17 ปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพต้องปิดสาขา 3 แห่งในไซ่ง่อนหลังจากชัยชนะขั้นเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก วันนี้ธนาคารกรุงเทพกลับเข้าไปในเวียดนามใหม่
แม้วันเวลาและเงื่อนไขแวดล้อมจะผันแปรไป แต่รากฐานธุรกิจหลักของแบงก์กรุงเทพสาขาเวียดนามยังอิงแอบอยู่กับสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับพลังธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ "ชิน โสภณพานิช" ในการขยายกิจการสู่ต่างประเทศเมื่อ
40 ปีที่แล้ว
ไม่เป็นที่โต้แย้งกันอีกต่อไปแล้วว่า ธนาคารกรุงเทพ เติบโตมาได้ด้วยอัจฉริยภาพของ
ชิน โสภณพานิช และอีกด้านหนึ่งชิน เมื่อได้รับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่แล้วก็พาธนาคารกรุงเทพเข้าไปแอบอิงกับอำนาจทางการเมืองกลุ่มจอมพลผิน
ชุณหะวัณ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ช่วงหลังปี 2495 ซึ่งเป็นยุคที่มีการแข่งบารมีกันระหว่างกลุ่มสี่เสาเทเวศน์
และกลุ่มซอยราชครู จนทำให้ชีวิตของชินช่วงหนึ่งต้องระเห็จออกไปลี้ภัยทางการเมืองอยู่ฮ่องกง
แต่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือความสัมพันธ์กับคนจีน
ชินซึ่งมีชื่อจีนว่า "ตั้งเพี้ยกชิ้ง" เกิดเมืองไทย ไปเรียนหนังสือที่หลักโตว
เคยไปทำการค้าอยู่ที่ซัวเถา มาเก๊า และฮ่องกง อันนี้เป็นที่มาและความได้เปรียบของธนาคารกรุงเทพ
ตั้งแต่ยุค ชิน เริ่มเข้าไปบริหารตราบจนเท่าปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ ก็ยังเป็นธนาคารที่มีความแนบแน่นกับคนเชื้อสายจีนอย่างแยกไม่ออก
ความได้เปรียบดังกล่าวทำให้ชินคิดที่จะบุกเบิกสาขาต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ
สาขาฮ่องกง เป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรกของธนาคาร ตั้งขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน
2497 ซึ่งก็เพียง 2 ปีนับแต่ชินเข้าคุมอำนาจเต็มที่ในธนาคารกรุงเทพ เวลานั้นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยไม่เคยคิดเรื่องธุรกิจในต่างประเทศเลย
กิจการด้านต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่งจะเริ่มต้นกันเมื่อประมาณปี
2520 นี่เอง
ตามจารีตอันธรรมดาสามัญของกิจการธนาคารพาณิชย์ที่ไปดำเนินกิจการในต่างประเทศ
คือเข้าไปตั้งธนาคารเพื่อดูแลกิจการค้าและธุรกิจให้กับคนของตัวยังต่างประเทศ
ในเมืองไทยก็เช่นกันสมัยที่ไทยเปิดทำการค้ากับต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสันยุคแรก
ๆ หลังสนธิสัญญาบาวริ่ง ปี 2398 ชาวตะวันตกที่มาค้ากับประเทศไทยก็หอบหิ้วเอากิจการธนาคารและสถาบันการเงินเข้ามาด้วย
เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า เช่นธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาเตอร์
ก็มาตั้งสำนักงานตัวแทนดูแลกิจการค้าให้กับธุรกิจอังกฤษในปี 2403
แต่ ชิน โลภณพนิช ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะยุคที่ธนาคารกรุงเทพไปตั้งสำนักงานยังต่างประเทศไม่ได้มีคนไทยที่ไหนไปทำธุรกิจในต่างประเทศ
ธนาคารกรุงเทพจึงเป็นธนาคารเพื่อคนจีนโพ้นทะเล ในหนังสือ "ก่อนจะถึงวันนี้..ธนาคารกรุงเทพจำกัด"
