หลายปีมานี้ ทุกๆ ปี บัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (CASS) จะตีพิมพ์สมุดปกน้ำเงินรายงานเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน รวมไปถึงดินแดนในความปกครองอย่างฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊าด้วย
ทั้งนี้หลังจากการเก็บข้อมูลจากเมืองต่างๆ กว่า 200 แห่งทั่วประเทศจีนแล้ว ทางผู้จัดทำก็จะนำตัวเลขต่างๆ มาคำนวณเพื่อจัดอันดับว่าเมืองใดในประเทศจีนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยหลากหลายประการประกอบไปด้วยภาวะการอยู่อาศัย, การท่องเที่ยว, ทรัพยากรบุคคล, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, เงินทุน, การประกอบธุรกิจและยี่ห้อ (แบรนด์) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างดัชนีชี้วัดว่าในแต่ละปีเมืองใหญ่ต่างๆ ในประเทศจีนมีทิศทางการพัฒนา ไปในทางใด มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอะไรบ้าง ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลของเมืองต่างๆ แข่งขันกันพัฒนาเมืองของตนให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับเมืองอื่นๆ ในโลก
ในปี 2550 (ค.ศ.2007) ก็เช่นกัน ทางบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน ทำการสำรวจเพื่อจัดอันดับเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในประเทศจีน โดยผลที่ออกมาปรากฏว่า อันดับหนึ่งยังผูกขาดโดยฮ่องกง ส่วนอันดับที่ 2 ถึง 10 นั้นประกอบด้วยเซินเจิ้น, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, กวางเจา, ไทเป, อู๋ซี (มณฑลเจียงซู), ซูโจว, โฝซาน (มณฑลกวางตุ้ง) และมาเก๊า ตามลำดับ
จากการจัดอันดับดังกล่าว ผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกแปลกใจที่ในตารางอันดับนี้ 10 อันดับแรก มีรายชื่อของเมืองหลายแห่งที่ไม่คุ้นหูหรือแต่ไหนแต่ไรไม่ทราบมาก่อนเลยว่าเมืองเหล่านี้มีศักยภาพในการแข่งขันสูง รวมไปถึงอาจตั้งคำถามถึงการจัดอันดับเมืองอย่างเซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, กวางเจา รวมถึงไทเปให้อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าเมืองที่เพิ่งเกิดใหม่อย่าง "เซินเจิ้น" ด้วย
หลายปีมานี้ อย่าว่าแต่คนไทยที่ยังยึด ติดกับความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า เมื่อมองเห็นแผนที่จีนก็จะเห็น "ปักกิ่ง" เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมของจีน เห็น "เซี่ยงไฮ้" เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ส่วนเมืองอื่นๆ นั้นถูกจัดเป็นเพียงเมืองบริวารทางการเมืองและเศรษฐกิจของสองเมืองนี้เท่านั้น เพราะแม้แต่คนจีนเอง ก็ยังคงมีความคิดเช่นนั้นอยู่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีนนั้นแข่งขันกันเติบโต แข่งขันกันพัฒนาอย่างไม่ยอมน้อยหน้าซึ่งกันและกัน จนต้องยอมรับว่าสภาพความเป็นจริงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
จริงอยู่ที่เมืองใหญ่บางเมืองอาจได้อานิสงส์จากการเป็นศูนย์กลางดั้งเดิมของประเทศ เป็นเมืองท่าเก่าแก่อายุนับร้อยปี หรือเป็นเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางของจีนเป็นพิเศษ แต่เมื่อพิจารณาจากความกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีนแล้วก็ต้องยอมรับได้ว่า แต่ละมณฑลของจีนนั้นอาจเปรียบเทียบได้กับประเทศย่อยๆ ประเทศหนึ่ง นั่นย่อมทำให้เมืองใหญ่ในแต่ละมณฑลก็อาจเปรียบได้กับเมืองหลวง-เมืองท่า-เมืองการค้าของประเทศอื่นๆ เช่นกัน
สองปีก่อน ในคอลัมน์เดียวกันนี้ผมเคยเขียนบทความเรื่อง "ปักกิ่งน่าอยู่หรือไม่" (นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2548) โดยกล่าวถึงภาพรวมของการอาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง โดย ณ เวลานั้นผมสรุปทิ้งท้ายเอาไว้ว่า "แม้ปักกิ่งจะเป็นเมืองที่ค่าครองชีพค่อนข้างสูง (สูงที่สุดในบรรดาเมืองที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่) รถติด มลพิษเยอะ ประชากรอยู่อย่างแออัด กระนั้นปักกิ่งสำหรับผมก็ยังคงเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ที่สุดอยู่ดี"
