Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2536
"ร่นเวลาประเทศไทยเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ยอดความคิดแห่งปีของ รมว. พาณิชย์"             
 


   
search resources

ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ
วิเชียร เจียกเจิม
สุขุมพันธุ์ บริพัตร
Investment
อุทัย พิมพ์ใจชน




คนไทยเปลี่ยนแปลง "วิธีบอกเวลา" ตามอย่างสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2430 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยวิธี "ยิงปืนเที่ยง" ตามแบบที่เคยเห็นอังกฤษยิงปืนสัญญาณที่สิงคโปร์ แต่ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 7 วิวัฒนาการส่งสัญญาณบอกเวลาผ่านทางวิทยุกระจายเสียง หรือ สมัยก่อนเรียกว่า "หูทิพย์" ได้เกิดขึ้นในปี 2477 จึงยุติการยิงปืนเที่ยงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในยุดอธิบดีกรมโฆษณาการ วิลาศ โอสถานนท์ ปี 2484 ได้มีการปรับปรุงการเทียบเวลาให้น่าสนใจ โดยใส่ทำนองเพลงไทยเดิม "พม่าเชิญธง" ประกอบจังหวะเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาติ๊กต๊อก ๆ ที่คุ้นหูทุกวันนี้ ซึ่งครูเพลง "สริยงยุทธ" แห่งวงสุนทราภรณ์ทำขึ้นมา

50 ปีแล้วที่การให้สัญญาณเทียบเวลาของกรมประชาสัมพันธ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง !! เช่นเดียวกับการบอกเวลาทางโทรศัพท์ 181 ที่ใช้เสียงสตรีคนเดิม "น.ต. ศิริลักษณ์ คิ้วสุวรรณสุข" (เดิมเป็นจ่า) มาตลอดถึง 20 ปี

เวลาที่บอกโดย 181 นี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือเป็นผู้รักษามาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งจะบอกเวลาทุก ๆ สิบวินาทีตลอด 24 ชั่วโมง เวลาที่บอกนี้ได้รับสัญญาณจากนาฬิกาพลังปรมาณู "ซีเซียม" ซึ่งเที่ยงตรงมากที่สุดในโลก เพราะในเวลาหนึ่งหมื่นปีจะมีคลาดเคลื่อนแค่วินาทีเดียว

แต่จู่ ๆ ช่วงกุมภาพันธ์ 2536 ปีนี้ อุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เกิดปิ๊งในไอเดียของตัวเอง ที่จะให้มีการปรับปรุงเวลาประเทศไทยให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ ที่จะทำให้นักธุรกิจ นักการค้าระหว่างประเทศและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในการบริหารเวลา เพราะเวลาที่ปรับเร็วขึ้นนี้จะใกล้เคียงประเทศฮ่องกง แต่จะเร็วกว่าสิงคโปร์ และจะช้ากว่าญี่ปุ่นเพียงหนึ่งชั่วโมงจากเดิมที่ช้าถึง 2 ชั่วโมง

รมว. อุทัยมอบหมายให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศของกระทรวงฯ ศึกษาความเป็นไปได้ และได้มีการเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลดีของการปรับเวลานี้ ว่าเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อทางธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน และตะวันออกไกล นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดไฟฟ้า

คุณชายสุขุมพันธ์ยังให้ทัศนะต่อไปว่า ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป หากยังเป็นสังคมเกษตรเหมือนเดิมก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเวลา แต่หากเปลี่ยนแปลงเวลาแล้วไม่กระทบต่อเกษตรกรก็ควรทำ เพราะการทำเกษตรกรรมนั้นขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องปลุกควายขึ้นมากินหญ้าเร็วขึ้น!

"เวลาไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์เหมือนศาสนาที่แตะต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อความสะดวก แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ หากเปลี่ยนเวลาจริงก็ต้องเลื่อนเวลาของนักเรียนให้เหมาะสมขึ้น" คุณชายสุขุมพันธ์แถลงข่าว

งานนี้ กรมอุทกศาสตร์ ผู้ดูแลรักษาเวลาบอกว่าเป็นเรื่อง SENSITIVE แม้จะเปลี่ยนเวลาสักวินาทีเดียว เพราะตามข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ทำไว้กับสถาบันเวลามาตรฐานสากล B.I.P.M. และ U.S.N.O. แห่งราชนาวีสหรัฐฯ ได้มีการแบ่งโซนเวลาทั่วโลก โดยไทยนั้นถือเอาเวลาที่เห็นดวงอาทิตย์เร็วกว่าเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ 7 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ก็เคยประสบความสำเร็จในการขอเปลี่ยนแปลงเวลาทางเศรษฐกิจเพื่อให้ใกล้เคียงกับฮ่องกงมาแล้ว

"เราไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ หากอยากจะเปิดตลาดหุ้นให้ตรงกับฮ่องกง ก็เปิดตลาดหุ้นไทยให้เร็วขึ้นก็ได้" เจ้ากรมอุทกศาสตร์ พล.ร.ท. ถนอม เจริญลาภกล่าว

แต่ในแวดวงนักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ บงล. นครหลวงเครดิต กลับเห็นว่าการปรับเวลาเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงนี้จะก่อให้เกิดผลบวกมากกว่า เพราะเมื่อเวลาทำการซื้อขายหุ้นในไทยเท่ากับเวลาเปิดตลาดหุ้นฮ่องกง ก็จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจซื้อขาย

"ปกติตลาดหุ้นไทยเปิดและปิดทำการซื้อขายหุ้นช้ากว่าตลาดฮ่องกง พอนักลงทุนต่างชาติซื้อขายหุ้นฮ่องกงจนปิดตลาดก็เลิกซื้อแล้ว โดยส่วนตัวผมจึงเห็นด้วยให้เลื่อนเวลาเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง แม้จะตื่นเร็วขึ้น แต่ก็เลิกงานเร็วทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว" ธีรศักดิ์กล่าว

ขณะที่วิเชียร เจียกเจิม กรรมการผู้จัดการ บงล. เกียรตินาคินให้ทัศนะว่า ไม่น่าจำเป็นที่เราจะปรับเวลาให้เร็วขึ้น เพราะภาวะซื้อขายหุ้นแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้น

ยังเป็นข้อถกเถียงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารเวลาใหม่ของไทยว่า ถ้าเวลาไทยเท่ากับสิงคโปร์ ธุรกิจบ้านเราก็ยิ่งเสียเปรียบเพราะสิงคโปร์เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนที่มีความพร้อมและแรงจูงใจมากกว่า

คุ้มหรือไม่! เมื่อมองจากปริมาณการค้ากับสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งไทยเทียบเวลาแข่งขันด้วย ทำไมจึงไม่เปลี่ยนไปตั้งเวลาให้เท่ากับญี่ปุ่นซึ่งมีปริมาณการค้าสูงกว่า?

คำถามเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมไปถึงผลกระทบเชิงสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อทางโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และอีกร้อยแปดพันประการที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้า

แต่สำหรับอุทัย พิมพ์ใจชน รมว. พาณิชย์ ที่คิดการใหญ่จะบริหารเวลาประเทศไทยใหม่ ต้อนรับศักราชใหม่ของนโยบายอาฟต้า เขตการค้าเสรีอาเซียน ด้วยการทลายกำแพงเวลา นอกเหนือจากการลดกำแพงภาษีการค้าในภูมิภาคนี้ทั้งหมด อาจจะเป็นไอเดียสุดเท่ของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us