ซึ่งพิมพ์เนื่องในโอกาสเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ถนนสีลมเมื่อปี 2524 ได้เล่าถึงความริเริ่มในการตั้งสาขาธนาคารในต่างประเทศเอาไว้ว่า
"…กลยุทธ์และความคิดในการก้าวออกสู่โพ้นทะเลเพื่อเป็นธนาคารระหว่างประเทศ
เกิดจากการที่นายชิน โสภณพานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารสามารถอ่านสถานการณ์ในขณะนั้น…กล่าวคือ
ผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้อิทธิพลของชาวยุโรปที่เคยเกาะกุมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางด้านการค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกและนำเข้าในย่านนี้ต้องเสื่อมถอยลง ผู้ที่เข้ามามีบทบาทแทนที่นอกจากจะได้แก่สหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในฐานะผู้ชนะสงครามอันสามารถทำให้ขยายอิทธิพลได้ดีแล้ว
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าจะอยู่ในฮ่องกง สิงคโปร์
มาเลเซีย รวมทั้งในประเทศไทยของเราเองด้วย ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ได้เล็งเห็นโอกาสที่เกิดจากความขาดแคลนและความจำเป็นที่จะต้องบูรณะประเทศ
สิ่งเหล่านี้เองได้นำไปสู่การขยายตัวทางการผลิตและการค้าอย่างขนานใหญ่ในระยะต่อมา…"
ที่เวียดนามก็เช่นเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขาขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่
29 กรกฎาคม 2504 ที่กรุงไซ่ง่อน (กรุงโฮจิมินห์ในปัจจุบัน) เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในเวลานั้น
สำนักงานสาขาแห่งแรกอยู่เลขที่ 44 ถนน เหวียน ควง โท ผู้จัดการคนแรกคือ ไพบูลย์
จราญไพรี ซึ่งปัจจุบันกลับมาทำกิจการส่วนตัวอยู่ในเมืองไทย
กิจการในเวียดนามเติบโตได้เพราะได้ลูกค้าคนจีน ปีถัดมา วันที่ 3 กันยายน
ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขาที่สองขึ้นอีกที่โชลอง (ปัจจุบันเป็น District 5 ของกรุงโฮจิมินห์)
ซึ่งเป็นย่านคนจีนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คนจีนทำให้กิจการของธนาคารกรุงเทพเฟื่องฟูอย่างมากจนในที่สุดต้องเปิดอีกสาขาหนึ่งที่เก๋าองหล่าน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2512
ในเวลานั้นเวียดนามจัดได้ว่าเป็นประเทศที่ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญอย่างมาก
เพราะมี 3 สาขาเท่ากับฮ่องกงซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่ มีฐานธุรกิจสำคัญอยู่ที่คนจีนแหล่งข่าวระดับสูงในฝ่ายสาขาต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพเปิดเผย
"ผู้จัดการ" ว่า 3 สาขาในเวียดนามเป็นส่วนที่ทำกำไรให้ธนาคารได้มากที่สุดในบรรดาสาขาต่างประเทศที่ธนาคารกรุงเทพมีอยู่ในเวลานั้น
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในเวียดนามใต้มีคนจีนทำธุรกิจอยู่ค่อนข้างมาก
แต่ปัจจัยที่ทำให้สาขาที่เวียดนามทำเงินได้มากคือสงครามเวียดนาม ซึ่งสหรัฐได้ถลำตัวทุ่มเงินทองและกำลังทหารเข้าไปตั้งแต่ปี
2493
"เรายอมรับว่าตอนนั้นเงินในเวียดนามสะพัดมากซึ่งก็ส่งผลให้การประกอบการของธนาคารดีไปด้วย"
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว ก่อนเวียดนามใต้จะแตกนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าธุรกิจของคนเชื้อสายจีนคือเนื้อหนังมังสาของระบบเศรษฐกิจโดยแท้
