KG ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นของ CPR ระหว่าง 18 พฤษภาคม 2550 จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน นี้ตั้งเป้า 49% ในราคาหุ้นละ 2.10 บาท และหากไม่ถึง "วณิชวิศิษฐ์กุล" พร้อมเฉือนหุ้นของตัวเองให้ครบตามจำนวน โดย KG หวังเพิ่มปริมาณ ธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนอีก 5 เท่า ในปี 2553 ขณะที่บริษัทจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยให้กิจการสามารถขยายสายผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหาร และยังคงสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ
นางศรีพร สุทธิพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้น แจ้งว่าเนื่องด้วยวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า บริษัท หรือ กิจการ) ได้รับสำเนาคำเสนอซื้อหลักทรัพย์บางส่วนของกิจการจาก Kinugawa Rubber Industrial Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "ผู้ทำคำเสนอซื้อ" หรือ KG)
โดยจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ 97,510,000 หุ้น คิดเป็น 49% เสนอซื้อที่ราคาหุ้นละ 2.10 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อ 204,771,000 บาท ซึ่งจะมีระยะเวลารับซื้อรวมทั้งสิ้น 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2550จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2550 ในเวลาราชการ
ทั้งนี้ KG ได้ทำสรุปบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มของนายนพดล วณิชวิศิษฐ์กุล และครอบครัวซึ่งเป็น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ที่ถือหุ้นอยู่ 129,136,990 หุ้นหรือ คิดเป็น 64.90% ของหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ และผู้ขายตกลงที่จะขายและจะดำเนินการให้บุคคลในครอบครัววณิชวิศิษฎ์กุลดังกล่าว ข้างต้นขายหุ้นของกิจการที่ตนถืออยู่ให้กับผู้ซื้อโดยจำนวนที่จะขายนั้นจะเท่ากับจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ผู้ซื้อต้องการรับซื้อตามคำเสนอซื้อ หักจำนวนหุ้นทั้งหมดที่มี ผู้แสดงเจตนาขายในวันสุดท้าย ของวันเสนอซื้อ
สำหรับ การที่ KG เข้าลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายการลงทุนของ KG ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณธุรกิจของ KG ในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกประมาณ 5 เท่า ในปี 2553 และทำให้กิจการได้รับประโยชน์จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ทำคำเสนอซื้อ รวมทั้งช่วยให้กิจการสามารถขยายสายผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่ง KG ไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่เน้นปรับปรุงบริหารงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทสามารถก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยางและยางติดเหล็กระดับสากล ขณะที่นโยบายอื่นยังคงเดิม รวมทั้งการยังคงสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ต่อไป
สำหรับ CPR ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางและยางติดเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้กับบริษัทผู้ประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ( OEM) ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีโรงงาน 6 โรงงาน ซึ่ง CPR เป็นเพียงรายเดียวของไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและสูตรการผลิตชิ้นส่วนยางจาก Kinugawa Rubber Industrial และมีริษัทย่อย 3 แห่งคือ บริษัท ซีจีไอ เมททัล อินดัสเตรียล จำกัด (CMI) ถือหุ้น 70% บริษัท ยูชอน ไพพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (YPT) ถือหุ้น 99.99% และบริษัท คินูกาว่า (ประเทศไทย) จำกัด (KGT) ถือหุ้น 15% ขณะที่ KG เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 42-47 มีกำไรอย่าง ต่อเนื่อง แต่พอปี 48-49 กำไรลดลง เนื่องจากราคายางธรรมชาติ ประกอบกับความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลกระทบให้ยางสังเคราะห์ เขม่าดำ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ของกิจการมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนขายของบริษัทเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เติบโตต่อเนื่อง แต่ภาวะการแข่งขันสูง
อย่างไรก็ดี CPR มีเป้าหมายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางและยางติดเหล็กแก่ผู้ผลิตสินค้าต้นแบบ OEM ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งในตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ และมีเป้าหมาย ที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้น และขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและยางติดเหล็กให้แก่บริษัทผู้ประกอบรถยนต์ทุกยี่ห้อ
|