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงทัศนะของคนต่างชาติคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน... เมื่อหันมามองในมุมของคนท้องถิ่น จากการจัดอันดับภาวะการอยู่อาศัยของบรรดาเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในประเทศจีนผลปรากฏว่าเมืองที่คนจีนคิดว่าเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยมากที่สุดอันดับ 1 ถึง 5 นั้นคือ เซินเจิ้น, ปักกิ่ง, เซี่ยเหมิน, เซี่ยงไฮ้ และหางโจว ตามลำดับ
สำหรับ "ปักกิ่ง" มีนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนให้ความเห็นไว้ว่า ปักกิ่งเป็นศูนย์ กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดเด่นที่ส่งให้เมืองปักกิ่งถูกจัดเป็นเมืองลำดับที่ 4 ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด ก็คือปัจจัยทางด้านยี่ห้อ, การท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในสามด้านนี้ปักกิ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพเหนือกว่าเมืองใดๆ ในประเทศจีน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปักกิ่งแม้จะเป็นเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความโบราณ แต่ในความโบราณกลับแฝงไว้ด้วยความทันสมัย เพราะปัจจุบันปักกิ่งถือเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจีน จากแรงผลักดัน-การส่งเสริม จากรัฐบาลกลางรวมถึงการที่บริษัทไอทีข้ามชาติต่างเร่งขยายศูนย์วิจัยและพัฒนามาตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ส่งให้เมืองหลวงของจีนกลายเป็นเมืองที่มีทรัพยากรทางด้านเงินทุนและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีกระจุกตัวอยู่มากที่สุดในประเทศ
กระนั้นก็ใช่ว่าปักกิ่งจะไม่มีข้อด้อยเสียเลย ในสมุดปกน้ำเงินระบุถึงข้อด้อยของกรุงปักกิ่งไว้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมของปักกิ่งบางส่วนนั้นอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในเชิงการผลิตครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มผลิตภาพที่เดิมอยู่ในระดับต่ำเตี้ยติดดิน นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของธุรกิจในปักกิ่งในสายตาของคนปักกิ่งก็ไม่ค่อยจะดีนัก ขณะที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่จะไปแข่งขันกับนานาชาติก็ยังคงด้อยกว่าผลิตภัณฑ์จากเมืองอื่นๆ มากกว่านั้นในเรื่องของการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากประชาชน ขณะที่การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการปล่อยน้ำเสียก็ถือว่าย่ำแย่กว่าเมืองอย่างเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้อยู่มาก
หันมาดู "เซี่ยงไฮ้" กันบ้าง นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เซี่ยงไฮ้คือสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน, การค้า และเศรษฐกิจ จนได้รับฉายาว่า "หัวมังกรทางเศรษฐกิจของจีน"
หลายปีมานี้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน เซี่ยงไฮ้สามารถยึดครองตำแหน่งเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ไว้ได้โดยตลอด ทว่าในปีนี้อันดับที่เดิมเคยเป็นของเซี่ยงไฮ้กลับถูกเซินเจิ้นยึดครองไปเสียแล้ว
จากการเก็บข้อมูลและประมวลผลระบุว่า เซี่ยงไฮ้ยังคงเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นที่สุดในการดึงดูดเงินทุนเข้ามา โดยเซี่ยงไฮ้มีสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศรวมอยู่เป็นจำนวนมาก มีบริการทางการเงินที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้เซี่ยงไฮ้ก็ยังคงสถานภาพของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของแผ่นดินใหญ่ไว้ได้อยู่ ขณะที่ในแง่ขององค์กรธุรกิจ ความสามารถในการจัดการขององค์กรธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้ก็ยังถือว่ามีความยอดเยี่ยม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ส่วนระดับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับสูง
แล้วเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้ในปีนี้ ความสามารถทางการแข่งขันของเซี่ยงไฮ้ตกลงมาอยู่ต่ำกว่าเซินเจิ้น?