แต่ไม่ว่าจะดีอย่างไร 3 สาขาของธนาคารกรุงเทพในเวียดนามก็ต้องปิดลงเพราะภัยทางการเมือง
อันเกิดจากการยึดอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2517 ทุกอย่างจบลงอย่างกระทันหัน
ทรัพย์สินทั้งหมดของธนาคารถูกยึดเป็นของรัฐ
17 ปีต่อมาธนาคารกรุงเทพกลับเข้าไปเปิดสาขาในเวียดนามอีก โดยขอเปิดสาขาที่นครโฮจิมินห์
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2535 โดยนับเป็นธนาคารต่างประเทศแห่งที่สองที่เปิดสาขาขึ้นในเวียดนาม
ธนาคารต่างประเทศแห่งแรกที่เปิดสาขาคือ อินโดสุเอซ ซึ่งเปิดสาขาโฮจิมินห์ซิตี้อย่างเป็นทางการ
ในวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม 2535
เวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์ทั้งประเทศอยู่สิบกว่าปี การเศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูเท่าที่หวังเอาไว้
ซึ่งก็ด้วยสาเหตุและปัจจัยมากมาย ผลที่สุดทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องหาทางปฏิรูปเศรษฐกิจ
ในปี 2529 ก็ได้ข้อสรุปกันว่าต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
แต่เอกชนภายในประเทศไม่ค่อยจะมีทุนในการประกอบการ จึงต้องเปิดระดมทุนจากต่างประเทศ
ปี 2530 จึงมีการประกาศกฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก
นับเป็นการเริ่มต้นเปิดเศรษฐกิจออกผูกพันกับทุนนิยมโลกก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของเวียดนาม
ธนาคารกรุงเทพก็อาศัยเงื่อนไขนี้ในการขอเข้าไปเปิดสาขาอีกครั้งในเวียดนาม
ตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างประเทศของเวียดนาม ปี 1987 (2530) ถือว่ากิจการธนาคารเป็นกิจการที่อยู่ในหลักเกณฑ์ของการลงทุนจากต่างประเทศด้วย
ดังนั้นธนาคารต่างประเทศที่จะเปิดสาขาจะต้องยื่นเรื่องเข้าไปยังคณะกรรมการแห่งรัฐว่าด้วยความร่วมมือและการลงทุน
(The State Committee for Cooperation and Investment) หรือรู้จักกันในนามของ
SCCI
แต่กิจการธนาคารก็ไม่ใช่การลงทุนต่างประเทศที่เหมือนกับกิจการอื่น ๆ ดังนั้นธนาคารแห่งรัฐเวียดนามหรือ
State Bank of Vietnam จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยธนาคารชาติเวียดนามได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยการธนาคารในเวียดนามใหม่ในเดือนตุลาคม
2533 ทำให้บทบาทของธนาคารชาติเปลี่ยนแปลงไปจากธนาคารที่ควบคุมทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลางไปเป็นธนาคารที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
ดังนั้นกิจการของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจึงต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของธนาคารชาติเวียดนามด้วย
แม้ว่าธนาคารกรุงเทพจะเคยมีสาขาอยู่ในเวียดนามก่อนปี 2518 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ธนาคารได้รับอภิสิทธิใด
ๆ ในการเข้าไปตั้งสาขาใหม่อีกครั้ง
"เรายื่นเรื่องผ่านธนาคารชาติเวียดนามไปเมื่อปลายปี 2534 เขาให้คำตอบครั้งแรกเมื่อวันที่
15 มกราคม 2535 มีการออกข่าวกันอย่างเป็นทางการก็ตอนที่นายกอานันท์ ปันยารชุนเดินทางไปเยือนเวียดนามระหว่างวันที่
15-17 มกราคม 2535 เขาให้เวลา 1 ปีสำหรับการจัดตั้งสาขาหลังจากอนุมัติ"
แหล่งข่าวในธนาคารกรุงเทพซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอเปิดสาขาครั้งใหม่
