มุกดาหาร จังหวัดริมโขงที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองสะหวันนะเขตของลาว เป็นจุดขนส่งสินค้าเข้าออกประเทศลาวที่สำคัญจุดหนึ่ง
ธุรกิจแพขนานยนต์ข้ามโขง ก็เลยกลายเป็นกิจการที่มีบทบาทสำคัญ 22 ปีก่อนตระกูลกุลตังวัฒนา
ริเริ่มธุรกิจขนส่งข้ามโขงขึ้นเป็นรายแรก การเสียชีวิตของเขาเมื่อสองปีที่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงระบบขนส่ง และการเข้ามาของ ที. แอล. เอนเตอร์ไพร้ส์ ทำให้โฉมหน้าของธุรกิจนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก
แพขนานยนต์ของ "ตระกูลพาณิชย์" ไม่ได้เป็นเพียงผู้ประกอบการรายเดียวอีกต่อไปแล้ว
หากเส้นทางหมายเลข 9 ของลาวที่ไปถึงเมืองดานังในเวียดนามได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
และสะพานข้ามโขงที่มุกดาหารเป็นแค่ข่าวปล่อยเพื่อปั่นราคาที่ดิน ธุรกิจแพขนานยนต์ที่มุกดาหารก็จะร้อนกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แน่
เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2534 ตระกูล กุลตังวัฒนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ
"เสี่ยตุ่น" วิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกาย ตามถนนสำราญชายโขงในเมืองมุกดาหาร
ตามกิจวัตรที่เคยปฏิบัติมานาน พลันเสียงปืนดังขึ้น ร่างเสี่ยตุ่นฟุบนอนจมกลางเลือดอยู่กลางถนน
สิ้นใจตายโดยไม่มีโอกาสได้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ลงมือสังหารเขา และด้วยเหตุผลใด
สองฝั่งแม่น้ำโขงเมืองมุกดาหารของไทยและเมืองสะหวันนะเขตของลาว น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเสี่ยตุ่น
เขาเป็นคนเมืองหนองคายแต่ไปตั้งรกรากทำมาหากินที่มุกดาหาร แต่งงานกับสาวชาวมุกดาหาร
ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน
ซึ่งก็มีภูมิหลังเป็นคนพื้นเพทางเมืองมุกดาหารเช่นกัน
ประชาชนสองฝั่งโขงไทย-ลาวทำมาหากินและเกี่ยวดองกันมาแต่ไหนแต่ไร การเดินทางข้ามไป-มาระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต
ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอันใด ยิ่งในยุคสมัยที่ทั้งสองประเทศปกครองด้วยระบอบเดียวกันก่อนปี
2518 ด้วยแล้ว การเดินทางของประชาชนสองฝั่งโขงเกือบจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ เลย
ยกเว้นแต่มีแม่น้ำโขงกั้นกลางเท่านั้น
ตระกูล กุลตังวัฒนา ก็เช่นกัน เขามีพื้นเพอยู่มุกดาหารก็จริง แต่ก็ข้ามไปทำการค้าที่เมืองสะหวันนะเขตด้วย
ตระกูลมีธุรกิจอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ความจำเป็นในการขนส่งสินค้าทำให้เขาเริ่มกิจการแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงขึ้น
ในปี 2514 ใช้ชื่อว่า "ตระกูลพาณิชย์" และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แพขนานยนต์ของตระกูลพาณิชย์ก็ให้บริการขนรถบรรทุก ข้ามไปมา ระหว่างบ้านพี่กับเมืองน้องอย่างต่อเนื่อง
โดยยังไม่เคยต้องหยุดดำเนินการลงเลย
ตระกูลทำธุรกิจติดต่ออยู่ทั้งคนไทยและคนลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เขาสนิทสนมและมีเครือข่ายในเมืองสะหวันนะเขตอย่างมาก
