|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2550
|
|
เพียงปีกว่าที่เอเชียประกันภัยออกกรมธรรม์ใหม่ "Asia 3 Plus" และโฆษณาทำการตลาดให้สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าซื้อประกันชั้นสามจะได้รับการคุ้มครองเหมือนประกันชั้นหนึ่ง ทำให้บริษัทไต่อันดับความน่าเชื่อถือขึ้นมาอยู่อันดับที่ 30 กว่า จากเดิมที่อยู่รั้งท้ายอันดับที่ 77 จาก 78 บริษัท
creative การประกันภัยพิเศษนี้เกิดจากการคิดนอกกรอบของนิค จันทรวิทุร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 ซึ่งเป็นบุตรคนโตในสามคนของนิคม จันทรวิทุร อดีตอธิบดีกรมแรงงาน ผู้เป็นนักวิชาการและนักบริหารที่ "ดีและเก่ง" รวมทั้ง เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพกรรมกรอย่างแท้จริง โดยผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคมและริเริ่มกระทรวงแรงงานท่ามกลางแรงเสียดทานทางการเมืองยุคเผด็จการ
"คุณพ่อผมเป็นคนสร้างกระทรวงแรงงาน ทำกฎหมายแรงงานและประกันสังคม ท่านทำงานเหมือน NGO ใส่ใจเรื่องความยุติธรรม พ่ออยากให้ผมเรียนทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าเรียนศิลปะ ผมเลือกเรียน กฎหมายเพราะมันมี Logic ที่มาที่ไป มีเหตุมีผล แต่จะให้ผมเรียนเศรษฐศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ผมไม่ไหวเรื่องตัวเลข" นิคเล่า
วันนี้ของนิค จันทรวิทุร จึงเกิดจากผลผลิตของการเลี้ยงดู, การศึกษาและอาชีพการงานที่หล่อหลอมบุคลิกความเป็นตัวของตัวเองของเขาขึ้นมา
นิคจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ และปริญญา โทด้านกฎหมายจาก Temple University Philadelphia สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์เข้มข้นบนเส้นทางชีวิตนักกฎหมายตลอดเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2521-2539 ที่เริ่มทำงานกับ สนง.กฎหมาย Surrey, Karasik and Merse เคยเป็นทนายความ Tileke & Gibbins ก่อนจะเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย อินเดีย ปากีสถาน และอินโดนีเซีย และผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เมืองเอเดน ประเทศเยเมน
"ผมทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ ลูกอธิบดีกรมแรงงานอย่างผมก็เคยเป็นกระเป๋ารถเมล์ขาวมาแล้วปีหนึ่ง ตอนเรียน ม.8 ก็ฝึกกับธนาคารทหารไทย ผมชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาก พอจบโทกฎหมายแรงงานจากเมืองนอก ก็มาทำงานกับ Tileke & Gibbins แต่เขาให้ผมทำคดียาเสพติด มันเหมือนทนายมาเฟีย เวลาผมไปเมืองนอกถูกตรวจค้นทั้งตัว งานมันไม่สนุกเท่าไร แต่เงินเดือนสูงมาก ผมรับเดือนละ 20,000 บาท ขณะที่ข้าราชการขณะนั้นเดือนละ 1,200 บาท" นิคได้เล่าอดีตให้ฟังต่อไปว่า
