"กำแพงโควต้าแท็กซี่เก่าพังลงทันที หลังรัฐบาลเปิดให้เพิ่มจำนวนแท็กซี่ได้อย่างเสรี
เล่นเอาเถ้าแก่นักปั่นป้ายต้องหยุดชะงัก....! ป้ายที่เคยมีราคากว่าครึ่งล้านวันนี้ไม่มีคนต้องการซื้อแท็กซี่มิเตอร์หลากสีสันบนท้องถนน
กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่สำหรับวงการแท็กซี่ไทย
แต่ผลประโยชน์ในเบื้องลึกที่ตีค่านับพันล้าน เป็นแรงผลักดัน ให้มีกลุ่มนายทุนหน้าใหม่ทุนหนาทยอยเดินหน้าเข้าสู่วงการ
จนนายทุนหน้าเก่าจำต้องปรับตัวสู้ทุกวิถีทาง เพื่อให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด
การแข่งขันจึงต้องรุนแรงขึ้นทุกขณะ แล้วผลประโยชน์นั้นจะตกอยู่กับใคร"
อาชีพขับแท็กซี่ เป็นอาชีพอิสระอีกอาชีพหนึ่ง ที่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
มีคนหลากหลายอาชีพได้หันเหวิถีชีวิตของตนมาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่
โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากการขายแรงงานในต่างประเทศเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา
เพราะรายได้ที่เป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย กับการขับรถเพียงหนึ่งกะ...ยังไม่หักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแล้วจะตกอยู่ราวหนึ่งพันบาทต่อวัน
เป็นเหตุผล ทำให้หลาย ๆ คนไม่ลังเลเลย ที่จะหันมายึดอาชีพการขับรถแท็กซี่...!
เช่นเดียวกับ...บุญส่ง เขายึดอาชีพขับรถแท็กซี่มาเกือบจะ 3 ปีเต็ม
"ช่วงที่ผมเข้ามาขับแท็กซี่ใหม่ ๆ เมื่อประมาณกลางปี 33 เป็นยุคบูมของวงการแท็กซี่
แม้ค่าเช่าจะแพงอย่างที่เคยสูงสุดถึง 450 บาทต่อหนึ่งกะ คนขับแท็กซี่อยู่ได้อย่างสบาย
หักค่าใช้จ่ายคือค่าเช่า ค่าแก๊สแล้ว อย่างต่ำ ๆ ถือว่าไม่ค่อยจะดีนัก ก็ได้กัน
3-4 ร้อยบาทหรือหากวันไหนดีหน่อย ก็ได้ 6-7 ร้อยบาทเลยทีเดียว" บุญส่งเล่าถึงรายได้ในอดีตด้วยสีหน้าวิตกกังวล
เพราะวันนี้ เขาขับรถมาถึงบ่ายสองโมงกว่าแล้ว ยังหาเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าเช่าเลย
"บุญส่ง คำมูล" เดิมมีอาชีพที่เดินตามรอยบรรพบุรุษ คือการทำนาปลูกข้าว
แต่เขาได้ตัดสินใจขายที่นาอันเป็นแหล่งทำมาหากินที่ได้มรดกตกทอดจากพ่อไป
เพื่อนำเงินมาเป็นค่าเครื่องบิน เดินทางไปแสวงโชคยังตะวันออกกลาง
ตามแบบฉบับของเพื่อนรุ่นพี่ ๆ ในหมู่บ้านเดียวกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
แต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย เป็นเหตุให้บุญส่งต้องเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนก่อนกำหนด
และไม่ได้สร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองดังที่ตั้งใจไว้เหมือนกับผู้ใช้แรงงานรุ่นเก่าก่อน
ที่เป็นคนจุดประกายความคิดให้เกิดขึ้นมาเมื่อครั้งอดีต
เขาเก็บสะสมเงินจากการขายแรงงานในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้เพียงเล็กน้อยไม่กี่หมื่นบาทจำต้องกลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหันมายึดอาชีพขับแท็กซี่
หลังจากได้รับการชักนำจากเพื่อนที่ขับแท็กซี่มาก่อนโดยไปเช่ารถกับเจ้าของอู่เก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านบรรทัดทองมาขับ
บุญส่งเล่าว่า เคยฟังเถ้าแก่เขาคุยกันถึงช่วงเริ่มต้นของธุรกิจแท็กซี่
ในอดีตอาชีพขับแท็กซี่เป็นอิสระไม่มีการจำกัดโควต้า ใครมีรถอยากจะจดทะเบียนแท็กซี่ก็ทำได้อย่างเสรี
