ปัจจุบันวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การทำงานต้องอาศัยความเร่งรีบแข่งขันกับเวลา
เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดจึงได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
ผลที่ตามมาจากการขยายตัวของความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทำให้การผลิตเกิดการขยายตัว
มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานในอัตราที่สูง
และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามามากขึ้น อุตสาหกรรมนี้จึงได้รับการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ
จนในปัจจุบันสามารถผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
การพิจารณาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนี้ จะพิจารณาถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
ในฐานะที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น
ได้แก่เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลมไฟฟ้า เตาอบ ไมโครเวฟ หลอดไฟฟ้า เครื่องซักผ้า
เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น
บทบาทและความสำคัญ
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
พิจารณาได้จากมูลค่าการลงทุนสุทธิจากต่างประเทศในไทย พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าการลงทุนสุทธิในช่วงปี
2528-2533 สูงถึงร้อยละ 107.7 ปี 2531 มีการขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 455.8
หรือประมาณ 4.6 เท่า ในปี 2534 มีมูลค่า 8,932.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ
38.3 ของการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งหมด และเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในปีนี้ด้วย
มูลค่าการลงทุนสุทธิในปี 2534 ลดลงร้อยละ 17.5 เนื่องจากการได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย
แต่ยังถือว่ามีมูลค่าที่สูงอยู่เมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ
ผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2533 มีมูลค่าเพิ่มถึง 4,901.6
ล้านบาท ( ณ ราคาปัจจุบัน และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าเพิ่มของทั้งภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ
15.1 ซึ่งนับว่ามีการขยายตัวในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญในการก่อให้เกิดการจ้างงานเพราะเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก
(LABOUR INTENSIVE) จากสถิติของกรมแรงงานพบว่า ปัจจุบันจำนวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้มีประมาณ
40,000 คน คิดเป็นร้อยละ 3.02 ของการจ้างงานทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยังมีบทบาทสำคัญในด้านการขยายตัวทางด้านการส่งออกมากขึ้น
ประมาณการว่าในปี 2535 เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมีมูลค่าการส่งออกถึง 11,690
ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2534 ถึงร้อยละ 30.2 ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนเข้ามาทำการผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่
การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวของการส่งออกแล้ว
ยังก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องตามมาอีก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์
เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นนั้น
พบว่ามีปัจจัยที่สำคัญหลายประการดังนี้ คือ
- อัตราค่าจ้างแรงงานของไทยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและในเอเชียด้วยกันเอง
และอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดความได้เปรียบในแง่ของการทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ
และประเทศผู้ลงทุนประสบปัญหาค่าแรงงานเพิ่มขึ้นสูง จึงทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย
- นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการสนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้
ได้แก่การให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่ผู้ลงทุน การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก
และการกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมเป็นต้น
- การเพิ่มขึ้นของค่าเงินในประเทศผู้ลงทุนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
- ประเทศผู้ลงทุนหลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหากีดกันทางการค้าจากประเทศต่าง
ๆ ด้วยมาตรการด้านกำแพงภาษี การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นต้น
ทำให้ผู้ลงทุนเหล่านั้นหลีกเลี่ยงปัญหาโดยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ยังได้สิทธิพิเศษเหล่านี้อยู่
กลุ่มผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย ได้แก่
- ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เข้ามาในประเทศไทย
- สหรัฐอเมริกา
- กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์
- อื่น ๆ
เครื่องปรับอากาศ
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2503 โดยนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูปจากต่างประเทศมาประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์
บริษัท ซันโยยูนิเวอร์แซล อิเล็กทริค จำกัด เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ตั้งโรงงานประกอบเครื่องปรับอากาศขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นลำดับ
ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย
ประเภทของผู้ผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทสาขาทำการผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องหมายการค้าจากบริษัทแม่
เช่น ยอร์ค แคเรียร์ เทรน เป็นต้น
- ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของญี่ปุ่นผู้ผลิตเหล่านี้มักจะผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นด้วยได้แก่
มิตซูบิชิ เนชั่นแนล โตชิบา ซันโย และฮิตาชิ
- กลุ่มผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศ ทำการผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้าของตนเองส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตโดยลอกเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศ
คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และมีระดับราคาถูก
ปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้มีอยู่ประมาณ 13 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
และไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ในช่วงปี 2531-2535 พบว่ามีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนประมาณ
10 ราย และบางรายได้เริ่มทำการผลิตบ้างแล้ว ซึ่งถ้าผู้ผลิตเหล่านี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการผลิตได้ทั้งหมดแล้ว
จะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มอีกถึง 1,725,000 เครื่องต่อปีและกว่าร้อยละ 90
ของกำลังการผลิตนี้จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณร้อยละ
40 ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด วัตถุดิบที่นำเข้าได้แก่ COMPRESSORS,
THERMOSTAT, COPPER TUBE, CAPACITORS โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
ปริมาณการผลิตเครื่องปรับอากาศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น (2530-2534) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของปริมาณการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ในช่วงดังกล่าวนี้
สูงถึงร้อยละ 53.6 และปริมาณการผลิตในปี 2534 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ
106.8 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาผลิตเพื่อมุ่งการส่งออกเป็นหลัก
ตู้เย็น
การผลิตตู้เย็นเริ่มขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2506 โดยบริษัท ซันโยยูนิเวอร์แซลอิเล็กทริคผลิตขึ้นเป็นรายแรก
ปัจจุบันมีผู้ผลิตอยู่ทั้งหมดประมาณ 12 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ
5 ราย กำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ 6 ราย มีจำนวนประมาณ 12 ล้านเครื่องต่อปี
การผลิตตู้เย็นส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าร่วมทุนมากที่สุด
อุตสาหกรรมการผลิตตู้เย็นใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
วัตถุดิบที่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศได้แก่ COMPRESOR, CONDENSSER
THERMOSTAT, EVAPORATOR เป็นต้น ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา
ไต้หวัน สิงคโปร์
ปริมาณการผลิตตู้เย็นในปี 2534 มีจำนวน 1,056,012 เครื่องต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี
2533 ร้อยละ 6.7 โดยมีอัตราการขยายตัวในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2530 2534 เฉลี่ยร้อยละ
26.8
พัดลมไฟฟ้า
การผลิตพัดลมไฟฟ้าในระยะแรกมีลักษณะเป็นกิจการขนาดเล็ก กรรมวิธีการผลิตเป็นแบบง่าย
ๆ ไม่ซับซ้อน ในระยะแรกเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ต่อมาอุตสาหกรรมนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล
ลักษณะการผลิตจึงพัฒนาไปสู่การส่งออกมากขึ้น ส่งผลให้ตัวผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น
เช่นพัดลมที่มีสวิตซ์ตั้งเวลาและมีรีโมตคอนโทรลควบคุมการทำงานเป็นต้น อุตสาหกรรมพัดลมไฟฟ้ามีผู้ผลิตอยู่จำนวนมากจากสถิติของกรมโรงงานปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิตอยู่จำนวน
22 ราย กำลังการผลิตของผู้ผลิตจำนวน 9 ราย มีจำนวน 4,211,500 เครื่องต่อปี
นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายย่อยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่จะหาได้ภายในประเทศ แต่ยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่บ้าง
คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ได้แก่
การนำเข้าเหล็กซิลิคอน เหล็กแผ่น อะลูมิเนียมแผ่น โดยนำเข้าจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
เป็นต้น
ปริมาณการผลิตพัดลมไฟฟ้าในปี 2534 มีจำนวน 3,281,010 เครื่องต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ
12.13 และปริมาณการผลิตในช่วง 5 ปีมี การขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 34.17
เตาอบไมโครเวฟ
ผลจากการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใหม่ๆ
ขึ้นมาในประเทศไทย เตาอบไมโครเวฟเป็นอุตสาหกรรมใหม่
อุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริม และเริ่มมีการผลิตขึ้นในปี 2531 อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
มีเงินลงทุนประมาณ 2,000,000 บาท จำนวนผู้ผลิตมีอยู่ 3 รายซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก
BOI ทั้งหมด โดยเป็นผู้ผลิตจากญี่ปุ่น 1 ราย และเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตของไทยกับญี่ปุ่นอีก
2 รายซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการผลิตแล้ว 2 ราย คือ บริษัท ชาร์ป แอพพลายแอนซ์
ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายแรกและบริษัทเอ็มี อินดัสตรี จำกัด และคาดว่าถ้าผู้ผลิตทั้ง
3 ราย สามารถเปิดดำเนินการผลิตได้ทั้งหมดแล้วจะทำให้มีกำลังการผลิตทั้งหมดถึง
2,260,000 เครื่องต่อปี
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมดโดยนำเข้าจากญี่ปุ่น
ปริมาณการผลิตเตาอบไมโครเวฟ ในปี 2534 มีจำนวน 1,438,685 เครื่องต่อปี
และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2531 ร้อยละ 43.3 การผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ80
เป็นการผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
หลอดไฟฟ้า
หลอดไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือหลอดอินแคนเดสเซนต์ มีลักษณะเป็นกระเปาะแก้วกลม
ด้านหนึ่งยื่นออกมาเป็นขั้วหลอดเชื่อมต่อกับไส้หลอด ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ
หลอดฟลูออกเรสเซนต์ หรือที่เรียกกันว่า "หลอดนีออน" มีลักษณะเป็นหลอดแท่งยาว
ผิวด้านในฉาบด้วยสารฟลูออเรสเซนต์ (ฟอสเฟอร์) ซึ่งบรรจุก๊าซฮาร์กอนและ ไอปรอทอยู่ภายในหลอดเพื่อทำให้สารฟลูออเรสเซนต์เปล่งแสงอัลตราไวโอเลต
ซึ่งเป็นแสงสีนวลออกมาได้สะดวก
การผลิตหลอดอินแคนเดสเซนต์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2504 โดยบริษัท หลอดไฟฟ้าไทย
จำกัด เป็นผู้ผลิตรายแรก ปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิตทั้งหมด 6 ราย สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์เริ่มมีการผลิตขึ้นในปี
2518 ในขณะนั้นมีผู้เข้ามาทำการผลิต 2 รายคือ บริษัท ไทยโตชิบา-ฟลูออเรสเซนต์แลมป์และบริษัทไทยฟลูออเรสเซนต์แลมป์
