงที่สุดเพื่อการแก้ไข คือ ผ่าโครงสร้างสาธารณสุขของประเทศ
!!
ร้านขายยา : ใครใคร่เปิดเปิด
ย้อนหลังไปก่อนปี พ.ศ.2522 นั้นยังไม่มีการกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาเหมือนเช่นปัจจุบัน
ใครใคร่เปิดร้ายขายยาก็สามารถทำได้หากมีทุนรอน และความรู้ความชำนาญมากพอ
แต่ร้านขายยาโดยส่วนมากมักจะเป็นร้านที่คนจีนเป็นเจ้าของ และนี่เป็นที่มาของคำว่า
"หมอตี๋" คือ เจ้าของร้านชาวจีนที่เป็นผู้หยิบยาขาย วินิจฉัยอาการไข้
และจ่ายยาตามประสบการณ์ที่สั่งสมมานานในร้านยาของตระกูล
การขายยาของหมอตี๋ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ทว่านับวันที่สังคมพัฒนามากขึ้น
มีประชากรเพิ่มมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็เพิ่มพูนมากขึ้นด้วยนั้น "ยาฝรั่ง"
หรือยานอกที่มาจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ความรู้ความสามารถของหมอตี๋ที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกและหลานเริ่มไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่บริการสังคมอีกต่อไป
ระบบการศึกษาแบบใหม่จัดการเรียนการสอนวิชาความรู้เรื่องยาทั้งปวงไว้ในคณะเภสัชศาสตร์
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐ 6 แห่ง เปิดสอนวิชาเภสัชศาสตร์ คือ จุฬาลงกรณ์
มหิดล ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ และศิลปากร มีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่เปิดคณะเภสัชฯ
คือ รังสิต
บรรดาลูกหลานร้านขายยาต่างมุ่งหน้าเข้าเรียนวิชายาแบบใหม่ เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการบริการผู้ป่วยและบริหารธุรกิจร้านยาของครอบครัวต่อไป
แต่ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐไม่ได้เปิดโอกาสให้ใครใคร่เรียนแล้วจะได้เรียนทุกคนไป
แม้ผู้ที่ได้เข้าไปเรียนแล้ว ก็มีที่ไม่สำเร็จจำนวนมาก ดังนั้นจำนวนเภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาในระบบสมัยใหม่จึงมีไม่มากนัก
ปีหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัย 6 แห่ง สามารถผลิตบัณฑิตเภสัชศาสตร์ได้ประมาณ 450-500
คน ปัจจุบันมีจำนวนเภสัชกรทั่วประเทศ (เมื่อ 1 พฤษภาคม 2533) โดยนบจากจำนวนเลขที่ในใบประกอบโรคศิลป์เท่ากับ
7,785 คน แต่จำนวนเภสัชกรที่ประกอบวิชาชีพจริงมี 6,913 คน (ส่วนที่หายไปเป็นผู้ที่ล้มหายตายจากหรือไปประกอบอาชีพอื่น
ตัวเลขนี้ได้มาจากกลุ่มศึกษาปัญหายา) โดย 56% ของเภสัชกรเหล่านี้ประจำอยู่ตามร้าน
ขย.1 หรือคิดเป็น 3,70 คน ส่วนที่เหลือ 4% หรือ 2,912 คนไปทำอย่างอื่น
ขณะที่มีเภสัชกร 3,701 คนทั่วประเทศที่ประจำตามร้าน ขย.1 แต่จำนวนประชากรนั้นมีมากถึง
50-60 ล้านคนเมื่อคำนวณสัดส่วนของเภสัชกรต่อประชากรทั่วประเทศ จะพบตัวเลขที่น่าตกใจพอสมควร
ในเขตกรุงเทพมหานคร มีเภสัชกร 1 คนต่อประชากร 3,317 คน ในต่างจังหวัดตัวเลขเพิ่มเป็น
1 : 28,741 คน และตัวเลขทั่วประเทศเท่ากับ 1 : 15,223 คน (ดูตารางจำนวนและสัดส่วนของเภสัชกรในภาคเอกชนต่อประชากรของประเทศ)
เป็นตัวเลขที่ห่างไกลมากเมื่อเทียบเคียงกับในสหรัฐฯ ที่มีเภสัชกรต่อประชากรเท่ากับ
1 : 1,497 คน เมื่อคิดเภสัชกรในร้าย ขย.1 ต่อประชากรจะเท่ากับ 1 : 2,138
คน โดยคำนวณจากเภสัชกรทั่วประเทศสหรัฐฯ 166,247 คน และจำนวนประชากรสหรัฐฯ
248,800,000 คน
ความขาดแคลนเภสัชกรต่อประชากรสามารถแก้ไขด้วยการผลิตเภสัชกรเพิ่มขึ้น ขณะที่ในอีกทางหนึ่ง
คือ การแก้ไขการบริหารงานสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะระบบการกระจายยาในภาคเอกชน
แม้ว่าลูกหลานของร้านขายยาส่วนหนึ่งจะได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาแบบใหม่ มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเพียงพอที่จะไปควบคุมงานบริการยาตามร้านขายยาแล้วก็ตาม
แต่ปรากฏว่าเภสัชกรที่ไปประจำตามร้าน ขย.1 มีเพียง 56% เทียบกับในสหรัฐฯ
มีเภสัชกรประจำร้าน ขย.1 ประมาณ 70% ของเภสัชกรทั่วประเทศ
การที่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ขย.1 ไม่มากเท่าที่ควรเพราะโดยส่วนมาก เภสัชกรไม่ได้เป็นเจ้าของร้านยานั้น
ๆ ด้วยตนเอง แต่เป็นลักษณะที่ว่ารับจ้างมาประจำร้านและได้รับเงินเดือนไปมากกว่า
นี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง "เภสัชกรแขวนป้าย" กันเป็นจำนวนมาก
คือ ตัวเภสัชกรไม่ได้อยู่ประจำร้านตลอดเวลาเปิดทำการ แต่มีชื่อและใบอนุญาตติดอยู่
ส่วนตัวนั้นอาจจะไปทำการงานที่บริษัทยาอื่น ๆ แล้วแวะเวียนมาดูร้านยานั้นบ้างเป็นครั้งคราว
สนนราคาของการแขวนป้ายในกรุงเทพฯ ประมาณ 3,000 -8,000 บาท/เดือน ส่วนในต่างจังหวัดก็ลดหลั่นมาเหลือ
2,000-3,000 บาท/เดือน
ร้านยาประเภท ขย.1 มี 3,697 ร้านทั่วประเทศ กลุ่ม กศย. สำรวจพบว่า มีเภสัชกรแขวนป้ายอยู่ประมาณ
1,000 กว่าร้าน
เป็นตัวเลขรวมของร้านยาที่ไม่ได้มีลูกหลานเป็นเภสัชกร และร้านยาที่เจ้าของไม่ได้เป็นเภสัชกร
ซึ่งจำเป็นต้องจ้างเภสัชกรมาทำงานตามกฎหมาย
เภสัชกรเหล่านี้ก็ไม่มีทางเลือกที่จะไปเปิดร้านยาของตนเองเพระาติดปัญหาเรื่องโควตา
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองนั้นก็เริ่มที่จะผลิตเภสัชกรได้เพิ่มมากขึ้น โดยทบวงมหาวิทยาลัยมีการคาดหมายว่า
ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสามารถผลิตเภสัชกรเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้สัดส่วนของเภสัชกรต่อประชากรของประเทศลดลงเหลือ
1 : 5,200 คน
นั่นหมายความว่า เมื่อมีเภสัชกรมากขึ้นแล้ว ความต้องการที่จะเปิดร้านขายยาเพิ่มมากขึ้นก็มีตามมา
แม้กระทั่งปัจจุบันที่มีการเอาระบบเภสัชกรใช้ทุนมาใช้ คือ ระบบที่เภสัชกรต้องทำงานใช้ทุนตามโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเป็นเวลา
2 ปีหลังจากใช้เวลาศึกษามา 5 ปีเต็มซึ่งเป็นระบบเดียวกับระบบการศึกษาของแพทย์
เภสัชกรเหล่านี้ก็มีความต้องการที่จะเปิดร้านยาในท้องถิ่นที่ตนไปใช้ทุนอยู่
ปัญหาคือ พวกเขาติดขัดเรื่องการกำหนดจำนวนร้านขายยาตามประกาศปี 2524
