ดนัย ดุละลัมพะ เอกอัครราชฑูต หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรปยืนยันกับ
"ผู้จัดการ" ว่า ไม่เกินเดือนกันยายนศกนี้ เขาจะลาออกจากราชการอย่างแน่นอน
เป็นการตัดสินใจอำลาก่อนที่จะครบเกษียณถึง 3 ปี
"ผมอยู่มา 29 ปี และก็เบื่อพอสมควร งานมันจำเจไม่มีอะไรท้าทายอีกแล้ว"
ดนัยกล่าว
ชีวิตในวงการราชการนั้น บางครั้งอาจจะผกผัน บางครา อาจรุ่งโรจน์ มีบ้างอาจจะขมขื่นเป็นส่วนผสม
เส้นทางเดินของฑูตอีซีคนนี้ก็นับเป็นบทเรียนและแบบอย่างสำหรับหลาย ๆ คนได้เป็นอย่างดี
ดนัยเกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2479 เมื่อถึงวัยที่จะต้องเข้าสู่แวดวงการศึกษา
ก็ข้ามฟ้าข้ามแผ่นดินไปเก็บเกี่ยวเอาความรู้ขั้นปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์
ถึงสหรัฐอเมริกา
เขาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ชีวิตในวงราชการตั้งแต่เริ่มแรกว่า
"ผมเริ่มรับราชการที่กรมวิเทศสหการ อันนั้นงานมันแคบ เป็นงานรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
หน้าที่ตอนนั้น ก็คือ สกรีนคำขอจากหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการเจรจาขอทุนการศึกษา
ผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ
ดนัยคิดว่าหน้าที่ความรับผิดชอบที่กรมวิเทศสหการดังกล่าว มีแต่จะทำให้สมองของเขาแห้งดายลงทุกวี่ทุกวัน
และด้วยพื้นฐานที่ชมชอบทางด้านนโยบายเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม เขาจึงได้ขอย้ายไปอยู่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในยุคนั้น
จากนั้นไปอยู่กระทรวงต่างประเทศ ข้ามฟากไปกระทรวงพาณิชย์และกลับถิ่นเดิม
ณ วังสราญรมย์อีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตราชการ
พรรษายิ่งแก่ ความรู้ยิ่งกล้า
ประเดิมด้วยตำแหน่งอธิบดีกรมเศรษฐกิจในปี 2528 อีก 3 ปีต่อมาก็ย้ายระดับไปกินตำแหน่งใหญ่โตที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศไทย
ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2531 จนถึงวันนี้ บทบาทและความเชี่ยวชาญของดนัยในฐานะ
"เอกอัครราชฑูต หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป" เป็นที่กล่าวถึงอยู่ไม่หยุดหย่อน
จึงดูเหมือนว่าเขาจะต้องทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกับประชาคมยุโรป ประจำประเทศไทยไปโดยพฤตินัยอีกตำแหน่งหนึ่ง
เขากลายเป็นแขกรับเชิญของหน่วยงานราชการภาคธุรกิจและสื่อมวลชนอยู่เสมอ ๆ
ทุกครั้งที่กลับมาเมืองไทย
กับชีวิตในวันข้างหน้า
"ผมอาจจะออกไปอยู่บ้านเฉย ๆ หรือไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาที่สุนก ๆ ไม่คิดจะทำอย่างจริงจังผมคิดจะทำเรื่องคอนซัลแต้นท์เกี่ยวกับยุโรปต่อไป
แต่ไม่คิดจะมีลูกค้าเป็นสิบ ๆ รายอาจจะทำสัก 3-4 ราย เท่านั้น เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิชาการและธุรกิจและอาจจะเขียนบทความอะไร
ๆ สนุกสอนแลคเชอร์ หรือทำวิจัยอะไรก็ได้"
