ตลาดสมุดโทรศัพท์มูลค่า 9,000 ล้านบาทจากฐาน 12 ล้านเลขหมาย นับว่าเป็นเดิมพันยิ่งใหญ่ที่ชักชวนให้เอกชนหลายสิบรายต้องกระโจนลงสนามนี้
โดยมีล็อกซเล่ย์ และชินวัตรฯ เป็นคู่แข่งหลักที่สมน้ำ สมเนื้อกันมากที่สุด
ถึงแม้ว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจะเป็นเพียงแค่การคาดการณ์บนพื้นฐานจากอัตราการเติบโตของสื่อโฆษณาปีละ
20% ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่และจะคุ้มกับต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวมากน้อยเพียงใด
แต่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจที่จะต้องเล่นกับความเสี่ยงบ้าง แถมยังมีผลพลอยได้ชิ้นใหญ่คือรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ทั่วประเทศนับล้าน
ๆ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลทางการตลาดขนาดใหญ่ในระยะยาว
การเปิดประมูลการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ที่กำหนดคัดเลือกตัวผู้ชนะขั้นสุดท้ายประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้ได้รับความสนใจจากเอกชนอย่างมากมาย
มีผู้เข้ามาซื้อซองประมูลถึง 27 ราย ด้วยกัน
การประมูลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2530 ซึ่งเอที แอนด์ ที ไดเร็คทอรี่ส์ชนะการประมูลและจากที่จีทีอี
ไดเร็คทอรี่ส์ ผูกขาดการจัดทำมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี แต่เอที แอนด์ทีก็ประสบกับการขาดทุนจนต้องขายธุรกิจนี้ไปให้กับชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์
เมื่อปี 2534
หากจะกล่าวว่าทั้ง 27 รายคาดหวังที่จะได้เป็นผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ทั้งหมดก็
คงไม่ผิดนัก ถ้ารับในหลักการณ์ของ ทศท. ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพราะมูลค่าตลาดที่เติบโตขึ้น
ต่อปีเป็นอัตราอยู่ในระดับที่ ทศท. สร้างตัวเลขได้สวยหรู และเมื่อบวกลบคูณหารในการหักผลประโยชน์ที่จะต้องจ่ายให้กับ
ทศท. แล้วก็ยังพอมีเหลือที่จะกอบโกยกำไรเข้ามือได้อย่างมากมาย
หมายความว่าหากตลาดเป็นจริงดังที่ ทศท. คาดหวังไว้ว่าจะได้รับการยอมรับจากตลาดโฆษณาอย่างไม่ผิดเป้าละก็ใน
10 ปีข้างหน้าฐานของตลาดสมุดโทรศัพท์จะมีมูลค่าร่วม 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
และประเทศไทยก็จะมีโทรศัพท์ใช้กว่า 12 ล้านเลขหมาย
แต่ประเด็นการประมูลสมุดโทรศัพท์มิใช่อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ประมูลได้ในครั้งนี้
แม้ว่าในวงการต่างคาดเดาและเก็งกันว่า ทั้งล๊อกเลย์และชินวัตรมีสิทธิลุ้นด้วยกันทั้งคู่
ทว่าประเด็นสำคัญกลับไปอยู่ที่เงื่อนไขข้อกำหนดการคัดเลือก (TOR) บางข้อไม่ว่าจะเป็น
การถือหุ้น 51% ของ ทศท. การจัดพิมพ์สมุดหน้าขาว และมูลค่าตลาดจะเป็นเช่นที่
ทศท. คำนวณไว้หรือไม่ต่างหาก
เงื่อนไขในทีโออาร์ครั้งนี้ถูกกำหนดหรือเขียนขึ้นด้วยฝีมือของพิสิฐ ลี้อาธรรม
ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และวิทู รักษ์วนิชพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน
ทศท. ความต่างของ TOR ในครั้งนี้ต่างกับครั้งก่อนอย่างมากมาย ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ
ประการแรก ทศท. ประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจร่วมการงานและร่วมการลงทุนจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ร่วมถือหุ้นกับ