สำลี ใจดี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักวิชาการในงานสาธารณสุขเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรเอกชนหลายแห่ง
รวมทั้งในกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "บรรดาเภสัชกรคู่สัญญาเหล่านี้เรียกร้องอยากให้ยกเลิกโควตาเพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่อยากกลับไปเปิดร้านที่บ้าน
หลังจากที่ทำงานในโรงพยาบาลแล้วก็จะได้เปิดร้านช่วงเย็นได้ ซึ่งมันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้พวกเขา
และเป็นช่องทางตั้งหลักปักฐานในชนบท และเราก็จะได้กระจายเภสัชกรไปอยู่ต่างจังหวัดได้ในทางอ้อมด้วย"
เภสัชกรคู่สัญญาที่ปรารถนาจะตั้งร้านยาของตัวในชนบทมีจำนวนเท่าไหร่ไม่ปรากฏตัวเลขแน่ชัด
แต่การให้สิทธิพวกเขาในการเลือกที่จะเปิดร้านหรือไม่เปิดร้านเช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ก็เป็นสิ่งที่น่าจะกระทำ
เมื่อใดก็ตามที่เภสัชกรคู่สัญญาสนใจจะเปิดร้านยาก็เป็นที่คาดหวังได้ว่า
ประชาชนในละแวกนั้นจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพและความรู้มากกว่าการบริการจากร้านหมอตี๋
และร้านขายของชำที่ลักลอบวางขายยาบางประเภทอย่างแน่นอน
คนในวงการสาธารณสุขหลายคนให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า หากมีการกำหนดโควตาร้านยาก็ควรกำหนดโควตาคลินิกแพทย์
และทันตแพทย์ซึ่งต่างให้การบริการเพื่อสุขอนามัยของประชาชนเหมือนกันด้วย
ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมในวิชาชีพ
เหตุที่ "ผู้จัดการ" กล่าวเรื่องการบริการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการของเภสัชกรประจำร้านยา
เพราะนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพดีอนามัยดีของประชาชนไทย
นักวิจัยผู้คร่ำหวอดในวงการสาธารณสุขไทย กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ได้พบว่า
คนไทยบริโภคยาเยอะ แต่สุขภาพกลับทรุดโทรมแย่ลง" (ดูตารางมูลค่าการบริโภคยา)
ทั้งนี้ กศย. ทำการวิจัย พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทย ทั้งแผนปัจจุบัน
และแผนโบราณ เมื่อปี 2531 คิดเป็น 51,292 ล้านบาท จากยาที่วางขาย 33,000
ตำรับ ในจำนวนนี้เป็นการบริโภคเพื่อแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บอย่างแท้จริงเพียง
1 ใน 3
อีก 2 ใน 3 เป็นการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเป็นการใช้ยาที่ทำให้เกิดโรคตามมา
รวมทั้งการใช้เพราะเกิดอาการติดยา
ทางด้านสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ (PPA) ได้คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง
ๆ เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน พบว่า ค่าใช้จ่ายการตรวจรักษาและค่ายาเมื่อปี
2529 ประมาณครัวเรือนละ 134 บาท/เดือน หรือคิดเป็นคนละ 187.2 บาท/ปี (คำนวณจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี
2529)
องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในปี 2529 คนไทยบริโภคยาคนละ 4.8 เหรียญสหรัฐ/ปี
เทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา 5.4 เหรียญสหรัฐ/ปี (ตัวเลขจาก
THE WORLD DRUG DEVELOPMENT, WHO 1988)
ตัวเลขนี้แม้จะไม่สูงมาก แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าในบรรดารายการสินค้าและบริการต่าง
ๆ ที่คนไทยจ่ายสตางค์ซื้อหามาใช้สอยนั้น รายการตรวจรักษาและค่ายาอยู่ในอันดับต้น
ๆ
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าคนไทยจ่ายค่ายาสูง แต่อยู่ที่ว่าคุณภาพของยา และบริการทางการแพทย์ที่ได้รับนั้นดีเพียงใด
คุ้มหรือไม่ หรือฟุ่มเฟือยเกินกว่าจำเป็น
ประเด็นนี้ย้อนกลับมาสู่เรื่องการบริหารงานสาธารณสุขของประเทศ รัฐจะมีวิธีการควบคุมดูแลการบริการด้านสาธารณสุขอย่างไร
ประชาชนจึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ คือ ไม่ต้องซื้อยาแพง ไม่ต้องกินยาที่ไม่จำเป็นในการเยียวยารักษา
มีความรู้พื้นฐานในเรื่องยา และการรักษาโรคสามัญ ฯลฯ
การเมืองเรื่องโควตาร้านยา
พรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารงานสาธารณสุขที่ผ่านมา กล่าวกันว่า ไม่มีพรรคใดให้ความสนใจงานสุขอนามัยของประชาชนมากเท่าพรรคประชาธิปัตย์
ความสนใจนั้นไม่แน่ว่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองและความสลับซับซ้อนในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจประการใด
แต่ผลงานสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาสำคัญในแวดวงผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งยากที่เภสัชกรรายใดจะลืมเลือน
คือ เรื่องการประกาศโควตาร้านขายยา
มันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความบาดหมางในวงการโดยไม่จำเป็น อีกทั้งเป็นการใช้โอกาสและอำนาจทางการเมืองเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนเฉพาะกลุ่ม
การกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2522 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยา
(ฉบับที่ 3) โดยเพิ่มมาตรา 77 ทวิ ที่ให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา
มีอำนาจกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาที่จะอนุญาตให้ตั้งในท้องท่ใดท้องที่หนึ่งได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
19 กรกฎาคม 2524 นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้น
ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 129 วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2524
ให้มีการกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กำหนดให้จำนวนสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.) มีจำนวน 2,140 ร้าน
สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
(ขย.2) มีจำนวน 1,510 ร้าน (ดูตารางจำนวนร้านขายยา)
นับแต่นั้นมา การเปิดร้านขายาถูกคุมกำเนิดโดยทันที !