ด้วยความที่เป็นคนเก่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการพิจารณาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ว่าเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการอาเซียน ทำให้เขาถูกทาบทามจากภาคธุรกิจเอกชนให้มาร่วมบริหารงานด้วยอยู่หลายครั้งหลายครา
แต่ทุกครั้งเขาตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า "มะพร้าวแก่ น้ำคงไม่หวาน"
"เดิมภาคธุรกิจไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเอาข้าราชการระดับสูงไป เพราะธุรกิจไทยโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว
คนระดับคุณชิน โสภณพาณิช คุณถาวร พรประภา หรือคุณอวยชัย อัศวินวิจิตร สมัยนั้นลูก
ๆ ยังเรียนหนังสืออยู่ เมื่อพ่อเริ่มแก่ แต่เขาต้องเข้าสู่ตลาดโลก มองไม่เห็นภาพตลาดโลก
เห็นแต่ภาพฮ่องกง สิงคโปร์ เขาจึงจำเป็นต้องดึงคนอย่างท่านอานันท์ ท่านอำนวยเข้ามาเสริม
แต่เดี๋ยวนี้พวกลูกเขาขึ้นมา เป็นประธานเก่ง ๆ กันทั้งนั้น อายุเพียง 30
เท่านั้น เรื่องอะไรเขาจะเอาคนแก่ ๆ อย่างผมเข้าไปอย่างมากก็ไปช่วยเพื่อนฝูงเก่า
เป็นที่ปรึกษา ซึ่งผมก็ไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น แต่ถ้าจะเอาผมไปบริหารบริษัท
ผมก็คงแข่งขันสู้พวกเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่ได้" ดนัยกล่าว
29 ปีที่ได้สั่งสมมาในฐานะข้าราชการผู้หนึ่ง ดนัยมั่นใจว่า ข้าราชการระดับอธิบดีของแต่ละกระทรวง
ตัวต่อตัวแล้วสู้ผู้บริหารของภาคเอกชนได้อย่างสบาย
"แต่ที่เราสู้เขาไม่ได้ เพราะเรามาทะเลาะกันเอง กระทรวงพาณิชย์นี้แทบไม่มองหน้ากันเลย
อธิบดีแต่ละคนอย่างสุคนธ์ อรนุช จเร หรือปลัดพชร มีความสามารถมาก แต่เพราะความที่เขาไม่รวมกัน
ทุกอย่างเลยไม่ออกมาเป็นเอกภาพ"
สำหรับกระทรวงต่างประเทศแล้ว ปัญหาก็คือว่า ใครคือผู้เหมาะสมที่จะมาดูแลในเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องที่เกี่ยวกับประชาคมยุโรปต่อไป
ซึ่งดูจะเป็นปัญหาที่หนักอึ้ง ในสภาวะที่ประชาคมยุโรปเริ่มต้นสู่ความเป็นตลาดเดียว
และปัจจัยทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยปัจจุบัน
"พูดกันตรง ๆ เราไม่มีผู้ชำนาญทางด้านเศรษฐกิจเลย" ดนัยเองก็ยอมรับว่าคนอย่างลักษณาจันทร
เลาหพันธ์หรือกษิต ภิรมย์ ก็เยี่ยมยอดในเรื่องเศรษฐกิจแต่ปัญหาอยู่ที่ว่า
ลักษณาหรือกษิตพร้อมที่จะกลับมาเป็นอธิบดีกรมเศรษฐกิจ หรือแม้แต่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรปหรือไม่
"ผมว่าเขาไม่พร้อม เหตุผลที่เขาไม่พร้อม เพราะเรื่องการแก่งแย่งกันภายในกระทรวง
ซึ่งระบบทำให้เป็นอย่างนั้น" ดนัยกล่าวในที่สุด
ดนัย ดุละลัมพะ ในวันนี้ดูจะแก่เกินไปที่จะดำน้ำชมความงามใต้ท้องทะเล พร้อมกับลูกสาวในวันหยุด
แต่ประสบการณ์ช่ำชองในเกมการค้าระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เขาจะต้องเป็นเป้าหมายที่ธุรกิจขนาดใหญ่
ๆ หมายปอง ภายหลังจากปลดเปลื้องความเป็นข้าราชการออกไปแล้ว แม้จะออกตัวไว้แล้วว่า
ไม่สนใจที่จะเดินไปในเส้นทางนี้