รัฐบาลเดินหน้าโครงการอีโคคาร์ ครม.อนุมัติอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 17% เงื่อนไขเครื่องเบนซินไม่เกิน 1300 ซีซี ดีเซลไม่เกิน 1400 ซีซี อัตราสิ้นเปลือง 20 กม./ลิตร มาตรฐานยูโร 4 มีผล 1 ต.ค. ปี 52 “พี่หลอง” ลั่นคุ้มค่า สูญรายได้ 7 หมื่นบาท ต่อคัน แลกกับการช่วยชาติประหยัดเชื้อเพลิง-สิ่งแวดล้อม-กระตุ้นกำลังซื้อ เผยคลังออกประกาศลดภาษีควบคู่สำหรับรถใช้แก๊สโซฮอล์ที่เติมเอธานอล 20% เริ่ม ม.ค.ปีหน้า “โฆสิต” โวเอกชน 3 รายเข้าร่วม บิ๊กโตโยต้าเด้งรับ ฮอนด้าโล่ง ได้ข้อสรุป
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ (5 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์อยู่ที่ระดับ 17% เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการสร้างโปรดักส์แชมเปี้ยนเพื่อการส่งออกจึงจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำรวมทั้งสนับสนุนให้มีการประหยัดพลังงานด้วย
สำหรับเงื่อนไขมาตรฐานของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ต้องมีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,400 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่จำกัดกำลังเครื่องยนต์ ส่วนอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือ 20 กิโลเมตรต่อลิตร มาตรฐานมลพิษอยู่ในระดับ EURO 4 ตามที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศกำหนด และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยจากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร และกำลังการผลิตปีละ 1 แสนคันในปีที่ 5
ด้านมาตรฐานความปลอดภัยต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งองค์การสหประชาชาติสำหรับภาคพื้นยุโรป (UNECE) ข้อ 94 และข้อ 95 หรือสูงกว่า ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานสำหรับชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตหรือประกอบขึ้นเป็นรถยนต์อย่างเข้มงวดแล้ว ยังได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการถูกชนในลักษณะต่างๆ เช่น การชนด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ตลอดจนการพลิกคว่ำของตัวรถด้วย
“แม้ว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 70,000 บาทต่อคัน แต่สิ่งที่รัฐได้ประโยชน์คือการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ที่ต้องเสียไป ซึ่งในแง่ของผู้บริโภคนั้นเมื่อราคารถยนต์ลดลงมากอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถยนต์มากขึ้นและรัฐบาลก็จะมีรายได้ด้านอื่นชดเชยภาษีที่เสียไป” นายฉลองภพกล่าว
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า ในการแบ่งแยกตลาดรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลออกจากรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบประมาณ 1,500 ซีซี (B Car) ได้มีการแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนอยู่แล้วเพื่อให้มีผลกระทบกับแผนการผลิตรถยนต์ขนาด B ที่มีอยู่แล้วให้น้อยที่สุด ทั้งนี้คาดว่าราคารถที่จะนำออกจำหน่ายคงอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อคัน
ลดภาษีรถใช้แก๊สโซฮอลล์ควบคู่
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมประกาศลดภาษีสรรพสามิตถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ที่เติมเอทานอล 20% หรือ E20 จากเดิมที่เคยประกาศว่าหากมีการใช้ E20 กันอย่างแพร่หลายแล้วจะเก็บภาษีในอัตรา 20% สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานจึงได้หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานเพื่อปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีอีกครั้ง
โดยจากการหารือได้ข้อสรุปว่าการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้ E20 มีการจัดเก็บตามความจุของกระบอกสูบต่ำกว่าอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์ทั่วไป 5% ดังนี้ รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2,000 ซีซี กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 30% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 25% รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2,000-2,500 ซีซี กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 35% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 30%
รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2,500-3,000 ซีซี กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 40% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 35% ส่วนรถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า 3,000 ซีซี กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า จัดเก็บภาษีที่ระดับ 50% เท่าเดิม โดยอัตราการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2551
“กระทรวงการคลังได้ประกาศอัตราจัดเก็บภาษีสำหรับรถยนต์ที่สามารถใช้ E20 ได้ เนื่องจากต้องการให้เวลาผู้ประกอบการแต่ละรายปรับตัวแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการบางรายได้นำรถยนต์ประเภทนี้ออกจำหน่ายแล้วก็ตาม ซึ่งรถรุ่นใหม่ๆ ที่ออกจำหน่ายส่วนใหญ่สามารถใช้ E10 ได้ ผู้ประกอบการอาจปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เพียงเล็กน้อยเพื่อให้รถยนต์สามารถใช้ E20 ได้และเร่งให้มีการออกวางจำหน่ายได้เร็วขึ้น” นายฉลองภพ กล่าว
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการอีโคคาร์จะมีความชัดเจนทุกด้านในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะหารือในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดรายละเอียดของมาตรการจูงใจเอกชน ทั้งนี้ อัตราภาษี 17% ถือว่าต่ำ โดยต่ำกว่าภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ที่ปัจจุบันจัดเก็บภาษีในอัตรา 30%ล่าสุดมีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น 3 รายที่จัดทำรายละเอียดโครงการชัดเจนแล้ว
โตโยต้า-ฮอนด้ายอมรับสนใจ
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ภายในเวลา 2 ปีจะมีรถโตโยต้าทำตลาดแน่นอน ส่วนจะเป็นรถรุ่นไหนคงต้องศึกษาอีกสักระยะ
“ภาษี 17% ถือเป็นการจูงใจให้บริษัทรถยนต์หลายค่ายสนใจผลิต แต่ในส่วนของโตโยต้าคงต้องมาดูรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งว่ารถทำตลาดจะเป็นโมเดลใหม่ ขึ้นไลน์ผลิตใหม่ หรือใช้รถรุ่นเดิมอย่างวีออส กับยาริส วางเครื่องยนต์ใหม่ ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ขั้นต้นสามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นรถที่ประกอบในประเทศ และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 100% แน่นอน”
นายศุภรัตน์ มองว่า การกำหนดปริมาณการผลิตให้ได้ 1 แสนคัน ภายใน 5 ปี อาจเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กในประเทศ มีปริมาณการขายรวมอยู่ปีละประมาณ 6-7 หมื่นคันเท่านั้น ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกอาจไม่มีตลาดรองรับเพียงพอ ซึ่งทั้งสองปัจจัยถือเป็นเรื่องสำคัญที่โตโยต้าต้องพิจารณาให้รอบคอบ
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยินดีที่ภาครัฐสรุปเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และที่ผ่านมาฮอนด้าเห็นด้วยกับแนวคิดของภาครัฐที่พยายามผลักดันโครงการอีโคคาร์ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นรถขนาดเล็กช่วยประหยัดน้ำมัน และยังคาดหวังให้เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนคู่กับปิกอัพอีกต่างหาก
“อัตราภาษีสรรพสามิตที่เสนอให้รถอีโคคาร์อยู่ที่ 17% นั้น มันไม่ได้ 100% ตามที่เราเสนอไป แต่จะนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง เรายอมรับว่าโจทย์ของภาครัฐครั้งนี้ชัดเจน แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะมีเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 20 กิโลเมตร/ลิตร, มาตรฐานมลพิษระดับ 4, เครื่องยนต์เบนซินมีขนาดต่ำกว่า 1300 ซีซี หรือเครื่องยนต์ดีเซลต่ำกว่า 1400 ซีซี และมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับยุโรป ดังนั้น เราต้องกลับมาดูทั้งตัวโปรดักต์ที่จะมาประกอบและการดำเนินงานทางธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน”
|