สถิติล่าสุดของร้านขายยาทั่วราชอาณาจักร จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
เมื่อปี 2532 ขย.1 ในกรุงเทพฯ มี 1,954 ร้าน ในภูมิภาคมี 1,743 ร้าน รวมทั่วประเทศมี
3,697 ร้าน (ดูตารางจำนวนสถานที่ขายยา)
ส่วนร้านประเภท ขย.2 ในกรุงเทพฯ มี 916 ร้าน ขณะที่ในต่างจังหวัดมีมากถึง
4,644 ร้าน รวมทั่วประเทศมี 5,560 ร้าน
เมื่อรวมร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วประเทศ (ขย.1 + ขย.2) มีทั้งสิ้น 9,257
ร้าน
ที่น่าสังเกต คือ ร้านประเภท ขย.2 ในต่างจังหวัดมีมาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศอนุญาตให้แพทย์หรือพยาบาลหรือผดุงครรภ์คุมร้านได้
โดยให้ขายยาจำกัดจำนวน คือ เฉพาะยาบรรจุเสร็จ แต่เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนกฎฯ
นี้ โดยให้เจ้าของร้านที่อ่านออกเขียนได้ไปทำการอบรมตามหลักสูตรของกระทรวงฯ
เป็นเวลา 30 วันทำการ เมื่ออบรมได้ใบประกาศเรียบร้อยก็สามารถควบคุมร้าน ขย.2
ได้โดยไม่ต้องใช้เภสัชกรอีกต่อไป
ทั้งนี้ การจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานร้านขายยาเป็นประเด็นที่กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค
กศย. คัดค้านมาตลอด เพราะถือว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาการบริการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการของหมอตี๋ตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำได้จริง
กลับเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ เจ้าของร้านขายยาที่ไม่ได้เป็นเภสัชกรสบช่องที่จะจ้างคนงานที่ไม่ได้จบการศึกษาเภสัชศาสตร์โดยตรงมาทำการอบรมเพิ่มมากขึ้น
สำลี ให้ความเห็นว่า "ร้านยาควรจะเป็นสถานพยาบาลด้วย ไม่ใช่เป็นที่ขายของแต่อย่างเดียว
อยากจะให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในลักษณะที่ว่าผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ผู้บริโภคด้วย
ไม่ใช่แค่ขายยาอย่างเดียว"
อันที่จริง การจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานร้านขายยามีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกรร้านขายยา
และเป็นการช่วยเหลือเจ้าของร้านขายยาที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วโดยเฉพาะในร้าน
ขย.2
แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และการจัดอบรมนี้ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการคัดค้านเรื่องโควตาร้านยาก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา คณะกรรมการยา กระทรวงสาธารณสุข
(ดูตารางรายชื่อคณะกรรมการยา) ได้นำเรื่องการกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาเข้าประชุมหลายครั้งหลายหน
จนในที่สุดคณะกรรมการยาได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาจำนวนสถานที่ขายยา โดยมีนางปรียา
เกษมสันต์ ณ อยุธยา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นประธาน มีกรรมการรวม
17 คนเมื่อสิงหาคม 2532
คณะทำงานชุดนี้มีทั้งบุคคลในฝ่ายรัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะมีนายกสมาคมร้านขายยาและประธานชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย
สมาคมร้านขายยานั้นเป็นผู้คัดค้านการยกเลิกโควตาอย่างถึงที่สุด
คณะทำงานประชุมพิจารณาเรื่องนี้ถึง 2 ครั้งในที่สุดได้สรุปปัญหาที่เกิดจากการกำหนดโควตาดังนั้น
- หลังจากที่ใช้ประกาศกำหนดจำนวนสถานที่ขายยามาเป็นเวลา 8 ปีแล้วนั้น ปัจจุบันสถาบันการศึกษาสามารถผลิตเภสัชกรได้มากขึ้น
ทำให้ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกรประจำร้านยาลดน้อยลงไป ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เหตุผลของการกำหนดโควตาร้านยาอีกต่อไป
- การมีโควตาร้านยาทำให้เภสัชกรคู่สัญญาที่ใช้ทุนอยู่ตามต่างจังหวัดไม่สามารถเปิดร้านตนเองได้หลังเวลาราชการได้
- ปัจจุบันมีแหล่งชุมชนใหม่เกิดขึ้นมาก มีประชากรเพิ่มและกระทรวงมหาดไทยประกาศแบ่งเขตการปกครองอยู่ตลอดเวลา
เช่น เพิ่มเขตจตุจักร ลาดพร้าว ดอนเมือง บึงกุ่ม ซึ่งแบ่งส่วนการปกครองมาจากเขตบางเขนและบางกะปิ
ทำให้การกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาอย่างตายตัวเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องอีกต่อไป
- มีการซื้อขายใบอนุญาตขายยาในราคาที่สูงมาก มีการประกาศเซ้งหรือขายในหน้าหนังสือพิมพ์
กระทั่งในวารสารของสมาคมร้านขายยาเองก็มีการประกาศขายใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จฯ
(ขย.1) เขตสามเสนใน พญาไท ดินแดง ราคาสูงถึง 200,000-400,000 บาท
- มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติกระทำมิชอบในการนำเสนอผู้อนุญาตเพื่อออกใบอนุญาตขายยา
เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ เภสัชกรได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
กรณีไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน
- มีผู้รอยื่นคำร้องขออนุญาตเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดประมาณ
300 ราย
- มีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษตลอดจนวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในร้านประเภท
ขย.2 กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากในการควบคุมและก่อให้เกิดปัญหาการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง
เป็นสาเหตุให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายถึงชีวิตได้
คณะทำงานมีมติเห็นสมควรยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดจำนวนสถานที่ขายยา
(ทุกจังหวัด) โดยในที่ประชุมให้ยกเลิกประกาศนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข 13 เสียง
อีก 3 เสียงให้ยกเลิกอย่างมีเงื่อนไข คือ ให้เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2534
ส่วนอีก 1 เสียงไม่ออกเสียง
ประชา เอมอมร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งสนับสนุนเรื่องการยกเลิกโควตาร้านยาแบบมีเงื่อนไข
ให้ความเห็นว่า "สิ่งที่กลัว คือ เรื่องการกระจุกตัวของร้านยาในชุมชนหนาแน่น
โดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัด ซึ่ง อย. คงจะต้องขอความร่วมมือจากสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นผู้ควบคุมให้ใบอนุญาต"
เลขานุการคณะทำงานนำมตินี้เสนอต่อนายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อมกราคม 2533 และรัฐมนตรีมอบหมายเรื่องให้คณะที่ปรึกษาฯ ฝ่ายนโยบาย ซึ่งมีนายเทอดพงษ์
ไชยนันท์ เป็นประธานฯ
