ยูนิคอร์ดในยุคแรก ๆ นั้นไม่ได้เริ่มต้นด้วยปลาทูน่ากระป๋อง แต่เป็นโรงงานทำสับปะรดกระป๋อง
ตามความถนัดของกมลและเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง โดยทั้งสองคนนี้มีโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องอยู่ก่อนแล้วที่บ้านบึง
ชลบุรี
กิจจา ก่อนันทเกียรติ พ่อของดำริห์ ก่อนันทเกียรติ เป็นเพื่อนเก่าของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์
เคยเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจเหล้าและค้าข้าวมาก่อน ต่อมากิจจาขายหุ้นในธุรกิจเหล้าทิ้งไป
คงเหลือแต่การค้าข้าวในนามบริษัทนิกรข้าวไทย
หกเดือนหลังจากกมลและเกียรติก่อตั้งยูนิคอร์ด ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อว่า ยูนิคอร์ด
อินเวสท์เม้นท์ กิจจาก็เข้าร่วมลงทุนด้วย ทุนจดทะเบียนของยูนิคอร์ดเพิ่มขึ้นจาก
10 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท โดยก่อนันทเกียรติถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง
ก่อนที่จะมาร่วมกับเอี่ยมสกุลรัตน์ในยูนิคอร์ด กิจจาได้ร่วมทุนกับตระกูลแต้ไพสิษฐพงษ์
ตั้งบริษัทเบทาโกรขึ้นมาในปี 2510 เพื่อผลิตอาหารสัตว์ ตอนนั้นดำริห์กำลังศึกษาอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำริห์เริ่มต้นก้าวแรกของชีวิตทางธุรกิจในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานของเบทาโกรเมื่อปี
2514 และต่อมาก็ควบตำแหน่งบริหารด้านโรงงานและการตลาดของยูนิคอร์ดด้วย โดยทางเอี่ยมสกุลรัตน์ดูแลการจัดซื้อและการเงิน
โรงงานสับปะรดที่ตั้งอยู่ที่มหาชัย เปิดดำเนินการไม่กี่เดือน ยูนิคอร์ดก็ต้องเปลี่ยนแผนใหม่
เพราะอยู่ไกลจากแหล่งวัตถุดิบมาก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง ประกอบกับตลาดสับปะรดกระป๋องในช่วงนั้นไม่สู้จะสดใสนัก
มหาชัยเป็นแหล่งใหญ่ของอาหารทะเล ยูนิคอร์ดจึงปรับตัวให้เข้ากับความเอื้ออำนวยของแหล่งวัตถุดิบ
โดยการปรับระบบการผลิตหันมาเป็นโรงงานบรรจุอาหารทะเลกระป๋อง ใช้ปลาซาร์ดีนเป็นวัตถุดิบหลัก
รวมทั้งผักและผลไม้กระป๋องด้วย พร้อมกับเพิ่มทุนจาก 20 ล้านบาทเป็น 60 ล้านบาท
ในปี 2523 เพื่อลงทุนเพิ่มในเครื่องจักร
สิ่งที่ยูนิคอร์ดทำในขณะนั้นเรียกว่า ORDER PROCESSING คือทำอาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องหลาย
ๆ ชนิด ทั้งปลา ผัก ผลไม้ ตามแต่ลูกค้าจะต้องการ ซึ่งทำให้มีปัญหามาก เพราะต้องมีวัตถุดิบหลายชนิด
และยากลำบากในการบริหารวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด กล่าวคือ
ยามใดที่ลูกค้าต้องการสินค้า ก็อาจจะไม่มีวัตถุดิบ ยามใดที่วัตถุดิบเหลือเฟือ
อาจจะไม่มีออเดอร์ก็ได้
ยูนิคอร์ดจึงอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถยึดตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลักได้ ทั้งยังไม่สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะไม่อาจจะคาดคะเน หาความลงตัวระหว่างปัญหาทางด้านวัตถุดิบกับความต้องการของลูกค้าได้
ไม่สามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบที่ขึ้นลงตามฤดูกาล และปริมาณในขณะที่ราคาขายนั้นถูกกำหนดจากตลาดเพียงฝ่ายเดียว
ปี 2525 ยูนิคอร์ดเริ่มทบทวนตำแหน่งของตัวเองใหม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของธุรกิจอาหารกระป๋อง
ที่มีสินค้าหลากหลายประเภท "ดำริห์บอกว่า เราจะเป็นโรงงานทำปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
อดีตพนักงานรุ่นบุกเบิกของยูนิคอร์ดคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ในตอนนั้นคือ สหรัฐ แคนาดาและญี่ปุ่น แต่เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเองภายในประเทศซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ
ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คือ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเม็กซิโก
ส่วนประเทศไทยช่วงนั้น เพิ่งจะเริ่มส่งออก โดยมีซาฟโคลและไทยรวมสินเป็นผู้บุกเบิกในตอนแรกๆ
อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก จึงเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันของไทยเพราะยังมีต้นทุนค่าแรงในระดับต่ำอยู่
ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ
คือ มหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ กับ ตะวันตก ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องการขนส่ง
สหรัฐฯ เป็นผู้สั่งซื้อปลาทูน่าจากไทยมากที่สุดเพราะเป็นอาหารราคาถูกที่ประชาชนนิยมบริโภคมาก
ยุทธวิธีของยูนิคอร์ดในการเจาะตลาดก็คือ ใช้กลยุทธ์ด้านราคา สู้กันด้วยราคาที่ถูกที่สุด
ยึดครองตลาดไว้ก่อน กำไรขาดทุนว่ากันทีหลัง
ยูนิคอร์ดจึงอยู่ในภาวะขาดทุนมาโดยตลอดระหว่างปี 2526-2529 ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลาจนถึง
200 ล้านบาทในปี 2527 เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ ๆ มาเพิ่มกำลังการผลิต เพราะอุตสาหกรรมนี้มีมาร์จินต่ำ
ต้องผลิตในปริมาณที่สูงมากจึงจะมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ
"ธุรกิจนี้เล็กไม่ได้ ต้องใหญ่ เมื่อจะใหญ่ก็ต้องมีเงินทุนเพียงพอ
ถ้ามีทุนจดทะเบียนสูงก็ขยายกำลังการผลิตได้ สร้างกำไรได้" ดำริห์พูดถึงหลักในการลงทุนของตัวเองที่มองไปในระยะยาว
การเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังขาดทุนอยู่ ทำให้ทางเอี่ยมสกุลรัตน์
ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการค้าเหล้า และค้าข้าวที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากก็ได้กำไร
ย่อมไม่คุ้นเคยกับสไตล์ของดำริห์ที่ต้องควักกระเป๋าเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลา
โดยที่ไม่มีผลกำไรกลับคืนมาเลย ไม่เห็นด้วย จนในที่สุดก็ขายหุ้นทั้งหมดให้กับดำริห์เมื่อต้นปี
2530 ยูนิคอร์ดตกเป็นสมบัติของก่อนันทเกียรติแต่เพียงผู้เดียวนับแต่นั้นเป็นต้นมา
และมีการเพิ่มทุนจาก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท แต่ก็ยังมีผลขาดทุนสูงถึง
600 ล้านบาท
การขายทุนนี้ก็เป็นผลมาจากการบุกขยายตลาดให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องยอมขาดทุน
ก็ยอม ตามสไตล์ของดำริห์ นอกจากนั้น ยังเป็นเพราะระบบการบริหารงานภายในที่แบ่งหน้าที่กันอย่างเด็ดขาดระหว่างเอี่ยมสกุลรัตน์และก่อนันทเกียรติ
ต่างฝ่ายต่างก็เลยปกป้องแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวอย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจผลการดำเนินงานรวมของบริษัทว่าจะออกมาอย่างไร
นับจากปี 2527 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลก
ซึ่งสินค้าหลักในกลุ่มนี้ คือ ปลาทูน่ากระป๋อง
การบริโภคปลาทูน่าขยายตัวขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอตามการเพิ่มของประชากรในอเมริกา
แต่ผู้ผลิตกลับลดน้อยลงไป ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและไต้หวัน เพราะไม่สามารถสู้ผู้ผลิตจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำอย่างไทยหรืออินโดนีเซียได้
จึงทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียูนิคอร์ดเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้วย
แต่จะใหญ่อย่างไร ก็ยังเป็นแค่ผู้ส่งออกที่ไม่มีสินค้าและตลาดของตนเองอย่างแท้จริง
ปัญหาข้อนี้ ทำให้ดำริห์คิดการใหญ่เข้าซื้อกิจการบัมเบิ้ลบีมาเป็นของยูนิคอร์ดได้สำเร็จเมื่อปี
2532