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกรุงเทพในเวียดนามเมื่อ 17 ปีก่อนกับธนาคารกรุงเทพในเวียดนามวันนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันแหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผยว่า
ไม่มีการอ้างสิทธิใด ๆ จากการที่ธนาคารเคยอยู่ในเวียดนาม แม้แต่สำนักงาน
เก่าทั้ง 3 สาขาก็ไม่ได้หยิบยกมาพูดกันอีก
"เราเขียนไปในใบปะหน้าโครงการขอเปิดสาขาพอเป็นอรัมภบท 2-3 บรรทัดเท่านั้นว่า
เราเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่เคยมีสาขา 3 สาขาในเวียดนามเมื่อ
16-17 ปีก่อน เพราะคิดว่าเวลาก็ผ่านไปนานแล้ว และที่สำคัญมันก็เป็นคนละระบอบกัน
ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกยึดไปหมดแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไรจะไปพูดเรื่องเก่า
ๆ เราจะต้องทำธุรกิจในสภาพแวดล้อมใหม่"
ทางการเวียดนามต้องการให้ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขาที่กรุงฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงอยู่ทางเหนือแต่ไม่ค่อยจะมีธุรกิจอยู่ที่นั้นแต่
ชาตรี โสภณพานิชประธานธนาคารกรุงเทพได้ขอร้องผ่านนายกอานันท์ ปันยารชุนไปยังผู้นำเวียดนามว่าจะขอเปิดสาขาที่กรุงโฮจิมินห์ก่อนแล้วจึงจะเปิดสาขาฮานอยในภายหลัง
ประสงค์ อุทัยแสงชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายกิจการสาขาต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ
เปิดเผยว่า ต้นปี 2536 นี้ธนาคารกรุงเทพจะเปิดสาขาแห่งที่สองที่ฮานอย
ธนาคารกรุงเทพวันนี้มีสาขาแรกอยู่เลขที่ 117 ถนน เหวียน เหว ในเขต 1 (District
1) ใจกลางกรุงโฮจิมินห์ สุพจน์ วสุศรี ผู้จัดการคนแรกของสาขาโฮจิมินห์ บอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่าศูนย์กลางของธุรกิจของโฮจิมินห์ได้เคลื่อนย้ายจาก
โชลอง ซึ่งเคยเป็นย่านคนจีนที่ใหญ่ที่สุด มาอยู่ที่เขต 1 แล้ว
"ธนาคารกรุงเทพเคยมีสาขาอยู่ในเขตโชลองถึง 2 สาขาแต่เดี๋ยวนี้โชลองเงียบมากไม่ค่อยมีธุรกิจ
มีธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งอยู่ในเขตนั้น ตอนนี้ได้ข่าวว่าจะย้ายมาอยู่
เขต 1 นี้แล้ว" สุพจน์ กล่าว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธนาคารกรุงเทพวันนี้ไม่ได้ทำธุรกิจกับคนเชื้อสายจีน
หากแต่คนจีนนั่นเองเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของธนาคารกรุงเทพในเวียดนามตอนนี้
ผิดแต่ว่าไม่ใช่คนเวียดนามเชื้อสายจีนที่ทำการค้าอยู่ในโชลองเหมือนเมื่อ
32 ปีก่อนตอนที่ตั้งสาขากันใหม่ ๆ แต่คนจีนทุกวันนี้มาจากไต้หวัน ฮ่องกง
สิงคโปร์ และมาเลเซีย
นักลงทุนชาวไต้หวันเป็นกลุ่มนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่กระตือรือล้นในการลงทุนที่สุดในเวียดนามในปี
2535 ที่ผ่านมามีโครงการลงทุนของนักธุรกิจไต้หวันในเวียดนามรวม 70 โครงการมูลค่า
109.0 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ ฮ่องกง 98 โครงการมูลค่า 475.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่มีสาขาต่างประเทศเชื่อมโยงธุรกิจของคนจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย
สิงคโปร์ อินโดนีเซียอีกทั้งยังเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจของคนเชื้อสายจีนในไต้หวันและฮ่องกง
นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการที่จะเปิดสาขาขึ้นอีกแห่งในซัวเถา
ประเทศจีน
เครือข่ายอันกว้างขวางที่รองรับธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลนี้กลายมาเป็นฐานหลักในการป้อนธุรกิจให้กับสาขาโฮจิมินห์
"ผมคิดว่าเป็นความฉลาดของนายห้างชินที่ท่านคิดตั้งสาขาในไทเปขึ้นเมื่อ
27-28 ปีก่อน ปัจจุบันนี้เรามีสาขาไทเปและสาขาเกาซวง ในไต้หวัน ลูกค้าของเราที่ใช้บริการทั้งสองสาขาอยู่ในไต้หวันย้ายทุนเข้ามาในเวียดนามค่อนข้างมากทำให้เราได้เปรียบในจุดนี้"
สุพจน์กล่าว
สุพจน์ วสุศรี ผู้จัดการสาขาโฮจิมินห์ เคยเป็นผู้จัดการสาขาไทเป ไต้หวัน
เกือบ 30 ปี พูดภาษาจีนกลางคล่องเท่า ๆ กับภาษาไทย ภูมิหลังนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการดึงกลุ่มลูกค้าคนจีนให้เข้ามาใช้บริการของธนาคารได้เป็นอย่างดี
ประกอบกับมีที่ปรึกษาธนาคารเป็นคนจีนชื่อว่อง เซ บันด้วย เท่ากับเป็นช่องทางที่จะช่วยดึงลูกค้าคนจีนได้อีกทางหนึ่ง
"ลูกค้าคนจีนที่มาหาเราส่วนใหญ่ก็สาขาอื่น ๆ แนะนำมาเขาเคยใช้บริการของเราอยู่ในไต้หวัน
ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซียหรือแม้แต่ในกรุงเทพ พอผมรู้ว่าเขาเป็นคนเชื้อสายจีน
ผมก็พูดจีน ทำให้เราสนิทสนมกันได้เร็วขึ้น เขาก็ชอบที่มีคนเข้าใจเขา อย่างน้อยก็พูดกันรู้เรื่อง
ง่ายกว่าใช้ภาษาที่สาม" ผู้จัดการสาขาโฮจิมินห์กล่าว
ลักษณะการลงทุนของชาวไต้หวันในเวียดนามปัจจุบันจะทำโครงการขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง
ไม่สู้จะมีโครงการใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับการลงทุนทางด้านการพัฒนาที่ดิน
มีโรงงานอุตสาหกรรมบ้าง แต่เป็นอุตสาหกรรมประเภทผลิตสินค้าขั้นต้น ที่อาศัยแรงงานราคาถูก
และวัตถุดิบในเวียดนาม สินค้าพวกนี้จะถูกส่งเข้าไปป้อนทำสินค้าสำเร็จรูปในไต้หวันอีกที
"ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจธุรกิจคนไทย" สุพจน์ ยืนยันเจตนารมณ์ที่มีต่อธุรกิจไทยกับ
"ผู้จัดการ" แต่ปัญหาคือไม่มีธุรกิจไทยมากพอที่เวียดนาม เราเป็นพ่อค้าสิบเบี้ยใกล้มือก็ต้องคว้าไปก่อน"
แม้ว่าธนาคารกรุงเทพสาขาโฮจิมินท์ซิตี้จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปจับตลาดท้องถิ่น
แต่สาขานี้ก็มีบุคลากรที่สามารถใช้ภาษาเวียดนามได้คล่องแคล่ว อย่างเช่นมณเฑียร
เนตรศิริ รองผู้จัดการสาขา เคยทำงานอยู่ในธนาคารกรุงเทพสาขาไซ่ง่อน เป็นเวลา
10 ปีก่อนที่จะปิดลงในปี 2518 มี
ในฐานะที่เป็นสาขา ธนาคารต่างประเทศสามารถทำธุรกิจได้ทุกอย่างเท่าที่สาขาของธนาคารสามารถทำได้
แต่ทว่ามีข้อจำกัดอยู่บางประการ ภายใต้ระเบียบใหม่ว่าด้วยธนาคารที่ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม
2533 สาขาธนาคารต่างประเทศจะต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 15 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นอย่างน้อย
และจะได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจได้ในมูลค่า 10% ของทุนจดทะเบียน
พูดง่าย ๆ คือ สามารถปล่อยสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
และหากจะรับฝากเงินด่องจากลูกค้าที่ไม่ใช่คนเวียดนาม ก็จะทำได้ไม่เกินมูลค่า