ทศท. และหน่วยงานหรือเอกชนที่ ทศท. เชิญร่วมลงทุน โดยทศท. ถือหุ้น 49% และหน่วยงานหรือเอกชนที่
ทศท. เชิญเข้าร่วมถือหุ้น 6% รวมเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของ ทศท. 51% ของทุนจดทะเบียน
ส่วนกลุ่มผู้ร่วมการงานหรือร่วมการลงทุนถือหุ้นรวมกัน 49% ของทุนจดทะเบียนในอัตราส่วนนี้ผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศทั้งหมดจะต้องไม่เกิน
40% ของทุนจดทะเบียน
หมายความว่าการถือหุ้นครั้งนี้ ทศท. จะได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเป็นผู้ถือหุ้นและอีกส่วนหนึ่ง
เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการนำหมายเลขโทรศัพท์ในส่วนธุรกิจไปหาโฆษณาในอัตราส่วนที่เสนอให้
โดยใช้สูตรการคำนวณสำหรับใช้ในการประเมินผลซึ่งเป็นตัวตัดสินการประมูล
ในขณะที่ทีโออาร์เดิมครั้งที่ทำกับเอที แอนด์ทีและโอนกิจการให้ชินวัตร
ไดเร็คทอรี่ส์ในเวลาต่อมา ทศท. เป็นเพียงผู้ให้สัมปทานการจัดทำแก่เอกชนที่ชนะการประกวดราคาเท่านั้น
และรับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่เอกชนเสนอ ซึ่งปีสุดท้ายที่ชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์เสนอให้กับ
ทศท. ถือ 45% ของรายได้ซึ่งคาดว่าจะทำได้ประมาณ 1,100 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่า
450 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ในทีโออาร์ใหม่ ทศท. ย่อมจะมีรายได้เพิ่มจากการถือหุ้นด้วย
ประการที่สอง ระยะเวลาของการรับสิทธิสัมปทานจัดทำทีโออาร์ใหม่มีระยะเวลา
10 ปีนับแต่วันลงนามในสัญญา และต่อสัญญาได้เป็นคราว ๆ ไป หรือตราบเท่าที่
ทศท. เป็นผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับสิทธิแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา
ในประเด็นนี้ย่อมหมายถึงเมื่อ ครบ 10 ปี ทศท. อาจต่อสัญญาหรือล้มเลิกก็ได้
ส่วนทีโออาร์เดิมมีอายุสัมปทานการจัดทำสมุดรายนามฯ เพียง 5 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ดีในเงื่อนไขข้อนี้
ทศท. ได้ยืดหยุ่นเวลาให้กับชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ซึ่งรับสัมปทานอยู่ในเวลานี้
ได้ต่ออายุสัมปทานไปอีก 2 ปี ดังนั้นการเริ่มต้นสัญญาการจัดทำของทีโออาร์ใหม่จึงไปเริ่มต้นนับปีที่
1 เมื่อ พ.ศ. 2539 แต่หากว่าชินวัตรฯ ไม่รับทำต่อใน 2 ปี อายุสัมปทานใหม่ก็จะเริ่มนับตั้งแต่ปี
2537 เป็นต้นไป
ประการที่สาม ทีโออาร์ใหม่ไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำ แต่ทีโออาร์เดิมมีการประกันส่วนแบ่งรายได้จากการขายโฆษณาขั้นต่ำ
เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทศท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโดยมีกำหนดในปีแรกเอกชนที่รับสิทธิ์จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ
ทศท. เป็นจำนวน 125 ล้านบาท ปีที่สองจ่าย 150 ล้านบาท ปีที่สาม 225 ล้านบาท
ปีที่สี่ 325 ล้านบาทและ 450 ล้านบาทในปีสุดท้ายหรือคิดเป็นเปอร์เซนต์จากรายได้การขายโฆษณาก่อนหักค่าใช้จ่าย
41%, 42%, 43%, 44% และ 45% ตามลำดับ โดย ทศท.จะเลือกรับผลประโยชน์ที่ได้สูงสุดเท่านั้น
สุรช ล่ำซ่ำ ลูกชายคนโตของ บรรยงค์ ล่ำซ่ำซึ่งดูแลฝ่ายวิศวกรรมสื่อสารของล๊อกซเล่ย์(กรุงเทพ)
ที่ในวันนี้เขากำลังได้รับการผลักดันจากผู้ใหญ่ของล๊อกซเล่ย์ให้เติบโตโดยการให้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า
