Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2534
เปิดโปงมาเฟียวิดีโอ             
โดย บุญธรรม พิกุลศรี
 

 
Charts & Figures

รายชื่อบริษัทผู้นำเข้าลิขสิทธิ์และผลิตวิดีโอรายใหญ่ๆในปัจจุบัน


   
search resources

Entertainment and Leisure
United States
คราร่า ฮิลล์




เมื่อปลายปี 2533 ที่ผ่านมา มีสมาคมเกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายเทปวิดีโอแห่งสหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อ คราร่าฮิลล์ ผู้แทนการค้าของเขาให้พิจารณาใช้มาตรการอย่างแข็งกร้าวถึงขั้นเสนอใช้มาตรา 301 กับไทยที่ไม่เข้มงวดในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์และไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รวมไปถึงการไม่มีความพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พ่อค้าสหรัฐอเมริกาใช้สิทธินี้ในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก ซึ่งได้ตกลงกันไว้ในอนุสัญญากรุงเบิร์นที่ประเทศสมาชิกจะต้องให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อกัน และประเทศไทยก็เป็นสมาชิกและได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวนั้นด้วย

องค์กรการค้าของสหรัฐที่ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดังกล่าวนั้น มี 3 สมาคม คือ THE INTERNATIONAL INTELLECTUAL PROPERTY ALLIANCE THE RECORDING INDUSTRY ASSOCIATION OF AMERICA และ THE MOTION PICTURE EXPORT ASSOCIATION

ข้อเรียกร้องว่า ในปีหนึ่ง ๆ พ่อค้าเจ้าของลิขสทธิ์เทปวิดีโอของสหรัฐอเมริกาต้องได้รับความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าหรืองานสร้างสรรค์ประเภทนี้ โดยพ่อค้าคนไทยไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท เรียกว่าอยู่ในขั้นที่จะอดทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ถ้าไม่ติดสงครามอ่าวเปอร์เซียเสียก่อน ประมาณต้นปีนี้ พวกเขาจะต้องเดินทางเข้ามาเพื่อเจรจาเรื่องนี้กับทางการไทย

การละเมิดลิขสิทธิ์หรือขโมยงานสร้างสรรค์นี้ออกมาในรูปของการลอกเลียนแบบ หรือดัดซ้ำ หรือที่เรียกกันว่าก๊อปปี้จากต้นฉบับเดิมเพื่อจำหน่ายแข่งกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงอีกทีหนึ่ง สำหรับประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายรองรับเอาผิดทางอาญากับผู้ที่กระทำการละเมิดหรือลักขโมยลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น

ขบวนการก๊อปปี้หรือขโมยงานสร้างสรรค์ด้านเพลงและภาพยนตร์วิดีโอจากต่างประเทศของไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่คงยากที่จะลำดับได้ แต่คงเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของเครื่องเล่นวิดีโอเทปเพลงสำหรับคนชั้นสูง ก่อนที่จะแพร่กระจายเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน บางคนบอกว่ามีมาก่อนที่จะเกิดบริษัทผู้นำเข้าลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเสียด้วยซ้ำ

"แรก ๆ ก็คงขอก๊อบปี้กันไปมาในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูง ไม่ใช่ลักษณะที่ทำกันเป็นธุรกิจอย่างเช่นปัจจุบัน" คนในวงการวิดีโอคนหนึ่งให้ความเห็น

เมื่อเกิดความนิยมมากขึ้นจึงมีการทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และพัฒนาใหญ่โตขึ้นมาในระดับมีเงินหมุนเวียนกันนับสิบ ๆ ล้านบาทต่อเดือนอย่างเช่นปัจจุบัน

โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของโรงหนังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่กระจายความนิยมเครื่องเล่นวิดีโอนี้โดยตรง

เมื่อประมาณปี 2525 เป็นต้นมา มีโรงหนังหลายโรงทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างก็ปิดตัวเองอย่างนับไม่ถ้วน

ในขณะที่กลุ่มโรงหนังบางแห่งก็สามารถปรับตัวเองเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยหันมาค้าขายลิขสิทธิ์หนังวิดีโอไปด้วย แทนที่จะซื้อหนังมาฉายตามโรงหนังเพียงอย่างเดียวก็ซื้อลิขสิทธิ์ในการทำวิดีโอจำหน่ายด้วยอีกทางหนึ่ง

อย่างเช่นบริษัทวีซีดี ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้า และผลิตหนังวิดีโอที่ได้รับลิขสิทธิ์จากผู้สร้างและจำหน่ายในต่างประเทศมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ก็เกิดการปรับตัวของผู้สร้าง เจ้าของโรงและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ อย่างเช่น กำพล ตันสัจจา เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ศุภวัฒน์ จิระมงคล และอีกหลายคนร่วมกับชอว์บารเดอร์แห่งฮ่องกงตั้งบริษัทวีซีดีนี้ขึ้นมาเพื่อนำเข้า ผลิต และจำหน่ายเทปหนังวิดีโอจากต่างประเทศ

แต่เนื่องจากการสื่อสาร และการเดินทางระหว่างประเทศในยุคนี้มีความรวดเร็วทันสมัยมากขึ้น ฉะนั้นการที่ใครก็ตามจะไปเดินซื้อเทปวิดีโอในตลาดนิวยอร์ก ฮ่องกง สิงคโปร์ แล้วใส่กระเป๋าเดินทางเข้ามาในประเทศจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยในปัจจุบันคนที่เห็นช่องทางนี้ได้นำมาทำเป็นธุรกิจกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แทนที่จะซื้อเข้ามาดูคนเดียวหรือเฉพาะในหมู่พรรคพวกเหมือนอย่างแต่เก่าก่อนก็เล่นก็อบปี้ขายจนเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาได้ในปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะมีคำว่า "วิดีโอผี" ก็คงต้องรู้ว่าวิดีโอไม่ผีนั้นเป็นอย่างไร วิดีโอไม่ผีนั้น คือวิดีโอที่นำเข้ามาจำหน่ายโดยได้รับอนุญาตหรือซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของเขาในต่างประเทศอย่างถูกต้องหรือจะเรียกวว่าวิดีโอลิขสิทธิ์ก็คงไม่ผิด ต่างกับวิดีโอเถื่อน ซึ่งนำเข้ามาโดยไมม่เสียภาษีหรือดำเนินการตามพิธีการทางศุลกากรให้ถูกต้อง