จำกัด ปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิตทั้งหมด 8 ราย ได้รับการส่งเสริมจาก BOI 4 ราย
มีกำลังการผลิตทั้งหมด 38,852,780 หลอดต่อปี ในปี 2534 ประมาณการว่าปริมาณการผลิตหลอดไฟฟ้ามีจำนวน
66,184,900 หลอดต่อปีโดยแบ่งเป็นปริมาณผลิตของหลอดอินแคนเดสเซนต์จำนวน 43,588,920
หลอดต่อปี และหลอดฟลูออเรสเซนต์ 22,595,980 หลอดต่อปี
เครื่องซักผ้า
อุตสาหกรรมนี้เริ่มมีการผลิตขึ้นในประเทศไทยในปี 2525 โดยบริษัท ซันโยยูนิเวอร์แซล
อิเล็กทริค จำกัด เป็นผู้ผลิตรายแรกเช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น
การผลิตในระยะแรกมีลักษณะเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์
ซึ่งมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนสูงถึงร้อยละ 97 ต่อมาอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิตอยู่ 10 รายกำลังการผลิตจากผู้ผลิตจำนวน 9 รายมีประมาณ
245,678 เครื่องต่อปี
วัตถุดิบที่สำคัญที่ต้องอาศัยการนำเข้าได้แก่ CONTROL CIRCUIT BORARD COMPLETION,
METAL ASSEMBLY, MOTOR COMPLETION, SPIN TUB COMPLETION และ GEAR BOX ASSEMBLY
เป็นต้น
เป็นปริมาณการผลิตจากผู้ผลิต 9 ราย ในปี 2534 มีประมาณ 166,324 เครื่องต่อปี
เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ร้อยละ 12
เครื่องฟอกอากาศ
เครื่องฟอกอากาศกำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน
เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงและมีอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพมากขึ้น
เครื่องฟอกอากาศจึงถูกนำเข้ามาใช้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการหลีกเลี่ยงกับปัญหาเหล่านี้
โดยมีหลักการทำงานอยู่ 3 ระบบด้วยกัน
- ระบบที่ใช้แผ่นกรองใยสังเคราะห์พิเศษที่มีความละเอียด หรือเรียกกันว่า
แผ่น HEPAFILTER เครื่องฟอกอากาศระบบนี้จะทำหน้าที่กรองและจับฝุ่นละอองที่ปะปนมากับอากาศไว้
ทำให้บริเวณนั้นปราศจากฝุ่นละออง
-หลักการทำงานของไฟฟ้าสถิตหรือ ELECTROSTATIC โดยใช้ ELECTRONIC CELL หรือแผ่นโลหะมาเรียงซ้อนกันแล้วผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปเพื่อทำให้เกิดสนามไฟฟ้าและเหนี่ยวนำให้ฝุ่นละอองควัน
และผงเล็ก ๆ ที่ปะปนในอากาศ เกิดเป็นประจุไฟฟ้าบวก ซึ่งจะถูกดูดผ่านสนามแม่เหล็กไปติดกับแผ่นโลหะที่เตรียมไว้
- หลักการปล่อยประจุลบ หรือ NEGATIVE-LONGENERATIORS ด้วยเข็มยิงประจุไฟฟ้าลบเพื่อทำให้เกิดการเหนี่ยวนำให้ฝุ่นละออง
ผงและควันต่าง ๆ ที่ผ่านเข้าไปในเครื่องฟอกอากาศ ถูกดูดไปเกาะแผ่นโลหะที่เตรียมไว้
ทำให้อากาศที่ผ่านออกมาจากเครื่องมีความบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งแปลกปลอมต่าง
ๆ
เครื่องฟอกอากาศที่มีจำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนผู้นำเข้าอยู่
19 ราย และมีผู้ผลิตในประเทศ 2 รายประมาณร้อยละ 74 ของเครื่องฟอกอากาศนำเข้ามีระบบการทำงานแบบ
NEGATIVE-LONGENERATORS ส่วนเครื่องฟอกอากาศที่ผลิตในประเทศเป็นระบบ ELECTROSTATIC
ผลจากการตื่นตัวต่อสภาพแวดล้อมและการให้ความสนใจต่อปัญหามลพิษมากขึ้นทำให้ความต้องการเครื่องฟอกอากาศขยายตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแต่ละชนิดที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอีกหลายชนิดที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในแง่ของเครื่องอำนวยความสะดวก
เช่น เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งมีลักษณะการผลิตเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น
คือมีการร่วมทุนกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน และต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอีกด้วย
แต่มีปริมาณการผลิตไม่สูงมากนัก เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นมีผู้ผลิตเพียง 3 ราย
โดยมีผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI 2 ราย ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ
การแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์
ในการพิจารณาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้ง 9 ชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น
2 กลุ่ม ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้คือ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เป็นสินค้าจำเป็น สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่เกือบทุกบ้านจะต้องมีใช้เป็นส่วนใหญ่
เพราะถือว่าเป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป
และมีราคาไม่แพงมากนัก สินค้าเหล่านี้ได้แก่หลอดไฟ พัดลม ตู้เย็น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านประเภทสินค้าอำนวยความสะดวกสบาย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ
เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เตาอบ ไมโครเวฟ และเครื่องฟอกอากาศ
ผู้บริโภคจะมองว่าสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าอำนวยความสะดวกที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานประหยัดเวลา
และช่วยให้มีเวลาในการพักผ่อนมากขึ้นในชีวิตประจำวันที่สภาพสังคมมีแต่ความเร่งรีบ
การทำงานทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลาสินค้าเหล่านี้จึงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากสินค้าในกลุ่มนี้จะอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันแล้ว
สินค้าบางชนิดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องฟอกอากาศ
ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วย เช่น เครื่องปรับอากาศสามารถลดมลพิษทางเสียง
และทางอากาศ สามารถปรับสภาพอากาศให้เหมาะสมในการทำงาน เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องฟอกอากาศ
มีส่วนช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางกลุ่มอาจมองว่าสินค้าเหล่านี้ยังไม่มีความจำเป็นต่อการบริโภคมากนักเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแพง
ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงเป็นสินค้าที่ผู้มีอำนาจซื้อสูงจะนิยมซื้อเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบันการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้มีความทันสมัยอยู่เสมอนั้น
เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันมาก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ตลาดมีการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดที่ผลิตออกมามีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น แต่ละรุ่นที่ผลิตก็มีวงจรผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดได้นาน
รูปแบบของสินค้าจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ไม่กระทัดรัดอย่างเช่นในปัจจุบัน การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีใหม่
ๆ ของสินค้าในสมัยนั้นยังไม่ใช่กลยุทธ์ที่สำคัญ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตได้มีรูปแบบง่าย
ๆ ไม่ซับซ้อนเทคโนโลยีของแต่ละยี่ห้อที่ใช้ก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นได้ว่า
สินค้าแต่ละชนิดจะมีการผลิตรุ่นใหม่ ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก สินค้าบางรุ่นเพิ่งจะเข้าตลาดได้ไม่นานก็มีรุ่นใหม่ออกมาอีกเรื่อย
ๆ เนื่องจากความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตแต่ละราย จึงพยายามสร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์
(PRODUCT DIFFERENTIATION) ให้กับสินค้าของตนโดยมีการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีความทันสมัยของเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่มมากขึ้น
ทำให้รูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ได้เป็นจำนวนมาก
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกัน ทั้งทางด้านความจำเป็นการบริโภคสินค้า
ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนภาวะการแข่งขันจึงทำให้สินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีกลยุทธ์การแข่งขันที่แตกต่างกันออกไป
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เป็นสินค้าจำเป็น
ตลาดของสินค้าในกลุ่มนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มากโดยเฉพาะหลอดไฟ และพัดลม เป็นสินค้าจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมีใช้
ผู้บริโภคที่มีระดับรายได้สูงหรือไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ปานกลางจนถึงต่ำสามารถที่จะซื้อมาบริโภคได้
สำหรับตู้เย็น ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่ง เช่นเดียวกับหลอดไฟและพัดลม และปัจจุบันตู้เย็นก็ได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่เกือบทุกบ้านต้องมีตู้เย็นไว้ใช้
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านกลุ่มนี้ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคและมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตในแต่ละรายค่อนข้างสูง
ดังเช่น
หลอดไฟ : ปัจจุบันตลาดมีอัตราการเติบโตอย่างมาก มีมูลค่าตลาดประมาณกว่า
4,000 ล้านบาทในขณะที่ปี 2530 หลอดไฟฟ้ามีมูลค่าตลาดเพียง 1,650 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับการแข่งขันของหลอดไฟ นี้จะเป็นการแข่งขันกันเองของยี่ห้อต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
ได้แก่ ฟิลิปส์ โตชิบา ออสแรม ซิลเวอร์ไลท์ ครอมป์ต้น ไดอิจิ อีวายอี เนชั่นแนล
ฮิตาชิ เอ็นอีซี ซิลวาเนีย เป็นต้น โดยเฉพาะฟิลิปส์ และโตชิบามีการแข่งขันกันสูง
และฟิลิปส์ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 20
พัดลมไฟฟ้า : ปัจจุบันตลาดพัดลมมีอัตราการเติบโตของตลาด ประมาณร้อยละ 20-25
ตลาดนี้มีการขยายตัวมาโดยตลอด ตลาดระดับล่างเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง ร้อยละ
70 ส่วนใหญ่ในตลาดล่างนี้จะเป็นตลาดของพัดลมยี่ห้อที่ไม่มีชื่อเสียงซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อ
และคาดว่าเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงค่อนข้างมากในตลาดนี้ ส่วนสินค้าในตลาดระดับกลางถึงระดับสูง
มักจะมีการแข่งขันกันในเชิงคุณภาพของสินค้าเป็นการขายแบรนด์อิมเมจกันมากกว่า
ซึ่งจะเป็นการแข่งขันของผู้ผลิตยี่ห้อที่มีชื่อเสียง เช่นมิตซูบิชิ โตชิบา
เนชั่นแนล ซันโย สำหรับตลาดพัดลมมีผู้นำในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือมิตซูบิชิ
ตู้เย็น : ตลาดตู้เย็นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านชนิดอื่น
ๆ โดยมีอัตราการเติบโตของปริมาณการจำหน่ายตู้เย็นเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี
2530-2534 ถึงร้อยละ 16.5
สำหรับยี่ห้อที่มีการแข่งขันกันสูงในตลาดตู้เย็นได้แก่ ซันโย เนชั่นแนล
มิตซูบิชิ โตชิบาและฮิตาชิ โดยซันโยเป็นผู้นำตลาดมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ
30
สินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการบริโภค ผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีระดับรายได้สูงมากนักก็สามารถซื้อได้สินค้าก็ไม่ค่อยมีความแตกต่างในด้านรูปแบบมากนัก
การซื้อสินค้าผู้บริโภคจะพิจารณาปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ ดังนั้นกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สำคัญของสินค้าในกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับราคา
(PRICE) เป็นหลัก การแข่งขันทางด้านตัวผลิตภัณฑ์ (PRODUCT) จึงเป็นปัจจัยรองลงไป
สินค้าแต่ละชนิดในกลุ่มนี้จึงมีการสร้างความแตกต่างในด้านตัวผลิตภัณฑ์ (PRODUCT
DIFFERENTIATION) ไม่สูงนัก สินค้าแต่ละชนิดถึงแม้ว่าจะมีหลายรูปแบบก็ตามแต่ก็เป็นเพียงความแตกต่างทางด้านการออกแบบดีไซน์เท่านั้นซึ่งไม่ใช่ความแตกต่างทางด้านพัฒนาการและเทคโนโลยี
ทุกยี่ห้อสามารถผลิตได้เหมือนๆ กันหรือมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีไม่แตกต่างกันมากนักนาน
ๆ จะมีการพัฒนาระบบใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ก็มีอยู่บ้าง ที่ผลิตภัณฑ์บางรุ่น ได้สร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์โดยการพัฒนาให้มีความทันสมัยของเทคโนโลยีสูง
เช่น พัดลมที่มีระบบรีโมตคอนโทรล หรือตู้เย็นที่มีการควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์
หรือระบบกำจัดกลิ่น เป็นต้นซึ่งสินค้าเหล่านี้มุ่งที่จะเจาะตลาดระดับบนมากกว่าและมีสัดส่วนตลาดอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแข่งขันทางด้านผลิตภัณฑ์ของตลาดกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญรองลงมาจากแข่งขันทางด้านราคา
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านประเภทสินค้าอำนวยความสะดวกสบาย