"การประมูลครั้งนี้น่าสนใจมากเพราะไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ก็ทำให้คำนวณด้านการเงินหรือเสนอผลประโยชน์ยากขึ้นต้องระวังอย่างมาก เพราะฐานขั้นต่ำ
45% ที่ ชินวัตรเสนอไว้ให้ ทศท. ในปีหลังสุดนับได้ว่าเป็นฐานที่สูงเอาการ"
อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำก็ใช่ว่า ทศท. จะได้รับผลประโยชน์ลดน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา
แต่กลับได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากฐานการตลาดที่ขยายตัวทำให้มูลค่าการตลาดสูงขึ้น
ซึ่งดูได้จากฐานการตลาดล่าสุดที่ชินวัตรฯ ทำไว้สามารถจ่ายผลประโยชน์ให้กับ
ทศท. ได้อย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ทศท. ก็ยังได้รับผลประโยชน์อีกส่วนหนึ่งจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย
นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากรายได้ในการหาโฆษณา
ประการที่สี่ การแบ่งเขตการจัดพิมพ์หมายเลขเนื่องจากเลขหมายที่เพิ่มขึ้น
ซึ่ง ทศท. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านเลขหมายเมื่อถือปี 2538 จนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบการจัดหน้าใหม่จากเดิม
2 คอลัมน์เป็น 4 คอลัมน์
ประการที่ห้า ทีโออาร์ ใหม่ระบุว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมการงานและร่วมการลงทุนต้องวางหลักประกันข้อเสนอเป็นจำนวนเงิน
50 ล้านบาทจากเดิมวางหลักประกันข้อเสนอเพียง 5 ล้านบาท เท่านั้น
ประการที่หก ระบุในเรื่องของประสบการณ์ไว้ว่าผู้เสนอหรือกลุ่มผู้เสนอจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดพิมพ์สมุดรายนามฯ
และสมุดหน้าเหลืองให้แก่องค์กรผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีผู้เช่าไม่น้อยกว่า
1 ล้านเลขหมายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
จากกรณีนี้ดูเหมือนว่า ทศท. จะรู้เห็นเป็นใจและเปิดทางให้กับชินวัตรอย่างเต็มที่
เพราะเอกชนสัญชาติไทยรายเดียวที่มีประสบการณ์ในการจัดทำสมุดโทรศัพท์
แต่ก็ใช่ว่า เงื่อนไขนี้จะปิดทางคู่แข่งอื่น ๆ หมดเพราะมีหนทางง่าย ๆ ที่จะแก้ลำได้
คือการดึงบริษัทต่างประเทศที่มีประสบการณ์มาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยดังเช่นกรณีของล๊อกซเล่ย์เอง
แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดทำสมุดโทรศัพท์มาก่อนก็ตามแต่ความเป็นล๊อกซเล่ย์
นอกจากเจ้าบุญทุ่มแล้ว พาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือกันแต่ละรายไม่ว่าจะเป็นจัสมินและอิตาเลียนไทยซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่จับมือร่วมกันทำโครงการ
1 ล้านเลขหมายในส่วนภูมิภาค ก็ล้วนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หากกลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้จะดึงบริษัท
ต่างชาติที่มีประสบการณ์ในการจัดทำสมุดโทรศัพท์มาก่อนเข้าร่วมด้วยก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงสักเท่าไร
สุจินต์ สุวรรณชีพ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ล๊อกซเล่ย์ (กรุงเทพ)
จำกัดกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ขณะนี้ล๊อกซเล่ย์กำลังมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์มาร่วมทุน
ซึ่งมีอยู่หลายบริษัทด้วยกัน ล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการจัดทำสมุดรายนามฯ
ในต่างประเทศมาก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เอ็นทีที ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในญี่ปุ่น
ไอทีที ทีทีแอนด์ที ไนเน็กซ์และเทเลไดเร็คทอรี่ส์
หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการเข้าร่วมกับล็อกซเล่ย์นั้น ทั้ง เอ็นทีที
ไอทีทีและทีทีแอนด์ที ล้วน แล้วแต่มีความสัมพันธ์สานต่อเชื่อมโยงกันจนอาจเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกันก็ว่าได้นั่นคือเอ็นทีทีเป็นพาร์ทเนอร์กับ
ทีที แอนด์ ที ทำไดเร็คทอรี่ส์ในญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ทีที แอนด์ ที ก็เกิดจากการร่วมทุนกับล๊อกซ
เล่ย์, จัสมิน, และเอ็นทีที ทำโครงการ 1 ล้านเลขหมายด้วย โดยมี เอ็นทีทีเป็นผู้ซัพพลายเทคโนโลยีให้บางกระแสข่าวก็ว่า
ล๊อกซเล่ย์จะเลือกไนแน็กซ์เป็นพาร์ทเนอร์
แต่สุจินต์ก็ยังไม่ยืนยันว่าจะลงเอยกับใคร
"เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับใครเราคุยกับทุกบริษัทแต่ละบริษัทก็ให้ความสนใจกันทั้งนั้น
ขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจในรายละเอียดเงื่อนไขของ ทศท. ในบางข้อที่เขายอมรับไม่ได้เช่น
การถือหุ้นที่อยู่ในเปอร์เซ็นต์ต่ำ" สุจินต์ กล่าว
นอกจากนี้การประมูลสมุดโทรศัพท์ครั้งนี้ระบุว่าเป็นการประมูลจัดทำสมุดหน้าขาวไว้อย่างชัดเจน
โดยที่ผู้ประมูลได้จะได้รับสิทธิ์ในการจัดพิมพ์สมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้อย่างมหาศาลจากการที่ตลาดโฆษณามีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณปีละ
20% แต่สมุดหน้าขาวก็เป็นรายจ่ายที่มียอดมหาศาลเช่นกัน ยิ่งหมายเลขเพิ่มต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย
"ตลาดโฆษณาเพิ่ม 20% ทว่าหมายเลขหน้าขาวกลับเพิ่มขึ้นเป็น 200%"
สุจินต์กล่าว
นี่คือปัญหาใหญ่ที่ล๊อกซเล่ย์เฝ้าทบทวนถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นในการลงทุนแข่งประมูลครั้งนี้
แต่สุรชกลับมองเห็นว่า รายได้จากค่าโฆษณาตามประมาณการที่ ทศท. คำนวณไว้นั้นมีทางเป็นไปได้และสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้จากกลุ่มเป้าหมายใหม่
ที่เรียกกันว่ากลุ่ม CONSUMER หรือกลุ่มธุรกิจย่อย ร้านค้าข้างถนน กลุ่มเป้าหมายใหม่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สามารถขยายอัตราการเติบโตของตลาดไปได้อีก
(ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจที่ลงโฆษณาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางเท่านั้น)
"ปีนี้ชินวัตรทำได้ถึง 890 ล้านบาทหากเทียบจากยอดปีก่อนเขาเติบโตขึ้นถึง
30% นั่นแสดง ให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดเริ่มดีขึ้น ผู้คนให้การยอมรับมากขึ้น
พวกเขาเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับ ความสำคัญของการลงโฆษณา หากพฤติกรรมเปลี่ยนเช่นนี้นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการ"
กลุ่มชินวัตรฯ ซึ่งได้รับโอนกิจการมาจากเอทีแอนด์ทีเมื่อต้นปี 2534 และแสดงความสามารถในการลดการขาดทุนลงได้จนในปีสุดท้ายของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการจัดทำสมุดรายนามฯ
ชินวัตรฯ คาดหวังว่าจะมีกำไรถึง 1,000 ล้านบาทและคืนผลประโยชน์ให้ ทศท. ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันในสัญญา
450 ล้านบาทหรือ 45%
ชินวัตรฯ เพิ่งเข้ามาบริหารธุรกิจนี้ได้เพียง 3 ปี แต่ก็สามารถทำให้ ทศท.