ดูเหมือนเขาจะทำบุญคุณเอาไว้กับเมืองมุกดาหารและสะหวันนะเขตมิใช่น้อย โดยมักจะเป็นผู้บริจาครายใหญ่ในกิจกรรมสาธารณะของทั้งสองเมืองเสมอ
ๆ
สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นอยู่กับตัวบุคคลที่เป็นเครือญาติกันทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
แม้ว่าภายหลังลาวจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นประเทศสังคมนิยม ในปลายปี
2518 ความเปลี่ยนแปลงอันนี้ไม่ได้ทำให้ธุรกิจของตระกูลพาณิชย์ต้องสะดุดหยุดลง
ทายาทคนหนึ่งในตระกูลพาณิชย์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "เราสัมพันธ์กันแบบเครือญาติไม่เกี่ยวกับลัทธิทางการเมือง
คนลาว คนไทยแถบนี้ เขาไม่ได้สนใจหรอกว่า ประเทศทั้งสองปกครองกันอย่างไร เราเป็นญาติกันก็ช่วยเหลือกัน
ทำมาหากินด้วยกัน"
แต่การจบชีวิตลงของตระกูลต่างหากที่ทำให้ธุรกิจแพขนานยนต์มีปัญหา เพราะไม่เพียงแต่ตระกูลพาณิชย์จะขาดแกนนำสำคัญในการทำธุรกิจเท่านั้น
หากแต่ระบบการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาวที่ตระกูลพาณิชย์เคยชินก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
ในเวลาต่อมา ความสูญเสียของตระกูลพาณิชย์ และความเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งครั้งนี้จะเกี่ยวพันกันหรือไม่
ยังไม่มีความกระจ่าง หากแต่คนในตระกูลพาณิชย์ บอกว่า คดีนี้ปิดไปโดยปริยาย
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกเหตุผลแต่เพียงสั้น ๆ ว่า "ไม่อาจทำคดีต่อไปได้
เนื่องจากเบื้องบนสั่งระงับคดี"
เดิมกิจการแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงจะอาศัยหลักการตามการประชุมว่าด้วยการส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างคณะผู้แทนไทย-ลาว
ซึ่งทำกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2521 ข้อ 4 ของหลักการดังกล่าวระบุว่า "ฝ่ายลาวจะจัดแพขนานยนต์ของลาวสำหรับขนรถยนต์บรรทุกสินค้าผ่านแดนข้ามแม่น้ำโขงระหว่างท่ารถไฟหนองคาย-ท่านาแล้งได้วันละ
70 คัน"
แต่กิจการแพขนานยนต์ที่มุกดาหารนั้นไม่ได้มีการตกลงกันอย่างชัดเจน หากถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่า
ให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการ ในเวลานั้นมีผู้ประกอบกิจการแพที่มุกดาหารคือ
ร.ส.พ. และบริษัทตระกูลพาณิชย์ จรัสศรี คลังสิน หัวหน้ากองสินค้าผ่านแดน
ร.ส.พ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ในเวลานั้น ร.ส.พ. มีแพอยู่
3 ลำ ส่วนของตระกูลพาณิชย์มี 6 ลำ ก็ไม่ค่อยเพียงพอนักเนื่องจากมีรถขนสินค้ามากเฉลี่ยแล้วช่วงที่มากที่สุดถึง
300 คัน"
ตระกูลพาณิชย์ได้ดำเนินกิจการแพขนานยนต์โดยการทำสัญญาร่วมกับ ร.ส.พ. แหล่งข่าวในบริษัทตระกูลพาณิชย์เปิดเผยว่า
ภายใต้ระบบแบบนี้ทำให้บริษัทมีรายได้แน่นอนชัดเจน เนื่องจาก ร.ส.พ. เป็นผู้ผูกขาดขนส่งสินค้าผ่านแดน
และแพของ ร.ส.พ. ก็มีเพียง 3 ลำ สินค้าส่วนใหญ่จึงใช้บริการจากตระกูลพาณิชย์
"เราเสียค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการแก่ ร.ส.พ. เพียงเล็กน้อย ร.ส.พ.
