Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2550
from Hirosaki to Kakunodate             
โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
 





ซากุระกลีบสุดท้ายในศาลเจ้ายาสุคุนิอันศักดิ์สิทธิ์ได้ร่วงหล่นอำลาต้นฤดูใบไม้ผลิของเมืองหลวงไปราวหนึ่งเดือนแล้ว ขณะเดียวกันซากุระในอีกฟากหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น เพิ่งจะได้เวลาแย้มกลีบรับอากาศอบอุ่นและอาคันตุกะร่วมล้านคนในเทศกาลซากุระแห่ง Tohoku

ธรรมเนียมการชมดอกซากุระที่เรียกขานในภาษาญี่ปุ่นว่า Hanami นั้น โดยผิวเผินอาจดูละม้ายคล้ายกันไม่ว่าจะชมซากุระที่ Kyoto, Tokyo หรือแม้กระทั่งที่ Washington ซึ่งล้วนแต่มีความงามทางกายภาพของดอกซากุระเหมือนๆ กัน

หากการดำรงอยู่ของซากุระนั้นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่น โดยไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายแล้วบริบทของ Hanami ก็ไม่ต่างอะไรไปจากบันทึกภูมิหลังทางวัฒนธรรมและประวัติ ศาสตร์ของสถานที่ที่เป็นฉากให้ซากุระบรรจงแต้มสีชมพูเติมเสน่ห์ให้การชมซากุระในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของตัวเอง

การผลิดอกของซากุระมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นติดตามรายงานวันเวลาที่ดอกซากุระจะบานในแต่ละท้องที่ได้อย่างแม่นยำตั้งแต่ทางตอนใต้ไล่เป็นแนวขึ้นไปทางเหนือที่เรียกว่า Sakurazensen

กระนั้นก็ตาม การผลิบานของซากุระในเขต Kanto (โตเกียวและปริมณฑล) มีความพิเศษกว่าเขตอื่นๆ ของญี่ปุ่น โดยอาศัย การอ้างอิงจากการแย้มกลีบของซากุระดอกแรกในบริเวณศาลเจ้ายาสุคุนิใจกลางมหานครโตเกียว

แต่ละวันตลอดช่วงเวลา Hanami ในปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนนั้นเฉพาะที่ศาลเจ้ายาสุคุนิมีผู้คนเรือนแสนเดินทางมาชมซากุระพร้อมทั้งถือโอกาสเคารพสักการะบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่ได้รับการอัญเชิญมาสถิตในศาลเจ้าแห่งนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูอันเป็นคุณธรรมประการหนึ่งของชาวเอเชียที่สอนสั่งสืบต่อมานับพันปีมากกว่าเป็นการฝักใฝ่ลัทธิทหารอย่างที่ถูกวิพากษ์แบบฝ่ายเดียว

สำหรับในเขต Tohoku (ตะวันออกเฉียงเหนือ) นั้นกว่าที่แนว Sakurazensen เคลื่อนที่ขึ้นจากโตเกียวไปทางเหนือจนถึงปลายเกาะฮอนชูซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 700 กิโลเมตร ก็เป็นเวลาประจวบเหมาะกับช่วงวันหยุดยาว Golden Week (28 เมษายน-5 พฤษภาคม) ผู้คนจากทั่วสารทิศทั้งชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างมุ่งหน้าสู่ Hirosaki และ Kakunodate ซึ่งเป็น 2 แหล่งที่ได้ชื่อว่า เป็นจุดชมซากุระที่สวยที่สุดใน Tohoku

ซากุระ 2600 ต้นที่รายล้อมใน Hirosaki Park ในปัจจุบันเป็นประหนึ่งสักขีพยานของความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจและการปกครองของไดเมียว Tsugaru Tamenobu ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก Toyotomi Hideyoshi ซึ่งกำลัง เรืองอำนาจหลังจากปราบกบฎและรวมประเทศญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นได้ในปี 1590

เวลาต่อมาภายหลังจากการสถาปนา ตนเองขึ้นเป็นโชกุนของ Tokugawa Ieyasu ปกครองญี่ปุ่นในสมัย Edo (ค.ศ.1603-1868) มีการสร้าง Castle Town หลายแห่งทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการของบรรดาไดเมียวโดยยึดจารีตแบบอย่างมาจาก Kyoto

แผนการสร้าง Hirosaki Castle ริเริ่มในปี 1603 ปีเริ่มต้นของสมัย Edo โดยไดเมียว ตระกูล Tsugaru ในขณะที่การก่อสร้างปราสาทยังไม่ทันแล้วเสร็จ Tamenobu ได้เสียชีวิตเสียก่อนยังผลให้ Tsugaru Nobuhira บุตรชายขึ้นเป็นไดเมียวซึ่งหลังจากนั้นหนึ่งปีปราสาท 5 ชั้นได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1611

