Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2536
"ตระกูล "วิจิตรานนท์ " เจ้าของที่ดินเก่าแถบสุขุมวิท"             
 


   
search resources

นิพนธ์พจนาตถ์ วิจิตรานนท์




นานมาแล้วในปี 2487 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดเหตุใหญ่ ลูกระเบิดตกใส่ร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคาร ทำให้สองสามีภรรยาต้นสกุล "วิจิตรานนท์" คือพระยานิพนธ์พจนาตถ์หรือสันตติ์ นิพนธ์ พจนาตถ์ วิจิตรานนท์ (ส.น. วิจิตรานนท์) ถึงแก่กรรมทันทีพร้อมกับคู่ชีวิต ม.ร.ว. หญิง เลื่อนอรนพ วิจิตรานนท์

พระยานิพนธ์ฯ เป็นบุตรของพระยารักษาสมบัติ (เทศเปรียญ) และคุณหญิงเป้า ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษและอัสสัมชัญ เคยได้รับทุนไปเรียนต่อระดับมัธยมในประเทศฝรั่งเศส เมื่อจบการศึกษาก็เข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศตามรอยบิดา ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อทำงานกับองรีปองโสต์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเสนาบดีมหาดไทย

ในรัชการที่ 6 พระยานิพนธ์ฯ ได้สมัครไปอยู่ในกองเสือป่าอาสาสมัคร ได้รับพระราชทานเป็นเสือเอก และนายหมู่ตรีชีวิต ข้าราชสำนักที่รุ่งโรจน์ได้ส่งเสริมให้พระยานิพนธ์ ได้ทำงานที่ตนเองรักในตำแหน่งบรรณารักษ์กรมราชเลขานุการในพระองค์ สังกัดมหาดเล็กและได้เป็นเจ้ากรมราชเลขาธิการตลอดมา จนกระทั่งมีการยุบเลิกกรมราชเลขาธิการภายหลังการปฏิวัติการปกครองปี 2475 พระยานิพนธ์ฯ ก็ได้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ ภายหลังไม่มีการเรียกบรรดาศักดิ์กัน พระยานิพนธ์ฯ ได้ใช้ชื่อว่า "สันตติ์ นิพนธ์ พจนาตถ์ วิจิตรานนท์"

พระยานิพนธ์ฯ ได้สมรสกับ ม.ร.ว. เลื่อนอรนพ เมื่อปี 2453 และมีบุตรีคนเดียวคือ สุเนตรา วิจิตรานนท์ ซึ่งเป็นภรรยาของ พลเรือโท สวัสดิ์ คงศิริ ปัจจุบันสุเนตราเป็นเจ้าของกิจการร้านหนังสือนิพนธ์ สี่แยกพระยาศรี ซึ่งก่อตั้งบริษัทขึ้นโดยนำเอาราชทินนามของพระยานิพนธ์มาตั้งชื่อเป็นศิริมงคล

นอกจากนี้พระยานิพนธ์ฯ ยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ๆ อีก 21 คน แบ่งได้เป็น 4 สาย บุตรธิดาสายแรกคือ สุดารา เชาวน์ปรีชา วิจิตร และมนูญ วิจิตรานนท์

สำหรับสายที่สองของพระยานิพนธ์ซึ่งถือว่าเป็นสายสำคัญที่มีบทบาทลือลั่นในวงการธุรกิจ ได้แก่บุตรสาวคนที่สองในสายนี้ของพระยานิพนธ์ฯ ที่ชื่อ ส่องศรี วิจิตรานนท์ (ชื่อเล่นว่า "ตุ้ม") ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยน ชื่อเป็นคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล สมรสกับวัลลภ ธารวณิชกุล (จอห์นนี่ มา) เจ้าของธนาคารเอเชียทรัสต์และบริษัทชลประทานซีเมนต์ ปัจจุบันถือได้ว่าคุณหญิงเป็นเสาหลักของตระกูลวิจิตรานนท์ในสายที่สองนี้ ที่มีอุปนิสัยเข้มงวด เจ้าระเบียบและหยิ่งในความเป็นผู้ดีเก่าของตนเอง

คุณหญิงมีพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันอีก 8 คนได้แก่ สุสุทธ์ สุพรรณี ศิริ แต๋ว ติ๋ว นิรันดร์ ต้อย และแอ๊ว

พี่ชายคนโตชื่อสุสุทธิ์ วิจิตรานนท์เคยมีบทบาทเป็นกรรมการและผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของธนาคารเอเชียทรัสต์หรือธนาคารสยามซึ่งหยุดดำเนินการไปแล้ว

สุสุทธิ์เป็นลูกคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ใกล้เหตุการณ์วิปโยคในวันที่ลูกระเบิดคร่าชีวิตบิดาบังเกิดเกล้าไป ตัวสุสุทธ์เองก็แทบเอาชีวิตไม่รอด

"ก่อนที่เหตุการณ์อันร้ายแรงจะเกิดขึ้นเพียงชั่ว 2-3 นาที คุณพ่อยังได้ พูดว่า "แอ๊ด-ลูกรักของพ่อ-ช่วยตัวเองเถอะ" จากนั้นลูกระเบิดลงใกล้ ๆ ร้าน กระจกภายในร้านแตกเปรื่องปร่าง ทุก ๆ คนขวัญเสีย แต่คุณป้ายังคุมสติได้มั่นพอและได้พูดอย่างปกติ "หนูแอ๊ดมาอยู่ใกล้ ๆ แม่อยู่ที่ไหนก็ไม่ประเสริฐเท่าอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่" สิ้นเสียงสั่ง มัจจุราชได้พรากชีวิตอันเป็นที่รักและเคารพไปเสียแล้วนี่คือความสูญเสียที่สุสุทธ์บันทึกคำไว้อาลัยไว้ในอนุสรณ์งานศพเมื่อปี 2487