ป้ายที่จดทะเบียนในยุคแรกนั้นจะมีอักษร "1ท" นำหน้า"ป้าย"
ไม่มีราคาค่างวดแต่อย่างใด
รถที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นแท็กซี่จะมียี่ห้อเรโนลด์ ออสติน ฟอร์ดเท็ม คิดค่าเช่าตกเพียงกะละ
45 บาท
"ค่าเช่าและรายได้ในอดีต แตกต่างจากปัจจุบันถึง 10 เท่าตัว ค่าโดยสารอย่างปัจจุบัน
200 บาท ในสมัยนั้น 20 บาทก็วิ่งได้...รายได้ของคนขับแท็กซี่ตกประมาณ 100
บาทต่อหนึ่งกะ" บุญส่งเน้นถึงคำพูดของเถ้าแก่
ประมาณปี 2513 ทางกระทรวงมหาดไทย สมัยที่จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้รถแท็กซี่ต้องประกอบการเป็นรูปบริษัทจำกัด
หรือสหกรณ์จำกัด โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าเป็นบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า
10 ล้านบาทและต้องมีรถแท็กซี่ไม่น้อยกว่า 500 คัน
ส่วนสหกรณ์จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 1,000 คน มีรถแท็กซี่ไม่น้อยกว่า
500 คันเช่นเดียวกัน
กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี 2517 ในกรณีที่ยังปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้
ไม่ได้ รมต. มหาดไทยมีอำนาจผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 2 ปี
"มีเอกชนหลาย ๆ ราย พยายามรวบรวมรถแท็กซี่ จัดตั้งบริษัทขึ้นมา แต่ปรากฏว่าไม่มีรายใดทำได้สำเร็จเพราะเจ้าของรถหลายคนเกรงว่า
เมื่อโอนรถของตนเองเข้าเป็นชื่อบริษัทแล้วจะหมดอิสระในการทำมาหากิน"
พะเยาว์ ทับทิม ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัดเล่าให้ฟัง
ในปีเดียวกันก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎกระทรวงมหาดไทยก็ได้งดไม่ให้มีการจดทะเบียนเพิ่มและทำการสำรวจจำนวนแท็กซี่
เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในเบื้องต้นปรากฏว่ามีรถอยู่ทั้งหมด 9,000 คัน
รถที่นำมาเป็นรถแท็กซี่ในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ได้ปรับเปลี่ยนรถ มาเป็นรถใหม่ยี่ห้อ
"นิสสันบลูเบิร์ด" รถยี่ห้อนี้มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวที่สุด
จนมีการกล่าวกันในบรรดาผู้ขับแท็กซี่สมัยนั้นว่าเป็นรถที่ "ทนมือทนเท้า"
นิสสัน บลูเบิร์ดเป็นตัวทำเงินให้กับเถ้าแก่เจ้าของอู่แท็กซี่อย่างเป็นกอบเป็นกำ
และทำให้บริษัทสยามกลการตัวแทนจำหน่ายรถยี่ห้อนี้ ฟื้นตัวจากการขาดทุนในยุคแรก
ๆ ส่วนรถที่นิยมรองลงไปก็คือโตโยต้าอาร์ที 40
หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรถ ค่าเช่าได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 60 บาท แต่อัตราค่าโดยสารยังคงอยู่ในราคาเดิม
ปี 2517-2518 ราคาป้ายทะเบียนแท็กซี่ 1 ท เริ่มมีราคาขึ้นมาบ้าง มาสูงสุดที่
70,000 บาท ก่อนสิ้นปี 2518
ต่อมาในปี 2519 พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับเก่าให้สหกรณ์มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน
ซึ่งลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 1,000 คน และลดจำนวนแท็กซี่เหลือ 100 คัน การผ่อนผันกฎเกณฑ์ลงนี้เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่
มีการรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น และสะดวกสำหรับการเข้ามาควบคุมดูแลของทางราชการ