แต่น่าเสียดายที่ปราสาทถูกฟ้าผ่าเกิดเพลิงไหม้เสียหายภายในชั้น 5 ในปี 1627 และถูกปล่อยปละไว้อย่างนั้นเกือบ 200 ปีจนกระทั่งปี 1810 Tsugaru Yasuchika ได้บูรณะปราสาทขึ้นใหม่แต่เหลือเพียง 3 ชั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อเข้าสู่สมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ซึ่งได้คืนอำนาจในการปกครองประเทศ ให้กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในขณะเดียวกันเพื่อป้องกันการหวนคืนสู่อำนาจของระบอบโชกุนได้มีการทำลายปราสาทหลายแห่งซึ่งเป็นฐานที่มั่นของไดเมียวผู้สนับสนุนโชกุน

กระนั้นก็ตาม Hirosaki Castle ได้รับการปกปักรักษาและแปรสภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของ Hirosaki Park ภายในอาณาเขต 500,000 ตารางเมตร ในปี 1895 ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติในปี 1952 ในฐานะปราสาทเก่าแก่ในสมัย Edo ที่หลงเหลืออยู่ใน Tohoku

ตลอดระยะเวลา 260 ปีที่ตระกูล Tsugaru ครอบครองดินแดนแห่งนี้มีวัฒนธรรมหลายแขนงได้รับการเพาะบ่มจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น การชมดอกซากุระของชนชั้นสูงภายในปราสาทแห่งนี้ซึ่งมีประจักษ์พยานอายุยืนยาวกว่า 120 ปีที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ในบริเวณทางเข้า ปราสาททางทิศตะวันออก นั่นคือต้นซากุระพันธุ์ Someiyoshino ที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น

เมื่อสิ้นสมัย Meiji ราวปี 1912 ซากุระจำนวนมากได้นำมาปลูกทดแทนต้นเก่าอีกทั้งได้เพิ่มจำนวนต้นทั้งรอบในและรอบนอกของ Hirosaki Park จนกลายเป็น "เทศกาลซากุระ" ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ร่องรอยจากอดีตที่ปรากฎอยู่ใจกลางเมือง Hirosaki คือโครงสร้างและองค์ประกอบของ Castle town ที่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบโดยมีปราสาทเป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Honmaru ตั้งมั่นอยู่บนกำแพงอิฐชั้นในรายล้อมด้วยคูน้ำ ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้นมีปราสาทหลังเล็กสำหรับเป็นที่อยู่ของสมาชิกตระกูลไดเมียวและบริวารระดับสูง เรียกว่า Ninomaru อันดับรองลงไปคือ Sannomaru และ Shinomaru ตามลำดับ

ภายนอกบริเวณปราสาทจะเป็นที่อยู่ของซามูไรที่เรียกว่า Bukeyashiki โดยซามูไร ที่มีตำแหน่งสูงจะมีบ้านอยู่ใกล้ตัวปราสาทที่สุด ถัดออกไปเป็นที่อยู่ของสามัญชน ส่วนพ่อค้าและศิลปินจะอาศัยในบริเวณไกลออกไปลดหลั่นกันตามชั้นวรรณะของสังคมในสมัย Edo

ถึงแม้ว่าหมู่บ้านซามูไร Nakamachi (ชื่อเดิมของ Hirosaki) จะยังคงอยู่ก็ตาม Kakunodate Bukeyashiki ในจังหวัด Akita จะเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะ Little Kyoto of Michinoku (ชื่อเดิมของ Tohoku) ที่ยังคงลมหายใจของเหล่าซามูไรเมื่อ 390 ปีก่อนไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ซากุระพันธุ์ Shidare สีชมพูที่นำมาปลูกจากเกียวโตย้อยเป็นระย้าอยู่ริมรั้วบ้านไม้สีเข้มของตระกูลซามูไรเก่าแก่เช่นตระกูล Ishiguro ซามูไรตำแหน่งสูงสุดของเมือง, ตระกูล Aoyagi หรือ Nishimiya และอีกมากที่สามารถเข้าชมภายในซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์หรืออาจเข้าร่วมพิธีชงชาภายในบริเวณ Bukeyashiki ซึ่งเข้ากับบรรยากาศของวันเด็กญี่ปุ่น* ในวันสุดท้ายของ Golden Week (5 พฤษภาคม) พอดี

*อ่านเพิ่มเติม : นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2547 คอลัมน์ Japan Walker   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us