คลังยันเพิ่มทุนแบงก์ทหารไทยเกิน 25.1% รักษาสิทธิวีโต้นโยบายบอร์ด ระบุแบงก์เสียหายยับผู้บริหารควรแสดงความรับผิดชอบกับผลขาดทุนที่เกิดขึ้น เผยตัวเลขเพิ่มทุนตั้งแต่ปี 43 จนถึงปัจจุบันสูญเงินไปกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท หากเพิ่มทุนครั้งนี้จะต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกถึงกว่าหมื่นล้านบาทโดยยังไม่ได้รับผลตอบแทนแม้แต่บาทเดียว
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิการเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB เนื่องจากในปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารจำนวน 5,777,327,180 หุ้น หรือ 31.2% ซึ่งหากผู้บริหารของธนาคารส่งแผนการเพิ่มทุนมายังกระทรวงการคลังเมื่อใดจึงจะตัดสินใจพิจารณาสัดส่วนการเพิ่มทุนอีกครั้ง
“กระทรวงการคลังต้องรักษาสิทธิการเพิ่มทุนในธนาคารทหารไทยแน่นอน โดยอย่างน้อยจะต้องรักษาสิทธิเพิ่มทุนขั้นต่ำ 25.1% เพื่อรักษาสิทธิวีโต้นโยบายของกรรมการธนาคารที่กระทรวงการคลังเห็นว่าไม่เหมาะสม และรักษาสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยและลูกค้าของธนาคาร” นายศุภรัตน์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยในครั้งนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตั้งสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 หรือ IAS 39 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้ซึ่งจะทำให้ธนาคารทหารไทยขออนุมัติเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นสูงถึง 35,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังต้องหาเงินเพิ่มทุนให้กับธนาคารทหารไทยกว่า 10,000 ล้านบาท
โดยการบริหารงานของธนาคารทหารไทยของผู้บริหารชุดนี้ธนาคารยังไม่เคยมีผลกำไรเกิดขึ้นและมีการขาดทุนสะสมเพิ่มสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาท และผู้บริหารของธนาคารไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นหรือความรับผิดชอบใดๆ กับผลงานที่เกิดขึ้นกลับปล่อยให้ผลการดำเนินงานที่ออกมายังย่ำแย่และต้องมีการเพิ่มทุนกันอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
“การเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยแทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับกระทรวงการคลัง ซึ่งครั้งล่าสุดที่เพิ่มทุนโดยนำหุ้นของบมจ.อสมท ไปจำนำกับธนาคารออมสินเพื่อนำเงินกว่า 3 พันล้านบาทไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพียงไม่ถึงปีการบริหารงานของผู้บริหารธนาคารชุดนี้กลับมีการเรียกร้องให้เพิ่มทุนอีกถึง 3.5 หมื่นล้านบาท การบริหารธนาคารของผู้บริหารชุดปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลังควรพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะให้บริหารงานต่อไปหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว
ก่อนหน้านี้นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยกับการลดทุนราคาพาร์ของธนาคารทหารไทย เพื่อลดการขาดทุนสะสมเนื่องจากแม้จะมีการลดราคาพาร์แต่เชื่อว่าการดำเนินงานของธนาคารก็ไม่ดีขึ้น พร้อมระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดของ นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่ธนาคารทหารไทย ไม่ใช่แนวคิดของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้การเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยโดยกระทรวงการคลัง เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 โดยใช้เงิน 20,000 ล้านบาท แลกกับหุ้นบุริมสิทธิ 1,999 ล้านหุ้น ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ตามมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 เพื่อเสริมเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 ให้กับธนาคาร
หลังจากนั้นปลายปี 2546 ทหารไทยเพิ่มทุนอีก 2.2 หมื่นล้านบาท ทำให้คลังต้องใส่เงินเพื่อรักษาสิทธิอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยนำหุ้นบมจ.การบินไทยไปจำนำไว้กับธนาคารออมสิน เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ทหารไทยเพิ่มทุนอีก 12,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังต้องใช้เงินอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่ต้นทุน 3 บาท โดยนำหุ้น บมจ.อสมท ไปจำนำไว้กับธนาคารออมสินเช่นเคย
โดยตั้งแต่ปี 2543-2549 คลังหมดเงินไปกับการเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยไปแล้วไม่ต่ำกว่า 33,000 ล้านบาท โดยไม่ได้เงินปันผลตอบแทนแม้แต่บาทเดียว
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทย 10 อันดับแรกประกอบไปด้วย 1 กระทรวงการคลัง 5,777,327,180 หุ้น หรือ 31.2% 2. DBS BANK A/C 003 2,977,989,892 หุ้น16.1% 3. กลุ่มกองทัพ 846,609,977 หุ้น 4.6% 4. NORBAX INC., CGT 508 833,118,889 หุ้น 4.5% 5. N.C.B. Trust Limited - UBS AG London BR-IPB Client AC 683,243,872 หุ้น 3.7% 6. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 683,090,972 หุ้น 3.7% 7. State Street Bank and Trust Company for Australia 415,084,451 หุ้น 2.2% 8. State Street Bank and Trust Company for London 356,601,234 หุ้น 1.9% 9. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด 334,693,724 หุ้น 1.8% และ 10. Chase Nominees Limited 1 259,658,964 หุ้น 1.4%
|