Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์7 พฤษภาคม 2550
เติม "สนุก" ใส่แบรนด์ ปรับลุคใหม่เพิ่มชีวิตให้สินค้า             
 


   
www resources

โฮมเพจ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย
โฮมเพจ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ จำกัด

   
search resources

มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย), บจก.
เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บจก.
ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์, บจก.
Marketing




การใส่มุขตลกลงไปในโฆษณา และความสนุกสนานลงไปในแบรนด์ หรือตัวสินค้า เป็นสิ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทำให้วันนี้บรรดาสินค้าเกือบทุกประเภทหยิบ “Fun” มาเป็นลูกเล่นทางการตลาด แม้วางเป้าหมายต่างกัน “ลักส์” เพิ่ม“Fun”คู่ความสวย พิซซ่า ใส่ความสนุกสนาน แหวกแนวการตลาดเดิม ส่วนซัมซุง คาดหวังจับตลาดเด็ก ทว่า เป็นแนวทางเดียวกันที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค

การใส่ความสนุกสนาน หรือ Fun ลงไปในสินค้า หรือแบรนด์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสินค้าหลายแบรนด์ในโลกรวมทั้งเมืองไทยก็ล้วนแต่ใส่ความสนุกสนานลงไปในตัวสินค้าเพื่อเพิ่มชีวิตชีวากันแทบทั้งนั้น แม้แต่องค์กรใหญ่ๆของโลกก็หันมาใช้แนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากนับตั้งแต่ปี 1980ไปจนถึงปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันในธุรกิจดุเดือดมากขึ้น-มากขึ้น

เห็นได้จากภาพของธุรกิจใหญ่ๆเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทเล็กเป็นอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี หลายองค์กรให้ความสำคัญกับ “ความเร็ว” ที่จะตอบสนองผู้บริโภคได้ทันเวลา การเน้นนำเทคโนโลยีเข้ามาใส่ในสินค้า-บริการและการตลาด การให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้า องค์กรแบบพีระมิดสั่งการแบบ top-down องค์กรแบนราบให้ความสำคัญที่กลไกหลัก คือ ผู้ทำงานแต่เป็นผู้ทำงานที่มีความสนุกมากขึ้น เห็นได้จากหลายองค์กรให้พนักงานแต่งกายกันตามสบายมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้จากความสนุกในการทำงานก็คือ การได้มาซึ่งคุณค่าแห่งผลผลิต คุณค่าคือความคิดสร้างสรรค์

โดยเฉพาะบ้านเราภาพของความสนุกสนานถูกใส่เข้าไปในสินค้าและบริการจำนวนมาก แถมยังขยายวงกว้างไปในหลายหมวดสินค้ามากขึ้นด้วย สิ่งหนึ่งที่สามารถอาจแสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงในกระแสความสนุกสนานก็คือ การที่บริษัทโฆษณาหลายต่อหลายแห่งนำ “มุขตลก” มาใช้ในการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค (อันที่จริงการใช้โฆษณาแนวขำๆนั้นเกิดขึ้นในบ้านเรามานานแล้ว และครีเอทีฟแทบทุกคนจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามุขตลกนี้จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน)อีกทั้งหลายสินค้าทั้งที่เป็นโกลบอล แบรนด์ และโลคัลแบรนด์ ก็เริ่มหันมาใช้แนวคิด “Fun” มาใส่ในตัวสินค้าของตนมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่สินค้ากลุ่มสแน็ค หรือขนมคบเคี้ยว ไอศครีมวอลล์ ตามมาด้วยรถยนต์มาสด้า เป็นสินค้ากลุ่มแรกๆที่หยิบแนวทางการตลาดสนุกสนานมาใส่ในตัวสินค้า ทว่าวันนี้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ดูอย่าง พิซซ่าฮัท (หรือเดอะพิซซ่า คอมปะนี) ซัมซุง หรือลักส์ นั่นประไร

การที่โฆษณาและสินค้าในบ้านเราหันมาใช้ความสนุกสนานเป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงผู้บริโภค หรือในบางแบรนด์ที่แม้ครองใจผู้บริโภคได้แล้วแต่ก็หันมาใช้แนวคิดนี้เพิ่มขึ้นมานั้น อาจเป็นเพราะช่วงเวลานี้คนไทยกำลังเครียดกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมแห่งความสนุกสนาน รื่นเริง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นักโฆษณา และนักการตลาดจึงต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ให้แบรนด์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมของสังคม

อย่างไรก็ตาม การใส่ความสนุกสนานเข้าไปในแบรนด์นั้น อาจจะแตกต่างจากงานโฆษณาที่เป็นการสร้างความบันเทิงในแบบอารมณ์ขัน แต่ทั้งสองแบบล้วนเริ่มต้นจาก insight การหยั่งรู้ในความนึกคิดของผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญ และเข้าใจผู้บริโภคให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งสำคัญคือการทำให้ความสนุกทั้งหลายนั้น Connect กับผู้บริโภคให้ได้ ฉะนั้น Insight ดังกล่าวต้องมาจากชีวิตจริง ความคิด ความต้องการจริงๆของผู้บริโภค พวกเขาจึงจะยอม Relate กับแบรนด์ ซึ่งการใส่ความสนุกสนานลงไปนั้นถือเป็นกลไกทางการสร้างแบรนด์ได้เคลื่อนย้ายจาก Think ไปยัง Feel มากขึ้น ทว่า ผู้บริโภคของเราจะต้องรู้สึกว่าแบรนด์สนุกจริง ไม่ใช่แค่คิดว่าดี หากทำเช่นนั้นได้ก็จะทำให้การสร้างแบรนด์ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ได้ผล

“ลักส์”ปรับAttitude เพิ่ม“Fun”คู่ความสวย

ตลาดสบู่มูลค่า 5,300 ล้านบาท เป็นสมรภูมิที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แม้ตอนนี้สภาพตลาดจะอยู่ในภาวะอิ่มตัว 100% แล้วก็ตาม ทว่า ความร้อนแรงในการแข่งขันของตลาดนี้ก็ยังไม่มีท่าทีจะลดลง เห็นจากการผุดนวัตกรรมใหม่ๆออกมาตอบสนองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อาทิ แบรนด์โพรเทคส์ของค่ายคอลเกต-ปาลฺมโอลีฟ เปิดตัวสบู่เย็น “โพรเทคส์ ไอซ์ซี่คูล” แม้แต่ “ลักส์” ของยูนิลีเวอร์ ผู้นำตลาดสบู่ก้อนที่ครองแชร์ 29% จากตลาดรวมสบู่ ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การลอนช์สินค้าใหม่ทั้งนวัตกรรมเชิงรูปลักษณ์ของสบู่ก้อน และการปรับสูตรใหม่ การปรับแพคเก็จจิ้ง แม้แต่การโหมจัดกิจกรรม เช่น The Lux PrincessPrivilege Life only by Lux ลุ้นหาผู้โชคดีรับประสบการณ์เป็นเจ้าหญิงแห่งลักส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้ผู้บริโภคเห็นตลอดเวลา รวมทั้งตอกย้ำและสื่อแนวคิดเรื่อง “ความสวย” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ลักส์

ล่าสุด ลักส์ทำการปรับ Vision แบรนด์ครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วโลก ด้วยการเปิดตัว โกลบอล แคมเปญ เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ โดยนำ “ความสนุก” มาต่อยอดวิสัยทัศน์เดิมของแบรนด์ที่กล่าวถึง “ความสวย” เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อสร้างความชัดเจนให้ลักส์กลายเป็นแบรนด์ที่มีมิติน่าสนใจยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิดใหม่ “สนุกกับความสวย”

“ลักส์เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่กับความสวยของผู้หญิงเสมอ แต่เราทำการบิดคอนเซ็ปต์ ด้วยการเพิ่มความสนุก โดยสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงสนุกกับความสวย ซึ่งต่อจากนี้ การทำตลาดของลักส์ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการขายและการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆจะสื่อถึงความสนุกสนานควบคู่กับความสวยด้วยเสมอ” เป็นคำกล่าวของ วรรณิภา ภักดีบุตร รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ส่วนบุคคล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสบู่และครีมอาบน้ำแบรนด์ลักส์

