|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2550
|
|
พนักงานต้อนรับและพยาบาลสาวหน้าตาจิ้มลิ้มที่ยืนยิ้มฉันญาติมิตรหลังเคาน์เตอร์ เก้าอี้เบาะหนังสีเอิร์ธโทนตัวเขื่องที่จัดวางราวห้องนั่งเล่น ซี่เสาลายไม้ที่ให้อารมณ์แสนอบอุ่น กับห้องพักฟื้นที่มีจอ LCD ขนาดใหญ่กว่าห้องนอนที่บ้าน ใครเลยจะเชื่อว่าภาพเช่นนี้เห็นได้ที่โรงพยาบาลศิริราช
ถ้าไม่เห็นสาวในชุดพยาบาลบริเวณล็อบบี้ ถ้าไม่เรียกล็อบบี้ว่า OPD หรือถ้าไม่เห็นห้องตรวจและไม่เห็นเครื่องมือทางการแพทย์ในห้องพักผู้ป่วย ดูเผินๆ หลายคนอาจเผลอนึกว่าที่นี่เป็นโรงแรมขนาด ย่อมที่ผุดขึ้นกลางโรงพยาบาลศิริราช
บรรยากาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ การตกแต่งและบริการรูปแบบ "Home Hospital" ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับศูนย์ตรวจรักษาโรคหัวใจแห่งใหม่ของศิริราช ที่มีชื่อว่า The Heart by Siriraj ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 4 ของอาคารศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภายในโรงพยาบาลศิริราชนั่นเอง
นอกจากเงินลงทุนร่วม 60 ล้านบาท ที่หมดไป กับการตกแต่งศูนย์โรคหัวใจแห่งใหม่นี้ให้ดูหรูหรา ไม่แพ้โรงพยาบาลเอกชน
"The Heart" ยังได้เพิ่มขีดบริการบางอย่างเพื่อให้เทียบเท่าเอกชน เช่น ความรวดเร็วและความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด การให้สิทธิผู้ป่วยเลือกแพทย์เจ้าของไข้ได้ ความสะดวกของญาติผู้ป่วยหนักในการ นอนเฝ้าคนไข้ ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนชั้นหนึ่งไม่กี่แห่ง ที่อนุญาตให้ญาติผู้ป่วยหนักนอนเฝ้าได้ ฯลฯ
บริการพิเศษที่ไม่ยิ่งหย่อนเอกชนเหล่านี้ถือเป็นอีกระดับบริการจากศิริราช ที่ไม่หลงเหลือเค้าภาพ ที่มักเป็นเหตุคับข้องใจจากความเป็นโรงพยาบาลของรัฐ อันมีผู้ป่วยมาใช้บริการมากถึง 3 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในประเทศ
The Heart เปรียบได้กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่รักษาเฉพาะโรคทางหัวใจสามารถให้บริการจนเสร็จภายในนี้ได้เลย ตั้งแต่ลงทะเบียน OPD ตรวจโรค และ admit ซึ่งมีทั้งห้องพักผู้ป่วยวิกฤติและกึ่งวิกฤติ รวม 21 ห้อง
อันที่จริงโรงพยาบาลศิริราชก็มีศูนย์โรคหัวใจอยู่แล้ว และตั้งอยู่ภายในอาคารเดียวกันกับ The Heart เพียงแต่เดินขึ้นลิฟต์กันคนละตัว โดยมีทางขึ้นลิฟต์อยู่คนละฝั่งฟาก
ลูกค้าของศูนย์โรคหัวใจทั่วไปให้บริการโดยตรงโดยโรงพยาบาลศิริราช มักเป็นกลุ่ม ผู้ป่วยสามัญและผู้ยากไร้ ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่า 70% ของผู้ป่วยทั้งโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของ The Heart เป็นผู้ป่วยที่มีรายได้สูง และคนไข้โรคหัวใจของโรงพยาบาล เอกชน
"ที่ผ่านมาศิริราชขาดประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มรายได้สูง ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่ากลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญของโรงพยาบาลรัฐด้วย เพราะเงินของคนกลุ่มนี้จะถูกจัดสรรเพื่อนำมาใช้สนับสนุนทั้งโรงพยาบาล" ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าว
นอกจากเทคโนโลยีขั้นสูงสุด และการรักษาอย่างเต็มกำลังของแพทย์ อันเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ทุกแห่ง คนไข้กลุ่มบนที่มีรายได้สูงเหล่านี้ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความหรูหรา
ห้องพักฟื้นแต่ละห้องของ The Heart จึงมีขนาด โอ่อ่า และพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับญาติผู้ป่วย ทั้งตู้เสื้อผ้า ตู้เย็น ห้องอาบน้ำขนาดใหญ่ และทีวี LCD ขนาด 42 นิ้ว อีกทั้งเครื่องมือ แพทย์สำหรับหัตถการขนาดย่อยข้างเตียงคนไข้ ฯลฯ หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน สนนราคาอาจสูงเกือบ 2 หมื่นบาท แต่ที่นี่ตั้งราคาไว้เพียง 9 พันบาท
และเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจของที่นี่กับโรงพยาบาลเอกชนเกรดเอในไทย ค่าใช้จ่ายที่ The Heart จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบาย จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ไม่ให้ตั้งไว้สูงเกิน 80% ของราคาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอาจประหยัดได้เป็นหลักแสนหรือล้านเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี The Heart ไม่ได้ชูจุดขายอยู่ที่ราคาถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ชั้นนำ แต่เน้นสื่อสารที่คุณค่าทางจิตใจในฐานะ "ผู้ให้" ทันทีที่ผู้ป่วยเข้ามารับบริการที่นี่ เพราะจากผลสำรวจความเห็นของคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชน พบว่า เกือบครึ่งไม่อยากมาแย่งโอกาสในการรักษาของผู้ป่วยยากไร้ที่ศิริราช
"กำไรของเราไม่ต้องมากเหมือนเอกชน เพราะเราไม่ต้องจ่ายผู้ถือหุ้น แต่เอากลับไปปรับปรุงศิริราชทั้งหมด เมื่อบริหารทั้ง 21 เตียงให้ดี เงินกำไรจากคนไข้กลุ่มน้อยแค่นี้ ก็พอที่จะช่วยทำให้คนไข้ทั้งโรงพยาบาลก้าวไปพร้อมๆ กันได้"
The Heart จึงเป็นเหมือนตัวกลางที่ปันเงินจากกำไรที่ได้จากคนไข้กลุ่มบน มาช่วยเหลือคนไข้ด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราชในรูปแบบของบริการที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ศิริราชก้าวไปข้างหน้าได้ด้วย
หัวเรือใหญ่แห่งศิริราชยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น เครื่องมือการแพทย์ทันสมัยระดับโลกราคาร่วมร้อยล้านบาท เช่น MRI และ PET CT รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์เรียลไทม์ที่เข้ามาทดแทนฟิล์มสแกน หรือตึกเจ้าฟ้ามหาจักรีที่เป็นกึ่งโรงพยาบาลเด็กตกแต่งอย่าง มีสีสันสมวัยซน หรือห้องพักฟื้นติดแอร์เกือบทุกตึก ฯลฯ
มองอีกนัย The Heart ก็คือรูปแบบแห่งการดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดและความเป็นเลิศของโรงพยาบาลศิริราช อันเป็นผลพวงมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งรัฐให้งบแบบเหมาจ่ายมาเพียง 25% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกิดขึ้นจริงราว 3 หมื่นบาท แต่รัฐเหมาจ่ายต่อคนแค่ 8 พันบาท ส่วนต่างกว่า 2 หมื่นบาทตรงนี้คือภาระที่โรงพยาบาลของรัฐต้องแบกรับ
ปีหนึ่งๆ ศิริราชต้องแบกรับภาระสูงถึง 5-6 ร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
ศ.นพ.ปิยะสกลจึงมองว่า The Heart ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ในการบริหารจัดการโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยของรัฐที่จะเอื้อให้ผู้ป่วยฐานะดีเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส
ขณะที่ประธานกรรมการบริหาร The Heart รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน มองลึกไปว่า วัตถุประสงค์หลักของ The Heart ก็คือเป็นโครงการนำร่องของคณะแพทยศาสตร์ฯ เพื่อออกนอกระบบราชการ ทั้งนี้เพราะศิริราชใหญ่เกินกว่าจะออกพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียว
ส่วนเหตุที่เลือกศูนย์โรคหัวใจเป็นโปรเจ็กต์นำร่องก็เพราะโรคหัวใจเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมมากที่สุด
แง่มุมบริหาร The Heart จัดเป็นองค์กรอิสระภายใต้กำกับของคณะแพทยศาสตร์ฯ ที่มีระบบบริหารที่คล่องตัวกว่าโรงพยาบาลศิริราช โดยมีศิริราชเป็น "แบ็ก-อัพ" ชั้นเยี่ยมสำหรับ การให้บริการ
ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านบุคลากรมืออาชีพที่มีชื่อเสียงทั้งแพทย์และพยาบาล เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลกตามมาตรฐานโรงเรียนแพทย์ที่ต้องเป็นผู้นำวิทยาการทางการแพทย์ และความหลากหลายของวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถจะเลือกมาใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยเฉพาะบุคคลได้ดีขึ้น ฯลฯ