เดือนมิถุนายน 2533 เทอดพงษ์นำเสนอความเห็นหลังจากที่คณะที่ปรึกษาฯ มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน
8 ครั้งว่า ไม่ควรยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ตามมติของคณะกรรมการยา
เหตุผลสำคัญ คือ กระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในด้านนี้จำนวนจำกัด
หากมีการเปิดสถานที่ขายยาโดยเสรีก็จะทำให้กำลังคนที่มีอยู่จำนวนน้อยดูแลควบคุมได้ไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
ภาวะการแขงขันโดยเสรีอาจบีบคั้นให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องจำหน่ายยาคุณภาพต่ำ
ยาปลอม ยาหมดอายุ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ตนมากกว่าผลประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค
ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการควบคุมแก่ทางการ
การเปิดร้านยาโดยเสรีจะทำให้เกิดการกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีร้านขายยามากอยู่แล้ว
การกระจายร้านขายยาหรือเภสัชกรไปสู่แหล่งที่ยังขาดแคลนมีความเป็นไปได้ยาก
นโยบายการกระจายเภสัชกรไปสู่ชนบทตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเภสัชกรใช้ทุนในปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่แล้ว
เภสัชกรมีข้อผูกพันที่จะต้องออกไปปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโรงพยาบาลศูนย์
โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งคาดหมายว่า ระหว่างปี
2532-2536 จะมีเภสัชกรประมาณ 1,800-1,900 คนที่ออกไปปฏิบัติงานตามสถานบริการในภูมิภาค
ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดสถานที่ขายยาที่เหมาะสมในชนบทเพื่อรองรับเภสัชกรใช้ทุนเหล่านี้ให้ได้มีโอกาสปฏิบัติงานได้นอกเวลาราชการ
คณะที่ปรึกษาฯ โดยเทอดพงษ์เสนอปรับหลักเกณฑ์การกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาใหม่
โดยให้เปิดร้านขายยาประเภท ขย.1 ได้เพิ่ม 1 ร้านสำหรับอำเภอและกิ่งอำเภอซึ่งมีประชากรน้อยกว่า
20,000 คน (เมื่อคำนวณแล้วจะเปิด ขย.1 เพิ่มได้อีก 1,519 ร้านทั่วประเทศ)
และเปิดร้านขายยาประเภท ขย.2 ได้อีกอำเภอละ 1 ร้านในอำเภอที่ยังไม่มีร้านขายยาประเภทนี้ตั้งอยู่
(คำนวณแล้วเปิดเพิ่มได้อีก 76 ร้าน)
ข้อเสนอของคณะที่ปรึกษาฯ ถูกคณะทำงานฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการยาโต้แย้งกลับหมดทุกข้อ
และในที่สุดได้มีข้อเสนอขึ้นใหม่ 2 ข้อ คือ
ยืนยันให้มีการยกเลิกการกำหนดจำนวนสถานที่ขายยา เพื่อให้เภสัชกรได้ประกอบวิชาชีพอิสระตามสิทธิอันชอบธรรม
เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ และเพื่อให้การบริการด้านยาที่มีคุณภาพแก่ประชาชนผู้บริโภค
หากกระทรวงฯ ไม่สามารถยกเลิกประกาศเรื่องกำหนดจำนวนสถานที่ขายยาได้ในทันที
ขอให้ปรับปรุงจำนวนสถานที่ขายยาใหม่โดยเพิ่มจำนวนร้านขายยาในทุกพื้นที่ในอัตราประชากร
5,200 คนต่อร้านขายยา 1 ร้าน ซึ่งเป็นเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะให้มีเภสัชกร
1 คนต่อประชากร 5,200 คนในปี พ.ศ.2534
ข้อเสนอนี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2533 แต่คณะกรรมการยายังไม่ได้ลงมติ
ครั้นกุมภาพันธ์ 2534 คณะกรรมการยาลงมติเช่นเดิม คือ ให้ยกเลิกการกำหนดจำนวนสถานที่ขายยา
และนำเสนอมตินี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์
ซึ่งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรคนแรกของพรรคเอกภาพที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลชาติชาย
4
ขณะนั้นวิศาล จันทรพิทักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรม เขต 1 ซึ่งเดิมประกอบวิชาชีพเภสัชกรได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พร้อมแนบเอกสารเพื่อพิจารณายกเลิกโควตาด้วย
จังหวะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและคัดค้าน
กลุ่มคัดค้านเพียงกลุ่มเดียวและเป็นกลุ่มที่มีพลังมากที่สุด คือ สมาคมร้านขายยา
พิเชษฐ์ เวชจตุพร นายกสมาคมร้านขายยา (2533-2534) และเป็นเจ้าของร้านยาเก่าแก่ที่เปิดดำเนินการมา
27 ปีแล้ว ชื่อ "ราชวิถีเภสัช" กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "สมาคมฯ มีแนวคิดว่าการยกเลิกโควตาเป็นผลเสียแก่ทั้งระบบ และเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับหลักการที่รองรับไว้ในกฎหมาย
เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าเภสัชกรต้องเป็นเจ้าของร้านขายยาด้วย"
ในสาส์นสมาคมร้านขายยาเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2534 แสดงเหตุผลหลักในการคัดค้านเรื่องยกเลิกโควตาว่า
"…จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นจนมีแต่แนวโน้มที่จะต้องดิ้นเอาตัวรอด
ขายยาโดยผิดพลาดกันไปทั่ว การแนะนำให้ลูกค้ากินยามาก ๆ กินยาที่ไม่จำเป็น
กินยาที่ผู้ผลิตให้ส่วนลดสูง ๆ จะถูกผลักดันให้เป็นแนวโน้มทั่วไป"
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการกระจุกตัวของร้านขายยาในชุมชนที่เจริญ "…ทิ้งพื้นที่บ้านนอกหรือตรอกซอกซอยโทรม
ๆ ไว้ให้แก่ร้านขายยาที่ขาดไร้เงินทุน หรือร้านขายของชำที่ขายยาเป็นอาชีพข้างเคียง
ก่อปัญหาความขาดแคลนทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพของการบริการขึ้นในพื้นที่เหล่านั้น"
พิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า "ผมได้ชี้แจงเหตุผลเหล่านี้ในที่ประชุมแล้ว แต่เมื่อใช้วิธียกมือลงคะแนนเสียง
เราก็ต้องแพ้แน่เพราะเรามีคนน้อย ความจริงผมยังเห็นด้วยกับการค่อย ๆ ลดสัดส่วนเภสัชกรต่อประชากรลงมากกว่า
อาจจะใช้ตัวเลข 18,000 คนและลดลงมาเป็น 5,200 คนในที่สุดก็ได้"
ทำไมสมาคมร้านขายยาจึงคัดค้านการยกเลิกระบบโควตาอย่างแข็งขันถึงเพียงนี้
เหตุผลการคัดค้านของสมาคมฯ คือ คำตอบของปัญหานี้ที่ชัดเจนที่สุด
ร้านขายยาที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วกลัวการแข่งขันที่จะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก
ๆ พิเชษฐ์ กล่าวว่า "หากแข่งตรงไปตรงมาเราไม่มีปัญหา หากใช้วิธีอื่น
เรามีปัญหา การแข่งทางการค้านี่จรรยาบรรณก็จะลดลง ต้องมีการหายาด้อยคุณภาพมาขาย
ยาที่ได้ลดเปอร์เซ็นต์มาก ๆ มาขาย"
วิธีการที่พิเชษฐ์เอ่ยมานั้น เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่ผู้เป็นพ่อค้าย่อมรู้ดีอยู่แล้ว
และพ่อค้าคนไหนๆ ก็สามารถทำได้เหมือน ๆ กัน แต่ประเด็นที่จะทำได้ต่างกันและมีผลต่อการแข่งขัน
คือ เรื่องความเชื่อถือในบริการและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านยา คือ เภสัชกร
เทียบง่าย ๆ คือ ร้านที่มีเภสัชกรกับร้านที่ไม่มีเภสัชกร ผู้บริโภคจะเลือกซื้อยาจากร้านไหน
?