ต้องต่อสัญญาให้อีก 2 ปีทว่าสัญญาที่ ทศท. ต่อให้ชินวัตรฯ แม้จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการลงนามกันแต่อย่างไร
นี่คือลูกเล่นที่แพรวพราว หรือข้อต่อรองที่ฉมังของชินวัตร ???
ในวงการวิเคราะห์กันว่า การที่ชินวัตรไม่เซ็นสัญญาต่ออายุสัมปทานเพิ่มอีก
2 ปีนั้นเป็นเพราะว่าชินวัตรฯ คิดที่จะใช้เป็นข้อต่อรองในการประมูลใหม่ในครั้งนี้
หากประมูลได้ก็เท่ากับว่าชินวัตรจะได้สัมปทานนานถึง 12 ปีโดยเริ่มคิดจากปี
2539 หรืออาจจะเป็น 10 ปีตามเงื่อนไขในทีโออาร์ใหม่ที่ระบุว่าอายุสัมปทานจะไม่เกิน
10 ปีก็เท่ากับว่าได้เริ่มต้นใหม่ในปี 2537 ผลประโยชน์ที่จะต้องส่งให้ ทศท.
ก็จะได้เปลี่ยนไปด้วยตามที่เสนอใหม่
ถ้าหากว่าชินวัตรประมูลไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าชินวัตรฯ อาจเลิกล้มสัมปทานที่ต่อไว้อีก
2 ปีข้างหน้าเสียก็ได้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะไม่มีความผิดใด ๆ
อย่างไรก็ตามความมุ่งหวังของทักษิณ ชินวัตรที่จะประมูลงานนี้ให้ได้ก็มีอยู่มาก
และชินวัตรก็มีความแข็งแกร่งพอที่จะสู้กับคู่ชก เช่นล๊อกซเล่ย์หรือรายอื่น
ๆ ได้อย่างสมฐานะ
เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์กล่าวกับ"ผู้จัดการ"
ว่า "ชินวัตรมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเข้ายื่นซองประมูลในครั้งนี้ด้วยซึ่งพาร์ทเนอร์ที่จะเข้าร่วมกับเราก็คือบริษัท
แปซิปิค แอคเซส จากออสเตรเลีย แปซิฟิคมีประสบการณ์ในการจัดทำสมุดโทรศัพท์มากกว่า
1 ล้านเลขหมายมาแล้วในออสเตรเลีย ขณะเดียวกันชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์เมื่อถึงสิ้นปี
2538 ก็จะมีประสบการณ์ในการจัดพิมพ์สมุดรายนามฯ ที่มีเลขหมายไม่ต่ำกว่า 1
ล้านเลขหมายด้วยเหมือนกัน"
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทชินวัตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า เขากลับไม่ยี่หระกับการประมูลนี้เท่าไรนัก ไม่ตื่นเต้นแม้ว่าจะประมูลได้หรือไม่ก็ตาม
หากประมูลได้ตัวเลข 9,000 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่หนักเอาการแต่ก็น่าสนใจแต่หากประมูลไม่ได้พนักงานของชินวัตรไดเร็คทอรี่ก็จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน
ตลาดโฆษณาที่มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านต่อปีนี้นับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นพอ
ๆ กับการเพิ่มขึ้นของสื่อต่าง ๆ ด้วยเช่นกันสมุดโทรศัพท์ก็จัดไว้ในสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกันซึ่ง
ณ วันนี้สื่อสิ่งพิมพ์จัดว่าเป็นสื่อที่มีปริมาณการแย่งชิงโฆษณาที่สูงมาก
นักการตลาดบางท่านให้ความเห็นว่า ตามหลักความเป็นจริงหากหนังสือใดมีความหมายมากนักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งผู้อ่านและตลาดโฆษณา