นับเป็นครั้งแรก ที่ลักส์หยิบเรื่อง “ความสนุก” เข้ามาผนวกกับความสวย เป็นไปได้ว่า ที่ผ่านมา การสื่อสารเรื่องความสวยของลักส์ มักจะใช้ดารา หรือบุคคลมีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งอาจทำให้มุมมองของผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะสวยหรือเปล่งประกายความงามได้เหมือนพรีเซนเตอร์ เช่น มาช่า วัฒนพานิช , พอลล่า เทเลอร์ ดังนั้นหากลักส์ปรับคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น “สนุกกับความสวย” เพื่อให้หญิงสาวสนุกกับความสวยในแบบฉบับของตนเอง ก็เชื่อว่าจะทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้หญิงทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้หญิงทั่วโลก พบว่า ผู้หญิงจะมีของใช้ในห้องน้ำเฉลี่ยมากถึง 137 ชิ้น และเธอจะหยิบใช้มากกว่า 22 ชิ้นต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่ผู้หญิงอยู่ในห้องน้ำจะเป็นเวลาที่ผู้หญิงสนุกกับการดูแลตัวเองให้สวยอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของแคมเปญดังกล่าวยังอยู่ที่ การเปิดตัวหนังสือเคล็ดลับความงาม “Ooh! That’s cute : Inspired by Lux”ซึ่งลักส์เลือกมาเป็นเครื่องมือถ่ายทอด Message ไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ โดยลักส์หวังว่า Tool ตัวนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างความต่างจากแบรนด์อื่นได้ชัดเจนขึ้น เพราะสามารถสะท้อนถึงแนวคิดใหม่ของแบรนด์ได้ดีกว่าการใช้พรีเซนเตอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำเคล็ดลับไปบริหารและเสริมสร้างความสวยให้กับตนเองมากขึ้น

ปัจจุบันตลาดสบู่ก้อนและครีมอาบน้ำมีมูลค่า 5,300 ล้านบาท ลักส์เป็นผู้นำตลาดครองแชร์ 29% ตามมาด้วยโพรเทคส์ 11% และนกแก้ว 7% อื่นๆ 53%

“วาสลีน”ชูกิจกรรมสนุกกลางแจ้ง กระตุ้นตลาดครีมกันแดด

ด้านแบรนด์ “วาสลีน” แม้จะไม่ได้ปรับแนวคิดแบรนด์ ด้วยการนำความสนุกมาใส่ไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับ “ลักส์” แต่วาสลีนได้มีการจัดกิจกรรมที่นำ “ความสนุก” มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้สินค้า โดยเป็นแคมเปญการตลาดของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ที่มีการจัดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ วาสลีนได้ทุ่มงบ 80 ล้านบาท จัดแคมเปญ “วาสลีน ฟูลซันดับเบิ้ลฟันแฟร์” ท้าประสิทธิภาพ “วาสลีน เฮลธี ซันบล็อค โลชั่น” เป็นปีที่ 2 หลังจากปีก่อนได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค โดยวัดจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานบริเวณริมหาดจอมเทียน พัทยามากกว่า 10,000 คน ขณะที่ยอดขายก็เพิ่มขึ้นอีก 20%

สำหรับปีนี้ วาสลีนจึงเดินหน้าจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่อง โดยนำแคมเปญที่สนุกสนานมาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดมากขึ้น เพราะจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า มีผู้บริโภคที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำเพียง 19.3% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากราคาของสินค้ากลุ่มกันแดดที่สูงกว่าสินค้าบำรุงผิวทั่วไปเฉลี่ย 5 – 10 เท่า ทำให้ยากต่อการตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้จากการเข้ามาทำตลาดช้ากว่าผู้เล่นรายอื่น ทำให้ความเชื่อถือในเรื่องประสิทธิภาพด้านครีมกันแดดของวาสลีนยังน้อยกว่าหากเทียบกับแบรนด์อื่น โดยเฉพาะ “นีเวีย” ที่เข้ามาทำตลาดและสร้างจุดยืนการเป็นสินค้าป้องกันแสงแดดมานาน จนครองส่วนแบ่ง 36% จากตลาดรวมครีมกันแดด 570 ล้านบาท ส่วนวาสลีนมีอยู่เพียง 13%

ทว่า ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปี ที่วาสลีนเข้ามาบุกตลาดครีมกันแดด จนขยับขึ้นเป็นเบอร์ 2 นับว่าเป็นส่วนแบ่งไม่น้อยหากเทียบกับแบรนด์อื่นที่อยู่ในตลาดนี้มานาน โดยส่วนหนึ่งมาจากการอัดแคมเปญ “วาสลีน ฟูลซันดับเบิ้ลฟันแฟร์” ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