พิเชษฐ์ อ้างว่า การเคลื่อนไหวของสมาคมฯ คงไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านำเหตุผลของสมาคมฯ
เสนอต่อสาธารณชน ให้มหาชนเป็นผู้ตัดสิน แล้วให้รัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
ดูทีท่าว่าครั้งนี้สมาคมฯ จะมีเสียงไม่แข็งพอกระมัง ?
ตลอดเวลาที่สมาคมร้านขายยาคัดค้านเรื่องยกเลิกโควตา ก็สามารถทำได้ผลมาทุกครั้ง
อย่างน้อยก็เป็นการถ่วงเวลาและสอดรับประสานกับการโยนเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอื่น
ๆ ที่แล้วแต่รัฐมนตรีจะส่งเรื่องไปให้
การคัดค้านครั้งที่ผ่าน ๆ มานั้น ว่ากันว่ามีการเสนอเรื่องผ่านทางกรรมการยาผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่มาจากภาคเอกชนและเป็นผู้คุมธุรกิจยาและเครื่องดื่มยี่ห้อสำคัญในตลาด
บุคคลผู้นี้ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในวงการยา มีบารมี และบุญคุณต่อบริษัทยาหลายแห่ง
แหล่งข่าวในวงการยา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องยกมือไหว้กันทีเดียว
มีบริษัทยาหลายแห่งที่จะเจ๊ง "เฮียเหลียว" ก็ช่วยกู้สถานการณ์ไว้ให้
อย่างกรณีบริษัทไทยนครพัฒนา เมื่อก่อนเป็นเจ้าของโรงแรมโนราห์ที่หาดใหญ่ด้วย
จะขายโรงแรมเพื่อเอามาขยายโรงงาน ก็ได้ "เฮียเหลียว" นี่แหละมาช่วยซื้อ
ก็เป็นบุญคุณกัน"
ว่ากันว่า "เฮียเหลียว" รู้จักนักการเมืองมาก และเสียงทั้งหมดในคณะกรรมการยานี่
หาก "เฮียเหลียว" ไม่ตกลงก็ไม่มีใครยกมือผ่านเหมือนกัน !
ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองก็เหมือนกับกรณีอื่น ๆ มากมาย เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง
ๆ ที่มีโฆษณาเผยแพร่ทางโทรทัศน์นั้น เภสัชกรทั่วไปต่างรู้ดีว่า เป็นเครื่องดื่มที่เทียบเคียงได้ว่าเป็นยาม้า
ยาแก้ปวดแก้อักเสบยี่ห้อดัง ๆ ที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปรู้จักดีก็เป็นยาปฏิชีวนะ
มีส่วนผสมของเตตร้าไซคลินที่ถือว่าเป็นยาอันตราย ควรซื้อหรือใช้โดยคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
แต่ปรากฏว่ายาตัวนี้กลับมีวางขายทั่วไปนอกร้านขายยา
ยาแก้ปวดเหล่านี้ได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้าน เพราะใช้ได้ผลจริง หายปวด
แผลยุบ แต่ข้อที่เป็นอันตรายซึ่งพวกเขาไม่รู้ คือ ยาเหล่านี้จะมีผลต่อภูมิป้องกันในร่างกาย
และในอนาคตก็ไม่สามารถใช้ยานี้รักษาได้อีก
ร้านที่จะขายยาปฏิชีวนะได้ คือ ร้านขายยาประเภท ขย.1 เท่านั้น เพราะกฎหมายบังคับว่า
ร้านเหล่านี้จะต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ เพื่อให้คำแนะนำการซื้อและใช้ยาอย่างถูกต้องแก่ประชาชน
อย่างไรก็ดี สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็น คือ เรื่องการโฆษณาอย่างมอมเมาและสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดยาให้ความเห็นว่า
"จะเล่นงานพวกเขาในแง่กฎหมายคงทำได้ลำบาก แต่หากพวกเขาไม่มีการเมืองช่วยคุ้มครองอยู่ก็ไม่แน่ว่าอาจไปได้เหมือนกัน
หากนักการเมืองคนใดใหญ่ขึ้นมาแล้วแคร์เรื่องนี้มาก เกิดไม่ยอมต่อทะเบียนให้บริษัทพวกนี้ก็แย่แล้ว"
ผู้เชี่ยวชาญรายเดิมให้ความเห็นว่า "ถ้าสามารถหยุดการขายเครื่องดื่มชูกำลังและยาแก้ปวดที่ผสมตัวยาปฏิชีวนะเหล่านี้ได้เพียง
6 เดือน รับรองว่า ชื่อของพวกเขาจะหมดจากตลาดไปทันที วิธีการอาจทำได้ง่ายมาก
โดยการตรวจดูว่าเอกสารที่ยื่นขอต่อทะเบียนยังไม่เรียบร้อย ไม่สามารถต่อทะเบียนให้ได้
และให้ถอนยาทุกตำรับออกจากตลาดทั่วประเทศก่อน เพียงแค่นี้หากยังขืนขายต่อก็ถือว่าเป็นยาปลอมแล้ว"
ธุรกิจยาต้องโน้มเอียงเข้ามาอาศัยบารมีนักการเมืองเพราะเหตุที่กล่าวมานี้
ว่ากันว่า "เจ้าพ่อกระทิงแดง" ตัวจริงในเวลานี้และเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยาเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองหลายพรรค
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ดองเรื่องการยกเลิกโควตาร้านยาไว้เป็นเวลานาน
ตลาดร้านยา
ช่องทางจำหน่ายใหญ่ที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญตลาดยาประจำบริษัทยาข้ามชาติรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ช่องทางจัดจำหน่ายทางร้านยานี่ถือว่าเป็นช่องทางที่ใหญ่ที่สุด
ในแง่ปริมาณอาจจะน้อยกว่าการจำหน่ายทางโรงพยาบาลและคลีนิกแพทย์ แต่มูลค่านั้นมากกว่ามหาศาล"
รายงานตัวเลขการกระจายของตลาดยาในประเทศ เมื่อปี 2530 ว่า ตลาดยาที่เป็นส่วนของโรงพยาบาลและคลินิกนั้น
มีอัตราสูงสุด 56% ส่วนร้านขายยามี 40% ส่วนที่เป็นการส่งออกมี 3% ที่เหลือ
4% กระจายอยู่ที่อื่น ๆ
40% ที่อยู่ตรงร้านขายยานับเป็นส่วนสำคัญ เพราะมีมูลค่ามากกว่าตลาดโรงพยาบาลหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
และทางคลินิกเองนั้นก็มักจะซื้อตามร้านขายยา โดยเฉพาะร้านยี่ปั๊ว !