"ผมทำแค่ปีเดียวก็ออกมาอยู่กับ UNHCR ตามคำแนะนำของอาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ ได้ค่าจ้างในฐานะอาสาสมัครเป็นรายวัน 300 บาท ผมทำตั้งแต่ปี 1980-1985 ไปหนองคาย อุบล เวียดนาม ลาว เขมร และได้ย้ายไปอินเดียเพื่อคอยดูแลผู้อพยพชาวปากีสถาน 8 เดือน ก่อนจะเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายกำหนดประเภทผู้ลี้ภัยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นมีคุณ พระนาย สุวรรณรัฐ ทำอยู่ด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ปากีสถาน และกลับมาเมืองไทย ปี 1989 แก้ปัญหาผู้อพยพเวียดนามในไทยเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1994 พองานเสร็จ ผมก็ถูกย้ายไปเจนีวาและเยเมน ซึ่งเกิดสงครามรุนแรง ชนิดระเบิดโรงแรมที่ผมพักหายไปครึ่งหนึ่ง ผู้อพยพก็เป็นพวกผิวดำที่มีความรู้ดี แต่เหี้ยมโหดที่สุด ผมต้องรับคนพวกนี้ที่ว่ายน้ำข้ามช่องแคบมาขึ้นที่เยเมน ผมอยู่ที่นั่นได้ปีหนึ่งก็ถูกย้ายมาอินโดนีเซีย เพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพเวียดนามกลุ่มสุดท้าย"
การทำงานในวัยฉกรรจ์ของนิค ต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงกับคนชายขอบที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ผู้อพยพชาวลาว เขมร เวียดนาม ฯลฯ การผ่านประสบการณ์ที่เข้มข้นนี้ได้กลายเป็นต้นทุนชีวิตที่หล่อหลอมบุคลิกกล้าเสี่ยงแล้ว ต่อมาเขาได้รับการชวนจากจุลพยัพ ศรีกาญจนา ให้เข้ามาร่วมงานในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย ก่อนจะรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950
"เมื่อปี 1996 ผมกลับมาเมืองไทยและ UNHCR มีแผนจะย้ายผมไปอยู่อิหร่าน ระหว่างนั้นเพื่อนสนิทที่ทำงานอาคเนย์ประกันภัย ชวนมาทำกับเขา ตอนนั้นเราอยาก จะหาโรงเรียนให้ลูกสาว และเริ่มเบื่อเดินทางทุกวันตลอด 16-17 ปี ผมก็เลยโทรบอกภรรยาตอนตีสองว่าลาออก ไม่ไปแล้ว ตอนนั้นผมได้เงินเดือนจาก UNHCR 4-5 แสนบาท แต่พอมาอยู่ที่อาคเนย์ฯ ได้ 2 แสน...ก็ไม่เป็นไร...ผมก็มาอยู่ในบอร์ด เป็นรองกรรมการ ผู้จัดการ ดูแลกฎหมายผู้ถือหุ้น โดยไม่ได้ทำเรื่องประกันเลย จนตอนหลังเขาขายบริษัทอาคเนย์ฯ ให้คุณเจริญไป ผมก็ลาออก และกลับไปอยู่ UN อีกเพื่อดูเรื่องพม่าปีหนึ่ง ทีนี้ เพื่อนผมไปซื้อบริษัทเอเชียสากลประกันภัยที่เก่าแก่มาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยผมก็ถือหุ้นนิดหน่อย พอดีผู้บริหารคนเก่าลาออก ผมก็เลยยอมรับมาเป็น MD ให้เขา ดูแลเรื่องกฎหมายและตัวแทนขาย ไม่ได้ดูเรื่อง technical นี่ผมก็ทำงานมาสองปีครึ่งแล้ว"
เมื่อเข้ารับงาน นิคได้ศึกษางานบริหาร ธุรกิจประกันภัย และเห็นสถิติจำนวนรถยนต์ ที่มีประกันภัยชั้นหนึ่ง ประมาณ 1 ล้านคัน ขณะที่รถที่มีประกันภัยชั้นสาม มีอยู่ 1 ล้านคัน โดยรถยนต์ส่วนใหญ่ 4-5 ล้านคันไม่ทำประกันภัยเลย นี่คือตลาดใหญ่ที่นิคมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่
เขาพลิกกระบวนทัศน์การทำธุรกิจประกันภัยจากยุคเก่าที่โบราณ น่าเบื่อ จำเจกับสินค้าเก่าๆ สู่ยุคใหม่ที่แตกต่างได้สำเร็จ ในปี 2005 นิคริเริ่มสร้างโปรดักส์ใหม่ภายใต้ชื่อว่า "Asia 3 Plus" คือ ประกันภัยชั้นสามที่จ่ายเบี้ยต่ำ 6,800 บาทต่อปี แต่ได้รับการคุ้มครองดูแลเหมือนชั้นหนึ่ง เช่น ดูแลบุคคล ที่สามและผู้ประกัน รวมทั้งซ่อมแซมรถให้ไม่เกิน 1 แสนบาท ถือว่ากลยุทธ์การตลาดที่เอาราคาและสิทธิประโยชน์ เป็นตัวพลิกสร้างความแตกต่างและมูลค่ายอดขายใหม่แก่เอเชียประกันภัย