แต่เพื่อไม่ให้ศิริราชต้องเสียประโยชน์อันพึงได้ และเพื่อพิสูจน์ว่าระบบบริหารแบบ The Heart จะอยู่รอดได้หรือไม่
The Heart จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าใช้ทรัพยากรทุกอย่างในสังกัด โรงพยาบาลศิริราช ทั้งค่าอาจารย์หมอ นางพยาบาล ค่าเช่าสถานที่ค่าเช่าเครื่องไม้เครื่องมือ ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ซึ่งแต่ละเดือน มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเช่าใช้ทรัพยากรดังกล่าวอยู่บนเงื่อนไขสำคัญว่า ไม่เบียดเบียนโอกาสของคนไข้สามัญที่จะต้องได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือและ บุคลากรภายใต้สังกัดโรงพยาบาลศิริราชตลอดช่วงเวลาราชการ เช่นเดิม
"ระบบนี้จะช่วย utilize เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีมูลค่าแสนแพง แต่ก่อนหน้านี้เปิดใช้ถึงแค่ 4 โมงเย็น จากนี้ช่วงเวลานอกราชการ ก็เป็นนาทีทองของเราในการใช้เครื่องมือเหล่านั้น โดยเราจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าเสื่อมของเครื่องมือ ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ ฯลฯ คืนทุกบาทกลับให้ศิริราช รวมถึงกำไร"
แนวคิดนี้ก็คล้ายกับ "คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ" ที่เห็นผลสำเร็จมาก่อนนี้หลายปี เพียงแต่คลินิกพิเศษฯ ยังมีขอบเขตเวลาหลัง 4 โมงเย็นถึงแค่สามทุ่ม
ความต่างอีกประการก็คือ คนไข้ที่ใช้สิทธิข้าราชการเข้ารับบริการ ของคลินิกพิเศษฯ ยังเบิกค่าใช้จ่ายกับต้นสังกัดได้ แต่ ณ The Heart คนไข้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด (หรือมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม)
"The Heart เป็นยุทธศาสตร์ปรับตัวของศิริราชที่ให้ผลแบบ Win-Win อย่างแท้จริง เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับศิริราชล้วนจะได้ประโยชน์"
ณ วันนี้ สิ่งที่คณบดีวิสัยทัศน์ไกลแห่งคณะแพทยศาสตร์ฯ คนนี้ ตอกย้ำมาตลอด พอจะมองเห็นการตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้ป่วย ได้ไม่ยาก โดยพิจารณาจากพัฒนาการผลการดำเนินงานของ The Heart
จากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ คนไข้ OPD มีเพียง 66 ราย ครึ่งปีต่อมา คนไข้ OPD เพิ่มเป็น 634 คน ในเดือนมีนาคม ซึ่งไม่ไกลจากเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ ณ 800 คนต่อเดือน
ทว่าตลอด 3 ปีที่แม่ทัพแห่งศิริราชพยาบาล และ MD แห่ง The Heart ต้องขาย "ไอเดีย" ให้กับบุคลากรทุกคนในทุกระดับของศิริราชให้เตรียมใจยอมรับ กลับไม่ง่ายนัก
"การที่เราจะเป็นเสมือนโรงพยาบาลเอกชน ย่อยที่บริหารและบริการต่างจากโรงพยาบาลศิริราช ขณะที่ทุกคนก็มีภาพศิริราชในแบบโรงพยาบาลของรัฐอย่างฝังแน่น การจะริเริ่มอะไรใหม่ๆ ในศิริราชจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ปรับตัวแล้วเราจะอยู่อย่างไร"
รศ.นพ.ประดิษฐ์ขอเวลาจากนี้ 3 ปี ในการที่จะทำให้ "คนศิริราช" ทุกคนยอมรับและเข้าใจแนวคิดนี้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ศิริราชต่อยอดแนวคิด The Heart ที่มีหลักการ "ทำงานแบบเอกชน แต่หัวใจเป็นศิริราช" ออกมาเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบขนาด 400 เตียง ก็เป็นได้
เมื่อนั้นโรงพยาบาลศิริราชก็จะเป็น "โรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน" อย่างเต็มภาคภูมิ สมกับพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 องค์ผู้พระราชทานกำเนิด "โรงศิริราชพยาบาล" เมื่อ 119 ปีก่อน
ที่ ธ ทรงประกาศให้ศิริราชทำเพื่อประชาชนทุกชั้น
|
|
|
|
|