หากพูดถึงสินค้าของประเทศนิวซีแลนด์ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงทราบกันดีว่า สินค้าที่ทำรายได้ให้กับประเทศนิวซีแลนด์อย่างเป็นรูปธรรมนั้นคือสินค้าทางการเกษตร เช่น ไวน์ ไม้แปรรูป นมเนยแข็ง ขนแกะ และเนื้อวัว นอกจากนี้สินค้าอีกสองชนิดที่ทำรายได้มหาศาลให้รัฐบาลกีวีคือ การท่องเที่ยวและการศึกษา จากข้อมูลในปี 2005 การศึกษาได้นำเงินเข้าประเทศนิวซีแลนด์ถึง 2 พันล้านเหรียญ หรือ 6 หมื่นล้านบาททีเดียว ซึ่งสูงกว่าสินค้าส่งออกหลักในอดีต เช่น การประมงเสียอีก
เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และอังกฤษวางรากฐานด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงอุดมศึกษา โดยพวกเขามีความเชื่อกันว่าจะทำให้นิวซีแลนด์เป็นอังกฤษใหม่ทางซีกโลกใต้ รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงนำมรดกดังกล่าวมาเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจนิวซีแลนด์เอง ทำให้มีนักเรียนจากหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป มาศึกษา
ในระดับอุดมศึกษานั้นนิวซีแลนด์มีสถาบันทั้งหมด 25 แห่ง คิดเป็นมหาวิทยาลัย 8 แห่ง และสถาบันเทคโนโลยีอีก 17 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่งคือ University of Auckland, University of Canterbury, Victoria University, University of Otago ซึ่งต่างได้ผลิตบุคลากรชั้นนำของนิวซีแลนด์และบางท่านก็เป็นบุคคลสำคัญของโลก เช่น Lord Ernest Rutheford (Canterbury), Helen Clark (Auckland), Sir William Pickering (Canterbury), Lord Robin Cooke (Victoria), Dame Silvia Cartwright (Otago)
สำหรับการจัดอันดับและการจัดสรรงบประมาณพิเศษในการวิจัย รวมถึงเงินโบนัสของมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์นั้นจะใช้ผลงานวิจัยเป็นตัววัด โดยเรียกว่าระบบPerformance Based Research Fund (PBRF) ซึ่งได้วัดจากจำนวนผลงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์เช่นเดียวกันกับคุณภาพของงานและนิตยสารที่ได้ตีพิมพ์ ตรงจุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างดีจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก จาก Research University Report ของ LSE หรือ THES
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศนิวซีแลนด์ได้เปิดกว้างในการรับนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการศึกษาในประเทศในเครือจักรภพคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และอังกฤษ นั่นคือได้ปฏิรูปการบริหารสถาบันศึกษา กล่าวคือ มหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่งจำเป็นต้องอยู่ด้วยตนเองแทนที่จะพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาล
นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปิดกว้างขึ้นในการรับนักศึกษาจากโครงการที่รัฐบาลไม่ได้ให้เงินสนับสนุน ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยในอเมริกา กับมหาวิทยาลัยในเครือจักรภพ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นจะมีเครือข่ายธุรกิจ ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยในการวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจนั้นๆ หรือไม่ก็มาจากเครือข่ายของสมาคมศิษย์เก่าซึ่งให้ทั้งทุนการวิจัยและทุนการศึกษา ในทางกลับกันประเทศในเครือจักรภพนั้นจะไม่ค่อยมีบริษัท ให้การสนับสนุนการศึกษาเนื่องจากว่า ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะให้การสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเอง
นอกจากนี้สมาคมศิษย์เก่าก็ไม่ค่อยได้ทำเครือข่ายในการแจกทุนวิจัยมาก่อนจึงต้องเริ่มปรับตัวกันใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นมหาวิทยาลัยหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเข้ากับการเปลี่ยน แปลงดังกล่าว จึงมีความจำเป็นมากขึ้นในการเปิดรับนักศึกษาจากต่างประเทศ