กลุ่มบริษัทที่ทำกันโดยถูกต้องเปิดเผยและมีชื่อเสียงในปัจจุบันมีประมาณ 10 กว่าราย (โปรดดูตารางประกอบ) บริษัทเหล่านี้จะติดต่อผู้สร้างหรือจัดจำหน่ายหนังรายใหญ่ๆที่มีชื่อในต่างประเทศเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังเข้ามาผลิตจำหน่ายในประเทศไทยอีกช่วงหนึ่ง

ส่วนสัญญาซื้อขายนั้นจะมีเงื่อนไขอย่างไรก็แล้วแต่จะตกลงกัน เช่นจ่ายเงินเป็นรายปีเพื่อให้นำการค้าเข้ามาใช้ในฐานะตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนซื้อหนังเรื่องอะไรเข้ามาจำหน่ายบ้างก็แล้วแต่ผู้ซื้อจะเลือก โดยคิดราคาค่าลิขสิทธิ์กันเป็นเรื่องๆไปอีกต่างหากเป็นต้น หรืออาจมีเงื่อนไขด้านปริมาณที่จะก็อบปี้ออกจำหน่ายในแต่ละเรื่อง ซึ่งอาจมีการคุมยอด แล้วแต่จะตกลงกัน

เช่นกลุ่มวีซีดีซึ่งเป็นที่มีสัญญากับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในต่างประเทศมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเมเจอร์ พาราเม้าท์ ยูนิเวอร์แซล วอร์เนอร์ เอสเค-ทีวีบีฮ่องกงและไฟว์สตาร์

ไม่มีใครเปิดเผยราคาค่าลิขสิทธิ์และเงื่อนไขต่างๆ สัญญาให้ใครทราบ เพราะคนในวงการถือว่า เรื่องนี้เป็นความลับทางการค้าที่สำคัญที่สุด แต่ละรายจะบอกเพียงว่าซื้อมาแพงลิบลิ่วทีเดียว แหล่งข่าวบอกว่าขึ้นต่ำตกประมาณ 200,000 บาทต่อเรื่อง

เมื่อนำเข้ามาแล้วก็อัดลงในม้วนมาสเตอร์เพื่อนำออกจำหน่ายแก่ศูนย์ให้เช่าโดยจะมีสัญญากับศูนย์ให้เช่าในลักษณะเรียก เก็บค่าลิขสิทธิ์กันเป็นรายปี โดยเก็บเงินล่วงหน้าเป็นรายเดือน 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่จะต่อรอง ซึ่งแต่ละศูนย์จะไม่เหมือนกัน

ปัจจุบัน ค่าลิขสิทธิ์รายปีนี้จะตกประมาณ 36,000-24,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 3,000-20,000 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทผู้นำเข้าและผลิตจะป้อนเทปหนังวิดีโอเป็นจำนวนเรื่องและจำนวนมม้วนเท่านั้นเท่านี้ต่อเดือน ซึ่งถ้าคิดโดยเฉลี่ยต่อม้วนจะตกประมาณ 500 บาทต่อม้วนขึ้นไป

ศูนย์ให้เช่ารายใดมีสัญญากับผู้นำเข้า ผลิตและจำหน่ายหนังเทปวิดีโอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศจะมีป้ายบอกไว้หน้าร้าน

จากนั้นศูนย์วิดีโอให้เช่าจะนำหนังจากม้วนมาสเตอร์ที่ได้มาจากผู้ผลิตมาก็อบปี้ลงในม้วนเปล่าอีกต่อหนึ่งเพื่อนำออกบริการให้แก่ลูกค้า โดยคิดอัตราเช่าตั้งแต่ 10-30 บาท แล้วแต่ว่าใครจะตีราคา ทั้งนี้อยู่ที่ทำเล คุณภาพและความนิยมในหนังแต่ละเรื่อง

แต่เนื่องจากหนังวิดีโอที่ผ่านขบวนการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์กันอย่างถูกต้องดังกล่าวมีวางขายและสามารถหาซื้อได้จากตลาดนิวยอร์ก ฮ่องกง สิงคโปร์ ในราคาต้นทุนไม่กี่ร้อยบาท จึงมีคนเห็นช่องทางค้ากำไร โดยการซื้อเข้ามาอัดขายกันอย่างแพร่หลาย

คนในวงการธุรกิจวิดีโอ เปิดเผยว่าต้นทุนในการนำเข้าเทปวิดีโอโดยไม่ผ่านการซื้อขายลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง นอกจากราคาซื้อขายกันในท้องตลาดต่างประเทศจะถูกแล้ว เมื่อรวมค่าเครื่องบินและภาษีนำเข้าแล้วจะตกประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง

บุคคลเหล่านี้จึงสามารถนำหนังเข้ามาอัดขายต่อในราคาต่ำๆ เพียงม้วนละ 90-150 บาทได้อย่างสบาย ๆ มีกำไรเกินกว่าครึ่งเข้าไปแล้ว

ในขณะที่มาสเตอร์เทปจากผู้นำเข้าอย่างถูกต้องจะมีราคาสูงถึง 500 บาทต่อม้วน

เทปวิดีโอพวกนี้จะขายให้แก่ศูนย์ให้เช่าราคาแพงที่สุดประมาณ 150-200 บาทต่อม้วน เรียกว่า ถูกกว่าที่ซื้อมาโดยวิธีถูกต้องตามกฎหมายกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว

เพราะฉะนั้น ร้านที่รับวิดีโอผีเข้าไปในร้านไม่ว่าจะในรูปของการขายหรือให้เช่าก็ล้วนแต่มีความผิดในหมวดเดียวกันทั้งสิ้น คือ ละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของที่แท้จริงสามารถร้องทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีได้

เรียกว่า เข้าไปอยู่ในขบวนการวิดีโอผีอีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากขบวนการนำเข้าดังที่กล่าวแล้ว

มีประเด็นน่าสังเกตว่าทำไมศูนย์ให้เช่าวิดีโอพวกนี้จึงต้องเข้าไปร่วมขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์กับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่มีหนังลิขสิทธิ์ให้ซื้ออยู่แล้ว

เป็นที่ยอมรับกันในวงการธุรกิจให้เช่าวิดีโอว่า ร้านเหล่านี้จำเป็นต้องมีหนังเถื่อนหรือวิดีโอผีพวกนี้ไว้เกือบทุกร้าน เพื่อลดต้นทุนของร้าน และบางครั้งก็ซื้อวิดีโอผีเพราะหนังได้รับความนิยมดีกว่า และก็มาถึงตลาดกรุงเทพฯ เร็วกว่าพวกที่นำเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายและอีกหลายเหตุผลซึ่งมีดังนี้