ตลาดสินค้าในกลุ่มนี้มีรูปแบบของการแข่งขันแตกต่างจากกลุ่มแรก เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงนิยมในการบริโภค
และเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มนี้จึงมีสูงกว่ากลุ่มแรกมาก
คุณภาพและรูปแบบของผลิตภัณฑ์มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เพราะอำนาจซื้อของผู้บริโภคมีสูง
การพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีความทันสมัยอยู่เสมอนั้นจึงเป็นสิ่งที่สามารถจูงใจให้ผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นได้
ดังนั้นกลยุทธ์การแข่งขันในด้านผลิตภัณฑ์ (PRODUCT) สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในกลุ่มนี้จึงต้องมีการพัฒนารูปผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ปัจจุบันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อ
เนื่องการแข่งขันในตลาดของผู้ผลิตแต่ละรายมีค่อนข้างสูงเพื่อต้องการชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด
เครื่องปรับอากาศ : ในปัจจุบันมูลค่าตลาดของเครื่องปรับอากาศมีมูลค่าประมาณ
5,000-6,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10 เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน
เป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก การแข่งขันในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันระหว่างเครื่องปรับอากาศที่ใช้เครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา
ยุโรป ได้แก่ แคเรียร์ ยอร์ค เทรน และเครื่องปรับอากาศที่ใช้เครื่องหมายการค้าของญี่ปุ่น
ได้แก่ มิตซูบิชิ ไดกิ้น เนชั่นแนล โตชิบา ซันโย และฮิตาชิ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรับอากาศที่ผลิตขึ้นมาโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดนี้ค่อนข้างสูง
ถึงประมาณร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและมีระดับราคาต่ำสำหรับผู้นำทางการตลาดของเครื่องปรับอากาศภายในบ้านคือมิตซูบิชิ
และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 18-20
เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ จะเห็นได้ว่าเครื่องปรับอากาศได้รับการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น
เช่น เครื่องปรับอากาศที่มีการควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการพัฒนา
โดยมีรีโมตคอนโทรลไร้สายเพื่อสามารถควบคุมอุณหภูมิให้เป็นไปตามความต้องการได้หรือการพัฒนาโดยระบบการเสริมเครื่องฟอกอากาศเข้าไปในเครื่องปรับอากาศ
ซึ่งทำให้อากาศที่ออกมาพร้อมกับความเย็นเป็นอากาศที่บริสุทธิ์และเป็นผลดีต่อสุขภาพ
เครื่องซักผ้า : การแข่งขันของตลาดเครื่องซักผ้าเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น
เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องแข่งกับเวลา ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีของเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ทำให้ปริมาณความต้องการเครื่องซักผ้ามีมากขึ้นปัจจุบันการบริโภคเครื่องซักผ้าในประเทศไทย
มีเพียงร้อยละ 25-30 ของประชากรโดยรวมทั้งหมด โดยจะเห็นได้ว่า ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำ
ดังนั้นตลาดจึงยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
การแข่งขันในตลาดนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่างเครื่องซักผ้าของยุโรปและอเมริกา
ได้แก่ ยี่ห้ออีเลคโทรลักซ์ ฟิลิปส์-เวิร์ลพูลฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องซักผ้าชนิดที่การทำงานใช้ปิด-เปิดจากด้านหน้าหรือ
FRONT-LOAD และการแข่งขันของเครื่องซักผ้าของญี่ปุ่น ได้แก่ ชาร์ป ซันโย
ฮิตาชิ เนชั่นแนล มิตซูบิชิ ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องซักผ้าชนิดที่มีการทำงานให้ปิด-เปิดด้านบน
หรือ TOP-LOAD และปัจจุบันแบบ TOP-LOADเป็นแบบที่นิยมมากกว่า การแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นจะเน้นที่การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย
มีสีสันสวยงามเป็นสำคัญ และเทคโนโลยีของเครื่องสำหรับเครื่องซักผ้าของยุโรปและอเมริกาจะเน้นที่คุณภาพและความทนทานในการใช้งาน
และใช้แบรนด์อิมเมจที่สร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตมาเป็นจุดขายหลักจะเห็นได้ว่าการแข่งขันในตลาดเครื่องซักผ้ามีการแข่งขันโดยเน้นกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
และนอกจากนี้ยังมีการแข่งขันทางด้านอื่นอีก เช่น การโฆษณาและการบริการหลังการขาย
เป็นต้น
ในการแข่งขันของแต่ละยี่ห้อพบว่า ผู้นำทางการตลาดของเครื่องซักผ้า คือ
ชาร์ป สำหรับพัฒนาการด้านรูปแบบของเครื่องซักผ้าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของระบบ
เช่น การนำเอาไมโครโพรเซสเซอร์เข้ามาใช้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาในรูปแบบของการซักด้วยน้ำอุ่น
หรือแม้แต่ตั้งเวลาการทำงานอัตโนมัติเพียงครั้งเดียว การทำงานของเครื่องก็จะทำงานจนเสร็จทุกขั้นตอนพร้อมที่จะนำมรีดได้
เครื่องทำน้ำอุ่น : ในตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นมีการแข่งขันไม่ค่อยรุนแรงนัก
เนื่องจากยังมีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ มูลค่าตลาดรวมของเครื่องทำน้ำอุ่นในปัจจุบันประมาณ
500 ล้านบาท โดยมีเนชั่นแนลครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากที่สุดถึงร้อยละ 80
ส่วนยี่ห้ออื่นครองส่วนแบ่งการตลาดได้เพียงเล็กน้อย ได้แก่ ยี่ห้อเทอร์โบร่า
โซล่าฮาร์ท และซันโย เป็นต้น กลยุทธ์ที่ใช้นี้ส่วนมากจะเน้นการโฆษณามากกว่าด้านผลิตภัณฑ์
เครื่องดูดฝุ่น : สำหรับตลาดเครื่องดูดฝุ่นนั้นก็มีภาวะการแข่งขันในตลาดไม่รุนแรง
เช่นเดียวกับตลาดเครื่องทำน้ำอุ่น
เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องฟอกอากาศ : สำหรับเตาไมโครเวฟ และเครื่องฟอกอากาศนั้นเป็นสินค้าที่มีการใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่แตกต่างไปจากสินค้ากลุ่มในกลุ่มนี้
โดยจะเน้นกลยุทธ์ระบบการขายตรงเป็นกลยุทธ์สำคัญ เนื่องจากสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้
เป็นผลิตภัณฑ์ค่อนข้างใหม่ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้บริโภคอาจยังไม่เข้าใจในระบบการทำงานและยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก
ระบบการขายตรงจึงเป็นวิธีการที่ดีในการแนะนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคได้
สำหรับการแข่งขันในตลาดทั้ง 2 นี้ ยังไม่ค่อยมีความรุนแรงมากนักเนื่องจากความต้องการยังไม่แพร่หลาย
เตาอบไมโครเวฟมีชาร์ปเป็นผู้นำในตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 30 รองลงมาคือ
ซัมซุงและเนชั่นแนล สำหรับเครื่องฟอกอากาศมียี่ห้อที่มีการแข่งขันกันมากในตลาดได้แก่ฮันนีแมล
แอโรคลีน เวลแลร์ และอิมาเฟล็ก
นอกจากกลยุทธ์ทางด้านผลิตภัณฑ์ จะเป็นกลยุทธ์เด่นของสินค้ากลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว
การแข่งขันในตลาดนี้ยังมีการใช้กลยุทธ์อื่น ๆ ประกอบกันไปพร้อมกันด้วย เช่นกลยุทธ์ด้านราคา
ช่องทางการจำหน่ายและการส่งเสริมการจำหน่าย ซึ่งสินค้าแต่ละตัวก็จะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เหล่านี้แตกต่างกันออกไป
การกำหนดราคา (PRICING)
เมื่อพิจารณาราคาของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในปัจจุบันเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
พบว่าราคาของสินค้าที่จำหน่ายในอดีตค่อนข้างที่จะสูงกว่าในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถและประโยชน์ในการใช้งาน
(FEATURE) ของตัวสินค้าเนื่องจากการผลิตในอดีตยังมีจำนวนไม่มากเทคโนโลยีที่ใช้ก็ยังไม่ทันสมัย
และยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดการประหยัดเนื่องจากขนาด
(ECONOMIES OF SCALE) ได้ จึงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง แต่ในปัจจุบันการผลิตได้รับการพัฒนาโดยมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น
จนสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดเนื่องจากขนาดได้
จึงทำให้มีต้นทุนสินค้าต่อหน่วยต่ำลง
ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันค่อนข้างจะทรงตัว
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มที่จะปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้า
ทำให้การแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์ราคานี้เป็นไปได้ยาก
สำหรับในเรื่องนี้ คุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทกรุงไทยการไฟฟ้าได้กล่าวว่าตอนนี้ราคาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ลงมาถึงระดับที่ผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนต่ำแล้ว
ขณะที่ต้นทุนก็สูงขึ้น ทั้งต้นทุนการผลิต ค่าแรงที่สูงขึ้นตลอดเวลาปี 2536
ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าโฆษณาก็ปรับราคาขึ้นถึง 20-30% และค่าใช้จ่ายทางด้านการขนส่งก็สูงขึ้นเพราะรถติดมากขึ้นทุกวัน
ทำให้การขนส่งจากที่เคยส่งได้วันละ 2 เที่ยว ก็เหลือเพียงเที่ยวเดียว เพราะฉะนั้นระดับราคาในปัจจุบันคิดว่าถึงจุดที่จะทำอะไรไม่ได้มาก
ช่องทางการจัดจำหน่าย (PLACE)
วิธีนี้เป็นวิธีที่แต่ละบริษัทนิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทผู้ผลิตจะส่งสินค้าผ่านไปยังผู้จัดจำหน่าย
(DISTRIBUTOR) ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทผู้ผลิตเอง แล้วบริษัทจัดจำหน่ายก็จะส่งผ่านไปยังผู้แทนจำหน่าย
(DEALER) หรือร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งจะมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศบริษัทผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อส่วนมากจะใช้วิธีการจำหน่ายในรูปแบบนี้
และจากภาวะการขยายตัวของตลาดเป็นผลให้บริษัทต่าง ๆ พยายามที่จะกระจายสินค้าของตนออกไปสู่ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
จึงทำให้จำนวนของผู้แทนจำหน่าย (DEALER) หรือร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากที่มีเพียงไม่กี่แห่งในอดีต ก็ได้กลายมาเป็นจำนวนมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนอีกในอนาคต
ซึ่งก็เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดนี้
การจำหน่ายโดยผ่านผู้จัดจำหน่าย
วิธีการขายโดยตรงแก่ผู้บริโภค สินค้าจะถูกส่งผ่านจากโรงงานไปยังผู้จัดจำหน่าย
(DISTRIBUTOR) จากนั้นผู้จัดจำหน่ายจะขายสินค้าให้กับผู้บริโภคเองโดยตรง
โดยมีพนักงานขาย (SALEMAN) ทำหน้าที่ขายสินค้าเหล่านั้นให้กับผู้บริโภค สำหรับบริษัทที่ใช้วิธีการจัดจำหน่ายโดยวิธีนี้ได้แก่
บริษัทผู้ผลิตยี่ห้อ ซิงเกอร์ และลุกซ์ เป็นต้น นอกจากนี้สินค้าในบางชนิดที่นิยมจัดจำหน่ายโดยวิธีนี้ได้แก่เครื่องฟอกอากศ
และเตาอบไมโครเวฟ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
การจำหน่ายโดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจถึงคุณสมบัติ และวิธีการใช้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งจะเป็นการจูงใจในการเลือกซื้อของผู้บริโภคได้มากขึ้น
การส่งเสริมการจำหน่าย (PROMOTION)
จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดในขณะนี้ ทำให้การส่งเสริมการจำหน่ายในรูปแบบต่าง
ๆ ถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สำคัญร่วมกับกลยุทธ์อื่นด้วย เพราะการส่งเสริมการจำหน่ายเป็นกิจกรรมทางการตลาดที่ให้ข่าวสาร
แนะนำและสามารถจูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าของตนได้เป็นอย่างดี
โดยรูปแบบของวิธีการส่งเสริมการจำหน่ายที่นิยมใช้ในการแข่งขันในตลาดนี้ได้แก่
การโฆษณา : นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านหลายยี่ห้อนำมาใช้ด้วย
การโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์
เป็นสื่อที่มีการเน้นมาก
การขายตรง : นอกจากเครื่องฟอกอากาศและเตาอบไมโครเวฟที่นิยมใช้การขายโดยระบบนี้แล้วยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น
ที่มีการใช้กลยุทธ์การขายตรงเช่นเดียวกัน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซิงเกอร์
ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบขายตรง นอกจากสามารถให้ข้อมูลกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงแล้ว
ระบบนี้ยังเป็นการขายโดยการผ่อนชำระอีกด้วย
การส่งเสริมการขาย :ในตลาดนี้จะมีการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับดีลเลอร์ของตนและผู้บริโภค
เช่นการให้เครดิตแก่ร้านค้า การจัดรายการชิงโชคต่าง ๆ การลด แลก แจก แถม
แก่ผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้การให้บริการหลังการขาย ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจและทำให้เกิดการภักดีต่อตรายี่ห้อนั้น
ๆ อีกด้วย
ภาวะการส่งออก
การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านดังกล่าวข้างต้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าค่อนข้างสูงและมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี
มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 3,014 ล้านบาทในปี 2531 เป็น 11,690 ล้านบาท
ในปี 2535 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 40.3 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องไฟฟ้าเพื่อส่งออก
ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา
เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้
พบว่ามูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เครื่องซักผ้า
และเครื่องปรับอากาศภายในบ้านมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ร้อยละ
76.6 ส่วนเครื่องดูดฝุ่น ถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีไม่มากนัก
แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 ปีสูงถึงร้อยละ 72.2
ตู้เย็นและเครื่องทำน้ำอุ่นมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 42.2 และ 39.4
ตามลำดับ สำหรับเตาอบไมโครเวฟและหลอดไฟมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปี
ไม่ค่อยสูงมากนัก เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นคือร้อยละ 26.2 และร้อยละ 24.8
ตามลำดับ
ในปี 2535 เตาอบไมโครเวฟมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 3,525 ล้านบาท รองลงมาคือเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน
และพัดลม คิดเป็นมูลค่า 3,032 ล้านบาท และ 2,077 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนเครื่องดูดฝุ่นมีมูลค่าการส่งออกน้อยที่สุดเท่ากับ
1,221 ล้านบาท
ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่สำคัญของไทย ได้แก่สหรัฐอเมริกา
ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีตลาดส่งออกที่สำคัญแตกต่างกัน
ภาวะการนำเข้า
แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีแล้วก็ตาม
แต่ประเทศไทยก็ยังต้องมีการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากต่างประเทศ เป็นจำนวนค่อนข้างมาก
เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิด หรือบางรุ่นไม่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ หรือผลิตได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจึงยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่
จากการพิจารณามูลค่าการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
พบว่ามูลค่าการนำเข้าค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2531
การนำเข้ามีมูลค่า 1,743 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็น 3,710 ล้านบาทในปี 2535 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ
20.8 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกแล้ว จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกสามารถขยายตัวได้สูงกว่าการนำเข้า
โดยมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 40.3
ในปี 2535 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าสูงที่สุดคือหลอดไฟ มีมูลค่าถึง 1,056
ล้านบาท รองลงมาคือตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยมีมูลค่า 871 ล้านบาทและ 696
ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับเครื่องปรับอากาศภายในบ้านมีมูลค่าการนำเข้าน้อยที่สุดประมาณ
10 ล้านบาท
สำหรับตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่สำคัญของไทย โดยส่วนใหญ่จะมีการนำเข้าจากญี่ปุ่น
สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ไต้หวัน เกาหลี เป็นต้น โดยที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็มีตลาดที่ต่างกันไป
ผลกระทบของ VAT กับเครื่องใช้ไฟฟ้า
หลังจากที่รัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีใหม่จากภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
และได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2535 นั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ ผู้บริโภคต่างชะลอการซื้อลงเพราะมีความไม่มั่นใจในด้านราคาและบรรดาร้านค้าต่าง
ๆ พยายามระบายสินค้าที่มีอยู่ใน STOCK ออกไปให้ได้มากที่สุด และหยุดการสั่งสินค้าเข้ามา
STOCK ไว้ จึงทำให้ยอดขายลดลงแต่หลังจากช่วงภาวะความสับสนต่าง ๆ ได้คลี่คลายลงแล้ว
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าก็เริ่มจะเข้าสู่สภาวะปกติดังเดิม
คุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัยได้กล่าวว่า ตลาดในปี 2534 นี้แย่มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ไตรมาสสุดท้าย แทบจะไม่ได้ขายของกันเลย เพราะเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ลูค้าไม่ยอมสั่งสินค้าเข้าร้านนอกจากจำเป็นจริง
ๆ ปี 2535 ก็คงจะดีกว่าปี 2534 แต่ไม่มากนัก เนื่องจากปลายปี 2534 สต็อกของร้านค้าต่ำผิดปกติมาก
ๆ ปี 2535 จึงมีการนำเอาเข้าไปเสริมสต็อกกันบ้าง แต่ยังไม่มาก เพราะยังมีปัญหาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่
และร้านค้าเองก็ยังไม่ค่อยยอมสต็อกสินค้ากันเท่าไรนัก
สำหรับแนวโน้มปี 2536 นั้น ร้านค้าเริ่มปรับความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะฉะนั้นความห่วงใยในเรื่องนี้ก็คงจะลดลงไปเรื่อย
ๆ ก็คิดว่าคงจะเริ่มเข้าสู่สภาพปกติ ระดับสต็อกของร้านค้าก็คงเข้าสู่สภาพปกติได้ใหม่
สำหรับผลที่ตามมาหลังจากมีการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น คุณศุภชัยได้กล่าวว่า
ถ้าเรามองตัวผู้ผลิตคงจะดีขึ้นบ้างเพราะไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นมากก็คือ
ค่าใช้จ่ายด้านเอกสารที่ต้องเกิดขึ้นทุกขั้นตอน สำหรับตัวผู้จัดจำหน่ายเองคงไม่มีปัญหาอะไร
ที่จะมีปัญหาจริง ๆ คือร้านค้าเขาบ่นว่าหาคนทำบัญชีไม่ได้ คือจะจ้างแต่ไม่มีคนไม่มีนักบัญชีไปทำ
ปัญหาที่เจอคือต่างจังหวัดไม่รู้จะไปหานักบัญชีที่ไหน
นโยบายของรัฐ
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐให้ความสำคัญมาเป็นระยะเวลานาน
โดยเริ่มจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (2515-2519) เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดให้นโยบายหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรม
จนกระทั่งถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ได้มีนโยบายขยายฐานการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น
และการให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศโดยการตั้งกำแพงภาษีขาเข้าของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในอัตราสูงคือประมาณร้อยละ
5-60 ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทางด้านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับการสนับสนุนในระดับสูง
มีการแบ่งส่วนราชการเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
(กองส่งเสริมการลงทุนที่ 5) เพื่อดูแลอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
ซึ่งธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักรและภาษีนำเข้าวัตถุดิบ
โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับสิทธิการชดเชยภาษีอากรสินค้าส่งออกอีกด้วย
ทำให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้สูงประมาณ 59,000 ล้านบาท ในปี 2535
อย่างไรก็ตามการขอรับการส่งเสริมจะมีเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ผลิตที่ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น
อาทิการกำหนดให้ผู้ผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ได้รับการส่งเสริมต้องส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจำหน่ายในต่างประเทศ
หรือการกำหนดผู้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ผู้ถือหุ้นมีสัญชาติได้น้อยกว่าร้อยละ
75 ของทุนจดทะเบียนจะต้องส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศทั้งสิ้น เป็นต้น และการยกเลิกการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศ
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นนโยบายรัฐอีกประการหนึ่งที่ส่งผลดีต่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะยาว
เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีการหลบเลี่ยงภาษีสูง ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนดังนั้นการนำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นี้
จึงมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับนโยบายทางด้านเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินโดยเร่งด่วน
คือจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มอาเซียนให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในระยะเวลา
8 ปี แต่เนื่องจากไทยมีความเสียเปรียบในด้านภาษีวัตถุดิบนำเข้าที่เก็บในอัตราสูงกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน
รวมถึงการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ดังนั้นไทยจึงพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายการผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน
63 รายการ ให้ไปอยู่ในรายการลดภาษีทั่วไป (NORMAL TRACK) ซึ่งจะดำเนินการลดภาษีให้เหลือร้อยละ
0-5 ภายในระยะเวลา 15 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการลดภาษีอย่างเป็นทางการในปี 2541
ทั้งนี้เพื่อให้โครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างทางภาษีปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้สูงขึ้น
ปัญหา
1. ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากบริษัทเจ้าของนอกจากนี้ยังมีปัญหาการปลอมแปลงสินค้า
ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงสินค้ายี่ห้อนั้น ปัญหาทั้ง 2 ประการส่งผลให้ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต้นแบบลดลงอย่างมาก
รวมทั้งการไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
2. การหลบเลี่ยงภาษีของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะจากประเทศใกล้เคียง อาทิ สิงค์โปร์ และมาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศ
สำหรับการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนในการผลิตให้มีระดับต่ำทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย
มีการพัฒนาไปสู่การผลิตที่ครบวงจรอยู่ในระดับต่ำและไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้
3. การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปสู่ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน
เนื่องจากปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้นและกลุ่มอาเซียนจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ
ชิ้นส่วน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นอกจากกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนมาก แต่ภาษีนำเข้าวัตถุดิบของไทยเฉลี่ยร้อยละ
30 ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของกลุ่มอาเซียนที่เฉลี่ยเพียงร้อยละ
10 เท่านั้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบแต่อย่างไร
ดังนั้น ความเสียเปรียบของต้นทุนการผลิตทั้งทางด้านภาษีวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน
จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศอื่น ซึ่งทางภาครัฐจึงควรปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้
แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยังคงมีแนวโน้มสดใส และยังคงมีการเจริญเติบโตออกไปอีกค่อนข้างสูง
ในปี 2536 นี้ คาดว่าจะขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ
10 โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัว ดังต่อไปนี้
1.การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยังคงมีการขยายตัวอยู่ในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง
และธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าในปี 2536 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ
7.8
2. อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตและจำหน่าย
3. สัดส่วนการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ
โดยมีอยู่เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนในการบริโภคถึงร้อยละ
80-90 ดังนั้นศักยภาพของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก
4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก
ส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพิ่มขึ้น (NEW DEMAND)
5. การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่สูงขึ้น