นักวิจัยผู้จัดทำสมุดปกน้ำเงิน ระบุว่า จุดอ่อนของเซี่ยงไฮ้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความสามารถในการแข่งขันในเชิงวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้จากสถิติระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบอัตราของผู้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับเมืองเซี่ยงไฮ้ แล้วจะพบว่า เซินเจิ้นมีจำนวนผู้ขอจดสิทธิบัตรสูงกว่าเซี่ยงไฮ้ถึงเท่าตัว ขณะที่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเซินเจิ้นก็มีมากกว่าเซี่ยงไฮ้ถึงเท่าตัวเช่นกัน ขณะที่เมื่อพิจารณาในด้านของสภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัยของเซี่ยงไฮ้ อย่างเช่น สัดส่วน พื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากร, พื้นที่อยู่อาศัยต่อหัวประชากร, คุณภาพของอากาศ ก็จะเห็นได้ว่าอยู่ในระดับที่ย่ำแย่กว่าเซินเจิ้นทั้งสิ้น
สำหรับ "เซินเจิ้น" เมืองที่ในปีนี้ครองแชมป์เมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดบนแผ่นดินใหญ่ (ขณะที่ในตารางอันดับรวมนั้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากฮ่องกง) คณะผู้จัดทำสมุดปกน้ำเงิน ชี้ให้เห็นว่า "จุดแข็ง" ของเซินเจิ้นนั้น คือ แบรนด์, การท่องเที่ยว และการอยู่อาศัย
แม้เซินเจิ้นจะเป็นเมืองเกิดใหม่ที่มีอายุไม่กี่ทศวรรษ แต่ในช่วงที่ผ่านมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลกลาง จากนโยบายการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่เมืองแห่งความทันสมัยหลายๆ ประการของรัฐบาลท้องถิ่น ประกอบกับการเป็นเมืองที่อยู่ติดกับฮ่องกงได้ผลักดันให้เซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงยิ่ง
นักวิชาการชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากเซินเจิ้นเป็นเมืองเกิดใหม่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิด เป็นเมืองที่รวบรวมเอาคนมาจากทุกๆ พื้นที่ทั่วประเทศจีน ทำให้เมืองแห่งนี้อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมที่เอื้อแก่การสร้างธุรกิจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
กระนั้นก็ใช่ว่า "เซินเจิ้น" จะปราศจากจุดอ่อนเสียเลยทีเดียว ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเซินเจิ้น ก็คือ ปัญหาทางด้านที่ดิน
จากการสำรวจและประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการคาดการณ์ไว้ว่าที่ดินที่เหมาะสำหรับการขยายเมือง ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้นจะเต็มทุกพื้นที่ภายใน 15 ปีข้างหน้า ขณะที่ปัญหายิบย่อยอื่นๆ ก็เริ่มรุมเร้าเมืองใหม่ที่มีอายุเพียง 20 กว่าปีนี้เช่นกัน เช่น ปัญหาความแออัดของประชากร (ประชากรของเซินเจิ้นเพิ่มขึ้นมากถึง 20 เท่า ใน 20 ปี) ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ปัญหา ของการสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมารองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการอพยพของประชากร เป็นต้น
|