พร้อมกับได้เพิ่มโควต้าทะเบียนแท็กซี่อีก 4,500 ป้ายโดยกำหนดเวลาให้มาจดทะเบียนเสร็จสิ้นภายในวันที่
30 เมษายน 2519 ในช่วงนั้นจึงมีผู้ประกอบการอาชีพขับรถแท็กซี่รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา
15 สหกรณ์ และรวมสหกรณ์เดิมอีก 1 เป็น 16สหกรณ์
ป้ายทะเบียนแท็กซี่ที่เพิ่มขึ้นอีก 4,500 ป้าย ซึ่งใช้อักษรนำหน้าเป็น
"2ท" ได้แบ่งโควต้าให้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ 6 สหกรณ์ และกับอีก 4 บริษัทแท็กซี่
ทะเบียนที่จัดสรรให้สหกรณ์นั้น ให้แต่ละสหกรณ์นำไปแบ่งกันในหมู่สมาชิก จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อต้องการให้ผู้มีอาชีพขับรถแท็กซี่มีเครื่องมือหากินเป็นของตนเอง
และหลังจากที่ป้ายทะเบียนรุ่น "2ท" ออกสู่ท้องตลาด ราคาป้ายทะเบียน
"1ท" ที่เคยมีการซื้อขายกันสูงถึง 70,000 บาทก็ได้ลดลงมา กล่าวกันว่าในช่วงนั้นป้ายทะเบียนแทบไม่มีการซื้อขายกันเลย
อย่างรถนิสสันบูลเบิร์ดมีการเสนอขายกันในช่วงนั้น 3 คัน 1 แสนบาทยังหาคนซื้อยาก
ป้าย"2ท" ที่ออกมาใหม่ไม่มีราคา
"ผมเข้ามาจับธุรกิจแท็กซี่ก่อนที่ป้ายทะเบียน 2ท จะออกมาได้ 2 ปี
ช่วงนั้นผมมีรถอยู่ 2 คัน เป็นรถยี่ห้อโตโยต้ารุ่นอาร์ที 40 แล้วค่อย ๆ ขยับมาเป็นรถรุ่นอาร์ที
80 อาร์ที 100 หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี" เถ้าแก่อู่แท็กซี่เก่ารายหนึ่ง
พูดถึงการลงทุนในช่วงนั้น ปรากฏว่าดำเนินธุรกิจมาได้เพียง 2-3 ปี เริ่มเกิดมรสุมทางการค้า
เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและประกอบกับเป็นช่วงที่แท็กซี่ "2ท"
4,500 คันออกมา อีกทั้งราคาน้ำมันก็ขยับตัวสูงขึ้นอาชีพขับแท็กซี่เริ่มหากินยาก
มีนายทุนหลายรายม้วนเสื่อไปเพราะขาดคนเช่ารถ
หลังจากนั้นประมาณปี 2523 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่ค่อยจะดีนัก
เถ้าแก่แท็กซี่พบทางออกที่จะแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่แพง โดยหันมาใช้แก๊สแทนแต่กว่าที่ทางราชการจะยอมให้ติดตั้ง
ก็ใช้เวลานานพอดูเพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ
ทางราชการมองถึงความไม่ปลอดภัย เพราะระบบการใช้เชื้อเพลิงแก๊สไม่เคยมีการทำกันมาก่อน
จนเกิดเป็นคดีขึ้นที่ สน. นางเลิ้ง ถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล แต่ในที่สุดยอมให้ใช้กันได้
เจ้าของอู่จึงคิดค่าเช่าเพิ่มอีก 20 บาท มาเป็น 80 บาท เนื่องจากต้องการลงทุนในถังแก๊ส
ป้าย "1ท" เริ่มมีราคาขึ้นมาอีกครั้ง มีการซื้อขายกัน 20,000 บาท
และป้าย 2 ท ขายกันประมาณ 10,000 บาท
การที่ป้ายทะเบียน "1ท" มีราคาแพงกว่าป้าย "2ท" เพราะว่าป้าย
"1ท" สามารถมีการซื้อขายและโอนย้ายข้ามบริษัทแท็กซี่หรือสหกรณ์ได้
ในขณะที่ป้าย "2ท" จำกัดการโอนย้ายอยู่ภายในบริษัทหรือสหกรณ์เดียวกันเท่านั้น
ช่วงนี้นายทุนเจ้าของอู่เดิมเริ่มพากันซื้อป้ายสะสมไว้เพื่อเก็งราคา ช่วงไล่เรี่ยกันนั้น
รถแท็กซี่ก็หันมาติดแอร์ ทำให้เป็นที่นิยมของผู้โดยสาร ค่าเช่าจึงขยับตัวสูงขึ้นไปเรื่อย
ๆ จนถึงหลักแสน คนขับที่มีป้ายเป็นของตนเองเริ่มขายป้ายให้กับนายทุน แล้วหวนกลับมาเช่ารถขับแทน
พฤติกรรมนี้เป็นลูกโซ่กันไปหมด จนกล่าวได้ว่าท้ายที่สุดวัตถุประสงค์ที่จะให้คนขับรถมีรถเป็นของตนเองล้มเหลวไป
ป้ายจึงตกมาอยู่กับนายทุนโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก...!
