ความคิดเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่
ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการฯ และพิสุทธิ์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรองผู้ว่าฯ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเงินตราไทย
และประวัติการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
นอกเหนือจากเพื่อการอนุรักษ์เงินตราไทยที่เป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์
เริ่มต้นจากห้องเล็ก ๆ เพียง 1 ห้องที่มีของแสดงน้อยมากในสมัยที่แบงก์ชาติยังตั้งอยู่ที่ถนนสุริวงศ์
ซึ่งขณะนั้นยังไม่สามารถเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเต็มปากนัก ภายหลังจากแบงค์ชาติย้ายที่ทำการจากวังบางขุนพรหมไปอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน
เมื่อปี 2525 แล้ว โครงการตั้งพิพิธภัณฑ์แบงก์ชาติก็เริ่มเดินหน้า โดยปรับปรุงวังบางขุนพรหมทั้งหลังเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์
10 ปีเต็ม ๆ สำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เงินตราของไทยให้สมบูรณ์เต็มรูปแบบ
เฉพาะการปรับปรุงพื้นฟูตัววังบางขุนพรหมก็กินเวลาถึง 4 ปีกว่า เนื่องจากเป็นอาคารที่มีอายุเก่าแก่ถึง
90 ปี จึงต้องพิถีพิถันมากเพื่อคงสภาพให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ทั้งในด้านคุณค่าและความงามทางประวัติศาสตร์
การบูรณะซ่อมแซมวังบางขุนพรหมเริ่มลงมือกันอย่างจริงจังในปี 2531 และเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี
2534 ทันพอดีที่จะใช้เป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง นายธนาคารทั่วโลกที่มาประชุมเวิลดิ์แบงค์ในช่วงเดือนตุลาคม
2534 โดยมีประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย ผู้ช่วยผู้ว่าการสายที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่ตัวพิพิธภัณฑ์เสร็จเพียง 3 ห้องเท่านั้น
จนถึงวันที่ 9 มกราคม 2535 จึงเปิดตัวได้อย่างสมบูรณ์ทุกห้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น
2 ส่วนคือ ชั้นล่าง เป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการของเงินตราตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่ใช้ลูกปัด หิน ฯลฯ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จนกระทั่งใช้เหรียญหรือธนบัตรในปัจจุบัน
ชั้นบนเป็นการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตลอด
50 ปีที่ผ่านมานอกเหนือจากประวัติของวังบางขุนพรหม และขั้นตอนการพิมพ์ธนบัตรอย่างละเอียด
ฯลฯ
มูลค่าเฉพาะการ บูรณะตัวอาคารทั้งภายนอกและภายในตก 70 ล้านบาท
ประพาพิมพ์เปิดเผยว่าของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากนักสะสมของเก่าที่นำมาขาย
หรือให้ยืมในระยะยาว ขณะที่ในส่วนของธนาคารที่สะสมเองนั้นมีน้อยมาก แม้จะพยายามหาซื้อเพิ่มเติมแล้วก็ตาม
"พิพิธภัณฑ์แบงค์ชาติไม่ได้มีความหมายแค่เพียงสถานที่ที่ใช้เป็นห้องเก็บของหรือตู้เก็บของเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นบางแห่งเท่านั้น
แต่เราต้องการให้คนชมได้รับความเพลิดเพลิน ความสวยงาม ตลอดจนได้รับเรื่องราวอย่างถูกต้อง"
ประพาพิมพ์กล่าว
ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบแสงสี
เทคนิคฉากละคร และระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ให้ผู้ชมได้รับทั้งความเพลิดเพลินและความรู้
แต่ใช่ว่าใครทุกคนจะเดินเข้าไปชมตามใจชอบได้ทุกเวลา เพราะระเบียบที่ทางแบงก์ชาติตั้งขึ้นมาก
กำหนดว่าจะต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องขออนุญาตก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง
"จุดประสงค์ที่ต้องทำอย่างนี้ ก็เพราะไม่ต้องการให้ตัวอาคารและพิพิธภัณฑ์ทรุดโทรมเร็วเกินไป
จากการเปิดให้ประชาชนเข้ามาชมได้อย่างไม่มีข้อจำกัด" ประพาพิมพ์กล่าว