แต่กว่าจะสำเร็จ นิคก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานต่างๆ เขาต้องไปเจรจากับกรมประกันภัยที่เคยหยุดสินค้าตัวใหม่นี้ได้สำเร็จ จนกระทั่งได้รับอนุมัติเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2005 เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยที่เป็นผู้นำตลาดนี้
นิคจับหัวใจการขายสำคัญอยู่ที่ตัวแทน ขายประกันใช้กลยุทธ์เรียกลูกค้ารายใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมด้วยบริการ โดยตั้งเป้าหานักขายหน้าใหม่จากทุกภาคของประเทศ ด้วยโครงการ "ตามหานักขายเอเชีย 3 พลัส" เมื่อจบโครงการอบรมตัวแทน ก็มีนักขายโปรดักส์ "Asia 3 Plus" ที่ให้บริการเป็น 5 พันกว่าคนในปีนี้ โดยบริษัทเสริมทัพ ส่งเสริมการตลาด ด้วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ "Asia 3 Plus" แก่กลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มที่ต้องการ ซื้อการคุ้มครอง ประกันภัยรถยนต์ ที่คุ้มค่า รวดเร็ว ด้วยระบบ e-claim บริหารจัดการควบคุมและตรวจสอบงานสินไหมส่วนประเมินค่าเสียหาย ทั้งนี้เป้าหมายเบี้ย Asia 3 Plus ตั้งไว้ 400 ล้านบาท
"ปรัชญาการทำงานของผม คือทำอะไรต้องยอมรับความจริง เมื่อตั้งเป้าว่าจะไปทางนี้แต่เดินไปไม่ได้ ก็ต้องหลบ ผมถอยหลัง เดินหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้ตลอด การแก้ปัญหาไม่ใช่จะแก้ทางเดียว เพียงจะช้า หรือเร็ว ต้องให้จบและ practical ด้วย ถ้าต้องยอมแพ้ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้ ผมใช้ชีวิตประมาณว่า อยู่กับความจริง และเมื่อเลิกงาน ผมก็จะไม่เอามาทำต่อที่บ้าน" นิคเล่าให้ฟัง
ที่บ้านสัมมากร ริมทะเลสาบใหญ่ นิค กับภรรยาพร้อมลูกชายและลูกสาว ต่างมีวิถีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมที่ชอบ ดูได้จากตู้ที่เต็มไปด้วยหนังสือของนิค รูปเขียนงานศิลปะของลูกสาวที่ประดับตกแต่งในบ้านเปียโนหลังหนึ่งที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของลูกชาย และร้านอาหารที่เป็นเจ้าแรกของหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบ้าน รวมถึงกิจการรับล้างรถที่ปั๊มน้ำมันหน้าหมู่บ้าน
"ผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก วันหนึ่งๆ ผมต้องอ่านอย่างน้อย 4-5 เล่ม วางเอาไว้ทั่วเลย บนรถก็เล่มหนึ่ง บนหัวนอนก็เล่มหนึ่ง ในออฟฟิศก็เล่มหนึ่ง อาทิตย์หนึ่งผมซื้อหนังสือเป็น 10 เล่มเลยนะ บางเล่มยังไม่ได้อ่านก็กองทิ้งไว้เป็นตั้งๆ การเข้าร้านหนังสือถือเป็นงานอดิเรกของผม ผมชอบดูหนังด้วย DVD และ CD นี่จะซื้อเกือบทุกเรื่อง เผื่อวันไหนผมอยากดูเรื่องนี้ก็จะหยิบมาดูได้" แต่มีหนังเรื่องหนึ่งที่นิคเห็นว่าสร้างได้จริงมากๆ คือเรื่อง Hotel Rawanda ที่ชาวเผ่าทุซซี่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
วันนี้ นิค จันทรวิทุร กรรมการผู้จัดการ เอเชียประกันภัย กำลังนำการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การทำธุรกิจประกันภัยใหม่มาใช้ โดยตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของเขา น่าจะเป็นดัชนีความสุขพอใจมากหรือน้อยเป็นหลัก นอกเหนือจากตัวเลขมูลค่ายอดขายที่ทะลุเป้าไปแล้ว
|
|
|
|
|