ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบช่วง 4 เดือนแรกเพิ่มแค่ 15,137.86 ล้านบาท หรือเท่ากับ 0.49% "ทหารไทย"สินเชื่อมากสุด 19,762.40 ล้าน คิดเป็น 3.85% ตามมาด้วย"กรุงไทย-ยูโอบี-สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าสินเชื่อรวมเพิ่ม 3.78% ระบุเป็นการเพิ่มทั้งในส่วนของแบงก์ใหญ่-เล็ก ขณะที่แบงก์ขนาดกลางสินเชื่อยังสวนทางหดตัวต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขสินเชื่อ-เงินฝาก และสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 โดยยอดคงค้างสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือนเมษายน 2550 มีจำนวน 4,921,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1,975 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 0.04 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.78 และหากรวมยอดสินเชื่อ 4 เดือนแรกของปี 2550 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 แล้ว มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 12,979.83 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.26
โดยรายละเอียดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง สินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 6,667 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 นำโดยธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย จำนวน 5,352 และ 4,953 ล้านบาทตามลำดับ ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทยมียอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 1,044 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มของสินเชื่อประเภทตั๋วเงิน และเงินให้กู้ยืม ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีสินเชื่อรวมลดลง 4,681 ล้านบาท จากการลดลงของตั๋วสัญญาใช้เงิน และสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ
ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง สินเชื่อรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5,139 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.44 ตามการลดลงของสินเชื่อธนาคารทหารไทยจำนวน 6,242 ล้านบาท จากการลดลงของสินเชื่อประเภทตั๋วเงินในประเทศ และเงินเบิกเกินบัญชี ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และนครหลวงไทย มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จำนวน 990 และ 113 ล้านบาทตามลำดับ
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเล็กน้อย 446 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 แม้ว่าสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นกระจายไปยังแทบทุกธนาคารในกลุ่ม แต่เนื่องจากธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) เป็นธนาคารเดียวที่มีสินเชื่อลดลงจำนวน 7,062 ล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขสินเชื่อของธนาคารในกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 จะพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นจำนวน 12,980 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.26 นำโดยการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 15,137.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 9,502 ล้านบาทหรือเป็นร้อยละ 1.44 สวนทางกับกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสินเชื่อลดลง 11,660 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ทั้งนี้ ธนาคารที่มียอดสินเชื่อลดลงได้แก่ ธนาคารทหารไทย ลดลง 19,762.40 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.85 ธนาคารกรุงไทย ลดลง 16,869.62 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.90 ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์(ไทย) ลดลง 7,342.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.07 ธนาคารไทยธนาคารลดลง 3,125.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.14 และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดไทย ลดลง 1,692.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.09
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนเมษายน 2550 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,110,637 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 8,872 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.14 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.95
โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 19,383 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 นำโดยธนาคารกรุงไทยเงินฝากเพิ่มขึ้น 23,941 ล้านบาท ในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินงบประมาณของภาครัฐ ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ มีเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น 3,836 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากประจำ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย มีเงินฝากลดลงจำนวน 6,439 และ 1,955 ล้านบาทตามลำดับ
สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6,220 ล้านบาท ตามการลดลงของเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 7,193 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของบัญชีเงินฝากประจำและกระแสรายวัน ตามมาด้วยธนาคารนครหลวงไทย มีเงินฝากรวมลดลงเล็กน้อย 357 ล้านบาท ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 1,331 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้ว จำนวน 22,036 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 2.64 นำโดยธนาคารไทยธนาคาร และยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) มีเงินฝากลดลงจำนวน 13,202 และ 11,159 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ธนาคารอื่นในกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 จะพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 178,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.00 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อสุทธิที่มีเพียง 12,980 ล้านบาทมาก และบ่งชี้ถึงทิศทางสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในช่วง 4 เดือนแรกนี้ จะมาจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 103,423 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 95,843 ล้านบาท ในขณะที่เงินฝากที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางลดลง 21,041 ล้านบาท
ด้านสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 มีจำนวน 7,743,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.12 นำโดยธนาคารกรุงไทย และกสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันจำนวน 14,718 และ 14,341 ล้านบาทตามลำดับ ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ จำนวน 10,802 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสินทรัพย์ลดลงต่ำสุด 24,912 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) และไทยธนาคาร มีสินทรัพย์ลดลงใกล้เคียงกันจำนวน 9,276 และ 9,015 ล้านบาทตามลำดับ
และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 255,365 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.41 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เกือบทุกธนาคาร ยกเว้นธนาคารทหารไทยและธนาคารเกียรตินาคิน
|