หนึ่ง - การจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นปีให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตนั้นมีการกำหนดส่งหนังเป็นจำนวนเรื่องหรือม้วนแน่นอนก็จริง แต่บางครั้งก็คัดเลือกหนังที่ไม่ดีส่งมาให้แบบ 50 : 50 ผสมผสานกันระหว่างหนังที่มีความนิยมพอขายได้กับหนังที่ขายไม่ค่อยได้เลย

สอง - ความล่าช้า เพราะผู้สร้างหนังอเมริกันเขามีข้อตกลงกันว่า หนังของบริษัทผู้สร้างอเมริกันแต่ละเรื่องจะทำเป็นเทปวิดีโอออกจำหน่ายได้ก็ต่อเมื่อหนังออกจากโรงไปแล้ว 6 เดือน

สาม - เทปวิดีโอผีนอกจากจะต้นทุนต่ำกว่าแล้ว ความนิยมของตลาดก็สูง สามารถทำรายได้เป็น 10 เท่าตัวของหนังลิขสิทธิ์

ประการสุดท้าย ระบบการขายของพวกวิดีโอผีมีโอกาสได้เลือก เรื่องไหนชอบก็ซื้อ เรื่องไหนไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อโดยไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าแต่อย่างใดเลย

ความจริงแล้วธุรกิจเทปวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์มีเหตุจูงใจให้กระทำจุดใหญ่อยู่ที่ราคาการลงทุนถูกกว่านั่นเอง ซึ่งจุดใหญ่ตรงนี้จะโยงเข้าประเด็นว่า ทำไมเทปวิดีโอที่นำเข้ามาถูกต้องจึงแพง

คำตอบก็คงอยู่ที่ว่า เพราะต้องซื้อลิขสิทธิ์มาในราคาแพงทำให้การขายในช่วงต่อไปมีราคาแพงตามไปด้วย

สาเหตุที่ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศแพงมาก เพราะผู้สร้างหรือจำหน่ายในสหรัฐฯ เห็นว่า ตลาดเมืองไทยเป็นตลาดเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ผู้ซื้อจากไทยจึงไม่มีกำลังต่อรองในเรื่องราคามากนัก

นอกจากนี้แล้ว การแข่งขันกันอย่างรุนแรงในการซื้อลิขสิทธิ์จากผู้สร้างในสหรัฐฯ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพง เพราะลักษณะการขายลิขสิทธิ์ของพ่อค้าสหรัฐฯ ที่ขายให้แก่คนไทยจะเป็นแบบให้ผู้ซื้อเสนอราคา ถ้าราคาไม่เป็นที่พอใจก็จะไม่ขายให้ ฉะนั้นถ้าผู้ซื้อเมืองไทยอยากจะได้หนังเรื่องนั้นมาก ๆ ผู้นำเข้าไทยเองก็จะต้องแข่งขันกันเอง โดยการเพิ่มราคาขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ขายจะพอใจ

"มันเป็นระบบการขายแบบกึ่งประมูล" แหล่งข่าวกล่าว

กลุ่มสหมงคลฟิล์มเคยมีประสบการณ์มาแล้ว กว่าจะได้ลิขสิทธิ์หนังเรื่องแรมโบ้ 3 ไปนั้น จะต้องประมูลราคาสูงถึง 10 ล้านบาททีเดียว

เทปวิดีโอที่นำเข้าถูกต้องแต่ต้องมีจุดอ่อนมากมายเช่นนี้ จึงเปิดโอกาสให้พวกพ่อค้าที่ทำมาหากินกับการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้มากมาย และมีระบบการดำเนินงานอย่างมืออาชีพและมีฐานการเงินเติบโตขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

ขบวนการนี้เริ่มต้นจากการเดินทางไปชอปปิ้งซื้อหามาเองได้พัฒนาสู่การมีตัวแทนดำเนินการในต่างประเทศให้ ซึ่งตัวแทนจะเป็นคนที่จับกระแสความนิยมในธุรกิจบันเทิงได้เร็วมาก เพราะจะต้องจัดซื้อจัดส่งมายังเมืองไทยให้เร็วที่สุดเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสดูหนังดี ๆ พร้อมกับคนนิวยอร์ค จากนั้นก็จะมีการส่งผ่าน "สาย" ซึ่งอาจเป็นนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ หรือแม้แต่พนักงานของสายการบินก็เป็นสายให้แก่ขบวนการนี้ด้วยถือเป็นการหารายได้พิเศษ บางกลุ่มถึงขนาดเลือกส่งกันทางพัสดุไปรษณีย์ก็มี

ธุรกิจเริ่มจากคนคุ้นเคยกลายเป็นการขายอย่างมีระบบตามแบบฉบับการขายสมัยใหม่ มีพนักงานวิ่งขายส่งตามแผงและศูนย์ให้เช่าชนิดที่เรียกว่าวันเดียวขายให้หมด

"พอของมาถึงเขาก็จะรีบนำเข้าเครื่องอัดก๊อปปี้ซึ่งจะต้องใช้เครื่องอัดเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ปริมาณออกมามาก ๆ ในเวลาจำกัด ในระหว่างนั้นก็จะวิ่งส่งตลาดในทันทีไม่ให้มีของตกค้าง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงวันเดียวหนังเต็มตลาดแล้ว" แหล่งข่าวเล่าให้ฟังถึงฉากหนึ่งของขบวนการทำงาน

ในการอัดหรือการผลิต เดิมทีก็ใช้สถานทีเดียวทำ เช่น ร้าน ส. ย่านสีลม หรือร้าน ต. ย่านตลาดพลู แต่ขณะนี้มีการแยกออกไปหลายสถานที่ และบางกลุ่มได้พัฒนาไปถึงขั้นใช้รถโมบายเป็นที่ผลิตระหว่างนั้นก็เคลื่อนไปเรื่อย ๆ

สำหรับกลุ่มที่ปรับตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบก็อาศัยสถานที่เดียวกันนั้นบังหน้าแอบทำวิดีโอผีผสมกันไปด้วย แม้จะไม่สามารถจับได้ชัดแจ้ง แต่คนในวงการก็รู้กันว่าหนังผีเรื่องนี้เป็นของใครทำ

