ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ดุสิตธานีกรุ๊ปได้เกิดขึ้นและขยายกิจการในรูปของการร่วมทุนหรือรับบริหารไปยังหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
อาทิเช่น ดุสิตอินน์ที่เชียงใหม่ ดุสิตรีสอร์ทแอนด์โปโลคลับที่ชะอำ ดุสิตรีสอร์ทพัทยา
ดุสิตลากูน่าที่ภูเก็ต ดุสิตไอส์แลนด์เชียงราย และดุสิตเจ.บี.ที่หาดใหญ่
กุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จของดุสิตธานีที่มีประสบการณ์เก่าแก่ 45 ปี ชนินทร์
โทณวณิก EXECUTIVE DIRECTOR กล่าวไว้ว่ามีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง
ทำเลที่ตั้งโรงแรม สอง การตลาดที่สนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า และสาม
ฝ่ายบริหารและทีมงาน
"ถ้าสามอย่างนี้ดี จะโตเท่าไหร่ก็โตได้ แต่ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมีปัญหาก็ยาก"
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดุสิตธานีกรุ๊ปจึงเข้าไปร่วมบริหารโรงแรมเจ.บี.ที่หาดใหญ่ของตระกูลบุญสูง
ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีศักยภาพเติบโตในเมืองหาดใหญ่ โดยทางดุสิตธานีกรุ๊ปได้เข้าไปเสริมด้านทีมงานขาย
และฝึกอบรมบุคลากร
"สิ่งที่เราจะให้เขาได้มากที่สุดก็คือ ทางด้านเครือข่ายเท่านั้นเอง
เพราะเรามีลูกค้าจากโรงแรม 8-9 แห่งที่จะป้อนให้เขาทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว
ยกตัวอย่าง โรงแรมพริ๊นเซสที่หลานหลวง ซึ่งมีข้าราชการใช้มาก ต่อไปถ้าหากลูกค้าจะไปหาดใหญ่
เราก็แนะนำให้ไปอยู่โรงแรมในกรุ๊ปของเรา" นี่คือการใช้เครือข่ายโรงแรมที่ชนินทร์เล่าให้ฟัง
การเติบใหญ่ของดุสิตธานีกรุ๊ปได้นำชนินทร์ โทณวณิก บุตรชายของชนัตถ์ ปิยะอุย
เข้ามาสู่กิจการครอบครัว หลังจากที่เขาได้จบการศึกาาจากอังกฤษและจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยบอสตัน
และคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนในปี 2525
เป็นเวลาสามปีเต็มที่ชนินทร์ได้ทุ่มเทในอาชีพการสอนที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ
และในที่สุดชนินทร์ก็ต้องละทิ้งงานสอนหนังสือก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของดุสิตธานีกรุ๊ป
จากประสบการณ์การบริหาร ชนินทร์ได้เอ่ยถึงสภาวะการณ์แข่งขันสูงสุดที่เกิดขึ้นขณะนี้
คือ ที่พัทยา ซึ่งตลาดส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ผู้บริหารดุสิตรีสอร์ทพัทยานี้คือ
สุรกาญจน์ กิจการที่มีฝีไม้ลายมือในการขับเคี่ยวกับคู่แข่งอย่างโรงแรมรอยัลคลิฟ
"แต่ตอนนี้โรงแรมที่ใกล้เคียงเรามากที่สุด คือ สยามลอดจ์ ซึ่งราคาของเขาถูกกว่าเรามาก
ทั้งที่เขาเล่นกลุ่มลูกค้าระดับสูงเป็นส่วนใหญ่" ชนินทร์เล่าให้ฟัง
ปีหนึ่ง ๆ ดุสิตธานีกรุ๊ปจะต้องจ้างพนักงานเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคนจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
5 พันกว่าคน จุดแข็งของดุสิตธานีทุกวันนี้จึงอยู่ที่บุคลากร แนวความคิดการสร้างโรงแรมผลิตคนให้ได้มาตรฐานการบริการชั้นสูงของชนัตถ์
ปิยะอุยที่ฝันไว้นานหลายปีก็คาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปีหน้า
ทั้งนี้เพื่อป้อนให้เพียงพอกับการเติบโตของกลุ่มดุสิตธานีที่มีโครงการขยายตัวและในปี
2536 เป็นที่คาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมโรงแรมทั้งหมดต้องตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง
โดยเฉพาะกับโรงแรมระดับสี่ถึงห้าดาวที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีการประมาณว่า
จำนวนห้องพักที่เกิดขึ้นใหม่ 3-4 หมื่นห้องมีความต้องการบุคลากรโรงแรมถึง
75,000 คน
"เฉพาะดุสิตธานีกรุ๊ปของเราที่ต้องการเพิ่มก็ประมาณ 3,500 คน แต่ปัญหาที่เราประสบก็คือ
หาคนได้ยากมาก ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในธุรกิจนี้มา 45 ปีแล้ว แล้วคนอื่นล่ะ ?"