ทั้งนี้ การจำหน่ายยาสำหรับตลาดในประเทศนั้น มี 2 ลักษณะ คือ การขายตรงกับการขายผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่าย
คือ DISTRIBUTOR นั่นเอง บริษัทในประเทศส่วนมากจะใช้วิธีขายตรง คือ มีทีมร้านขายยากับทีมขายโรงพยาบาล
บริษัทยาในประเทศที่ทำขายตรงมี 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ โอสถสภา (เต็กเฮงหยู)
ไทยนครพัฒนา และทีซีฟาร์มาซูติคอล
ส่วนบริษัทยาต่างประเทศหรือบริษัทยาข้ามชาติมีการขายตรงน้อยกว่าการขายผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่าย
บริษัทยาข้ามชาติที่ทำขายตรงรายใหญ่ ๆ ได้แก่ เซอริ่งพลาว เฮิกซ์ไทย แกล็กโซ
(ประเทศไทย) เกรทอีสเทิร์นดรัก เป็นต้น
นอกจากนั้น จะขายผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่ายซึ่งบริษัทที่ใหญ่ที่สุด คือ ดีทแฮล์ม
เพราะรับจัดจำหน่ายยาให้กับบริษัทยาชั้นนำของโลกมากกว่า 30 ราย
นอกจากดีทแฮล์มจะเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว
ยังเป็นบริษัทสาขาที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทแม่ ใหญ่กว่าบริษัทแม่ที่สวิสฯ เสียด้วยซ้ำ
ขณะที่เอฟ อี ซิลลิก ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายยาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
กลับตกเป็นอันดับสองในตลาดยาประเทศไทย รองจากดีทแฮล์ม
บริษัทตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้จะทำหน้าที่วางสินค้า ดูแลร้านขายยาและเก็บเงิน
กรณีของดีทแฮล์มนั้น 80% ของการขายยาของดีทแฮล์มจะเป็นการขายร้านขายยา โดยดีทแฮล์มจะดูแลตั้งแต่เรื่องการส่งของเก็บเงิน
และมีสัญญาจ่าย DISTRIBUTION FEE กับบริษัทเจ้าของยาที่ดีทแฮล์มจัดจำหน่ายให้
ซึ่งจะทำกันเป็นราย ๆ และมีอายุ 1 ปี หรือ 3 ปี 5 ปี แล้วแต่ลักษณะการทำตลาดของยาตัวนั้น
ๆ
การจัดจำหน่ายยาผ่านบริษัทตัวแทนมีความซับซ้อนยุ่งยากกว่าสินค้าในตลาดอื่น
ๆ เป็นอย่างมาก บริษัทตัวแทนจำหน่ายบางแห่งมีการทำ SECRECY AGREEMENT คือ
ซื้อใบอนุญาตเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย บริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก
(ประเทศไทย) จำกัด มักจะทำตลาดในลักษณะนี้เป็นส่วนมาก มีส่วนน้อยที่อาศัยบริษัทจัดจำหน่ายรายอื่นบ้าง
กรณีของเอฟ อี ซิลลิก ก็มีลักษณะซับซ้อนไปอีกแบบ คือ มีทีมขายไว้คอยบริการบริษัทยาข้ามชาติ
ผู้แทนยาในทีมทุกคนรับเงินเดือนจากเอฟ อี ชิลลิก เพียงแต่การตัดสินใจของทีมขายทีมนี้ไม่ได้ขึ้นกับเอฟ
อี ชิลลิกแต่อย่างใด ทุกคนรับนโยบายจากบริษัทในต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการขึ้นเงินเดือน
และปริมาณการขายด้วย
แต่ เอฟ อี ชิลลิก ก็สามารถคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทยาต่างประเทศนั้น
นี่เป็นการทำสัญญาอีกประเภทหนึ่ง เพราะบริษัทยาต่างประเทศอาจจะยังไม่ต้องการลงหลักปักฐานอย่างถาวรในตลาดไทย
ไม่แน่ใจสถานการณ์ ไม่อยากเสี่ยง
ผู้เชี่ยวชาญตลาดยาคนเดิม กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "บริษัทยาต่างประเทศอาจจะไม่อยากเปิดบริษัทยาในไทย
ทางเอฟ อี ชิลลิก มีบริษัทอยู่แล้วก็ให้ส่งของให้เขาด้วย แต่เพื่อความแน่ใจว่ายาของเขาได้รับการโปรโมทแน่
เขาต้องการมีคนที่ขึ้นกับเขา แต่ว่าเอฟ อี ชิลลิกจ่ายเงินเดือน แล้วมาทำบัญชีเรียกเก็บจากเขาในภายหลัง"
บริษัทยาข้ามชาติบางแห่งแม้จะมีบริษัทสาขาอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ยังใช้บริษัทตัวแทนจำหน่ายด้วย
วิธีการคือจะมีการเซ็นสัญญากันเป็นครั้ง ๆ ไป โดยบริษัทยาจะเป็นผู้กำหนดให้บริษัทจัดจำหน่ายว่า
ปีนี้จะตั้งเป้ายอดขายเท่าไหร่ โดยคำนวณจากยอดขายของปีที่ผ่านมาและอัตราการเติบโตของตลาด
ข้อดีของบริษัทตัวแทนจำหน่ายประการหนึ่ง คือ พวกเขารู้จักคุ้นเคยตลาดเมืองไทยมากกว่า
รู้ว่าร้านขายยาไหนจะปล่อยเครดิตได้ คลินิกนี้เชื่อถือได้ไหม เช่น ดีทแฮล์มนั้นมี
DATABASE รายชื่อร้านขายยาทั่วประเทศ รายชื่อคลินิกแพทย์ โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ทุกอย่างครบหมด เป็นต้น
ส่วนค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายตกลงกันทีเดียว อยู่ในอัตราระหว่าง 5-15%
ของมูลค่าจำหน่ายทั้งหมด ระยะเวลาอาจจะเป็นปีหรือ 3 ปี เพราะยาบางตัวต้องอาศัยเวลาในการวางตลาด
มิฉะนั้นบริษัทจัดจำหน่ายจะไม่คุ้มทุน
การเจรจาทำสัญญาประเภทนี้อาศัยการต่อรองหลายเรื่องเข้ามาพิจารณาด้วย ค่าธรรมเนียมอาจจะไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่บริษัทยาต่างชาติเรียกร้องต้องการ
เช่น บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องมีทีมขายร้านขายยาให้โดยเฉพาะ ขายแต่สินค้าของบริษัทรายเดียวเท่านั้น
ห้ามเอาสินค้าอื่นมาพ่วง
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า "บางทีสินค้าตัวเล็ก ๆ นี่บริษัทตัวแทนจำหน่ายก็เอายี่ห้ออื่นมาพ่วงให้ผู้แทนไปขายด้วย
ทีมขายนั้นกลายเป็นต้องขายสินค้าหลายยี่ห้อไป (VARIOUS BRAND)"
สำหรับมูลค่าตลาดยาในเมืองไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญรายเดิมยืนยันว่า "ไม่มีใครเดาได้เกินหมื่นล้านบาท
แต่ไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาทแน่ ตัวเลขที่ผมใช้อยู่ประจำ คือ 15,000 ล้านบาท
ผมคิดว่าถ้าใช้ตัวเลข 5 หมื่นล้านบาทน่าจะรวม RELATED PRODUCTS เข้าไว้ด้วย
เช่น เข็มฉีดยา เอ็กซเรย์ ถ้าเป็น PURE MEDICINE ตัวเลข 15,000 ล้านบาทใกล้เคียงที่สุด"
ปัญหา คือ ไม่มีใครสามารถคำนวณได้ว่า ยาทัมใจ ทีซีมัยซิน ฮีโร่มัยซิน แอนตาซิล