"พวกนี้ถ้าเอ่ยชื่อก็รู้กันหมด เพราะล้วนแต่มีบริษัทดัง ๆ ทั้งนั้น" แหล่งข่าวกล่าว

พัฒนาการของผู้ประกอบธุรกิจวิดีโอผีในปัจจุบันใหญ่โตขึ้นมาในระดับที่เรียกว่า "มาเฟีย" ได้อย่างสบาย ๆ เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั้น ย่อมเป็นที่มาทั้งบารมีและอิทธิพล แม้แต่กับคนในวงการตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม เงินที่ได้จากอามิสสินจ้างทำให้การเคลียร์ปัญหาสามารถทำได้ทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นอัยการ "ว่ากันในวงการผู้ประกอบการธุรกิจวิดีโอว่า โรงพักกว่า 50% เป็นเขตปลอดลิขสิทธิ์ และด้านอัยการมีประมาณ 4 แผนกที่เป็นเขตปลอดลิขสิทธิ์เช่นกัน พวกนี้จะไม่ค่อยเต็มใจรับแจ้งความ อิดเอื้อน และทำสำนวนอ่อนปวกเปียก เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด" นักสืบหัวเห็ดรายหนึ่งที่เอาชีวิตเข้าไปอยู่ในวงการนี้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เขากล่าวว่า ตำรวจและอัยการรับเงิน ซึ่งมีการจ่ายกันทั้งแบบรายเดือนและเป็นรายกรณีๆ ด้วย แม้แต่ตำรวจกองปราบปรามก็มีระดับรองผู้กำกับคนหนึ่งทำตัวเป็นคนปลอดลิขสิทธิ์

นอกจากมีอิทธิพลในวงการตำรวจแล้ว ยังต่อถึงผู้มีอิทธิพลระหว่างกลุ่มด้วยกันได้ เช่น อาจไม่ก๊อปปี้ของบางบริษัทที่มีเจ้าพ่อหนุนหลังอยู่หรือถ้าเกิดพลาดพลั้งขึ้นก็จะเรียกกันไปเคลียร์ หรืออาจขอร้องให้เวลาวิดีโอลิขสิทธิ์ออกตลาดไปก่อนสักสิบวันแล้วค่อยเอาวิดีโอผีออกทีหลัง ลักษณะหลังนี้จะเน้นตลาดขายมากกว่าตลาดเช่า เพราะสามารถขายได้ในราคาถูกกว่าอยู่แล้ว จนปัจจุบันคนนิยมซื้อวิดีโอสะสมมากกว่าการเช่าและก็มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับคนทำวิดีโอผี เช่น บังคับให้ซื้อวิดีโอลิขสิทธิ์เป็นเรื่อง ๆ ไป เพื่อให้นำไปขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง โดยการเก็บค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า หรือใช้วิธีจ่ายค่าคุ้มครองกันตรง ๆ เป็นรายเดือน

มีอยู่คู่หนึ่งที่ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงทุกวันนี้ คือ นาย ต. กับ นาย ส. ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ในศาล และมีการปล่อยข่าวจะฆ่ากันในเร็ว ๆ นี้ ต. ประกาศจะก๊อปปี้หนังที่เป็นของ ส. โดยเฉพาะ โดยไม่เกรงกลัวต่อการถูกจับกุม การแข่งขันในตลาดระหว่างวิดีโอลิขสิทธิ์กับวิดีโอผีดูเหมือนฝ่ายแรกจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด จนพ่อค้าสหรัฐอเมริการ้องว่า หนังวิดีโอกว่า 50% ในตลาดเมืองไทยเป็นวิดีโอผีที่ละเมิดลิขสิทธิ์

ด้วยความที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบนี่เอง ทำให้ผู้นำเข้าและผลิตของไทยต้องพลิกตำราสู้อย่างถึงพริกถึงขิง

ทางออกก็คือ อาศัยสิทธิ์ตามกฎหมายไล่กว้านจับศูนย์ให้เช่า

วิธีการก็คือ ตั้งสำนักงานทนายความขึ้นมาทุ่มงบประมาณหลายล้านบาทเพื่อกวาดล้างวิดีโอผีโดยมีบุคคลระดับเจ้าพ่อ ตำรวจ เข้าร่วมขบวนการด้วย บริษัทพวกนี้ด้านหนึ่งทำตัวเยี่ยงมาเฟีย อีกกลุ่มหนึ่งที่มีกฎหมายรองรับ ความล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะว่าพวกเขาแยกไม่ออกว่าอะไรคือธุรกิจ อะไรคือการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการปราบปรามคนอื่นที่มาล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ตนเอง

ก่อนหน้านี้มีบริษัทผู้นำเข้าและผลิตหนังลิขสิทธิ์รายใหญ่รายหนึ่งร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศใช้งบประมาณถึงปีละ 10 ล้านบาทตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดำเนินการทางด้านสืบสวนและดำเนินคดีกับขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ชื่อ "ทิปโป้" เมื่อประมารปี 2529 แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนต้องปิดกิจการลง

จากข้อมูลที่ทางทิปโป้รายงานไปยังต่างประเทศ บอกว่า จากการดำเนินงาน 3 ปี (2530-2532) สามารถสืบทราบถึงแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 400 กว่าแห่ง ซึ่งปรากฏว่า สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพียง 28 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 6 เท่านั้น เช่น ในปี 2530 สืบทราบการกระทำความผิด 120 ราย ดำเนินคดีได้เพียง 13 ราย ในปี 2531 สืบทราบได้ 170 ราย แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้แม้แต่รายเดียว และในปี 2532 สืบทราบได้ 140 ราย แต่ดำเนินคดีได้เพียง 15 รายเท่านั้น

ปัจจุบัน บริษัททิปโป้ได้ปิดตัวเองลงไปแล้ว เหตุผลมี 2 ด้าน หนึ่ง - เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ไม่คุ้มกับการทุ่มทุนลงไปอย่างมหาศาล และสอง - มีพระราชบัญญัติควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ออกมาและมีผลในทางปฏิบัติที่เกิดความสมประโยชน์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนให้มีบริษัทนี้อีกต่อไป

"ผู้ผลิตทำตัวเป็นมาเฟียที่มีนักเลงใหญ่ระดับเจ้าพ่อให้ความคุ้มครอง เลี้ยงทนายความและตำรวจบางคนไว้คอยรับใช้ออกตระเวนตามศูนย์ให้เช่าวิดีโอต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้จ่าค่าสิทธิ์ให้แก่ตน เมื่อพบว่ามีเทปหนังที่ตนเองเป็นผู้นำเข้าอย่างถูกต้องอยู่ก็เข้าจับกุม นำขึ้นโรงพักจากนั้นก็จะขู่ให้จ่ายค่าเสียหายอย่างน้อย 20,000 บาทขึ้นไป ถ้ายอมจ่ายก็จบกันไป ถ้าไม่ยอมจ่ายก็ต้องหาเงินมาประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีต่อไป แต่พ่อค้าทุกคนไม่ชอบยุ่งเรื่องพวกนี้อยู่แล้วก็ต้องจ่ายให้ จากนั้นก็มีการทำสัญญาจ่ายค่าสิทธ์กันเป็นรายปี ปีละ 200,000 บาทเพื่อแลกกับการเอาป้ายคุ้มครองมาแขวนไว้หน้าร้าน ผู้นำเข้าและผลิตที่เป็นคนไทยเกือบทั้งหมดทำกันเช่นนี้มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ที่มีหนังลิขสิทธิ์ของหลายค่าย ยิ่งมีโอกาสรีดไถได้มากกว่าคนอื่น เพราะว่าสร้างหนัง ค้าหนังมันก็มีอยู่ไม่กี่ค่ายในโลกนี้" แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าของศูนย์แห่งหนึ่งระบายกับ "ผู้จัดการ"