ในราวปี 2530 ที่เศรษฐกิจเริ่มบูมราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นคนเล่นหุ่นมีกำไรงาม
กอปรกับผู้ที่ไปขายแรงงานในตะวันออกกลาง เริ่มกลับมาปักหลักที่บ้านเกิดเมืองนอน
มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมามากมาย
เริ่มมีผู้คนหน้าใหม่เดินเข้าสู่ธุรกิจแท็กซี่ มาแย่งกันลงทุนในแท็กซี่
ป้ายแท็กซี่เริ่มขาดตลาด ทำให้ราคาดีดตัวขึ้นไป 300,000 บาท สำหรับป้าย "2ท"
และ 400,000 บาท สำหรับป้าย "1ท"
จนกระทั่งมาในปี 2534 ป้าย 1 ท ได้ขยับตัวขึ้นไปถึง 600,000 บาท และป้าย
"2ท" ขึ้นไปถึง 500,000 บาท และค่าเช่าต่อหนึ่งกะสูงถึง 450 บาท
เพราะการลงทุนในแท็กซี่ 1 คันรวมราคารถและราคาป้าย จนถึงเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย
เป็นต้นทุนรวมจะตกประมาณคันละเกือบล้านบาท
ในขณะที่การขยายตัวของ กรุงเทพฯและเขตปริมณฑล ได้เจริญขึ้นมากตามโครงการที่อยู่อาศัยถูกสร้างเพิ่มขึ้นมาในเขตรอบนอก
ระบบขนส่งมวลชน หรือรถเมล์ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของประชากรได้ทัน
จึงทำให้มีผู้คนในหลาย ๆ กลุ่มหันมาใช้บริการของแท็กซี่กันมากขึ้น คนขับแย่งกันขับทำให้ค่าเช่ามีการปรับเพิ่มขึ้นตามใจเถ้าแก่
ค่าโดยสารจึงต้องแพงขึ้นไปเป็นเงาตามตัว
ความเดือดร้อนตกอยู่กับประชาชนผู้โดยสาร มีการร้องเรียนให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
จนล่วงเลยมาในปี 2535
เป็นช่วงเดียวกับที่นุกูล ประจวบเหมาะ นั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลนายกอานันท์"
ยุคเปิดเสรี ทางกรมขนส่งต้นสังกัดจึงรับหน้าที่ไปทำการศึกษาถึงการแก้ไขปัญหาของแท็กซี่ว่า
"ทำไมค่าเช่าและค่าโดยสาร แพงเกินกว่าเหตุ"
หลังจากศึกษา ผลปรากฏว่าจำนวนรถที่มีอยู่เพียง 13,500 คัน คือทะเบียน 1ท
9,000 คัน และทะเบียน 2ท 4,500 คัน(ที่เปิดเพิ่มใหม่ให้เมื่อปี 2519) เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพราะจำนวนรถไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร
"นั่นเป็นเพราะว่า การจำกัดโควต้าไม่ให้แท็กซี่มีเพิ่มขึ้น สภาพการณ์ดังกล่าว
เป็นเช่นนี้มานานเกือบจะ 20 ปี" ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยามเล่าให้ฟัง
นุกูล จึงผลักดันนโยบายเปิดเสรีออกไป ในที่สุดรัฐประกาศให้มีการเพิ่มป้ายรถแท็กซี่
ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนโดยออกเป็นกฎกระทรวงมาเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2535 ที่ผ่านมา
โดยหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงนั้น กรมขนส่งทางบกเป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบการจดทะเบียนเพิ่มโดยตรง
การเปิดเสรีในครั้งนี้จะอนุญาตให้มีผู้มายื่นขอจดทะเบียนแท็กซี่เพิ่มได้
2 ลักษณะคือ 1. หมวดทะเบียน "5ท" สำหรับประเภทบุคคลทั่วไป ให้ใช้สีของรถเป็นสีเขียวเหลือง
และ 2. หมวดทะเบียน "6ท" สำหรับประเภทนิติบุคคลหรือสหกรณ์ สีของรถบังคับให้ใช้ตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนด
ซึ่งแตกต่างจากแท็กซี่รุ่นเก่า "1ท" และ "2ท" โดยสิ้นเชิง
รถแท็กซี่ที่มาขอจดทะเบียนใหม่ มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าเครื่องยนต์จะต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่
1,500 ซีซีขึ้นไป เป็นรถที่จดทะเบียนมาแล้วไม่เกิน 2 ปีหรือใช้งานมาแล้วไม่เกิน
20,000 กม.
