|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นายใหญ่ “โตโยต้า” ประกาศชัดอัตราภาษีอีโคคาร์เหมาะสมที่สุดควรอยู่ที่ 25% สวนทางค่ายรถคู่แข่งที่ผลักดันภาษีเพียง 10-15% อ้างเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกับโครงสร้างภาษีเก๋งรุ่นอื่นๆ แต่ยืนยันไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร พร้อมเป็นรายแรกที่จะผลิตอีโคคาร์ แย้มปริมาณการผลิตที่คุ้มทุนควรอยู่ที่ 2 แสนคันนั้นต้องเป็นรถที่ใช้ชิ้นส่วน-แพลตฟอร์ม ร่วมกับรุ่นวีออส, ยาริส และอัลติส หรือเป็นรถเหล่านี้ได้จึงบรรลุเป้าหมาย
นายมิตซูฮิโร โซนาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โตโยต้าพร้อมสนับสนุนโครงการรถประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ของรัฐบาล เพระมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกันในเรื่องของการเป็นรถเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย
“จากการเข้าไปให้ความเห็นกับทางภาครัฐในเรื่องอีโคคาร์ โตโยต้าได้เสนอว่าไม่ควรให้การสนับสนุนรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ควรจะสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย และสามารถแข่งขันได้ในทุกๆรุ่น โดยเฉพาะเรื่องของภาษีสรรพสามิตที่ไม่ควรจะแตกต่างกันมากนัก ซึ่งในความเห็นของโตโยต้า ภาษีอีโคคาร์ควรจะอยู่ประมาณ25% น่าจะเหมาะสมที่สุด แม้จะมีผู้ผลิตบางรายต้องการ10-15% ก็ตาม”
ทั้งนี้หากดูฐานโครงสร้างภาษีรถยนต์หลักๆในไทยปัจจุบัน ได้แก่ รถยนต์ขนาด3,000 ซีซีขึ้นไป มีอัตราภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 50% รถยนต์ที่มีขนาดต่ำลงมาไม่เกิน 2,000 ซีซี มีอัตราภาษี 35% และสุดท้ายรถยนต์ขนาดต่ำกว่า 2,000 ซีซี มีอัตราภาษี 30% เหตุนี้หากจะมีอัตราภาษีอีโคคาร์ก็น่าจะอยู่ไล่เลี่ยกันที่ 25% โดยอาจจะเริ่มที่เครื่องยนต์ 1,500 ซีซีลงมา แต่ต้องมีสมรรถนะตรงกับวัตถุประสงค์ของอีโคคาร์ นั่นคือมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำตามที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอกำหนด
นายโซนาดะ กล่าวว่า ไม่ว่าผลสรุปรัฐบาลเกี่ยวกับอีโคคาร์จะเป็นเช่นไร โตโยต้ายืนยันพร้อมจะเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่เข้าร่วมโครงการผลิตรถอีโคคาร์ และขณะนี้โตโยต้าก็มีรถยนต์ที่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า วีออส หรือยาริส
“อีโคคาร์จะต้องเป็นรถยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ มีคุณภาพดีแต่ต้นทุนต้องต่ำ ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นจะต้องมีปริมาณการขายที่มากเพียงพอ ฉะนั้นหากจะให้อีโคคาร์เกิดได้ จึงต้องมีการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนคัน โดยปัจจุบันโตโยต้ามียอดขายรถยนต์โตโยต้า วีออส, ยาริส และอัลติส ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้แพลตฟอร์ม และชิ้นส่วนบางอย่างร่วมกันได้ โดยรวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณปีละ 1.1 แสนคัน หากจะเพิ่มรถใหม่ที่ทำให้มีปริมาณสูงถึง 2 แสนคันจึงต้องเป็นรถที่ใช้ชิ้นส่วนและแพลตฟอร์มร่วมกันกับรถเหล่านี้ได้”
ส่วนการที่รัฐบาลต้องการจะให้ผลิตรถยนต์โมเดลใหม่ เป็นรถขนาดเล็กหรือซิตี้คาร์ คงต้องกลับมาดูว่า ตลาดมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน แต่จากการศึกษาตลาดของโตโยต้าโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากรถประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมมีอยู่เพียงไม่กี่ตลาด ได้แก่ ตลาดยุโรปที่มี เรโนลต์กับเปอโยต์ 206 ครองตลาดอยู่แล้ว ด้วยยอดขายใกล้เคียงกันยี่ห้อละประมาณ 4 แสนคัน อีกตลาดอยู่ที่อินเดียก็มีรถตาต้า และซูซูกิ ครองตลาด ส่วนอีกแห่งอยู่ที่มาเลเซียก็จะมีรถยนต์แห่งชาติโปรตอน และเพอโรดัวได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว
โตโยต้าจึงมองว่า โอกาสส่งออกปริมาณมากๆ เหมือนปิกอัพ 1 ตันที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญแห่งเดียวของโลกแทบจะไม่มี เหตุนี้หากจะทำให้ได้ตัวเลข 2 แสนคัน ในความเห็นโตโยต้าจึงน่าจะเป็นรถยนต์หลากหลายรุ่นที่ใช้ชิ้นส่วน หรือแพลตฟอร์มเดียวกัน ที่สำคัญวัตถุประสงค์ของอีโคคาร์เน้นที่อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปกำหนดขนาดเครื่องยนต์ หรือมิติตัวถังใหม่แต่อย่างใด
“อัตราภาษีที่25%โตโยต้าจึงคิดว่าจะเหมาะสม แม้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะสูงมาก แต่เชื่อว่าบริษัทรถยนต์จะพยายามทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ดีกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเป็นไปตามโครงสร้างภาษีดังกล่าว อาจทำให้โครงสร้างสัดส่วนตลาดรถยนต์เปลี่ยนไป โดยผู้ที่ใช้ปิกอัพก็อาจจะหันมาซื้อรถขนาดเล็กมากขึ้น แต่คงจะไม่กระทบมากนัก และจากการติดตามตลาดรถยนต์ไทย และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งอยู่ เหตุนี้จึงเชื่อมั่นว่าตลาดรถยนต์ไทยในปี 2010 จะเติบโตในทุกเซกเม้นท์ โดยทุกฝ่ายๆ จะได้รับประโยชนเหมือนกันหมด”นายโซนาดะกล่าว
อนึ่งโครงการอีโคคาร์ได้รับการผลักดันกลับมาใหม่ ภายหลังจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศ และเดิมคาดว่าจะสรุปผลได้ภายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเลื่อนออกมาเรื่อยๆ เพราะยังไม่สามารถตกลงเกี่ยวอัตราภาษีสรรพสามิตที่เหมาะสมได้ โดยบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ยื่นข้อเสนอจะผลิตรถยนต์อีโคคาร์หลายราย ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนภาษีรถอีโคคาร์อยู่ที่ 10-15% แต่กรมสรรพสามิตภายใต้กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะกระทบรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่สำคัญมีข่าวว่าโตโยต้าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และไม่ต้องการให้มีการสนับสนุนภาษีอีโคคาร์เป็นพิเศษ
|
|
|
|
|