ต่อมาสุสุทธ์ได้กลายเป็นทายาทที่รับช่วงกิจการร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคารแต่ดำเนินการไปได้พักหนึ่งก็ต้องยุติขณะที่ร้านหนังสือนิพนธ์ของสุเนตรายังคงทำอยู่

ส่วนน้อง ๆ รองจากคุณหญิงลลิลทิพย์ลงมา เป็นน้องชายชื่อ ศิริ วิจิตรานนท์ ชื่อเล่นว่า "ถึก" ที่เคยทำงานธนาคารอเมริกาและธนาคารศรีอยุธยา เคยมีบทบาทในฐานะกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในธนาคารเอเชียทรัสต์

นิรันดร์ วิจิตรานนท์เป็นน้องชายคุณหญิงอีกคนที่มีบทบาทปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารในกิจการโทรทัศน์ช่อง 3 ร่วมกับตระกูลมาลีนนท์ ในอดีตนิรันดร์ได้ดึงเพื่อนสนิทอย่างณรงค์ จุลชาติเข้ามาเป็นกุนซือสำคัญในการฮุบกิจการบริษัทชลประทานซีเมนต์จนสำเร็จ สามารถโค่นล้มผู้บริหารมืออาชีพอย่างหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์และ ดร. รชฎ กาญจนวณิชย์ได้

นอกจากสายคุณหญิงลลิลทิพย์แล้ว ตระกูลวิจิตรานนท์ที่เป็นสายที่ 3 ยังมีอยู่อีก 6 คนคือ สุรีย์ สุนี สุพัตรา สุกันยา สุธีราและสุธัญญะ ส่วนสายที่ 4 ได้แก่สุธรรม วิจิตรานนท์และอนงค์พันธุ์

ครอบครัวใหญ่อย่างตระกูลวิจิตรานนท์นี้มีพระยานิพนธ์ เป็นผู้นำและวางรากฐานธุรกิจตั้งแต่กาลก่อน หลังจากที่พระยานิพนธ์ฯ ออกจากราชการ ก็ได้ริเริ่มทำร้านหนังสือและเครื่องเขียนที่ใหญ่ที่สุดชื่อร้านกรุงเทพบรรณาคาร และได้ซื้อโรงพิมพ์สยามบรรณากิจเพื่อจัดพิมพ์หนังสือตำราพจนานุกรม ประมวลศัพท์วิทยาการและพิมพ์ปทานุกรมของสอ เศรษฐบุตร

มรดกชิ้นใหญ่และสำคัญที่พระยานิพนธ์ฯ ได้สั่งสมเอาไว้มาก ๆ ก็คือที่ดินแถบสุขุมวิทและบางกะปิ ซึ่งได้กลายเป็นสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลในปัจจุบันสำหรับลูกหลานตระกูล วิจิตรานนท์

"เมื่อนายสันตติ์ได้ลาออกจากราชการแล้ว มีเวลาเป็นของตนมากขึ้น ได้คิดทำมาหากินทางซื้อขายและเปิดทำเลที่ดินขึ้นอีกเป็นงานใหญ่กว้างขวางทางบางกะปิ เริ่มต้นด้วยการซื้อที่นาตัดถนนมาดีไปดี ด้วยความมุ่งหมายจะให้เชื่อมถนนหลวงที่ไปสมุทรปราการกับคลองแสนแสบ แต่ยังมิทันสำเร็จตลอด ถึงกระนั้นก็ดีโดยเหตุที่นายสันตติ์มีความคิดไกลจึงได้ตบแต่งถนนสายนี้ให้สมบูรณ์ด้วยความสะดวก อาทิคือ มีไฟฟ้า และประปา จนเป็นที่นิยมของคหบดีทั่วไป" พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้เขียนประทานไว้ในอนุสรณ์งานศพพระยานิพนธ์ฯ

เมื่อเริ่มต้นบุกเบิกพัฒนาที่ดินอย่างแข็งขันแล้วประสบความสำเร็จพระยานิพนธ์ฯ ก็ได้ตัดซอยอีก 4 ซอยจากถนนมาดีไปดีเชื่อมถนนทองหล่อและได้กว้านซื้อที่ดินในถนนทองหล่อจำนวนมาก นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตระกูลวิจิตรานนท์ได้กลายเป็นราชาที่ดินแถบสุขุมวิทรายใหญ่รายหนึ่ง

งานชิ้นสุดท้ายก่อนพระยานิพนธ์ฯ เสียชีวิตเพียงเดือนเดียวก็คือการจัดการขุดคลองระบายน้ำขนานกับถนนทองหล่อนี้จนสำเร็จ

ทุกวันนี้ตระกูลผู้ดีเก่าอย่าง "วิจิตรานนท์" ได้กลายเป็นเศรษฐีผู้ดีเก่าที่ร่ำรวยอยู่เงียบ ๆ ไม่นิยมเปิดตัวในวงสังคมธุรกิจ แต่ยังหยิ่งในเกียรติภูมิแห่งสายเลือดสีน้ำเงินที่บรรพบุรุษเฉกเช่นพระยานิพนธ์ได้สั่งสมบุญบารมีไว้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us