ต้องมีการติดตั้งมาตรค่าโดยสาร (มิเตอร์) และมีเครื่องหมายติดไว้ให้เห็นบนหลังคารถว่า
"TAXI METER" อย่างชัดเจน
และที่สำคัญกำหนดให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 7 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนแท็กซี่เสรีนั้นหากยื่นขอในนามบุคคล
(รถสีเขียวเหลือง) ต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ มีข้อบังคับว่า ยื่นจดทะเบียนได้คนละคันและห้ามไม่ให้มีการโอนให้ผู้อื่นนอกจากทายาท
หากเป็นนิติบุคคลหรือสหกรณ์ จะต้องมีหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทหรือสหกรณ์
สามารถมีรถได้ตามจำนวนที่ขอ โดยจะพิจารณาควบคู่ไปกับทุนจดทะเบียนว่ามีขอบเขตของการรับผิดชอบมากน้อยเท่าใดและจะต้องมีสถานที่จอดรถ
โดยแนบหลังโฉนดมาแสดงเพื่อไม่ให้การเพิ่มรถในครั้งนี้อาศัยริมทางเท้าเป็นที่จอดเมื่อไม่ออกบริการ
และห้ามไม่ให้โอนรถออกจากบริษัทหรือสหกรณ์
21 พฤษภาคม 2535 เป็นวันแรกที่กรมการขนส่งทางบก รับยื่นความจำนงจากผู้ที่ต้องการจดทะเบียนรถแท็กซี่มิเตอร์
มีผู้ให้ความสนใจมายื่นขอจดดทะเบียนเป็นจำนวนมากทั้งในนามนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
"ใครอยากได้เร็วหน่อยก็ทำผ่านหน้าม้า..." บุญส่ง เล่าถึงวิธีการจดทะเบียนทางลัด
ที่ได้ยินมาจากพรรคพวกที่ขับแท็กซี่ด้วยกัน "การจดทะเบียนไม่มีอะไรมากจ่ายไป
3 พันบาท เขารวมค่าตรวจสภาพไว้แล้ว รถก็ออกมาในวันเดียว หากไม่จ่ายต้องรอเป็นอาทิตย์"
3 เดือนต่อมาแท็กซี่มิเตอร์ก็ทยอยออกมาให้บริการประชาชนอย่างไม่ขาดสาย
จากการสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกล่าสุด ปรากฏว่ามีจำนวนผู้ที่มายื่นขอจดทะเบียนแท็กซี่มิเตอร์
ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2536 แล้วทั้งสิ้น 9,530
ราย จำนวนรถทั้งหมด 37,887 คัน
โดยแบ่งเป็นยื่นขอจดทะเบียนในนามนิติบุคคล 312 รายจำนวนรถ 28,669 คัน และเป็นบุคคลธรรมดา
9,218 ราย จำนวนรถ 9,218 คัน
มีผู้ที่ได้รับการพิจารณาและผ่านการนำรถแท็กซี่มาติดมิเตอร์และตรวจสภาพ
จากกรมขนส่งออกมาให้บริการได้แล้ว แบ่งเป็นประเภทนิติบุคคลจำนวน 147 บริษัท
มีรถทั้งหมดประมาณ 4,423 คัน และที่เป็นประเภทบุคคลธรรมดา จำนวน 1,694 ราย
มีรถ 1,694 คัน
การลงทุนในธุรกิจแท็กซี่มิเตอร์ในขณะนี้ ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมเช่น
ผู้ลงทุนทำแท็กซี่ ผู้ขับแท็กซี่ บริษัทรถต่าง ๆ บริษัทไฟแนนซ์และนายทุนนอกระบบ
จากจำนวนรถที่ออกมาให้บริการแล้ว กว่า 7,000 คันทำให้มีเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจนี้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า
1,000 ล้านบาท และยังมีการกอบโกยผลประโยชน์กันหลาย ๆ รูปแบบที่ตักตวงเอาจากธุรกิจแท็กซี่มิเตอร์เพราะกำลังได้รับความนิยม
"ใครที่ลงทุนก่อน จะได้เปรียบเหมือนกับสินค้าที่กำลังบูมใครผลิตเร็วขายเร็วคืนทุนเร็ว"
ผู้ประกอบการแท็กซี่มิเตอร์รายหนึ่งกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้มีนักลงทุนทยอยกันเข้ามาสู่ธุรกิจแท็กซี่มิเตอร์อย่างไม่ขาดสาย
แหล่งข่าวในวงการแท็กซี่ท่านหนึ่งกล่าวว่า ในจำนวนผู้ที่ยื่นขอในนามนิติบุคคล
147 บริษัท ส่วนใหญ่เป็น นายทุนหน้าใหม่ทุนหนาที่เคยเกี่ยวข้องอยู่กับวงการแท็กซี่และมองเห็นโอกาส
ไม่ว่าจะเป็นนายทุนนอกระบบ ที่เคยปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มแท็กซี่ บริษัทซื้อขายรถยนต์บริษัทไฟแนนซ์
และมีบางส่วนเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจแท็กซี่ให้เช่าอยู่แล้ว
อย่างเช่นกลุ่มที่เติบโตมาในวงการค้ารถยนต์ บริษัท รวมไทยแท็กซี่ จำกัดเจ้าของเป็นที่รู้จักกันในนาม