วิธีการอย่างนี้ได้ก่อให้เกิดมาเฟียขึ้นมาในวงการในอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า มาเฟียนอกระบบ คือ การให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของศูนย์ว่า จะไม่ถูกรบกวนจากผู้นำเข้าและผลิต รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยต่างหาก

"คือร้านที่ไม่อยากถูกรบกวนมากก็ต้องหาคนที่มีอิทธิพลหรือบารมีไม่ว่าจะเป็นพวกมีสี หรือพวกนักเลงอันธพาลก็แล้วแต่มาให้การคุ้มครอง หรืออย่างน้อยก็เอาชื่อมาเป็นยันต์กันผีได้ว่าจะไม่ถูกรบกวนจากพวกมาเฟียที่รับใช้บริษัทนำเข้าและผลิต ค่าบริการถูกกว่าจ่ายค่าสิทธิครึ่งต่อครึ่ง" แหล่งข่าวเล่าถึงการหากินของพวกมาเฟียอีกกลุ่มหนึ่ง

ประมาณปี 2528-2529 ก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทป และวัสดุโทรทัศน์ จะออกมาบังคับใช้ผู้นำเข้าและผลิตรายใหญ่ ๆ การคิดค่าสิทธิ์ตกประมาณ 180,000-200,000 บาทต่อปี แต่จ่ายค่าคุ้มครองนอกระบบแบบนี้จ่ายกันเป็นรายเดือนเพียงเดือนละ 5,000-8,000 บาท หรือประมาณปีละ 120,000 บาทเท่านั้นเอง โดยสามารถเลือกหนังมาไว้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างอิสระไม่ถูกรบกวนมาก ถ้าเผื่อมีปัญหาก็มีคนช่วยจัดการให้เสร็จเรียบร้อย

ลักษณะของการให้ความคุ้มครองแก่ศูนย์ให้เช่าวิดีโอในลักษณะนี้ขยายผลออกไปในวงกว้างจนเป็นที่รู้จักกันในวงการ และมันได้พัฒนาการไปถึงขนาดขึ้นป้ายชื่อร้านเป็นชื่อเดียวกันกับผู้มีอิทธิพลที่ให้การคุ้มครอง เช่น ร้านที่ขึ้นต้นด้วยตัว "ส" และ "ป" และบางรายจะใช้ชื่อท้องถิ่นของผู้มีอิทธิพลเป็นชื่อร้าน ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่าชื่อนั้น ๆ อยู่ในความดูแลของใครไม่ว่าจะเป็นย่านธนบุรี ประตูน้ำ เตาปูน

ร้านที่อยู่ในความคุ้มครองผู้มีบารมีเหล่านี้จะไม่ถูกรบกวนในเรื่องลิขสิทธิ์ หรือถ้าเผื่อมีใครหลงเข้ามาตรวจสอบจับกุมก็จะมีคนจัดการให้เรียบร้อย การคุ้มครองนี้บางครั้งก็พึ่งพาได้ถึงปัญหาทางด้านหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่เป็นสถานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์และพวกเทปวิดีโอโป๊ด้วย

"แม้แต่ในกองปราบปรามก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าสารวัตรคอยให้การช่วยเหลือแก่ร้านที่ได้จ่ายเงินผ่านคนกลางไปให้แล้ว ซึ่งจะมีรายชื่อและรู้จักกันในหมู่พวกเขากันเอง" แหล่งข่าวกล่าว

"แต่ผู้มีบารมีบางคนก็ไม่เรียกค่าคุ้มครองเป็นตัวเงินตัวทองแน่นอน ก็แล้วแต่ว่าทางเจ้าของร้านจะช่วยค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูแลลูกน้องของเขาเท่าไหร่" นักสืบเอกชนจากบริษัทรับจ้างสืบสวนที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลหนึ่งที่ผู้มีอิทธิพลรับคุ้มครองให้

ลักษณะการเกิดของมาเฟียอันหลังนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเดือดร้อนของศูนย์ให้เช่าจากการกระทำของกลุ่มมาเฟียในระบบ โดยใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการขูดรีด ทำให้ต้องดิ้นรนหาผู้ที่จะมาช่วยเหลือคุ้มครอง ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นผู้มีอิทธิพลในย่านนั้น ๆ

แหล่งข่าวที่เป็นนักสืบคนเดียวกัน บอกว่า ลักษณะหลังนี้จะเกิดขึ้นในย่านประตูน้ำ เตาปูน เป็นต้น โดยที่ผู้มีอิทธิพลคนนั้นไม่ได้ต้องการหารายได้จากค่าคุ้มครองประเภทนี้ เพียงแต่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือคนในย่านของตนไม่ให้ถูกรังแก

เมื่อกระบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ขยายวงออกไปมีผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่มเช่นนี้ บริษัทผู้สร้างหนังอเมริกันเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่มีทางจับได้ไล่ทันขบวนการเหล่านี้ได้ ทางออกจึงมาอยู่ที่การใช้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือกดดันทางการไทย

ส่วนบริษัทผู้ค้ายักษ์ใหญ่ที่ทำกันถูกกฎหมายก็ต้องอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากผลักดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์

พระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอโดย ปรีดา กนกนาค ส.ส.กรุงเทพฯ ซึ่งถูกฆาตกรรมล่วงลับไปแล้ว เมื่อปี 2533 เป็นผู้เสนอ

มีการกล่าวกันว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมีเจตนาเคลือบแฝงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร

เจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในคำเสนอนั้น ดูสวยหรู เพราะอ้างว่าเป็นการคุ้มครองเยาวชน วัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดทั้งความมั่นคงของชาติ จากกรณีที่ถูกรุกรานโดยหนังวิดีโอที่มีเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยความรุนแรง ปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมีการจัดจำหน่าย ให้เช่า และบริการฉายให้ดูกันอย่างแพร่หลายในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงฉายขนาดย่อมเก็บค่าผ่านประตู ตามร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่ โดยไม่ได้รับการตรวจสอบเพื่อรับอนุญาตเช่นเดียวกับภาพยนตร์ตามโรงใหญ่ ๆ หรือผ่านคณะกรรมการบริหารวิทยุและโทรทัศน์หรือ กบว. อย่างการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมา

แต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอและผ่านออกมาจากสภาผู้แทนรัฐสภา โดยการผลักดันของผู้นำเข้าและผลิตวิดีโอรายใหญ่ ๆ บางราย (ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 10 บริษัทยักษ์ใหญ่) อันเป็นการส่อเจตนาไปถึงการออกกฎหมายนี้ก็เพื่อให้การคุ้มครองผู้นำเข้าและผู้ผลิตโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากกว่าเจตนารมณ์ตามที่เสนอไว้ เพราะในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วยังเรียกไม่ได้ว่าได้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ดังกล่าว

เผด็จ หงส์ฟ้า นายกสมาคมผู้ค้าและผลิตวิดีโอเทป เคยกล่าวว่า สมาคมฯ เป็นผู้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา

โดยเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว คือ ควบคุมกิจการสถานที่จำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยน โดยใครจะประกอบธุรกิจประเภทนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเสียก่อนจึงจะทำได้

ควบคุมตัดต่อ หรือพิจารณาอนุญาตหรือที่เรียกว่า เซ็นเซอร์ บรรดาหนังวิดีโอทั้งหลายที่มีในร้านจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยน และควบคุมและอนุญาตให้ฉายหนังวิดีโอตามสถานที่บริการต่าง ๆ

แต่การนำเข้าและผลิตวิดีโอเทปอย่างถูกกฎหมายนั้นจะไม่ถูกควบคุมตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ทั้งหมดซึ่งถ้าควบคุมแล้วจะให้ผลตามเจตนารมณ์ได้ดีกว่าการไปควบคุมสถานประกอบการที่ปลายเหตุ

หมายความว่า ผู้นำเข้าและผลิตเทปวิดีโอไม่ต้องขออนุญาตหรือรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้ประกอบการอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกัน เว้นแต่จะเป็นการนำเข้าวิดีโอตามที่รัฐมนตรีได้ออกคำสั่งห้ามแล้วเท่านั้น แต่ก็เป็นความผิดที่ใช้กับคนทุกคน เพราะกฎหมายใช้คำว่า "ผู้ใด" ไม่เฉพาะเจาะจงถึงผู้ผลิตหรือนำเข้าเป็นธุรกิจ

พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ มีการกำหนดโทษทางอาญารวมแล้วทั้งสิ้น 17 กระทงความผิด โดยมีอัตราโทษตั้งแต่จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทถึงอัตราสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท โดยกระทงความผิดจะระบุไปที่เจ้าของศูนย์วิดีโอให้เช่า จำหน่าย และแลกเปลี่ยนมากกว่า 10 กระทงความผิด ส่วนที่เหลือเป็นกระทงความผิดสำหรับสถานบริการต่าง ๆ ที่เปิดฉายวิดีโอ

มีเพียงกระทงความผิดเดียวที่ระบุถึงการนำเข้าเทปวิดีโอตามที่รัฐมนตรีได้ประกาศสั่งห้ามเอาไว้

เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้จึงชี้ชัดให้เห็นตัวบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังของมันอย่างชัดเจนที่สุดว่า ไม่ใช่เป็นกลุ่มผลประโยชน์อื่นใดเลย แท้จริงคือกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับธุรกิจลิขสิทธิ์วิดีโอนี้เอง

ในทางปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ศูนย์ให้เช่าวิดีโอทุกศูนย์จะต้องยื่นขอจดทะเบียนรับอนุญาตจากกรมตำรวจสำหรับในเขตกรุงเทพฯ และยื่นต่อกองกำกับการตำรวจภูธร สำหรับศูนย์ที่อยู่ต่างจังหวัด

ในลักษณะเช่นนี้เจ้าของศูนย์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวด ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือจะต้องเปิดบริการให้เช่าได้เฉพาะหนังวิดีโอที่ผ่านการเซ็นเซอร์และมีรับรองสำเนาอัดหรือบันทึกเทปเท่านั้น

ในทางปฏิบัติผู้นำเข้าและผลิตเทปวิดีโอจะนำหนังที่ตนเองซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาอย่างถูกต้อง การที่จะนำออกจำหน่ายหรือให้เช่า ต้องมีใบสำคัญแสดงแหล่งที่มาของหนังเรื่องนั้น ๆ ไปให้เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ก่อน เมื่อผ่านการเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้วเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรอง รหัส และแสตมป์ให้แล้วจึงนำไปอัดลงในมาสเตอร์เทปนำออกจำหน่ายแก่ศูนย์ให้เช่า พร้อมกับมอบสำเนารับรองและแสตมป์หรือที่เรียกว่าสติ๊กเกอร์ผ่านเซ็นเซอร์แล้วใแก่ศูนย์ติดในม้วนวิดีโอที่อัดออกมาให้เช่าทุกม้วน

ถ้าไม่มีสติ๊เกอร์และสำเนารับรองดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

เจ้าหน้าที่กองทะเบียนที่รับผิดชอบจะมีสายตรวจออกตรวจศูนย์เช่าและแผงขายต่าง ๆ ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้งเพื่อดูว่าศูนย์ต่าง ๆ ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ หมายความว่า ถ้าพบวิดีโอที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ เจ้าของศูนย์จะมีความผิดทางอาญาทันที ซึ่งในประเด็นนี้นี่เองที่ถูกมองว่าเป็นการผ่อนแรงผู้นำเข้าและผลิตอย่างมากทีเดียว เพราะแทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องส่งกำลังตำรวจและทนายความออกตามล่าศูนย์ให้เช่าเหมือนที่เคยผ่านมา

แหล่งข่าวในวงการวิดีโอ กล่าวว่า จากงบประมาณที่บริษัทเหล่านี้ตั้งไว้ในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ปีละกว่า 10 ล้านบาทก็ลดลงเหลือเพียงปีละประมาณ 2 ล้านบาทในทันที

ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าและผลิตก็สามารถต้อนศูนย์ให้เช่าหรือผู้ค้าปลีกอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในระบบของตนเองได้อย่างอยู่หมัดพร้อมกับขึ้นราคาค่าสิทธิเกือบจะเรียกว่าในทันทีด้วยกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่ต้องออกแรงและใช้กลยุทธ์อะไรที่ซับซ้อนทางการบริหาร การจัดการ หรือการตลาดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ซีวีดีเคยเรียกค่าสิทธิ์จากศูนย์ให้เช่าก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เดือนละ 12,000 บาท โดยจะป้อนหนังให้เดือนละ 35 ม้วน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาททันทีหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้คลอดออกมา หรือบางรายก็ขึ้นราคาโดยการแยกประเภทหนังออกจากกันระหว่างหนังฝรั่ง หนังจีน และหนังไทย เพื่อเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์อีกต่างหากจากราคาเดิมที่เคยเรียกค่าลิขสิทธิ์รวมกัน

แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีแผนกกองทะเบียนเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัตินี้ดูแลทางด้านลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในทางปฏิบัติได้มีการประสานงานของผู้นำเข้าและผลิตจะส่งรายชื่อหนังที่ตนเองได้รับลิขสิทธิ์มาให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บไว้ เมื่อปรากฏว่ามีการขอเซ็นเซอร์ซ้อนกันมาอีกก็จะไม่ผ่านให้หรือถ้าพบในศูนย์ให้เช่าใดก็จะแจ้งให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทราบ เพื่อให้มาดำเนินการร้องทุกข์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต่อไป

พ.ต.อ.วิชอบ ปลอดภัย ผู้กำกับการกองทะเบียน 3 กล่าวว่า การประสานงานในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นจากคำเรียกร้องของสมาคมผู้ค้าและผลิตวิดีโอ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

"จริง ๆ แล้ว การดูแลทางด้านลิขสิทธิ์ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ ออกใบอนุญาตในการประกอบการและตรวจสอบสถานประกอบการว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เช่น วิดีโอที่นำมาให้เช่าในร้านผ่านเซ็นเซอร์หรือไม่ ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของเจ้าของที่จะต้องดำเนินการเองแต่ก็มีคนเข้าใจผิดโวยวายมาว่า เราไม่เอาใจใส่ในปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เราก็เลยบอกว่า ยินดีจะให้ความร่วมมือหากเจ้าของลิขสิทธิ์ส่งรายชื่อหนังที่ตนเองเป็นลิขสิทธิ์ส่งมาให้" พ.ต.อ.วิชอบ กล่าว

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องใช้ทรัพยากรมากพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องนี้ กองกำกับการ 3 กองทะเบียน กรมตำรวจ ซึ่งดูแลเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานซึ่งเดิมรับผิดชอบเกี่ยวกับยานพาหนะ ได้ลงทุนเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เครื่องและห้องเซ็นเซอร์ประมาณหนึ่งล้านบาท รถยนต์สองคัน มีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 150 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน 45 นาย และชั้นต่ำกว่าประทวน 105 นาย

พ.ต.อ.วิชอบ ปลอดภัย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในการทำงานมีการแบ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกยานพาหนะหัวเมืองเดิมให้รับผิดชอบงานทางด้านการควบคุมใบอนุญาต กล่าวคือ เป็นผู้ดำเนินการออกใบอนุญาตให้แก่ร้านให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย และใบอนุญาตให้ฉายหรือให้บริการ

แผนกตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้รับผิดชอบงานทางด้านการควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่เรียกว่า งานเซ็นเซอร์ แผนกขับขี่รถยนต์ให้รับผิดชอบงานตรวจกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ในเขตกองกำกับการตำรวจนครบาล 1-9 และแผนกทะเบียนรถยนต์รับผิดชอบงานตรวจในเขตกองกำกับการตำรวจนครบาล 10-19 โดยจะออกตรวจผู้ประกอบกิจการประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์

จากรายงานผลการดำเนินงานล่าสุด ในปี 2533 (สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน) ได้มีการพิจารณาเซ็นเซอร์เทปวิดีโอไปแล้วทั้งสิ้น 2,556 เรื่อง ส่วนทางด้านการตรวจจับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นแผงลอยที่ขายวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต รองลงมา คือ เจ้าของศูนย์ให้เช่าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขอนุญาต และสุดท้ายคือสถานบริการที่ฉายวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต

ผู้การวิชอบ กล่าวให้ความเห็นว่า ในการพิจารณาเซ็นเซอร์น่าจะให้มาอยู่ที่กองทะเบียน 3 เพียงแห่งเดียวแทนที่จะกระจัดกระจายอยู่ตามกองกำกับการตำรวจภูธรในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและเป็นแนวเดียวกันในการพิจารณา เพราะที่ผ่านมามีหนังบางเรื่องที่ไม่ผ่านการพิจารณาของกองทะเบียน 3 แล้วนำไปขอเซ็นเซอร์ที่ต่างจังหวัดก็ผ่านการพิจารณามาได้อย่างนี้ เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่ง น่าจะให้มีการควบคุมผู้นำเข้าและผลิตด้วย เพราะเหตุว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจทั้งหมดในวงการ ซึ่งอาจเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการตรวจอนุญาตการนำเข้าด้วย

ในทางปฏิบัติอาจเป็นได้ว่า ให้กรมศุลกากรเก็บเทปวิดีโอที่นำเข้านั้นส่งมาให้กองทะเบียนตรวจพิจารณาก่อนที่จะให้มีการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันนี้มีแต่ดูทางด้านภาษีเท่านั้น กล่าวคือถ้านำเทปวิดีโอเข้ามาโดยจ่ายภาษีถูกต้องก็ไม่มีสิทธิที่จะไปกักเก็บของเขาได้

แต่อย่างไรก็ตาม ผลของพระราชบัญญัติควบคุมเทปวิดีโอและวัสดุโทรทัศน์ออกมานี้ ด้านนึ่งทำให้ความเถื่อน ๆ ในวงการลดน้อยลงอย่างมาก ร้านให้เช่าวิดีโอหลายแห่งโดยเฉพาะรายเล็กรายย่อยต้องปิดกิจการลง เพราะทนกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ "คือเมื่อกฎหมายออกมาผู้ผลิตต่าง ๆ ก็พากันขึ้นราคา วิดีโอผีก็ลดน้อยลง แม้การเก็บค่าคุ้มครองกันนอกระบบลดน้อยลงก็จริง แต่มันได้เข้ามาอยู่ในระบบมีเครื่องไม้เครื่องมือและกฎหมายรองรับการกระทำของพวกเขามากขึ้น ที่ยังเหลืออยู่ก็แต่รายที่มีทุนมาก ๆ ยอมจ่ายค่าคุ้มครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและก็เปิดเผยกันอย่างสบาย ๆ

เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว การที่จะทำธุรกิจวิดีโอผีก็ทำได้ยากมากขึ้น ในขณะที่ค่าสิทธิ์ในระบบก็ถีบตัวสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนไม่น้อยกว่า 30%