ผมจำได้เป็นอย่างดีว่าในช่วงกลางของทศวรรษ 1990 ขณะที่รัฐบาลยังคงสนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่นั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำสี่แห่งของเมืองกีวี มักจะไม่ค่อยสนใจในการรับนักศึกษาจากต่างประเทศ และการเข้าเรียนจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก จนบางแห่งโดนค่อนแคะไปว่าเป็นมหาวิทยาลัยคนขาว ขณะที่ทุกวันนี้การรับนักศึกษาจากต่างประเทศง่ายกว่าเดิมมากและมีขั้นตอนการช่วยเหลือตั้งแต่คอร์สภาษาอังกฤษไปจนถึงคอร์สเพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาทีเดียว ในสมัยที่ผมศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีนั้น ห้องเรียนวิชารัฐศาสตร์จะมีคนเอเชียอยู่ราวๆ 5-7 คนจากนักเรียนทั้งหมดกว่า 200 คน แต่เมื่อผมกลับมาช่วยสอนในวิชาเดียวกันนี้เมื่อปีก่อน ผลปรากฏว่านักศึกษาเอเชีย เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว คือ 35-40 คนทีเดียว จากการสอบถามอาจารย์ท่านอื่นจึงทราบมาว่าในบางคณะ เช่น พาณิชย์ และบริหาร ธุรกิจนั้น นักเรียนเอเชียเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 10% ไปเป็น 40% ของชั้นเรียนทีเดียว
แต่ทั้งนี้ค่าเล่าเรียนของนักศึกษาต่างประเทศเองก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะจากเดิมนั้นมหาวิทยาลัยจะเก็บค่าเล่าเรียนประมาณ 11,000 เหรียญ ซึ่งนักศึกษากีวีจ่ายอยู่ที่ 3,500 เหรียญ และรัฐบาลสนับสนุนอีก 7,500 เหรียญต่อปี ทำให้ราคาค่าเล่าเรียนของนักศึกษาต่างประเทศในยุคนั้นไม่สูงมากนัก แต่ทุกวันนี้ นักศึกษากีวีจ่ายที่ 4,000 เหรียญ แต่เมื่อรัฐบาลลดการสนับสนุนลง ค่าเล่าเรียนนักศึกษาต่างประเทศจึงสูงขึ้นไปอยู่ที่ 18,000 ถึง 26,000 เหรียญ แต่ถ้านำไปวัดกับประเทศอังกฤษ หรือออสเตรเลียแล้ว นิวซีแลนด์ก็ยังคงนับว่าอยู่ในราคาที่ถูกกว่ามาก ยกเว้นแต่การเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกยังคงรับยากเหมือนเดิมเนื่องจากยังเป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุน ทำให้นักศึกษานิวซีแลนด์และต่างประเทศจ่ายค่าเล่าเรียนในอัตราเดียวกันคือ 3,934 ดอลลาร์ต่อปี และรัฐบาลกีวีจะจ่ายส่วนต่างให้ เพราะว่ารัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนนักศึกษาที่จะเข้ามาทำการวิจัยให้กับประเทศนิวซีแลนด์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า นโยบายดังกล่าวนิวซีแลนด์ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องเพราะว่านักเรียนโดยมากแทบจะเรียกว่า ร้อยละ 90 นั้นคือระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี ขณะที่ในระดับปริญญาเอก ซึ่งเน้นการวิจัยและการตีพิมพ์ของนักศึกษา เป็นหลักนั้นเขาจะได้ผลงานวิจัยมาเพื่อเอาไปนำเสนอในนามสถาบันเป็นสิ่งตอบแทน
นโยบายการส่งออกการศึกษานั้น ในอดีตอาจจะทำเพื่อให้สถาบันหลายแห่งอยู่ได้ด้วยตนเองแต่ในยุคที่เป็นการค้าเสรีในปัจจุบัน สถาบันหลายแห่งเริ่มก้าวไปไกลกว่าการหาเงินเพื่อยังชีพแต่ปรับนโยบายเป็นการทำกำไรให้กับสถาบันทีเดียว ผมขอยกตัวอย่างสามสถาบันที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ซึ่งมีนักศึกษาจากต่างประเทศสูงถึง 13.75% หรือ 5,500 คนจากนักศึกษาทั้งหมดราวๆ 40,000 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ มีนักศึกษาจากต่างประเทศคิดเป็น 11.43% ในปีนี้เป็น 2,000 คน จากนักศึกษาทั้งหมด 17,500 คน มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแสดงตัวเลขนักศึกษานานาชาติที่ 20% หรือ 4,000 จากนักเรียนทั้งหมด 20,000 คนทีเดียว ซึ่ง 80% ของนักศึกษาทั้งหมด มาจากทวีปเอเชียนั่นเอง
ปัจจุบันการศึกษาถือเป็นการส่งออกที่ทำกำไรอัตราแลกเปลี่ยนให้กับประเทศนิวซีแลนด์ในอันดับที่สี่ ขณะที่อัตราเติบโตของตลาดการศึกษาโลกนั้นอยู่สูงถึง 19% และมีมูลค่าโดยรวมถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ทีเดียว ขณะที่นิวซีแลนด์มองว่าการได้ ส่วนแบ่งแค่ 2 พันล้านในปัจจุบันเป็นการชี้ว่าตลาดการศึกษาของเมืองกีวีนั้นยังขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะการที่อดีตยักษ์หลับอย่างจีนแดงได้ตื่นขึ้นมาแล้วนั้น การขยายการส่งออกการศึกษาไปต่างประเทศนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
|