มีรถสินค้ามาลงกับเราตลอด นับเป็นธุรกิจที่เกื้อกูลกันอย่างมาก" แหล่งข่าวกล่าว
ระบบนี้ใช้กันมากว่า 10 ปี จนกระทั่งมติคณะรัฐมนตรีไทยเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาว
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2534 ได้ตัดสิทธิการผูกขาดการขนส่งสินค้าผ่านแดน
(TRANSIT CARGO) ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ออกไป และอนุญาตให้บริษัทใหม่
คือ ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย - ลาว เข้าประกอบการแทน
ที. แอล. ไม่เพียงแต่ทำกิจการขนส่งสินค้าผ่านแดนเท่านั้น หากแต่ยังเข้าควบคุมกิจการแพขนานยนต์
และโกดังสินค้าที่ท่านาแล้ง จังหวัดหนองคายอีกด้วย
14 พฤศจิกายน 2534 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ออกจดหมายแจ้งความไปยังเจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการสินค้าผ่านแดนไทย
- ลาว ทั้งหมดว่าให้ยุติการใช้บริการของ ร.ส.พ. ที่เคยใช้อยู่ หันมาใช้บริการของบริษัท
ที. แอล. แทน เนื่องจากยังปรากฏว่ามีการใช้บริการของ ร.ส.พ. ขนสินค้าอยู่
แม้ว่า ร.ส.พ. จะถูกตัดสิทธิไปตามมติ ครม. แล้วก็ตาม
จดหมายแจ้งความดังกล่าวไม่เพียงแต่จะตัดขาดระบบผูกขาดการส่งสินค้าผ่านแดนของ
ร.ส.พ. ยังกระทบไปถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องของ ร.ส.พ. อย่างเช่น แพขนานยนต์ก็ต้องยุติลงด้วย
แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ายังมีเจ้าของสินค้าจำนวนหนึ่งยังคงยึดมั่นอยู่กับ
ร.ส.พ. โดยว่าจ้างให้ ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าผ่านแดนอยู่ต่อไป
วันที่ 24 ธันวาคม 2534 กระทรวงพัวพันเศรษฐกิจกับต่างประเทศ โดย เผ้า บุนนะผน
รัฐมนตรีว่าการได้ออกประกาศแจ้งความให้ทุกเขต ทุกแขวงของลาว ว่าตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 1992 เป็นต้นไป ให้ยุติ 1) การใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนของ ร.ส.พ.
โดยสิ้นเชิง และ 2) ยุติการข้ามไป-มาของแพขนานยนต์และยานพาหนะทุกชนิดของ
ร.ส.พ. ที่ขนสินค้าผ่านแดนทั้งขาเข้าและขาออก
คำสั่งนี้กระทบต่อการดำเนินกิจการแพขนานยนต์ของตระกูลพาณิชย์ที่จังหวัดมุกดาหารโดยตรง
เนื่องจาก ยังคงมีสัญญาร่วมอยู่กับ ร.ส.พ. และบริษัท ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพร์ส
ได้อาศัยคำสั่งดังกล่าวอ้างอิงในการแจ้งความไปยังบริษัทต่าง ๆ ด้วย ทั้งยังได้ขยายความคำสั่งกระทรวงพัวพันออกไปอีก
ทำให้ครอบคลุมการขนส่งสินค้าทุกชนิด ทั้งประเภทนำเข้า-ส่งออก ไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าผ่านแดนเท่านั้น
อ้างตามความในจดหมายแจ้งความของบริษัท ที. แอล. ซึ่งได้ส่งไปยังเจ้าของสินค้าแห่งหนึ่งกล่าวว่า
"ทางรัฐบาล สปป. ลาวจะไม่อนุญาตให้รถยนต์บรรทุกสินค้า หรือแพขนานยนต์ที่วิ่งในนาม
หรือร่วมของ ร.ส.พ. และรถยนต์บรรทุกสินค้าของบริษัท/ห้างอื่น ๆ เข้า สปป.
ลาวทุกแขวง นอกจากรถยนต์หรือแพขนานยนต์ที่วิ่งในนามของบริษัท ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์
(1991) จำกัด ซึ่งได้รับหนังสืออนุญาตหรือยินยอมแล้วเท่านั้น"
ตระกูลพาณิชย์มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ 1)หยุดกิจการ หรือ 2)นำแพทั้งหมดที่มีอยู่ไปวิ่งร่วมกับบริษัท
ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์
แหล่งข่าวในวงการขนส่งในจังหวัดมุกดาหารกล่าวว่า "สถานการณ์ธุรกิจครอบครัวกุลตังวัฒนาตอนนั้นเรียกได้ว่าย่ำแย่
เสี่ยตุ่น (หมายถึงตระกูล) ก็เพิ่งเสียไป กิจการแพขนานยนต์ก็เป็นธุรกิจหลักของครอบครัวที่เขาทำกันมานาน
เรื่องที่จะให้หยุดลงเฉย ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ทางเลือกมีอยู่อย่างเดียวต้องร่วมกับ
ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์"
ไตรรงค์ กุลตังวัฒนา บุตรชายคนโตของตระกูลผู้รับกิจการแทนพ่อในช่วงแรกจึงตัดสินใจนำแพขนานยนต์ที่มีอยู่ทั้งหมด
6 ลำในเวลานั้นเข้าวิ่งขนส่งรถบรรทุกสินค้าระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต โดยยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบริษัท
ที.แอล.
