ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมธุรกิจไตรมาส 2-3 ยังซบเซาต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง ส่งผลผู้ประกอบการเร่งปรับตัวหันแข่งขันกระตุ้นยอดใช้จ่าย และหันเจาะกลุ่มลูกค้าระดับสูงกว่าเดิม พร้อมการขยายร้านค้ามากขึ้น เผยไตรมาสแรกยอดธุรกรรมขยายตัวน้อยลง โดยนอน-แบงก์อ่วมสุดปริมาณ-ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรตกฮวบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2550 ว่า ธุรกิจบัตรเครดิตจะยังคงมีการเติบโตชะลอลง ตามภาวะการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่คาดว่าจะเติบโตลดลง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการยังคงมีการแข่งขันกันสูง โดยแนวโน้มการแข่งขันของคงจะเน้นไปในเรื่องของการกระตุ้นการการใช้ผ่านบัตรเครดิต การทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต และการขยายร้านค้ารับบัตรเครดิตให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการจะแข่งกันเสนอสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต การออกบัตรเครดิตร่วมกับพันธมิตร ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะเลือกมากขึ้น จึงส่งผลทำให้ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Royalty) ที่เคยมีเริ่มลดลงต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตใบเดียวนั้นลดลง ดังนั้น คงต้องยอมรับว่าในการที่จะรักษาความภักดีของลูกค้าได้นั้น ผู้ประกอบการคงจะต้องทำให้บัตรเครดิตของตนมีลักษณะ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะใช้มากขึ้นคือเพิ่มสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต โดยการหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาร่วมให้ครอบคลุมและหลากหลายประเภท และนั่นก็หมายถึงต้นทุนการตลาดที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มการขยายฐานบัตรใหม่ ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเน้นการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังกลุ่มลูกค้าระดับบน ทั้งกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารต่างประเทศ นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบ Non bank หันมารุกขยายฐานตลาดในกลุ่มนี้เช่นกัน เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าผู้ถือบัตรเครดิตของกลุ่ม Non bank ที่ส่วนใหญ่จะมีรายได้ปานกลางลงมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ มีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตของกลุ่ม Non bank ชะลอตัวลง จึงทำให้ผู้ประกอบการสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับกลยุทธ์ โดยการหันมารุกตลาดบน ในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงอีกทั้งยังมีศักยภาพในการชำระบัตรเครดิตสูง ขณะที่การขยายฐานบัตรเครดิตไปยังต่างจังหวัดยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิต น่าจะเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม Nonbank ที่เริ่มทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าหาพันธมิตรร้านค้ามากขึ้น การปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนในแต่ละจังหวัด อีกทั้งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีความโดดเด่นในเรื่องการมีความชำนาญในการทำธุรกิจลูกค้ารายย่อย
ขณะที่การจัดแคมเปญส่งเสริมการขายและบริการยังคงมีความเข้มข้น ผู้ประกอบการพยายามหาความแปลกใหม่ โดยการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมในการส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในการทำตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่การแข่งขันที่รุนแรง ความจงรักภักดีต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพียงใบเดียวเริ่มน้อยลง ส่วนการขยายร้านค้ารับบัตรเครดิต หากผู้ประกอบการรายใดสามารถขยายฐานร้านค้ารับบัตรได้มาก ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเช่นกัน อย่างไรก็ตามร้านค้าบางแห่ง โดยเฉพาะร้านค้าที่มีขนาดเล็กมักจะผลักภาระค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ด้วยสาเหตุนี้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตตามร้านเหล่านี้จึงมีจำนวนที่น้อย
สำหรับปัจจัยลบต่อการขยายตัวธุรกิจบัตรเครดิตศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุปัจจัยลบที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวลงของธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางรายได้ในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ปัจจัยด้านความมั่นคงทางการเมือง และทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งนี้เสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ยังคงต้องจับตามอง ทั้งการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีส่วนส่วนสำคัญต่อการเติบโตของตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต
นอกจากนี้ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัว และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวลดลง ธุรกิจบัตรเครดิตอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำธุรกิจ จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับระดับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้แนวโน้มการดำเนินการธุรกิจบัตรเครดิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การอนุมัติบัตรใหม่บัตรใหม่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยเฉพาะในภาวะที่การแข่งขันตลาดบัตรเครดิตยังคงมีความรุนแรง ผู้ประกอบการต้องการที่จะขยายฐานบัตรใหม่ เพื่อครอบครองสัดส่วนในตลาดมากเพียงใดก็ตาม แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลต่อความสามารถในการชำระสินเชื่อของผู้ถือบัตรเครดิตบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่ถือบัตรเครดิตมากว่า 1 บัตร ขึ้นไป ผู้ประกอบการทุกกลุ่มจำเป็นต้องทำการตรวจสอบประวัติผู้เข้ามาขอสินเชื่อมากขึ้น เพื่อควบคุมคุณภาพของสินเชื่อในระบบ