"ตี๋รวมชัยยนต์" กิจการดั้งเดิมคือจัดซื้อขายรถยนต์ได้ยื่นขอจดทะเบียนแท็กซี่ไว้
700 คัน และนำรถออกมาบริการแล้ว 396 คัน
หรือบริษัท กลุ่มทองหล่อ จำกัด ในนามเบนซ์ทองหล่อ ถือว่าเป็นผู้คลุกคลีอยู่ในวงการซื้อขายรถเบนซ์
ยื่นขอจดทะเบียนแท็กซี่ไว้ถึง 2,000 คัน วางแผนไว้ว่าจะเอารถเบนซ์รุ่น 190
E มาทำเป็นแท็กซี่ แต่บังเอิญว่ารถเบนซ์ 190 E มีผู้สนใจจองซื้อเป็นจำนวนมาก
จึงยังไม่ได้เริ่มเข้ามาลงจับธุรกิจแท็กซี่อย่างจริงจัง
จากกลุ่มบริษัทไฟแนนซ์ เช่น บริษัท เจ.ยู.เค จำกัดยื่นขอรถไว้ 450 คัน
มีรถออกมาบริการแล้ว 155 คัน บริษัทไซแรม จำกัด ยื่นขอไว้ 600 คัน มีรถออกบริการแล้ว
147 คันและบริษัทแท็กซี่มิเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากแบงก์ทหารไทยขอจดทะเบียนไว้
1,000 คัน ขณะนี้มีรถออกมาบริการแล้ว 174 คัน
บริษัท พูนทวีทรานสปอร์ต จำกัด มีกลุ่มนักการเมืองและผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมที่อยู่เบื้องหลัง
ยื่นขอจดทะเบียนรถไว้ 1,000 คันมีรถออกมาบริการแล้ว 63 คัน บริษัทนครหลวงแท็กซี่
จำกัดเป็นกลุ่มของนายทุนแท็กซี่ทั้งเก่าและใหม่จับมือร่วมลงทุน ยื่นขอรถแท็กซี่ไว้
400 คัน ขณะนี้มีรถออกมาบริการแล้ว 306 คัน
"ทั้งหมดล้วนแต่เป็นกลุ่มนายทุนหน้าใหม่ที่เดินเข้าสู่วงการแท็กซี่มิเตอร์"
แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว
นอกจากนั้นยังมีสหกรณ์ใหญ่อย่างสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพ จำกัดยื่นขอไว้ 500
คัน มีรถออกมาบริการแล้ว247 คันหรือสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตรยื่นขอไว้ 499 คัน
มีรถออกมาบริการแล้ว 248 คัน
และยังมีผู้ยื่นจดทะเบียนแท็กซี่ในนามบุคคลอีกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยเช่ารถมาก่อน
หวังมีรถเป็นของตนเอง ไปดาวน์รถมาผ่อนเองบ้าง หรือเป็นการเช่าซื้อจากนายทุนบ้างก็มี
"แท็กซี่มิเตอร์" กำลังกลายมาเป็นภาพลักษณ์ใหม่สำหรับวงการแท็กซี่ไทยมีรถใหม่
ๆ คันโต ๆ ขนาดตั้งแต่ 1,500 ซีซี. 1,600 ซีซี. ขึ้นไป ออกวิ่งบริการให้ความสะดวกกับผู้โดยสาร
การคิดราคาเป็นมาตรฐานสากล
มีทั้งเสียงที่คัดค้านและที่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล...ในครั้งนี้
"รัฐบาลหลายยุค หลายสมัยไม่เข้าใจระบบของแท็กซี่ที่แท้จริง"
วิฑูรย์ แนวพาณิชย์ รองประธานสหกรณ์แท็กซี่สยามจำกัด ให้ความเห็นในเรื่องเปิดเสรีแท็กซี่
วิฑูรย์แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่าการประกอบการรถรับจ้างประเภทอื่น ๆ อย่าง
รถ บขส. ที่วิ่งประจำต่างจังหวัดเขารู้ว่าในขณะนี้ว่ามีมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเขาก็ขออนุมัติทางการ
เพิ่มรถมารองรับผู้โดยสาร ในปริมาณที่เพียงพอต่อการสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาเพียง
2 คัน หรือมากหน่อย 5 คัน ไม่เพิ่มรถเข้าไปเพื่อวิ่งแข่งกันเอง
"แต่ว่ารถแท็กซี่ เวลานี้ให้กันจนล้น เปิดเสรีให้มาจดทะเบียนเพิ่มไม่จำกัดจำนวน
ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง" วิฑูรย์กล่าว
ซึ่งก่อนหน้านั้นสหกรณ์เอง ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อขอป้ายทะเบียนเพิ่ม
แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะการตกลงในเรื่องของจำนวนที่ไม่ลงตัว ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ
"ตอนนี้เริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะว่ารถเก่าเริ่มวิ่งไม่ได้ ไม่มีผู้โดยสารเรียก
รถใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน" วิฑูรย์กล่าวถึงสถานการณ์ของตลาดแท็กซี่ในปัจจุบัน
บรรดาผู้ขับรถแท็กซี่เก่า "1ท" "2ท" ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