1.5 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน
"ระเบียบแบบนี้อาจจะดูจำกัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น แต่ถ้าคิดว่าทำธุรกิจในเวียดนามก็มีเหตุผลที่รับฟังได้เพราะตอนนี้จริง
ๆ แล้วก็ยังไม่ได้เข้าไปทำโครงการอะไรเลยที่มีขนาดใหญ่ โครงการเงินกู้ที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็เป็นอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง"
สุพจน์ กล่าว
แหล่งข่าวในธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังมีการเจรจาที่จะเข้าไปสนับสนุนโครงการปลูกยางพาราของนักลงทุนไทยรายหนึ่ง
ซึ่งเป็นโครงการบนเนื้อที่ประมาณ 1000 เฮกเตอร์ทางภาคใต้ของเวียดนาม สุพจน์
บอกเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการว่า" กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาแต่ยังไม่ถึงที่สุด"
ธุรกรรมส่วนใหญ่ที่ธนาคารกรุงเทพสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ทำอยู่เวลานี้จึงเกี่ยวข้องเฉพาะกับเงินโอนแลกเปลี่ยนเงินตราแอลซี
และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแอลซี ตั๋วนำเข้า-ส่งออก
"กว่า 50% ของธุรกิจทั้งหมดตอนนี้คือการโอนเงินซึ่งโอนผ่านมาทางสาขาต่าง
ๆ ของเราที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ จำนวนยังไม่มากนัก สูงสุดอยู่ในหลักแสนเหรียญสหรัฐเท่านั้น
แต่บางทีเป็นเงินโอนของนักท่องเที่ยวมูลค่าแค่ 100 เหรียญก็มี" ผู้จัดการสาขาโฮจิมินห์
กล่าว
ขีดจำกัดที่มีอยู่ค่อนข้างมากทำให้ธนาคารยังไม่สามารถที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่
ๆ ทางการเงินในตลาดเวียดนามได้ ยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับตราสารการเงินไม่ว่าชนิดใด
เนื่องจากยังไม่มีระบบเคลียริ่งในเวียดนาม จึงยังไม่มีการใช้เช็คประชาชนใช้เงินสด
เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนบางเวลาที่สถานการณ์ทางการเงินไม่ค่อยมีเสถียรภาพก็ใช้ทองคำ
แต่ระยะหลังเงินด่องเริ่มได้รับความเชื่อถือมากขึ้นมีการใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารสามารถแนะนำแก่ตลาดโฮจิมินห์ตอนนี้คือ บัตรเครดิต
"ที่เราทำอยู่และเป็นที่นิยมของลูกค้าต่างชาติในเวียดนามตอนนี้คือ
บัวหลวงวีซ่า" สุพจน์ กล่าวถึงสินค้าใหม่อย่างเดียวที่ทำได้ในเวลานี้
ดูเหมือนว่าตอนนี้ธนาคารกรุงเทพจะยังไม่มีคู่แข่ง ที่เป็นสาขาธนาคารไทยด้วยกันอย่าง
ธนาคารทหารไทยและกรุงไทยก็มีเพียงสำนักงานตัวแทนทำหน้าที่ติดตามข่าวสารและข้อมูลเศรษฐกิจเท่านั้น
โดยธนาคารทหารไทยจะยังคงเป็นสำนักงานตัวแทนอยู่จนกล่าสำนักงานสาขาซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างริมแม่น้ำไซ่ง่อน
จะแล้วเสร็จ ประมาณเดือนมีนาคมศกนี้ ส่วนธนาคารกรุงไทย มีสำนักงานตัวแทนอยู่ที่กรุงฮานอย
ซึ่งสภาพธุรกิจเงียบเหงา ไม่คึกคักเท่ากับโฮจิมินห์ ทั้งยังไม่มีแผนที่จะเปิดสาขาในระยะอันใกล้
จะมีก็เพียงการเตรียมการที่จะเปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นอีกแห่งหนึ่งในเขต 1
ของกรุงโฮจิมินห์ ในเร็ว ๆ นี้
ส่วนธนาคารของเวียดนามเองนั้น มีธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นอยู่ 4 แห่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่หลักแตกต่างกันคือ