แต่คนในวงการธุรกิจสมุดโทรศัพท์กลับให้ความเห็นว่า ผู้ให้โฆษณามีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าสมุดโทรศัพท์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความแตกต่างจากสิ่งพิมพ์ทั่วไป
เพราะการจัดรูปเล่ม การจัดหมวดหมู่ของสินค้าแต่ละชนิดไว้แยกจากกันทำให้ ง่ายต่อการค้นหา
ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไปจึงเป็นคนละตลาดกับสมุดโทรศัพท์และไม่สามารถแชร์ส่วนแบ่งการโฆษณาไปได้
ตลาดโฆษณาสมุดโทรศัพท์จึงยังมีทีท่าว่าจะเติบโตต่อไปได้เรื่อย ๆ ว่ากันตามจริงแล้วการเติบโตของตลาดโฆษณาในสมุดโทรศัพท์ตามที่
ทศท. คำนวณนั้นเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวหน้าโดยมีสมมติฐานจากตัวเลขของเลขหมายโทรศัพท์ที่เพิ่ม
ทว่าการเพิ่มขึ้นของเลขหมายเหล่านี้มิใช่เพิ่มในสัดส่วนของผู้ทำธุรกิจถึง
100% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนของที่อยู่อาศัยที่มิได้ให้ความสนใจในเรื่องการโฆษณาด้วย
ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ล๊อกซเล่ย์, ชินวัตรและกลุ่มผู้ท้าชิงรายอื่น
ๆ ที่มีที่ทีท่าว่าจะเข้าร่วมวงไพบูลย์แข่งขันการประมูลด้วย อาทิ เทเล ไดเร็คทอรี่ส์ซึ่งจะจับมือร่วมกับซิโนบริต
หรืออินทีเกรตเต็ด จับมือกับจีทีอีเจ้าเก่าเป็นต้น ต้องทำการบ้านอย่างหนักในการคิดคำนวณถึงความคุ้มกี่มากน้อยที่จะประมูลงานนี้มาไว้ในมือ
เพราะเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เพิ่มขึ้นมากเท่าใด นั่นย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
หากพิจารณาจากความเป็นจริง ณ วันนี้ ทศท. มีเลขหมายให้ผู้ใช้ทั่วไปประมาณกว่า
1,300,000 เลขหมาย เมื่อบวกเข้ากับ 2 ล้านเลขหมายเฉพาะภายใน กทม. ที่เทเลคอมเอเชียได้รับสัมปทานโครงการติดตั้ง
2 ล้านเลขหมายซึ่งเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 35 ทำให้จำนวนเลขหมายของ
กทม. เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านกว่าเลขหมาย
จากจำนวนเดิมการพิมพ์สมุดรายนามฯ จัดพิมพ์หน้าขาว 2 เล่มแบ่งตามตัวอักษรและหน้าเหลือง
2 เล่มแบ่งตามลักษณะของธุรกิจ ปัจจุบันเลขหมายเพิ่มขึ้นชินวัตรต้องจัดรูปแบบการพิมพ์ใหม่
โดยจัดพิมพ์เป็นเขตแบ่งออกเป็น 4 เขต
เขตที่ 1 จะเป็นรายชื่อของผู้ใช้โทรศัพท์ที่อยู่ใน กทม. รอบในที่มีเลขหมายขึ้นต้นด้วยเลข
2
เขตที่ 2 จะเป็นเขตตอนเหนือของ กทม. ที่มีเลขหมายขึ้นต้นด้วยเลข 5
เขตที่ 3 จะเป็นเขตที่อยู่ตอนใต้ กทม. ที่มีเลขหมายขึ้นต้นด้วยเลข 4
เขตที่ 4 จะเป็นเขตถนนสุขุมวิทที่มีเลขหมายขึ้นต้นด้วยเลข 3
ปัจจุบันชินวัตรต้องพิมพ์รายชื่อถึง 1.7 ล้านเลขหมายในปีหน้าตามเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า
300,000 เลขหมายและเมื่อสิ้นสุดแผน 7 โทรศัพท์ในเขต กทม. จะเพิ่มขึ้นเป็น
2.5 ล้านเลขหมาย
ส่วนในเขตภูมิภาคตามโครงการสัมปทาน 1 ล้านเลขหมายที่ล๊อกซเล่ย์ฟาดฟันกับชินวัตรมาได้นั้นสิ้นปี
37 เลขหมายในส่วนภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันพิมพ์แบ่งเขตเป็น