รายได้ลดลงไปกว่าครึ่ง บางครั้งถึงกับไม่พอค่าเช่า จึงส่งผลกระทบต่อเถ้าแก่เจ้าของอู่ให้มีรายได้ลดตามลงไป
เช่นเดียวกับ บุญส่ง ที่ขับรถแท็กซี่รุ่นทะเบียน "1ท" สภาพของรถ
อยู่ระหว่างกลางเก่ากลางใหม่ ในช่วงนี้ไม่ถูกเรียกใช้บริการเหมือนอย่างในอดีต
เพราะผู้โดยสารมักจะเรียกโดยสาร "แท็กซี่มิเตอร์" ที่เป็นรถใหม่กว่าเพิ่งถอยออกจากโชว์รูมมาเพียงไม่กี่เดือน
ก่อนหน้าที่แท็กซี่ มิเตอร์จะเฟื่องฟู มีเจ้าของอู่ที่ประกอบแท็กซี่รุ่นเก่าหลายคนมองว่าแท็กซี่มิเตอร์ออกมาแล้วจะไม่ได้รับความนิยมบ้าง
เป็นของใหม่คนไม่เคยชินบ้าง ค่าโดยสารจะแพงกว่าแท็กซี่ธรรมดาบ้าง
จึงเกิดความชะล่าใจ ปล่อยให้มีนักลงทุนหน้าใหม่ ที่มองเห็นโอกาสหันมาลงทุนทำแท็กซี่มิเตอร์กัน
เมื่อการแข่งขันระหว่าง 2 กลุ่ม เกิดมีรายได้ที่แตกต่างกัน
บรรดาเถ้าแก่แท็กซี่เก่า รู้ว่าธุรกิจของตนเองต้องเสียผลประโยชน์ จึงได้มีการรวมตัวกันออกมาร้องเรียนต่อกรมการขนส่งทางบกขอผ่อนปรนให้แท็กซี่เก่าติดตั้งมิเตอร์ได้บ้าง
แต่ไม่เป็นผล
มีบ้างรายอดทนไม่ไหว ถึงขนาดเลียนแบบแท็กซี่รุ่นใหม่ด้วยวิธีการต่าง ๆ
ติดตั้งป้าย
"TAXI METER" บนหลังคารถเพื่อหลอกตาผู้โดยสาร และมีถึงขั้นติดมิเตอร์ค่าโดยสารและทำป้าย
"TAXI METER" เหมือนแท็กซี่รุ่นใหม่ทุกอย่างออกมาบริการด้วยราคาที่ชวนเชิญไว้หน้ากระจก
เริ่มต้นด้วยราคา 20 บาท ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตามจับกันให้วุ่นวาย เพราะเป็นการผิดกฎหมาย
กิติ หอมรสสุคนธ์ ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสมาคม
เพื่อให้มีการติดตั้งมิเตอร์ กับรถแท็กซี่รุ่นเก่าทุกคัน ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
อย่างเป็นทางการ
เพื่อให้แท็กซี่เก่าทุกคัน สามารถติดมิเตอร์ได้อย่างถูกกฎหมายโดยมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่แน่นอนคือกิโลเมตรแรก
20 บาท กิโลเมตรต่อ ๆ ไป 5 บาทและขณะรถติดคิดเป็นเวลานาทีละ 1 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่ทางกรมขนส่งกำหนดในรถแท็กซี่มิเตอร์คือ
2 กิโลเมตรแรก 35 บาท กิโลเมตรที่ 3 เก็บเพิ่มอีก 5 บาท กิโลเมตรที่ 4-5
4.50 บาท กิโลเมตรที่ 6-7 4 บาท กิโลเมตรที่ 7 ขึ้นไป 3.50 บาท และคิดตามเวลานาทีละ
1 บาท (ขณะรถติด)
จนมีการประท้วงกันในกลุ่มเล็กๆ หลังจากที่แท็กซี่บางคันถูกจับ และเรื่องได้ยุติลงชั่วคราว
เมื่อทางรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมขอศึกษาความเป็นไปได้
กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่เก่า พยายามเจรจาให้ทางรัฐบาลผ่อนปรน มีการประชุมร่วม
เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องกันมา 2 ครั้งในเดือนมกราคมโดยกรมการขนส่งทางบกในนามกระทรวงคมนาคมกับกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่เก่า
อย่างไรก็ตาม "วินัย สมพงษ์" เจ้ากระทรวงคมนาคมออกมายืนยันว่า
เหตุผลที่ทางสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่นำมาอ้างอิงยังไม่ได้ชัดเจน การนำรถแท็กซี่เก่าไปติดมิเตอร์เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ถือว่าขัดกับเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐ หากเจ้าของอู่แท็กซี่เก่ารายไหนจะเข้ามาติดมิเตอร์ก็ไม่ได้ห้าม
แต่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายคือต้องเป็นรถใหม่ รถเก่าคันไหนไปติดมิเตอร์ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย
เพราะการผลักดันนโยบายเสรีให้ออกมานั้น ทางรัฐบาลถือว่าได้มองถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก
การแก้ในเรื่องนี้ เกิดจากที่ปัญหาที่ค่าเช่า ค่าโดยสารแพง