เหล่านี้มียอดขายเท่าไหร่แน่ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า "เฉพาะทัมใจตัวเดียว
ยอดขายน่าจะถึง 200-300 ล้านบาท ขนาด TIMS และ IMS (INSTITUTE OF MEDICAL
STATISTIC) ซึ่งเป็นบริษัทระหว่างชาติทำข้อมูลที่มีคนเชื่อถือทั่วโลก ยังบอกว่าเมืองไทยคาดหมายตัวเลขไม่ได้"
"ครั้งล่าสุด IMS เอาชื่อยาที่จดทะเบียนจากสำนึกงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) และส่งทีมเฉพาะออกไปสอดถามปริมาณขายยาตัวนั้น ๆ จากโรงพยาบาลและร้านขายยา
ทีละร้านทีละตัว ยังไม่สามารถหาตัวเลขออกมาได้" ผู้เชี่ยวชาญเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
วนิดา จิตต์หมั่น ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "PPA ประเมินมูลค่าตลาดยาทั้งประเทศ (ราคาขายปลีก) เมื่อปี 2530
ประมาณ 12,74ฃ74 ล้านบาท ในส่วนของบริษัทสมาชิก PPA 59 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ
40% นอกจากนั้นเป็นส่วนแบ่งของบริษัทยาในประเทศ"
ว่ากันว่า ราคายาในตลาดร้านขายยานั้นมีราคาสูงกว่าตลาดยาโรงพยาบาล 200-600%
ขณะที่โรงพยาบาลขายยาสูงกว่าราคากลางได้เพียง 20% เท่านั้น
ทั้งนี้ ระบบการซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งจะมีระบบคณะกรรมการนำยาเข้าและมีบัญชียาหลักแห่งชาติที่จะสั่งซื้อจากองค์การเภสัชกรรม
หากแพทย์ต้องการใช้ยานอกเหนือจากบัญชียาหลัก จะต้องมีการเสนอ CASE และเหตุผลประกอบ
ซึ่งส่วนมากแล้ว คณะกรรมการจะอนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเท่านั้น และงบประมาณที่จะใช้ซื้อยานอกบัญชียาหลักฯ
ต้องเป็นงบประมาณพิเศษที่เกิดจากการทำกำไรของโรงพยาบาลนั้น ๆ
ราคายาโดยเฉพาะ ยาสามัญ หากซื้อจากโรงพยาบาล หรือโอสถศาลาจะถูกกว่าซื้อจากร้านขายยามาก
เช่น CHLORPHENIRAMINE ต้นทุนราคาเม็ดละ 3 สตางค์ ซื้อจากโรงพยาบาลเม็ดละ
20 สตางค์ ซื้อจากร้านขายยาราคาเม็ดละ 50 สตางค์ NAPROSYN 250 มิลลิกรัมเป็นยาแก้ปวดแก้อักเสบ
โรงพยาบาลขายเม็ดละ 6 บาท ร้านขายยาเม็ดละ 9-10 บาท เป็นต้น
หรือยาช่วยชีวิตบางตัวอาจจะขายเพียง 25 บาทในต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยขาย
300 บาท ต้นทุนประมาณ 100 บาท แต่ในประเทศขาย 800-900 บาท เภสัชกรที่หันมาทำด้านนำยาเข้ารายหนึ่งเปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ"
การมีบัญชียาหลักแห่งชาติถือเป็นเรื่องดีสำหรับประชาชน เพราะทำให้ประชาชนได้ซื้อยาราคาถูก
มันเป็นการควบคุมราคายาถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในสังคม
แต่ตลาดร้านขายยานั้น ถือเป็นตลาดเสรีและเป็นแบบ DISPENCING MARKET คือ
สามารถหาซื้อยาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยา ไม่มีการควบคุมราคาการกำหนดราคายาขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและความจำเป็น
หรือการนิยมใช้ยาตัวนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด
หากราคายาแพงเกินไปก็ไม่มีใครซื้อมาขาย หรือหากจำเป็นต้องใช้จริง ๆ และในตลาดไม่มีใครผลิตออกมาแข่งได้ก็สามารถตั้งราคาว้สูงลิบได้เหมือนกัน
นักการตลาดในบริษัทยาข้ามชาติรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า "บริษัทยาข้ามชาติจะใช้กลยุทธ์มือหนึ่งขายขาดทุน
คือ ขายโรงพยาบาลต้องเรียกว่าขายขาดทุน หรืออย่างดีที่สุดก็ขายเท่าทุน อีกมือหนึ่งขายเอากำหรตามร้านขายยาก็ต้องขายแพง
เช่น ยา AMPICILLIN หากซื้อแบบ ORIGINAL RESEARCH ของบีแชมราคาเม็ดละ 5-10
บาท แต่ถ้าซื้อจากองค์การเภสัชฯ เม็ดละ 2.50 บาทแล้วแต่ผู้ซื้อจะเลือกใช้
ว่าไปแล้วมันก็เป็นการแข่งขันที่ถูกต้อง"
หากบริษัทยาข้ามชาติต้องขายยาในราคากลางหมด เห็นทีจะไปไม่รอด เพราะต้นทุนของบริษัทยาข้ามชาติแพงกว่าบริษัทยาท้องถิ่นมากมายมหาศาล
ทุกอย่างลงบัญชีหมดและต้องทำให้ได้มาตรฐานเหมือนกันหมดทั่วโลกด้วย เช่น การจ้างบริษัทยาท้องถิ่นผลิตให้ก็ต้องจ้างโรงงานที่ได้มาตรฐาน
GMP ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งที่บริษัทยาต่างชาติเชื่อถือ คือ เอฟ อี ซิลลิก
และโอลิค เป็นต้น และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดก็สูงมากด้วย
นักการตลาดรายเดิม ให้ความเห็นว่า "การที่ตลาดร้านขายยาเป็นตลาดเสรีทำให้ผมคิดว่า
การยกเลิกโควตาร้านยาจะไม่มีผลกระทบต่อระบบตลาดเท่าใด ตอนนี้เราก็แข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้ว
กลุ่มผู้บริโภคก็มีจำนวนคงที่เท่าเดิมและพฤติกรรมการบริโภคยาของคนไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
มันมีผลดีเล็กน้อย แต่พวกบริษัทยาไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีทาง
TPMA ไม่สนับสนุนสักเท่าใด เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของเขาเป็นพวกร้านขายยาเก่า
ๆ และร้านยี่ปั๊วซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้กันอยู่"
TPMA เป็นแหล่งรวมของบริษัทผู้ผลิตยาภายในประเทศ ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นโรงงานผลิตยาประมาณ
69 ราย TPMA ให้ความสนใจเรื่องกฎหมายสิทธิบัตรยามากกว่า เรื่องยกเลิกโควตาร้านยา
ประเด็นนี้ TPMA จึงขัดแย้งอย่างหนักกับ PPA ซึ่งสนับสนุนให้มีสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ยาใหม่ให้กับบริษัทยาต่างชาติ
ส่วนเรื่องโควตาร้านยาเป็นเรื่องที่เผชิญหน้าโดยตรงระหว่างเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่เรียนจบวิชาชีพเภสัชกรรม และต้องการสิทธิเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพเฉกเช่นวิชาชีพอื่น