Bank of Agriculture มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนทางด้านการเกษตร ป่าไม้และการประมง
Bank of Development and Investment สนับสนุนทางด้านการพัฒนาและลงทุนภายในประเทศ
Bank of Industry and Commercial หรือ Incom Bank สนับสนุนการเงินทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม
และ Bank of Foreign Trade หรือ Vietcom Bank ทำหน้าที่ส่งเสริมทางด้านการค้าต่างประเทศ
แม้จะมีการกำหนดหน้าที่หลักกันตามระเบียนที่ออกเมื่อปี 2533 แต่ในความเป็นจริงธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นเหล่านี้ก็แข่งขันกันเองในตลาดเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ตลาดการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เมื่อก่อนมีเพียง
Vietcom Bank เท่านั้นที่มีสิทธิทำแต่ปัจจุบัน Incom Bank ก็ทำเช่นกัน
แต่ธนาคารเหล่านี้ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารกรุงเทพ เนื่องเพราะสถานะดูจะแตกต่างกันมาก
ประการแรก ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ทำธุรกิจกับลูกค้าในท้องถิ่น ประการต่อมา
กิจการค้าต่างประเทศของธนาคารท้องถิ่นเหล่านี้ก็เทียบไม่ได้กับเครือข่ายต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ
และหลายแห่งก็มีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ Correspondent
Bank ของธนาคารกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็น Vietcom Bank หรือ Incom Bank
ที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงก็คือธนาคารจากประเทศอื่นที่ไปเปิดสาขาในเวียดนาม
21 แห่ง เป็นธนาคารฝรั่งเศส 4 แห่ง อินโดนีเซีย ซึ่งร่วมทุนกับ Incom Bank
อังกฤษ เกาหลี ออสเตรเลีย ฮ่องกง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอินเดีย ชาติละแห่ง
ขณะนี้มีรายงานข่าวว่า Bank of Tokyo และ Sakura Bank ของญี่ปุ่นกำลังขอเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในเวียดนามคาดว่า
Bank of Tokyo จะเป็นธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกในเวียดนามที่จะมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่น
"แต่จะถือว่าธนาคารตะวันตกเหล่านี้เป็นคู่แข่งของธนาคารกรุงเทพคงจะไม่ได้
เพราะว่าตลาดเราต่างกันมาก พวกเขาจะจับตลาดตะวันตกซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่
เช่น ปิโตรเลี่ยม โทรคมนาคม แต่ของเราจะจับตลาดเอเชียที่เรามีเครือข่ายอยู่
ตลาดมันแบ่งกันเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว" สุพจน์ กล่าว
ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียดนามในวันที่ ตั้งเพี้ยกชิ้งบริหารเมื่อกว่า 30
ปีก่อน กับธนาคารกรุงเทพสาขาเวียดนามในวันนี้ที่ ชาตรี โสภณพนิช นั่งเป็นประมุขใหญ่ยังคงยึดมั่นอยู่กับแนวทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
คือมีคนจีนโพ้นทะเลเป็นฐานลูกค้าใหญ่ แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
แต่สถานการณ์นี้ ล้วนแล้วแต่เดินไปตามทางที่ตั้งเพี้ยกชิ้ง มองเอาไว้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้วทั้งนั้น
ธนาคารกรุงเทพจึงเดินอยู่ในเวียดนามได้อย่างสบาย ๆ แม้ว่าจะยังเป็นก้าวย่างที่เชื่องช้าอยู่บ้างก็ตาม