4 เขตคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
จากเลขหมายที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ทีโออาร์ใหม่ต้องระบุการจัดพิมพ์เฉพาะหน้าขาวแบ่งเป็น
4 เขตแต่ละฉบับจะจัดพิมพ์เป็น 4 คอลัมน์ โดยจัดพิมพ์แยกเป็น 2 ประเภทคือ
สมุดรายชื่อธุรกิจซึ่งรวบรวมเลขหมายและรายชื่อธุรกิจตามข้อมูลของ ทศท. และสมุดรายชื่อบุคคลทั่วไปโดยให้พิมพ์เลขหมายที่มีความจำเป็นต้องใช้หรือสอบถามบ่อยเช่นโรงพยาบาล
หน่วยงานราชการ ทุกเลขหมายไว้ในสมุดของทุกเขตส่วนภูมิภาคจัดพิมพ์เหมือนที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การแบ่งเขตใน กทม. ยังมีประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบที่ลงตัวว่า หากผู้ที่อยู่ในเขตสุขุมวิทต้องการได้เลขหมายในเขตอื่น
ๆ พวกเขาจะต้องทำอย่างไรหรือเขตอื่น ๆ ต้องการเล่มที่มีเลขหมายต่าง ๆ ไปจากของตนเองจะทำอย่างไร
สอบถามจากบริการ 13, 183 หรือ ทศท. จะจัดจำหน่วยให้กับผู้ที่ต้องการสมุดต่างเขต
หาก ทศท. จัดจำหน่ายจะจัดตั้งศูนย์กันอย่างไรราคาต่อเล่มเป็นเท่าใด และ
รายได้ที่เพิ่มขึ้นใครคือผู้รับผลประโยชน์ส่วนนี้ไป
"เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอีกครั้งมันเป็นเรื่องของรายละเอียด
จะมีการปรึกษากันอีกครั้งเมื่อตั้งเป็นบริษัทใหม่แล้ว แต่ที่คาดไว้ก็คือจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการมากกว่าที่จะแจกเหมือนเช่นที่ต่างประเทศทำกัน
ส่วนรายได้เข้าบริษัท" แหล่งข่าวจาก ทศท. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นล๊อกซเล่ย์ หรือชินวัตรหรือผู้ที่ให้ความสนใจรายอื่น
ๆ ในตลาดนี้โดยส่วนใหญ่มิได้มุ่งหวังเพียงแค่ต้องการจัดทำสมุดรายนามฯ เพียงเป้าหมายของรายได้
100 ล้าน หรือ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ทว่าเป้าหมายซึ่งเป็นผลพวงจากการได้รับสัมปทานในการจัดทำนี้อยู่ที่ว่า
ผู้ที่ได้รับสัมปทานจะมีฐานข้อมูลรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ทั่วประเทศนับล้าน
ๆ คนอยู่ในมือซึ่งสามารถนำไปจัดทำธุรกิจต่อเนื่องเพื่อหารายได้เข้ากระเป๋าโดยที่
ทศท. ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในส่วนนี้ได้เลย
เรื่องนี้ทั้งล๊อกซเล่ย์ ชินวัตร หรืออินทีเกรตเต็ดซึ่งเป็นอดีตจีทีอีเก่าก็ยอมรับว่าเลขหมายที่มีอยู่ในมือเขานำไปทำธุรกิจอื่นได้มากมาย
เช่น ไดเร็คมาร์เก็ตติ้ง เทเลมาร์เก็ตติ้ง เทรดแมกกาซีน เทรดไดเร็คทอรี่ส์
หรือจะทำไดเร็คเมลล์ และอีเล็คนิกส์ ไดเร็คทอรี่ส์ เหล่านี้ล้วนเป็น ผลพลอยได้จากการได้เลขหมายไว้ในมือทั้งสิ้น
ผลประโยชน์จากการประมูลสัมปทานจัดทำสมุดโทรศัพท์จึงมิใช่อยู่เพียงแค่รายได้จากโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองในช่วงอายุสัมปทานเท่านั้น
แต่เป้าหมายที่จะเป็นรายได้ต่อไปในระยะยาวคือฐานข้อมูลที่นับได้ว่ามีขนาดใหญ่และมีการจัดระบบอย่างดีเยี่ยมฐานหนึ่งในประเทศไทย
!!!