สศค.เผยฐานะการคลังช่วง 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2550 ขาดดุล 217,349 ล้านบาท ระบุการขาดดุลสะท้อนถึงบทบาทนโยบายการคลังในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดไตรมาสหลังของปีรัฐบาลจัดเก็บรายได้มากกว่ารายจ่าย ส่งผลการขาดดุลการคลังมีจำนวนใกล้เคียงกับวงเงินขาดดุลงบประมาณที่กำหนดไว้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 ว่า รายได้นำส่งคลังของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 693,793 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8 ในขณะที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 853,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4.2 ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 ขาดดุล 159,484 ล้านบาท โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,031 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 และเมื่อรวมดุลเงินงบประมาณกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 57,865 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ของรัฐบาลขาดดุลทั้งสิ้น 217,349 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยการขาดดุลด้วยการใช้เงินคงคลัง 99,694 ล้านบาท การออกพันธบัตรจำนวน 87,655 ล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขาดดุลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของนโยบายการคลังในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าในไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลจะมีกระแสรายได้เข้ามามากกว่ารายจ่าย ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการคลังมีจำนวนใกล้เคียงกับวงเงินขาดดุลงบประมาณที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ
สำหรับรายได้นำส่งคลัง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 693,793 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8 โดยรายได้ที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่ ภาษีเบียร์ ภาษียาสูบ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุรา ภาษีน้ำมัน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะที่รายจ่ายรัฐบาล ในเดือนเมษายน 2550 รัฐบาลมีรายจ่ายทั้งสิ้น 115,830 ล้านบาทโดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 97,682 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 13,534 ล้านบาท และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 4,614 ล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 การเบิกจ่ายของรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 853,277 ล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.2 โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 775,298 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 49.5) และรายจ่ายปีก่อน 77,979 ล้านบาท
นอกจากนี้ในส่วนของดุลการคลังรัฐบาลตามกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้นส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 159,484 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 57,865 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจ่ายเงินเหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 2549 และการถอนเงินฝากนอกงบประมาณเพื่อโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจำนวน 31,272 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ขาดดุลทั้งสิ้น 217,349 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยการขาดดุลด้วยการใช้เงินคงคลัง 99,694 ล้านบาท การออกพันธบัตรจำนวน 87,655 ล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 30,000 ล้านบาท
|