"สุชาดา" ถูกหัวหน้าตำหนิ...เพราะมาทำงานสายติดกัน 3 วัน เลยทำให้เธออารมณ์เสียบ่นพึมพำ...!
อยู่กับเพื่อนสนิท
"เป็นเพราะเจ้าแท็กซี่มิเตอร์ทีเดียว...ที่ต้องมาทำงานสาย"
เธอมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะอาศัยแท็กซี่มิเตอร์มาทำงานเพราะสามีเธอติดราชการที่ต่างจังหวัด
มาส่งเธอไม่ได้
แต่เธอก็พบกับปัญหาที่เรียกรถกี่คัน ๆ ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้งไป ในที่สุดต้องทนนั่งแท็กซี่เก่า
ๆ มาแทนจนมาวันนี้เธอได้ความรู้จริงจากเพื่อน ๆ ว่า "เพราะบ้านเธออยู่ไกลเกินไป"
นั่นเป็นปัญหาที่กำลังสะท้อนออกมาจากวงการแท็กซี่มิเตอร์ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ออกมาเพื่อว่าให้เป็นภาพลักษณ์ใหม่
ๆ สำหรับการบริการที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้
แท็กซี่มิเตอร์ ไม่ยอมวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ในระยะทางไกล ๆ มีการอ้างเหตุต่าง
ๆ นานา
เช่น ผู้โดยสารเรียก ก็บอกว่ากำลังจะไปส่งรถบ้าง กำลังจะไปกินข้างบ้าง
แต่ความจริง ๆ แล้ว ทุกคนอยากจะได้เงินกันทั้งนั้น แต่เป็นเพราะการวิ่งไปในระยะทางไกล
ๆ ผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์ทุกคนคิดคำนวณกันแล้วว่าไม่คุ้มสู้วิ่งระยะทางใกล้
ๆ ได้ราคาดีกว่าทั้ง ๆ ที่เป็นการผิดกฎหมายที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ผู้สันทัดกรณี เล่าว่า การคิดคำนวณ จากราคาค่าโดยสารที่ทางกรมขนส่งกำหนดในมิเตอร์
ไว้นั้น หากวิ่งเกินกว่า 10 กม. จะทำให้รายได้ในระยะที่เกินกว่า กม. ที่
10 ไม่คุ้มค่า เช่นระยะทางจากปากทางลาดพร้าวถึง แยกบางกะปิ 10 กม. แท็กซี่ธรรมดาจะเรียกค่าโดยสารประมาณ
100 บาท แต่หากเป็นแท็กซี่มิเตอร์ ค่าโดยสารจะได้เพียง 75 บาท หรือหากรถติดหน่อยก็
80 กว่าบาท
ผู้ขับรถแท็กซี่จึงพยายามไม่วิ่งในระยะทางไกล ๆ
"ผมวิ่งใกล้ ๆ เที่ยวหนึ่งใช้เวลา 10-15 นาทีได้เงิน 40-50 บาท บางทีวิ่งไปไกลเสียเวลาเป็นชั่วโมงได้มาแค่
100 กว่าบาทวิ่งใกล้ 2 เที่ยวก็ได้เท่ากัน แต่เสียเวลาน้อยกว่า เพียงแค่ครึ่งชั่วโมง
แถมแก๊สก็กินน้อยกว่าด้วย" ผู้ขับแท็กซี่มิเตอร์คนหนึ่งอธิบายให้ฟัง
การที่จะให้ตำรวจ ไปยืนเฝ้าทุกจุดก็เป็นไปไม่ได้ เฉพาะนั้นแล้วผู้โดยสารจึงต้องพึ่งตัวเองกันมากขึ้น
ยังมีวิธีการลูกเล่นอีกมากมายที่ผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์นำมาใช้
เช่น ยอมไปในระยะทางไกล ๆ แต่ไม่ขอเปิดมิเตอร์คิดราคาแบบเหมาจ่ายแบบระบบเก่า
หรือเปิดมิเตอร์แต่ขอบวกค่าโดยสารเพิ่มอีก 20-30 บาท เพราะกรณีที่มีผู้โดยสารนั่งไปต้องเปิดมิเตอร์
ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย
บางราย ใช้วิธีการโกงใช้เทคนิคต่าง ๆ เข้าช่วย เช่นด้วยการขับรถอ้อมเพื่อให้ได้ระยะทางมากขึ้น
หรือไปในที่รถติดมาก ๆ
เรียกไป 2 แห่งซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกัน จะขอเปิดมิเตอร์ 2 ครั้งนำค่าโดยสารมารวมกัน
เพราะการสตาร์ทครั้งหนึ่งจะได้ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 35 บาท
หรือบางกรณีที่ขับไปส่งผู้โดยสารในระยะทางใกล้ ๆ แล้วไม่ยอมปิดมิเตอร์เมื่อผู้โดยสารคนนั้นลงไปหวังว่า
มีผู้โดยสารเรียกต่อ มิเตอร์ก็จะนับต่อเนื่องไป ตรงนี้จึงต้องระวังเมื่อเรียกโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ครั้งใด
ต้องให้มิเตอร์เริ่มสตาร์ทใหม่ทุกครั้ง แต่อาจจะเจอกรณี เช่น คนขับพยายามเอามือปิด
ๆ บังไว้ เพราะมิเตอร์ที่ติดตั้งจะอยู่ใกล้ ๆ คันเกียร์
คนขับบางรายหนักกว่านั้น ไปเปลี่ยนล้อให้มีขนาดเล็กลง เพื่อจะทำให้รอบวิ่งมากขึ้น
แต่ได้ระยะทางน้อยอย่างนี้ก็ต้องสำรวจดูว่าล้อมีขนาดปกติหรือเปล่า
สำหรับการกดสวิทซ์ซ้ำ ที่หลายคนเข้าใจกันว่าเป็นวิธีการเพิ่มค่าโดยสาร
เป็นไปไม่ได้เพราะการกดซ้ำมิเตอร์จะลบของเก่าทิ้งไป เริ่มนับใหม่
และประการสุดท้าย สังเกตุดูว่าจะมีตะกั่วซีล ไว้ที่มุมมิเตอร์ 2 จุด มีการชำรุดหรือเปล่า
หากเกิดการชำรุด อาจจะเป็นไปได้ว่า กลไกภายในเครื่องอาจได้รับการแก้ไข ซึ่งสังเกตุว่าราคาอาจจะแพงกว่าทุกครั้งที่เคยนั่งมาในระยะทางที่เท่า
ๆ กันและเสียเวลาเท่ากัน
เพราะการติดตั้งมิเตอร์ ตะกั่วที่ซีลไว้อันแรก บริษัทที่นำมิเตอร์มาจำหน่ายได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมขนส่งแล้ว
หลังจากที่เจ้าของแท็กซี่ซื้อมาติดตั้ง ไปตรวจสภาพที่กรมขนส่ง ก็จะซีลตะกั่วรับรองอีกครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นภาพที่ผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์ทั้งหลาย ฉกฉวยโอกาสจากสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม
กระทำกับผู้บริโภค กระทรวงคมนาคมเจ้ากระทรวงต้นสังกัดแท็กซี่ จึงควรจะออกมาใส่ใจในเรื่องนี้ให้มาก
เพราะขณะนี้สิ่งที่เป็นสาเหตุคือราคาค่าเช่าแท็กซี่มิเตอร์กำลังปรับตัวสูงขึ้นจากระดับราคาประมาณ
400 บาทในช่วงแรก ๆ มาเป็น 500-600 บาทต่อกะแล้ว
ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์ต้องมาหาทางตุกติกเอากับผู้บริโภค เช่นโกงมิเตอร์
เลี่ยงไม่ไปไกล สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดเพราะคนขับแท็กซี่ ขณะที่ทุกคนกำลังแย่งกันมาขับแท็กซี่มิเตอร์เนื่องจากรถแท็กซี่เก่าหากินไม่ได้
จึงทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองมากเพียงพอกับนายทุน
แล้วสิ่งที่รัฐบาลอ้างว่านโยบายเสรีทำเพื่อแก้ไขปัญหา ค่าเช่าแพง ค่าโดยสารแพง
และให้บริการที่ดี จะไม่สัมฤทธิ์ผลตามจุดประสงค์