"การจัดแคมเปญเราต้องการตอกย้ำประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดวาสลีน ทั้ง 4 สูตร ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับเป็นอย่างดีเหมือนปีที่ผ่านมา และสามารถขยายฐานผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยบริษัทคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมปีนี้ราว 20,000 คน" เป็นคำกล่าวของ ผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

พิซซ่า ใส่ความสนุกสนาน แหวกแนวการตลาดโปรโมชั่น เมนูใหม่

ความสนุกสนานของการทำตลาดพิซซ่าที่ผ่านมานั้น อยู่ที่การเลือกหน้าท้อปปิ้งที่ชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ดูลักซ์ ซีฟู้ดดูลักซ์ ฮาวายเอียน และหน้าท้อปปิ้งอื่น ๆ อีกมากมายที่ออกมาตามฤดูกาล ทว่า พิซซ่าเมนูใหม่ล่าสุดของ เดอะพิซซ่า คัมปานี สำหรับช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ ได้หยิบความสนุกสนานนำมาใส่ไว้ โดยตั้งเป้าว่าเมนูใหม่ “ครันชี่ท้อปพิซซ่า” (Crunchy Top Pizza) จะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงไตรมาสสองเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 15%

ว่ากันว่า เมนูใหม่ครั้งนี้เป็นการเปิดตัวพิซซ่าสไตล์ใหม่ ซึ่งมีจุดขายใหม่ที่ให้ประสบการณ์การทานพิซซ่าสนุกสนานและรสชาติจัดจ้านยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังเป็นเมนูที่เกิดจากผลการวิจัยว่า ผู้บริโภค ชื่นชอบรสชาติ และแผ่นทอร์ทิล่า ชีสชิพให้สัมผัสกรอบอร่อยในทุกคำ และดิปปิ้งซอสที่ให้ประสบการณ์การทานพิซซ่าที่สนุกสนานและรสชาติดียิ่งขึ้น

การเพิ่มความสนุกสนานลงไปในพิซซ่า เป็นการเพิ่มมูลค่าด้วยลูกเล่นทางการตลาดเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการแข่งขันกันด้วยใช้วัตถุดิบเพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย ที่สำคัญถือว่าเป็นแนวทางการตลาด เดอะพิซซ่า พยายามฉีกออกจากกลยุทธ์การทำตลาดแบบเดิมๆ ที่อยู่ในวังวนของการออกแคมเปญโปรโมชั่น และการออกพิซซ่า นวตกรรมเมนูใหม่ออกสู่ตลาด โดยเฉพาะเดอะพิซซ่า มีนโยบายเปิดตัวเมนูควบคู่กับการจัดกิจกรรม โดยอย่างน้อยจะต้องออกเมนูใหม่ลงสู่ตลาด 6 เมนูต่อปี ที่ผ่านมา การสัพยุทธ์กันด้วย แคมเปญโปรโมชั่น และพิซซ่าเมนูใหม่ออกสู่ตลาด ที่ค่ายพิซซ่าทั้ง 2 แบรนด์ พิซซ่า ฮัทจากค่ายยัม และเดอะพิซซ่า ของเดอะไมเนอร์ฯ ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดอาจไม่มีอิมแพคแรงมากพอที่จะกระตุ้นการซื้อของลูกค้าได้มากนัก เนื่องจากกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดทั้ง 2 รูปแบบคือแคมเปญใหม่และเมนูหน้าใหม่ของพิซซ่ามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาถูกนำมาใช้ตลอดปี

กลยุทธ์การออกพิซซ่า เมนูใหม่ๆยังเป็นที่มาของข่าวร้อนในวงการ เมื่อพิซซ่า ฮัทออกมาเรียกร้องและกล่าวหาว่าเดอะพิซซ่า มีการลอกเลียนแบบพิซซ่า ทั้งรูปแบบของพิซซ่า โปรโมชั่น ชื่อ และภาพกราฟฟิคที่ใช้ในการโฆษณาทางทีวี พร้อมทั้งเรียกร้องให้หยุดการกระทำลอกเลียนเมนูพิซซ่าของตนที่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาด

ประเด็นดังกล่าวทำให้ แนวทางการทำตลาดของพิซซ่า ฮัท มุ่งเน้นสร้างความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้นเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแบรนด์ของลูกค้า เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคพิซซ่ามีการเปลี่ยนแบรนด์สินค้าในอัตราสูง เพราะรูปแบบสินค้า ราคา และช่องทางจำหน่ายใกล้เคียงกัน โดยลูกค้านิยมเลือกบริโภคตามราคา โปรโมชั่น และเทรนด์ใหม่ๆ ในการให้บริการ

ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตลาดที่จะเพิ่มสาขานั่งทานในร้าน (dine-in) ยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ซึ่งต้องเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าที่เปิดเต็มอยู่ทุกพื้นที่แล้ว ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญทำให้ การขยายสาขาของร้านพิซซ่าทำไม่ได้มากเหมือนช่วงเริ่มต้นที่พิซซ่าเข้ามาในบ้านเรา

เมื่อเปรียบเทียบ จำนวนสาขาในปัจจุบัน พิซซ่า ฮัท มีสาขาบริการประมาณ 75 แห่ง แบ่งเป็นร้านที่นั่งรับประทานและดิลิเวอรี่ 25 สาขา ส่วนที่เป็นดิลิเวอรี่อย่างเดียวถึงประมาณ 50 สาขา ส่วนเดอะพิซซ่า มีในรูปแบบของร้านนั่งรับประทาน และร้านดิลิเวอรี่ รวม 175 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านแบบดิลิเวอรี่ 65 แห่ง ร้านนั่งทาน 30 แห่ง และร้านนั่งทานที่ให้บริการดิลิเวอรี่ไปพร้อมกัน 80 สาขา

ทว่า การแก้เกมโดยมองหาตึกแถวที่มีทำเลดีในย่านชุมชน ซึ่งเป็นการเพิ่มจุดบริการดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้นจึงเป็นคำตอบของสำหรับการทำตลาดพิซซ่าในวันนี้ ถือว่าเป็นความพยายามเพื่อมองหาตลาดใหม่ ที่อยู่ในภาวะการขยับขยายสาขาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันไม่อาจทำให้ พิซซ่าฮัท และเดอะพิซซ่า เฉือนแชร์กันไปได้มากนัก ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ก็ส่งผลให้ทั้งค่ายพิซซ่า ฮัท และเดอะพิซซ่า พยายามมองหาช่องว่างในตลาดจากช่องทางการขายแบบส่งถึงมือผู้บริโภคที่บ้าน และที่ทำงานหรือดิลิเวอรี่ ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้ พิซซ่า เป็นอาหารที่มีสัดส่วนการขายผ่านช่องทางดิลิเวอรี่มากที่สุด ซึ่งหากแบ่งสัดส่วนของช่องทางการขายในตลาดพิซซ่า มูลค่า 3.5 พันล้านบาทนั้น ช่องทางดิลิเวอรี่มีโอกาสจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับภาวะน้ำมันแพงที่คนสั่งรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถือว่าสัดส่วนช่องทางดิลิเวอรี่มีมากถึง 45% และอีก 40% เป็นนั่งรับประทานที่ร้าน (Dine-in) ส่วนสัดส่วนซื้อกลับบ้าน 15% เห็นได้ว่าในระยะ 3-4 ปีหลังนี้ค่ายพิซซ่าทั้ง 2 แบรนด์ เริ่มมองเห็นโอกาสที่เกิดจากแนวโน้มการเติบโตของช่องทางดิลิเวอรี่ โดยหันมาให้ความสำคัญการทำตลาดในช่องทางนี้ด้วยการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์และตอกย้ำการจดจำการสั่งพิซซ่าด้วยเบอร์ 1150 ของพิซซ่าฮัท และเบอร์1112 ของเดอะพิซซ่า รวมทั้งกลยุทธ์รับประกันการส่งถึงบ้านภายใน 30 นาที และจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโตขึ้น ซึ่งพิซซ่า ฮัท ออกมาเคลื่อนไหวด้วยแคมเปญ "เลือกเมนูโปรด ตามใจคุณลด 50%" ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม และช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ส่งผลให้ความถี่ของลูกค้าในการสั่งดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้น และยอดขายพิซซ่า ฮัทเติบโต 30%