ภายใต้ระเบียบซึ่งออกประกาศโดยบริษัท ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพร์ส ผู้ประกอบกิจการแพขนานยนต์ที่ประสงค์จะนำแพขนานยนต์มาวิ่งร่วมบริการจะต้องวางเงินมัดจำ
100,000 บาท และจะต้องจ่ายให้บริษัท ที. แอล. เป็นค่าประกอบการอีกโดยคิดอัตรา
200 บาทต่อรถสิบล้อ 1 คัน
"รูปการณ์มันก็ไม่ต่างอะไรกับผู้คุมคิวมอเตอร์ไซค์คนใหม่ ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีแพเป็นของตัวเอง
ไปเช่าของคนอื่นมาวิ่ง ปัจจุบันก็มีอยู่แค่ 2 ลำ เข้ามาคุมกิจการแล้วก็เรียกเก็บค่าหัวคิว
มันแย่กว่าคนคุมคิวคนเก่าก็ตรงที่ไม่ได้หาลูกค้ามาให้ แถมลูกค้าที่เราหามาได้เองต้องไปจ่ายค่าหัวคิวให้เขาอีก"
แหล่งข่าวในตระกูลพาณิชย์กล่าว
สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้นับปีจึงได้มีความพยายามเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบ
โดยระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2535 คณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคมไทย เดินทางไปกรุงเวียงจันทน์เพื่อเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการขนส่งไทย-ลาวอีกครั้ง
แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าในการประชุมกันระหว่างผู้แทนทั้งสองประเทศครั้งนี้มีการยกเรื่องแพขนานยนต์ขึ้นมาหารือด้วย
ฝ่ายไทยเห็นว่ากิจการแพขนานยนต์ที่ลาวดำเนินอยู่ที่จังหวัดหนองคายนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
เนื่องจากมีรถยนต์บรรทุกสินค้ารอคอยข้ามอยู่เป็นจำนวนมากนับได้เป็นร้อย ๆ
คันต่อวัน
ส่วนกิจการแพขนานยนต์ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งตามหลักปฏิบัติแล้วฝ่ายไทยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการตามแนวทางของฝ่ายไทยแล้วจะเปิดเสรีให้บริษัทใด
ๆ เข้าดำเนินกิจการก็ได้ หากแต่ในความเป็นจริงยังคงต้องขึ้นอยู่กับบริษัท
ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์
"ฝ่ายลาวเขาโต้แย้งว่า กิจการทุกอย่างอยู่ในมือของคนไทย กิจการแพที่หนองคายดำเนินการในนามของลาวก็จริงอยู่
แต่บริษัท ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ก็เป็นบริษัทคนไทย ที่มุกดาหารก็เป็นของไทยอีก
ฝ่ายลาวก็อยากจะได้ประโยชน์บ้าง เลยขอว่าหากผู้ใดจะดำเนินกิจการแพขนานยนต์ก็ขอให้ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทลาว"
แหล่งข่าวซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยรายหนึ่งกล่าว
ฝ่ายไทยยอมตามข้อโต้แย้งของลาว ซึ่งก็หมายความว่าลาวสามารถควบคุมระบบการขนส่งข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย
โดยเป็นไปตามข้อตกลงเดิมที่ลาวเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่มุกดาหารก็ต้องเข้าอยู่ภายใต้การควบคุมของลาวในทางปฏิบัติ
ดังนั้นไม่อาจจะมีผู้ประกอบการรายใดสามารถต่อแพไปวิ่งขนส่งข้ามแม่น้ำโขงได้อย่างเสรีอีกต่อไป
เพราะหากไม่ใช่แพซึ่งจดทะเบียนกับแขวงสะหวันนะเขตแล้ว ก็ไม่อาจจะนำแพเข้าเทียบอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขงได้
ข้อตกลงนี้ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับตระกูลพาณิชย์ เพราะเป็นช่องทางให้ออกจากการควบคุมของบริษัท
ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพร์สได้ ด้วยการเข้าไปติดต่อจดทะเบียนเป็นบริษัทของลาวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
โดยยอมเสียภาษีรายได้ให้ลาว 8% ต่อปีเท่านั้น รายจ่ายอื่น ๆ ก็เป็นต้นทุนประกอบการตามปกติ
คือค่าเทียบแพที่ฝั่งลาวเที่ยวละ 4 เหรียญสหรัฐ และคนเหยียบแผ่นดินของพนักงานประจำแพและผู้จัดส่งสินค้าหรือติดตามสินค้า
50 บาทต่อคนต่อวัน
ปัจจุบันธุรกิจแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงของตระกูลพาณิชย์ซึ่งไปจดทะเบียนเป็นบริษัทแพของลาวมีแพอยู่ทั้งหมด
8 ลำ ประจำที่มุกดาหาร 4 ลำ หนองคาย 1 ลำ นครพนม 1 ลำ และเป็นแพสำหรับดูดทรายที่มุกดาหารอีก
2 ลำ ในจำนวนนี้เป็นแพขนาดใหญ่ 2 ลำที่เหลือเป็นแพขนาดกลาง
แพหรือที่ลาวเรียกว่า "เฮือบัก" ขนาดใหญ่ (JUMBO) มูลค่าถึงลำละ
20 ล้านบาท สามารถบรรทุกรถสิบล้อข้ามลำน้ำได้ 18 คัน ส่วนลำเล็กมีมูลค่า
5 ล้านบาท สามารถบรรทุกรถสิบล้อได้คราวละ 8 คัน
ท่าแพมุกดาหาร-สะหวันนะเขตทุกวันนี้มีแพอยู่ทั้งสิ้น 6 ลำ เป็นของตระกูลพาณิชย์
4 ลำ และของเอีย เอ็งกี่ (แพใช้ชื่อ ดอกรัก) ซึ่งวิ่งในนามบริษัท ที. แอล.
เอ็นเตอร์ไพร์ส อีก 2 ลำเป็นแพขนาดกลาง มีรถบรรทุกสินค้าที่มาข้ามแพที่จุดมุกดาหาร-สะหวันนะเขตนี้วันละประมาณ
35 คัน ในอัตราค่าบริการรถสิบล้อคันละ 800 บาท
ช่วงที่มีสินค้ามากที่สุดเคยมีรถบรรทุกสินค้ามากถึง 300 คันต่อวัน โดยช่วงที่มีการขนส่งสูงสุดคือประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน
(โปรดดูตารางประกอบ)
ที่เทียบแพฝั่งมุกดาหารที่บ้านนาโป ซึ่งเพิ่งย้ายมาจากที่เดิมใกล้ ๆ กับท่าเทียบเรือโดยสารได้ไม่นาน
มีสภาพไม่สู้ดีนัก ฝั่งสูงชันและทางลงสู่ท่าเทียบแพค่อนข้างแคบ ต่างกับฝั่งสะหวันนะเขตของลาวซึ่งสภาพดีกว่า
เพราะสร้างมานานแล้วมีการลงทุนปรับปรุงไปหลายครั้ง
"เสี่ยตุ่น (ตระกูล กุลตังวัฒนา) เป็นคนออกทุนสร้างท่าเทียบแพที่ฝั่งสะหวันนะเขตโดยไม่ได้คิดมูลค่าตอบแทนใด
ๆ" แหล่งข่าวในวงการขนส่งที่มุกดาหารกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ส่วนท่าแพทางด้านจังหวัดมุกดาหารดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการลงทุนปรับปรุงให้ดีไปกว่าที่เป็นอยู่
แพข้ามฝากไทย-ลาวจากท่ามุกดาหาร-สะหวันนะเขต ใช้เวลาเดินทางข้ามแม่น้ำโขงมากกว่าที่ด่านหนองคาย
เพราะต้องขับอ้อมสันดอนกลางแม่น้ำ ต้องใช้เวลาร่วม ๆ 20 นาทีกว่าจะถึงฝั่ง
ผิดกับที่หนองคายใช้เวลาแค่ประมาณ 5 นาที ผู้ลงทุนฝ่ายไทยเคยเสนอให้ขุดสันดอนออกแต่ทางลาวไม่เห็นด้วย
แต่จะอย่างไรก็ตาม แพก็ยังคงเป็นพาหนะเพียงอย่างเดียวที่นำพาสินค้าข้ามไปมาระหว่างเมืองมุกดาหารของไทยและเมืองสะหวันนะเขตของลาว
มีรายงานข่าวว่า จะมีการสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่สองที่นี่ แต่ทว่าข่าวนี้นับวันมันก็จะค่อยจืดจางไปกับกาลเวลา
สะพานข้ามโขงที่มุกดาหาร-สะหวันนะเขตกลายเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการปล่อยข่าวปั่นราคาที่ดินกันพอให้ธุรกิจเมืองชายโขงพอมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้างเท่านั้นเอง