ชนินทร์กล่าว
ถึงกระนั้น การเติบโตสู่ภูมิภาคของดุสิตธานีก็ไม่หยุด แม้จะมีเหตุกระทบอย่างรุนแรงจากภัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย
ซึ่งทำให้จำนวนผู้ที่มาพักในโรงแรมหายไปครึ่งหนึ่งก็ตาม ในโรงแรมแถบชายทะเล
แต่แผนการขยายตัวไปยังจุดสำคัญทางธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไป มีการสร้างโรงแรมใหม่ที่จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในนามบริษัทโคราชธานี
"การลงทุนของเราค่อนข้างสูง ต้นทุนต่อห้อง เราคิดว่าคงไม่ต่ำกว่า 2
ล้านบาทต่อห้อง การสร้างของเราจะต้องไม่ต่ำกว่า 300-400 ห้อง และกลุ่มเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นนักท่องเที่ยว
เพราะเมืองโคราชเป็นเมืองนักธุรกิจและข้าราชการ" ชนินทร์เล่าให้ฟัง
การตลาดที่ส่วนหนึ่งชนินทร์ได้เข้าร่วมดูแลด้วย เป็นหัวใจสำคัญที่จำเป็นต้องมีการวางแผนงาน
3-5 ปีในทุกระยะของการเติบโตของดุสิตธานีกรุ๊ป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านราคา
การขาย เช่น เจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหนและการส่งเสริมการตลาด เช่น โฆษณา
"ในสามปีข้างหน้าโอกาสที่เราจะโตไปกว่านี้คงลำบาก เพราะว่าเรามีทุกแห่งแล้วในเมืองไทย
เป้าหมายอันแรกของเราจึงเริ่มค่อย ๆ จะขยับไปดูในต่างประเทศบ้าง และเป้าหมายอันที่สอง
คือ ทำให้โรงแรมดียิ่งขึ้นไปทั้งด้านการบริการและด้านกำไรบริษัท" เป้าหมายนี้จะบรรลุถึงหรอืไม่นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของชนินทร์
การขยายไปสู่ต่างประเทศก็เป็นหนึ่งในแผนงานในอนาคต บางโครงการที่จะทำโรงแรมในสหรัฐอเมริกายกเลิกไป
ขณะเดียวกันบางโครงการก็ก้าวรุดหน้าอย่างดี เช่น โครงการโรงแรมที่อินโดนีเซีย
4 แห่ง ซึ่งจะเปิดแห่งแรกในปลายปีหน้านี้
"สาเหตุที่เราทำสัญญารับบริหารให้ที่อินโดนีเซีย เพราะว่าอินโดนีเซียเหมือนไทยมีจุดท่องเที่ยวมากและลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกับเรา
งานจะง่ายกว่าถ้าเราเลือกไปที่อื่น เราจะเสียเปรียบ" ชนินทร์กล่าวถึงการตัดสินใจรับบริหารของดุสิตธานีกรุ๊ป
พร้อมกับให้ความเห็นว่าแม้การท่องเที่ยวของอินโดนีเซียจะช้ากว่าไทยไป 5 ปี
แต่จุดแข็งด้านอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของเขาดีกว่าไทย" รัฐบาลของเขาแข็งกว่าเราด้านนี้
ซึ่งในระยะยาวเขาจะดีกว่าเรา"