ทั้งนี้การเพิ่มการตรวจสอบในส่วนของการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างเพิ่มการตรวจสอบพฤติกรรมการผิดชำระบัตรของลูกค้า เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปรับลดวงเงิน หรือยกเลิกบัตรล่วงหน้า ก่อนเวลาต่ออายุบัตรจริง โดยเฉพาะหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต จาก 18% เป็น 20% ที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตบางรายเริ่มมีการปรับขึ้นไปแล้ว อีกทั้งการปรับขึ้นชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2250 นั้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตของลูกค้าบางกลุ่มด้วย อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่ในระยะแรกๆ ลูกหนี้อาจยังคงสามารถหมุนหนี้ โดยการนำสินเชื่อจากแหล่งอื่นมาจ่ายชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 10% ของยอดคงค้าง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมหมุนเงินของผู้ถือบัตรอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสินเชื่อจะไม่ปรากฏในทันที ตราบใดที่ยังสามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระขั้นต่ำของยอดคงค้างได้ แต่จะเริ่มเห็นเมื่อปัญหามีความรุนแรงแล้ว นั่นหมายถึง เมื่อผู้ถือบัตรไม่สามารถหมุนเงินต่อไปได้ความเสี่ยงต่อระบบสินเชื่อก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาสแรกที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยพบว่าปริมาณบัตรเครดิตในไตรมาส 1 ปี 2550 มีจำนวน 11,087,434 บัตร ขยายตัว 9.17% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 14.16% โดยเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ปริมาณบัตรเครดิต กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศยังคงมีอัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 1,233,251 บัตร ขยายตัว 14.18% ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขยายตัว 8.79% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นโดย มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 4,441,091 บัตร และมีการเติบโต 12.73% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 19.72% และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 5,413,001 บัตร ขยายตัว 5.38% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 11.36%
โดยภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 1 ปี 2550 มีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 172,507 ล้านบาท ขยายตัว 13.39% ซึ่งชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเติบโต 21.54% โดยเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ไตรมาส1 ปี 2550 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีมูลค่า 87,974 ล้านบาท โดยขยายตัว 16.19% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขยายตัว 19.89% ขณะที่ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการสาขาธนาคารต่างประเทศมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นหากเทียบกับกลุ่มอื่นในไตรมาส 1 ปี 2550 โดยมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งสิ้น 25,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.22% ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 21.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพบว่ามีอัตราการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนโดยพบว่าในไตรมาสแรกมีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 59,001 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัว 6.25% ซึ่งชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 23.72%
นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตไตรมาส1 ของปีนี้ยังมีทิศทางชะลอตัว โดยมีปริมาณสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 166,383 ล้านบาท ขยายตัวในอัตรา 15.89% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 21.07% ทั้งนี้หากแยกพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้วจะพบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศมีปริมาณสินเชื่อคงค้างในไตรมาส แรก อยู่ที่ 33,688 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัว 20.51% ซึ่งขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.40% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ก็มีปริมาณอยู่ที่ 76,873 ล้านบาท โดยขยายตัว 14.65% ซึ่ง ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 31.35% ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีปริมาณยอดคงค้างทั้งสิ้น 55,822 ล้านบาท ขยายตัว 14.95% ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 9.11% และเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าบัตรเครดิตไตรมาสแรกของปีโดยรวมยังมีทิศทางชะลอตัวลง โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 53,306 ล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ 15.88% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 26.64% ซึ่งหากแยกพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้ว พบว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าในไตรมาส แรกขยายตัวเพียง 17.53% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 25.5% ขณะที่กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศนั้น ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงแม้ว่าจะชะลอตัวก็ตาม โดยพบว่าไตรมาสแรกขยายตัว 41.56% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากที่เคยขยายตัว 45.68% และกลุ่มผู้ประกอบการสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นั้น อัตราการขยายตัวการเบิกเงินสดล่วงหน้าชะลอลง โดยพบว่ามีอัตราการขยายตัวเพียง 5.4% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 27.09%
|