"ก็ลองคิดดูว่า ถ้าเราจ่ายค่าสิทธิ์ให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตทุกรายเพื่อให้มีวิดีโอให้เช่าแก่ลูกค้าอย่างหลากหลาย ต้องใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ปีละหนึ่งก็ตกประมาณ 360,000 บาท หรืออย่างน้อยวันละ 1,000 บาทยังไม่รวมค่าเทปเปล่า ค่าอัด ค่าน้ำค่าไฟ ค่าพนักงานอีกมากมาย นั่นหมายความว่า จะต้องมีรายได้จากการให้เช่าวันละ 2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งศูนย์เล็ก ๆ ไม่มีทางทำได้ เพราะค่าเช่าขณะนี้อยู่ในระดับม้วนละประมาณ 10-30 บาทเท่านั้น แล้วแต่คุณภาพและความนิยมของหนังแต่ละเรื่องนั้น หมายความว่าจะต้องมีลูกค้ามาเช่าอย่างน้อยวันละ 200 ม้วนจึงจะอยู่ได้" เจ้าของร้านวิดีโอให้เช่าแห่งหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงค่าใช้จ่ายดำเนินการ

ผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวได้ขยายตัวไปถึงขบวนการวิดีโอผีด้วย ซึ่งขบวนการนี้จากเดิมซึ่งเคยนำเข้าและผลิตขายแบบสบาย ๆ ก็ทำงานกันด้วยความลำบากมากขึ้น ทั้งนี้เพราะศูนย์ให้เช่าได้ถูกควบคุมจนจะเรียกได้ว่าอยู่หมัดแล้ว ส่วนมาเฟียในระบบก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการใหม่ให้ทันสมัย รัดกุม และสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

"เดิมวิดีโอผีที่เดินไปซื้อจากเมืองนอกมาอัดขายกันแบบสบาย ๆ ในบ้านเรานั้น มีอยู่ประมาณ 10 ราย ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ประมาณ 4-5 รายเท่านั้นเอง เช่น ต.สำเหร่ เอวีเอส คิว และกำนันชื่อดังแห่งย่านฝั่งธนบุรี พวกนี้เป็นรายที่ใหญ่และมีบารมีมากทีเดียว ทำกันอย่างเปิดเผยท้าทาย สามารถคุยกับผู้นำเข้าอย่างถูกต้องรู้เรื่องทั้งในด้านผลประโยชน์และความเป็นนักเลงด้วยกัน ส่วนที่เหลืออีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกหารายได้พิเศษ คือ พวกนี้จะเป็นพวกที่นำเข้าและผลิตที่นำเทปหนังเข้ามาแบบเสียค่าสิทธิ์ถูกต้อง แต่จะลักลอบทำเทปผีเป็นคราว ๆ ถือเป็นการหารายได้พิเศษ ซึ่งก็สามารถทำเงินได้มหาศาลทีเดียว" คนในวงการวิดีโอคนหนึ่งกล่าว

พวกมาเฟียที่อยู่ในระบบเดิม คือ พวกที่ทำงานเป็นเส้นสายให้กับเจ้าของผู้นำเข้าและผลิตจะแปรสภาพมาเป็นเอเย่นต์ แบ่งเขตกันคุม เช่น ย่านธนบุรีก็เป็นย่านของกำนันชื่อดังของวงการ ซึ่งปัจจุบันได้รุกกินพื้นที่ควบคุมไปถึงเขตภาคเหนือทั้งหมดตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงรายลงมา

ย่านเยาวราชซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งทั้งด้านการขายและให้เช่าวิดีโอ "เฮียปด" ถือว่าเป็นผู้กว้างขวางที่ก้าวขึ้นมาเป็นเอเย่นต์ให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตหลายบริษัทในปัจจุบัน ส่วนเสี่ย ป. กับ เสี่ย ส. แบ่งส่วนกันคุมฝั่งธนบุรีกับกรุงเทพฯ

ระบบเอเย่นต์ ความหมายของมันคือ เป็นการต้อนมาเฟียที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์มากขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมาก

"ศูนย์และแผงขายวิดีโอผีทุกวันนี้จะต้องจ่ายเงินให้พวกเอเย่นต์ของผู้ผลิตทุกราย ไม่มีทางรอดสายตาพวกนี้ไปได้ เพราะจะมีการแบ่งกันหากินเป็นเขต ส่วนจะถึงมือผู้ผลิตเท่าไหร่ไม่มีใครยืนยัน" แหล่งข่าว กล่าว

ปัจจุบันเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีศูนย์ให้เช่าประมาณ 2,700 รายและมีแผงขายประมาณ 200 แผง เขตที่มีแผงขายวิดีโอผีมากที่สุด คือ ถนนพัฒน์พงศ์ มีประมาณ 30 แผง มาบุญครองประมาณ 20 แผง ตลาดคลองเตย (ปีนัง) ประมาณ 10 แผง นอกนั้นจะกระจัดกระจายตามย่านการค้าทั่วไป

ในแต่ละย่านจะมีมาเฟียทั้งในระบบและนอกระบบคอยเก็บค่าคุ้มครอง เช่น เอเย่นต์ท้องที่เจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ กองปราบปราม เทศกิจ จ่ายโดยตรงให้แก่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อีกสองราย

"วิดีโอผีที่อยู่ในระบบนี้ก็ค้าขายกันได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งมันก็คุ้ม เช่น ที่พัฒน์พงศ์ แผงที่เป็นรถเข็นธรรมดาจ่ายค่าคุ้มครองรวมกันทั้งระบบก็ประมาณเดือนละ 10,000 บาท แต่ขายได้เดือนละประมาณเกือบล้านบาท ส่วนที่มาบุญครองร้านที่ใหญ่ที่สุดที่นั่นจ่ายค่าคุ้มครองประมาณเดือนละ 60,000 บาท ยอดขายของเขาเดือนละประมาณ 6 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นกำไรสุทธิ" แหล่งข่าวกล่าว

กำไรงาม ๆ อย่างนี้ การหากินกับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยมีมาเฟียคุ้มครองจึงเจริญแพร่สะพัด และดูเหมือนสิ่งนี้เจ้าหน้าที่ทางการไทยไม่รู้สึกยินดียินร้ายใด ๆ

การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ท้าทายและอื้อฉาวนี้ คือ การทำมาหากินของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่บริษัทผู้สร้างหนังอเมริกันทนไม่ได้ จนต้องขอแรงคราล่า ฮิลล์ แห่งสำนักงานการค้าสหรัฐฯ เล่นงานไทยด้วยมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us