แบงก์ชาติรายงานตัวเลขเอ็นพีแอลสถาบันการเงินทั้งระบบเดือนเมษายนขยับเพิ่มเล็กน้อย 399.83 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.17% โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์มียอดเพิ่มขึ้น 411.42 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.18% จากการนับรวมหนี้เอ็นพีแอลของเอไอจีที่เพิ่งเปิดดำเนินงานจำนวน 433 ล้านบาท ขณะที่"ไทยธนาคาร-สินเอเซีย"มียอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และแบงก์กรุงเทพลดลง 69 ล้านบาท ขณะที่ธปท.ชี้ไม่น่าห่วง มั่นใจลดได้เหลือ 2% ตามเป้า
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แจ้งยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของสถาบันการเงินทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 ว่า มียอดรวมทั้งสิ้น 240,318.57 ล้านบาท มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกปี 2550 หรือ ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่อยู่ในระดับ 239,918.74 ล้านบาท เท่ากับ 399.83 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.17%จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นเอ็นพีแอลในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 235,209.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.57ของสินเชื่อรวม มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 234,798.38 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 4.58 เท่ากับ 411.42 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.18%จากเดือนก่อนหน้า เป็นเอ็นพีแอลในส่วนของสาขาธนาคารต่างประเทศจำนวน 2,962.03 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.52 มีจำนวนลดลงจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 2,975.27 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.52 เท่ากับ 13.42 ล้านบาท
นอกจากนี้ เป็นเอ็นพีแอลในส่วนของบริษัทเงินทุนจำนวน 1,851.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.18 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 1,849.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.18 เท่ากับ 1.48 ล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลในส่วนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 295.68 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 67.65 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 295.51 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 55.89 เท่ากับ 0.17 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 411.42 ล้านบาทนั้น เป็นการเปลี่ยนในยอดสินเชื่อเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพมีเอ็นพีแอลรวม 40,420 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.40 มีจำนวนลดลงจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 40,489 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.41 เท่ากับ 69 ล้านบาท ธนาคารไทยธนาคารมีเอ็นพีแอลรวม 2,627 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.54 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 2,616 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.53 เท่ากับ 11 ล้านบาท ธนาคารสินเอเซียมีเอ็นพีแอลรวม 1,424 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.71 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 1,387 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.57 เท่ากับ 37 ล้านบาท และธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย มียอดเอ็นพีแอลรวม 433 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.97 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อยเพิ่งจะได้รับอนุญาตนประกอบกิจการธนาคารเมื่อวันที่ 6 มี.ค.50 จึงเป็นยอดเอ็นพีแอลใหม่ที่เข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงมียอดเอ็นพีแอลทรงตัวอยู่ในระดับเดิมนั้น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย 64,241 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.88 , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 28,044 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.30 ธนาคารกสิกรไทย 21,998 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.31 ธนาคารเกียรตินาคิน 4,951 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.47 ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 27 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.07 ธนาคารทหารไทย 30,890 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.08 ธนาคารทิสโก้ 1,267 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.73 ธนาคารไทยพาณิชย์ 23,428 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.42 ธนาคารธนชาต 1,732 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.84 ธนาคารนครหลวงไทย 5,949 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.40 ธนาคารยูโอบี 6,660 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.36 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย 304 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.69 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย ) 678 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.84 และธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ 138 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.43 นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การที่เอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเกือบ 400 ล้านบาท ถือว่าไม่มากนัก และไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าในปีนี้จะสามารถลดเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินให้เหลือ 2% ได้ตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้
|