ๆ กับสมาคมร้านขายยาซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร้านขายยารุ่นเก่าที่ไม่ได้เรียนเภสัชศาสตร์มาโดยตรง
แต่ว่ากันว่าผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในสมาคมฯ เวลานี้ก็เป็นผู้ที่จบเภสัชศาสตร์มาเหมือนกัน
ผู้ที่คร่ำหวอดในตลาดยาไทยมาเป็นเวลานาน ให้ความเห็นว่า "เรื่องโควตาร้านยาเป็นประเด็นเล็กเมื่อเทียบกับเรื่องสิทธิบัตรยา
และเรื่องโควตาก็ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดยาเท่ากับเรื่องสิทธิบัตร อย่างไรเสียเรื่องสิทธิบัตรก็ต้องออกมาแน่
ไม่ว่าเร็วหรือช้า หากออกมาเมื่อไหร่ บริษัทยาข้ามชาติต้องมีการปรับกลยุทธ์กันครั้งสำคัญ
จะมีการนำยาใหม่ ๆ ออกมาวางตลาดกันหลายตัว และจะมีบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาอีกมาก
อันนี้แหละที่จะทำให้ตลาดยาเปลี่ยนโฉมไปจริง ๆ "
โฉมหน้าที่จะเปลี่ยนไป คือ เรื่องเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยา
ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการผลิต เป็นต้นทางก่อนที่จะมาถึงมือผู้บริโภคปลายทางโดยผ่านร้านขายยาเป็นแหล่งสุดท้าย
โควตาร้านยา
โรคเรื้อรังที่ยังรอการรักษากันต่อไป
การเป็นตลาดยาเสรีที่ผู้บริโภคจะหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยนิยมกินยาราวกับเป็นอาหาร
ใช้ยาฟุ่มเฟือย มีวัฒนธรรมการรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยการกินยาฉีดยา ทั้งโดยความเคยชินของผู้ป่วยและพฤติกรรมการรักษาของแพทย์ไทย
สำลี วิจารณ์เรื่องการเอาเจ้าหน้าที่ร้านยาที่อ่านออกเขียนได้มาทำการอบรมตามหลักสูตรของกระทรวงฯ
เพื่อไปดูแลร้าน ขย.2 แทนพยาบาลว่าเป็นเรื่องตลกอย่างร้ายกาจ "เป็นการแสดงให้เห็นว่า
กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เจตน์จำนงและวิธีการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด
สิ่งที่ควรทำ คือ การให้การศึกษาระบบใหม่วัฒนธรรมใหม่ในการใช้บริการจากร้านยา
มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะได้รู้จักวิธีใช้ยา รู้อันตราย ข้อควรระวังต่าง
ๆ ไปร้านยาก็ถามได้จากเภสัชกร ส่วนแพทย์ก็ต้องยุติธรรมในการบอกชื่อ GENERIC
NAME กับผู้ป่วย ไม่ใช่บอกแต่ชื่อทางการค้า"
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนำเข้ายาจากต่างประเทศรายหนึ่ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ถ้าจะดูแลคุ้มครองผู้บริโภคกันอย่างจริงจังจริงใจละก็ ผมว่าควรจะจัดการผ่าโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุขของประเทศกันเสียที
ปัญหาที่แก้ง่าย ๆ และควรจะจัดการโดยไวก็กลับดันทุรังปล่อยเอาไว้ เรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ"
การอบรมเจ้าหน้าที่ร้านยาเพื่อให้รู้จักตัวยาต่าง ๆ และคุณสมบัติของยาไม่ได้เท่ากับว่าพวกเขาจะช่วยคุ้มครองผู้ป่วยที่มาหาซื้อยาได้
ในทางกลับกัน การเรียกร้องให้มีเภสัชกรประจำร้านยาก็เพื่อให้การคุ้มครองแก่ผู้บริโภคซึ่งก็คือ
ชาวบ้านธรรมดา
เป็นเรื่องรันทดหดหู่อย่างยิ่งที่พบว่า ผู้ป่วยทั้งต้องซื้อยาแพงและยังติดยางอมแงมโดยคำแนะนำของหมอตี๋
ข้อเรียกร้องที่จะให้ยกเลิกโควตาร้านยาเป็นความหวังของเภสัชกรที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย
ๆ เป็นช่องทางเลือกตามสิทธิอันพึงมีของวิชาชีพซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าเป็นโทษ
มติของคณะกรรมการยาที่ยืนยันให้ยกเลิกโควตาถูกส่งต่อมาให้รัฐมนตรีปิยะณัฐเรียบร้อยแล้ว
ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เภสัชกรตั้งความหวังกันอย่างเต็มที่ว่า
จะได้มีการล้มเลิกการปิดกั้นจำกัดช่องทางอาชีพของพวกเขา
แต่วิถีการเมืองที่ผลักดันให้เกิดโควตา และทำท่าราวกับว่าจะล้มล้างระบบโควตาได้ด้วยฝีมือนักการเมืองหน้าใหม่กลับต้องจำนนต่อกระแสการเมืองที่รุนแรงกว่า
รัฐมนตรีปิยะณัฐผู้ซึ่งรับปากรับคำอย่างหนักแน่นกับ "ผู้จัดการ"
ว่า เป็นผู้นิยมในระบอบเสรีและไม่เห็นเหตุผลหนักแน่นพอที่จะคงระบบโควตาไว้ได้เซ็น
"รับทราบ" มติของคณะกรรมการยา
ปิยะณัฐขอเวลาศึกษาเรื่องโควตาสักเล็กน้อย แต่ก็ได้เผยแนวทางดำเนินการล้มระบบโควตากับ
"ผู้จัดการ" ว่า "แนวที่จะทำคือยกเลิกประกาศเดิมและออกประกาศใหม่เป็นโควตาฟรี
พร้อมกับมีหลักเกณฑ์ควบคุมร้านขายยาอย่างเข้มงวดมากขึ้น ให้มีการตรวจตลอดเวลา
หากมีการผิดเงื่อนไขต้องได้รับโทษตามกฎหมาย"
แต่แล้วสิ่งที่เภสัชกรคาดหวังเป็นนักหนาก็ล้มครืนลง ปิยะณัฐไม่จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษางานในกระทรวงสาธารณสุขที่เขาไม่ได้ยินดีจะดูแลอีกต่อไปแล้ว
หมากกระดานของรัฐบาลชุดชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกคว่ำลงอย่างไม่เป็นท่าโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่มีพลเอกสุนทร
คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะฯ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534
คณะรักษาความสงบฯ ประกาศใช้กฎอัยการศึกยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันมีผลให้รัฐมนตรีทุกคนพ้นจากตำแหน่ง
ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลงานของกระทรวง คือ ปลัดกระทรวงแต่ละแห่ง ซึ่งในส่วนของสาธารณสุข
คือ นายแพทย์อุทัย สุตสุข ที่เป็นประธานคณะกรรมการยาและเป็นผู้เห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา
คาดหมายว่า ปลัดฯ อุทัยจะสานต่อเรื่องนี้ให้สำเร็จในเร็ววัน เพื่อว่าโควตาร้านยาจะได้ไม่เป็นโรคเรื้อรังรอคอยการเยียวยาแก้ไขจากรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่าอีกต่อไป
!!