ขณะเดียวกันทางฟากค่ายเดอะพิซซ่า ก็มีการออกกิจกรรมการตลาดสำหรับข่องทางดิลิเวอรี่ด้วยแคมเปญ 1 แถม 1 ของ ที่มีจุดขายในเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่า จัดขึ้นในช่วงวันครบรอบการก่อตั้งในเดือนมีนาคมทุกปี แนวทางการตลาดดังกล่าวก็ส่งผลทำให้เดอะ พิซซ่า เติบโตขึ้น15% โดยเฉพาะเดือนมีนาคมมากกว่ายอดสั่งดิลิเวอรี่เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มถึงเท่าตัวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้บุกตลาดดิลิเวอรี่ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องโดยจับมือกับเอไอเอสเพิ่มเบอร์ *185 สั่งด่วนทันใจ เพื่อขยายจุดให้บริการครอบคลุมทั้งหัวเมืองใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัด โดยเดอะพิซซ่า คาดหวังการเข้าร่วมแคมเปญนี้จะสามารถขยายฐานฐานลูกค้าใหม่เข้าไปในกลุ่มผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือของค่ายเอไอเอส ทั้งจดทะเบียนและเติมเงิน ซึ่งมีมากกว่า 20 ล้านราย ซึ่งจะทำให้มีแชร์ในตลาดดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 5%

อนิรุทธิ์ มหธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เดอะ พิซซ่า คอมปะนี บอกว่า นอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นแล้ว กิจกรรมส่งเสริมการตลาดแคมเปญ 1 แถม 1 ยังสามารถสร้างฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 67-70% ซึ่งแบ่งสัดส่วนใหญ่ของกลุ่มลูกค้าดิลิเวอรี่ถึง 90% ที่สำคัญยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดของเดอะ พิซซ่าฯ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 80% จากเดิมอยู่ที่ 68%

ซูม ซูม จับอารมณ์ความสนุกวัยเด็กสู่แนวคิดการตลาดพัฒนาแบรนด์

แนวคิด ซูม ซูม ของมาสด้า น่าจะเป็นประเด็นที่นำมาพูดกันถึงความสำเร็จในการนำเอา ความสนุกสนาน มาใช้เป็นแนวคิดของการทำตลาดระยะยาว ผลของ ซูม ซูม ในวันนี้มาสด้าบอกว่าลัพธ์ของแนวคิดดังกล่าวที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2545 ในวันนี้ทำให้มาสด้าสามารถทำยอดขายรถยนต์ได้เกินความคาดหมายที่วางกันไว้พอสมควร

ในปี 2549 ที่ผ่านมา มาสด้าทั่วโลกมียอดขายสูงถึง 1,301,581 คัน เกี่ยวกับแนวคิด ซูม ซูม ที่ว่านี้ มาสด้าบอกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาอารมณ์สนุกสนานวัยเด็กกลับมาสู่ทุกท่านอีกครั้ง ด้วยการผลิตรถยนต์ภายใต้แนวคิด "ซูม-ซูม" อันเปี่ยมไปด้วยคุณลักษณะแห่งความ "ท้าทาย" "สร้างสรรค์" และ "ร่าเริง"

ซูม ซูม ในความหมายของมาสด้า คือประสบการณ์โลดแล่นอย่างสุกสนานในวัยเด็กที่มักจะเปล่งเสียงเคื่องยนต์ “ซูม ซูม” หรือถ้าให้เข้ากับคนไทยก็จะคล้ายกับวัยเด็กของเราที่นั่งรถล้อเข็น ล้อลาก แล้วเปล่งเสียงออกมาว่า บรื้น บรื้น ก็คงได้ โดยมาสด้านำเอาความรู้สึกแบบนี้กลับอีกครั้งให้ผู้ใหญ่ได้สัมผัส และนึกถึงความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจในวัยเด็ก ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

มาสด้ามองว่า กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ คงคุ้นเคยกับแนวคิดนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และตลอดเวลาที่ผ่านมามาสด้าก็ทุ่มเทงบประมาณอย่างมากในการสื่อสารแนวคิด ข้อความทางการตลาด เพื่อทำให้ คอนเซ็ป ซูม ซูม ติดปาก ติดหู ประชาชน รวมทั้งเด็กๆได้อย่างอย่างรวดเร็ว