แต่เบื้องลึกภาพที่สะท้อนออกมานั้น กลายเป็นความขัดแย้งกันในผลประโยชน์
ระหว่าง 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่มนายทุนเก่าที่เสียประโยชน์ และกลุ่มนายทุนหน้าใหม่
ที่ถูกมองว่ามีนักการเมืองมาเป็นนายทุนหนุนหลัง
"หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมพรรครัฐบาล กำลังไปกู้เงินจากแบงก์กรุงเทพมา
55 ล้านบาท เพื่อให้กับสมาคมผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ ซึ่งมี คม คำพิลา เป็นนายกสมาคม
และมีปราโมทช์ โคตรมณี เป็นเลขาสมาคม เพื่อจะจดทะเบียนสหกรณ์ เข้ามาลงทุนในแท็กซี่มิเตอร์"
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ผู้ประกอบการในสมาคมแท็กซี่อีกราย ให้ทัศนะว่า "ไม่มีประเทศใดที่เปิดให้แท็กซี่เพิ่มได้อย่างเสรี
ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงหรือสิงคโปร์ รัฐบาลเขาเข้าไปควบคุมดูแลบ้านเราก็น่าจะยอมผ่อนปรนให้บ้าง
ควรจะให้แท็กซี่เก่าติดมิเตอร์ไปสัก 2-3 ปี เพื่อว่าให้เวลาที่เขาจะปรับตัว
ถึงเวลานั้นก็ค่อยบังคับให้เปลี่ยนรถใหม่ ไม่อย่างนั้นเมื่อคนขับรถเก่าไม่สามารถหาเงินได้
แล้วผู้ประกอบการเก่าจะอยู่ไม่ได้ธุรกิจของเขาก็ล้ม"
ส่วนผู้ประกอบการแท็กซี่มิเตอร์รายใหญ่คนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า "ก่อนที่เราจะนำเงินจำนวนหนึ่งมาลงทุน
เราก็มองว่าความเป็นไปได้ของแท็กซี่มิเตอร์ ที่เปิดโอกาสให้มีหน้าใหม่เข้ามา
เพราะกฎหมายที่ออกมาเราศึกษาแล้วว่า การตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้ต้องคุ้มค่า
และวงจรเก่า ๆ ที่มีนายทุนเอารัดเอาเปรียบผู้ขับขี่ก็คงต้องหมดไป การบริการที่ดีด้วยรถใหม่
ๆ มีราคาที่เป็นธรรม ก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แล้วอยู่ ๆ พอตนเสียผลประโยชน์ก็กลับมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม
ดูซิว่า...มันเป็นการยุติธรรมหรือไม่"
นั่นเป็นสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย ว่าต่างคนต่างก็มีเหตุผล
ซึ่งท่าทีเรื่องการติดมิเตอร์ในรถแท็กซี่เก่าก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล...โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม
นโยบายเปิดเสรี ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย เหมือนเหตุการณ์ที่มีการเพิ่มทะเบียน
"2ท" แต่วันนี้จำนวนการเพิ่ม แตกต่างจากในอดีตมาก เพราะเปิดเสรีอย่างไม่จำกัดจำนวน
จำนวนแท็กซี่ กว่า 7,000 คันในขณะนี้ หากยังเปิดเสรี มีแนวโน้มว่าแท็กซี่มิเตอร์
จะยังเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อรวมกันรถที่มีอยู่เดิมอีก 13,500 คัน
กำลังเป็นตัวเลขที่เกินกว่าความต้องการของผู้โดยสาร
การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวปรับสมดุลระหว่างจำนวนแท็กซี่กับจำนวนความต้องการของผู้โดยสาร
ผู้สันทัดกรณีได้ให้ความเห็นว่าจุดสมดุลของรถในวันนี้กับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นปีละไม่เกิน
10% รถแท็กซี่ไม่น่าจะเกิน 20,000 คัน
ดังนั้นหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การแข่งขันของธุรกิจแท็กซี่จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก
ค่าเช่าและจำนวนเที่ยวที่จะรับผู้โดยสารของแท็กซี่แต่ละคัน จะต้องหั่นราคากันลงเพราะไม่มีคนขับไม่มีผู้โดยสารเพราะรถที่เพิ่มเกินกว่าความต้องการในตลาด
ผู้ประกอบการหลายรายคงต้องล้มละลาย ม้วนเสื่อกลับไปไม่น้อยกว่า 30% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในปัจจุบัน
มีเพียงนายทุนผู้มีสายป่านยาว ที่พอจะแบกรับภาระการขาดทุนได้นาน ๆ เท่านั้น
คือผู้คนที่จะกอบโกยผลประโยชน์ในอนาคต