แต่ไม่ว่าจะมีสะพานหรือไม่ก็ตาม การค้าระหว่าง ไทย-ลาวนับวันมีแต่จะมากขึ้น
แน่นอนว่าความต้องการในการขนส่งสินค้าข้ามไปมาก็มากขึ้นเป็นสัดส่วนที่แปรตามกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นรายงานว่า
ปี 2535 ที่ผ่านมา การเติบโตของการค้าระหว่างสองประเทศชะลอตัวลงเล็กน้อย
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายปิดป่าของลาว ปีที่แล้วปริมาณการค้าระหว่างไทยและลาว
มีมูลค่า 3982.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% ไทยส่งออก 2837.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
49.1% และนำเข้า 1144.6 ล้านบาท ลดลง 28.2% สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นไม้แปรรูปคือมูลค่าประมาณ
955.7 ล้านบาท มีสัดส่วนที่ลดลงจากปีก่อน 28.6% ส่วนสินค้าขาออกที่สำคัญคือเครื่องจักรและอุปกรณ์
และที่สำคัญ คือวัสดุก่อสร้าง ปีที่แล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 68.7%
ไม่เพียงแต่การค้าระหว่างสองประเทศเท่านั้นที่ทำให้สินค้าต้องพึ่งแพขนานยนต์ไปมาระหว่างไทย-ลาว
หากแต่ยังมีสินค้าผ่านแดนไทย-ลาวอยู่อีกจำนวนไม่น้อย ปีที่แล้วสินค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น
3418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.3% เป็นสินค้าจากประเทศที่สามผ่านไทยไปลาวส่วนใหญ่เป็น
เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานจากสหรัฐ และญี่ปุ่น นอกนั้น เป็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น
ส่วนสินค้าที่ออกจากลาวผ่านไทยไปประเทศที่สามนั้นมีมูลค่าทั้งสิ้น 1153.3
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31.1% ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งไปเยอรมนี
สหรัฐ แคนาดาและฝรั่งเศส และไม้แปรรูปส่งไปไต้หวัน ญี่ปุ่นและฮ่องกง
ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์แนวโน้มการค้าระหว่างสองประเทศว่า ไทยจะสามารถส่งออกไปลาวได้เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นก็จะเป็นประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า
สินค้าเข้าส่วนใหญ่ก็จะยังคงเป็นไม้แปรรูป แต่สินค้าตัวนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลลาว
เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎระเบียบในการนำไม้ออกอีก ตัวเลขก็จะผันผวนมากจนไม่สามารถคาดการณ์ได้
ส่วนสินค้าผ่านแดนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 15% ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น
แต่สินค้าที่ลาวส่งผ่านแดนไทยคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการลงทุนจากต่างประเทศในลาวมากขึ้น
ทำให้ลาวสามารถส่งสินค้าออกได้มากขึ้น
หากพิจารณาการส่งสินค้าเข้า-ออกผ่านจุดต่างผ่านแดนต่าง ๆ ระหว่างไทยและลาวแล้วจะพบว่าสินค้าออก
80.5% ส่งออกที่ด่านหนองคาย อาศัยแพที่ท่านาแล้งของลาวในการข้ามแม่น้ำโขง
สินค้าออกจะออกที่มุกดาหารในปีที่แล้วเพียง 12.5% ของปริมาณทั้งหมด ที่เหลือออกด่านช่องเม็ก
อุบลราชธานี 5.4% ด่านนครพนม 1.2% เขมราฐ อุบลราชธานี 0.3% และเชียงคาน เลย
0.1% ส่วนสินค้าเข้านั้น 33.2% เข้าที่มุกดาหาร 27.8% เข้าที่หนองคาย 16.2%