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของดุสิตธานีกรุ๊ปที่ปรากฏขึ้นสม่ำเสมอในระยะ 3-4
ปีนี้ ชนินทร์กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการวางแผนระยะยาวมานานนับ 10 ปีแล้วว่าจะลงที่จุดเป้าหมายตรงบริเวณไหนบ้าง
โดยมีการวิจัยสำรวจข้อมูลตลาด
"เรามีแผนมาสิบปีแล้ว ดังนั้นถ้าหากมีโอกาสที่ตรงกับแผนเราปั๊บ เราก็กระโดดลงไปทำทันทีโดยไม่รีรอ
แต่ถ้าไม่ใช่…เราก็ไม่แตะ ไม่เสียเวลา เช่นที่เชียงรายก็อยู่ในแผนของเรามานาน
ก่อนหน้านี้เราก็ขึ้นไปซื้อที่ดินเชียงรายหลายปี หรือย่างเชียงใหม่ก็เช่นกัน
ก่อนเราจะซื้อดุสิตอินน์ เราก็ใช้เวลาตั้ง 7-8 ปี" ชนินทร์เปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จ
ฉะนั้น ความโดดเด่นของการบริหารของดุสิตธานีกรุ๊ป กิจการโรงแรมของคนไทยที่บริหารโดยคนไทยจึงเข้าตากรรมการ
6 ประเทศผู้จัดงานมอบรางวัล "MANAGEMENT AWARD" สำหรับบริษัทที่มีการบริหารดีเด่นในสาขาต่าง
ๆ ของประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้
ผู้จัดงานนี้ คือ สถาบัน AIM (THE ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT) นิตยสาร
WORLD EXECUTIVE DIGEST และบริษัทคอมพิวเตอร์ ACER เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนด้านการเงินและมีกิจการบริษัท
200 แห่งเข้าร่วม โดยมีบริษัท เอส จี วี แอนด์ แอนเดอร์เซ่น เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลแล้วส่งให้กรรมการตัดสิน
จนกระทั่งได้ 6 บริษัทยอดเยี่ยม คือ บริษัทดุสิตธานี บงล.ทิสโก้ บริษัทสหยูเนี่ยน
ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทผาแดง อินดัสตรี
"ถ้ามองในแง่ของแผนการตลาดและบริษัทในเครือแล้ว ดุสิตธานีกรุ๊ปจะได้คะแนนสูงมากในความโดดเด่นและการมองการณ์ไกล
ขณะที่โอเรียนเต็ลเน้นทางด้านบริการเท่านั้น" ธีระชัย เชมนะศิริ หนึ่งในคณะกรรมการงานนี้ชี้แจงถึงบริษัทที่ดีที่สุดในปีนี้
เมื่อมาถึงจุด ๆ หนึ่งของช่วงชีวิตวัย 37 ปีของชนินทร์ โทณวณิก ผู้บริหารระดับสูงของดุสิตธานีกรุ๊ป
ความสำเร็จเป็นเพียงจุดหนึ่งของกาลเวลาที่เขายังต้องเดินไปอีกไกล และเขาเรียนรู้สิ่งใหม่ในการบริหารดุสิตธานีกรุ๊ปตลอดเวลา
ซึ่งชนินทร์ถือว่าความรู้ คือ สินทรัพย์อันมีค่า และเขาได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่าจะทำงานให้กับครอบครัวอีก
10 ป หลังจากนั้นเขาจะวางมือเพื่อหวนกลับไปยังงานสอนหนังสือที่เขารักในที่สุด