เข้าที่ช่องเม็ก 21.4% เข้าที่นครพนม 1.3 ที่เขมราฐ และ 0.1 ที่เชียงคาน
พิเคราะห์ตามความเคลื่อนไหวของตัวเลขดังกล่าวแล้วจะพบว่า จุดผ่านแดนที่สำคัญระหว่างไทยและลาวอยู่ที่หนองคาย
มุกดาหาร และนครพนม ด่านหนองคายจะเป็นจุดส่งสินค้าออก ส่วนมุกดาหารจะเป็นจุดนำสินค้าเข้า
(โปรดดูตารางประกอบ)
การที่ด่านหนองคายเป็นด่านที่มีสินค้าออกมากไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอยู่ใกล้เวียงจันทน์
เมืองหลวงของลาว เป็นเมืองที่มีการบริโภคมากกว่าที่อื่น และเป็นจุดกระจายสินค้าในลาวอีกด้วย
แต่มุกดาหารซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองสะหวันนะเขตเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของลาวก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนัก
ทั้งมุกดารหารยังเป็นจุดนำเข้าสินค้าที่สำคัญอีกด้วย
ศักยภาพของด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขตดูจะเหนือกว่าหนองคาย-ท่านาแล้ง ตรงที่สะหวันนะเขตเป็นเมืองที่เชื่อมต่อเข้าสู่เมืองท่าดานังของเวียดนามได้ใกล้ชิดที่สุด
โดยผ่านเส้นทางหมายเลข 9 ของลาว หากเส้นทางเส้นนี้ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว
การขนส่งสินค้าจากจุดนี้ออกไปถึงเวียดนามก็ทำได้ดีขึ้นด้วย เพราะแม้แต่เส้นทางทุรกันดารอย่างทุกวันนี้
ยังสู้อุตส่าห์มีคนขนสินค้าประเภทเครื่องเซรามิกจากเวียดนามเข้ามาวางขายที่สะหวันนะเขต
และมุกดาหารให้นักท่องเที่ยวซื้อถือติดไม้ติดมือกลับบ้าน ทำรายได้ไม่น้อยทีเดียว
ทุกวันนี้รถสินค้าที่มาลงแพข้ามฝั่งจากมุกดาหารไปสะหวันนะเขตก็ยังมีน้อย
อย่างมากก็ 30-40 คันต่อวัน แต่หากจินตนาการดูว่าวันข้างหน้าเมื่อมีผู้ลงทุนปรับปรุงถนนหมายเลข
9 ให้ดีขึ้นมา ปริมาณรถที่จะขนส่งสินค้าจากไทยข้ามแพที่มุกดาหาร ไปใช้เส้นทางหมายเลข
9 ของลาวากสะหวันนะเขตไปออกเมืองกวางตรีของเวียดนามแล้วเลยลงสู่เมืองท่าดานังของเวียดนาม
กิจการแพอาจจะร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้
เวลานี้มีแพข้ามแม่น้ำโขงบริเวณท่ามุกดาหาร-สะหวันนะเขตอยู่ 2 เจ้าคือ
ตระกูลพาณิชย์และดอกรักวิ่งในนามของ ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ ทั้งคู่จดทะเบียนอยู่กับฝ่ายลาว
วิ่งแข่งขันกันหาลูกค้า ตระกูลพาณิชย์ดูจะเป็นต่ออยู่มากด้วยว่ามีแพขนาดใหญ่
และมีจำนวนมากกว่า มีความแนบแน่นอยู่กับ ร.ส.พ. ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมก็อนุมัติให้เป็นอีกรายหนึ่งที่สามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนได้แล้ว
ถ้าหากตระกูล กุลตังวัฒนา ยังมีชีวิตอยู่เขาก็จะได้รู้ว่าบรรยากาศแบบเก่า
ๆ อย่างที่เขาเคยทำธุรกิจได้ผ่านไปแล้ว ทุกวันนี้ตระกูลพาณิชย์ได้ลูกชายนักเรียนนอกกลับมาช่วยบริหารงาน
กิจการแพไม่ได้มีเพียงตระกูลพาณิชย์ผู้เดียวหรือ ที. แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ผู้เดียวอีกต่อไป
หากความต้องการทางด้านการขนส่งมากขึ้น แม่น้ำโขงคงกระหึ่มไปด้วยเสียงแพขนานยนต์ที่อาจจะมีรายที่
3 ที่ 4 ต่อแพมาขนสินค้าแข่งขันกันข้ามไปเมืองดานัง เพราะถึงอย่างไร สะพานข้ามโขงที่มุกดาหารยังคงเป็นเพียงความหวังที่ไกลแสนไกล