ทุกครั้งของการเปิดตัวรถยนต์ทุกรุ่นของมาสด้า จะอยู่ภายใต้แนวคิด ซูม ซูม ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถสปอร์ตรุ่นใหญ่ RX8, สปอร์ตรุ่นกะทัดรัดอย่าง MX5, รถยนต์นั่งรุ่นก่อน มาสด้า โปรทีเจ มาจนถึงสปอร์ตซีดาน มาสด้า 3 หรือแม้แต่ปิกอัพของมาสด้าตั้งแต่รุ่นไฟเตอร์ จนถึง มาสด้า BT-50 ก็กำหนดให้เป็นสปอร์ตปิกอัพ รวมถึงรถในกลุ่มอเนกประสงค์ ทั้งรุ่น MPV และมาสด้า 5 ก็เดินตามแนวคิดซูม ซูม อย่างเหนียวแน่น โดยทั้งหมดถูกวางให้เป็นรถยนต์ที่ขับสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ในทุกอิริยาบถของการขับขี่

แม้แนวคิดซูม ซูม จะไม่ใช่สิ่งที่จับต้องในทางพฤตินัยได้ แต่มาสด้า เองก็พยายามให้กลุ่มผู้ใช้รถโดยเฉพาะมาสด้า สัมผัสได้ด้วยควาวมรู้สึก ที่ถูกถ่ายทอดทั้งการออกแบบตัวรถยนต์แต่ละรุ่น ให้มีความสปอร์ต และเร้าใจ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาส่วนอื่นๆ เพื่อรองรับแนวคิดซูม ซูม ทั้งในเรื่องบริการหลังการขาย การปรับปรุงเครือข่ายการจำหน่ายของมาสด้าทั่วโลก ความพร้อมในการจัดส่งสินค้า

อย่างไรก็ตามใช่ว่า มาสด้า จะเป็นรถยนต์เพียงค่ายเดียวที่ยึด แนวคิดในการพัฒนารถยนต์ และเทคโนโลยียานยนต์ให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสนุกสนานในการขับขี่ เพราะที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์ก็ก็พยายามบอกกกล่าว สื่อสารกับผู้บริโภคอยู่เสมอๆ ว่า รถยนต์ที่ออกแบบ และผลิตขั้นมานั้น ให้ความสนุกสนานในการขับขี่ไม่แพ้รถยนต์แบรนด์อื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ เป็นการสื่อสารที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของแบรนด์ ขณะที่บางแบรนด์มีการแบ่งแยกจุดเด่น และแนวคิดในการทำตลาดของรถยนต์แต่ละรุ่นให้แตกต่างกัน เช่นรถปิกอัพจะพยายยามวางแนวคิดให้เป็นรถเพื่อการบรรทุก เน้นแนวคิดในเรื่องความประหยัด ความทนทางของเครื่องยนต์ ขณะที่รถยนต์นั่งจะถูกวางให้เป็นรถที่มีความหรูหรา ความกว้างขวาง และสมรรถนะที่เหนือกว่าคู่แข่ง

แต่สำหรับมาสด้านั้น ต้องยอมรับว่า การวางแนวคิด ซูม ซูม ให้เป็นแนวคิดหลักในการทำตลาด เป็นการสร้างเอกภาพให้กับผลิตภัณฑ์รถยนต์ทุกรุ่นที่ออกมา และสิ่งที่สื่อสารผ่านแนวคิดดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจน และมีความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ซูม ซูม อาจไม่ใช่แนวคิดที่ดีที่สุดของมาสด้าที่ออกมา แต่ก็เป็นการกำหนดแนวคิดที่เหมาะสมกับสภาวะของตลาดทั่วโลก และพอเหมาะกับสถานะของแบรนด์มาสด้า ที่ไม่ใช่บิ๊กแบรนด์ แต่ก็สามารถทำยอดขายได้ต่อเนื่อง และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ซัมซุงงัดความสนุกรุกตลาดเด็ก

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่มีอายุน้อยลง กลุ่มเป้าหมายจากที่เคยเป็นผู้ใหญ่หรือคนวัยทำงานขยายฐานมาสู่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นมากขึ้นเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเพราะรูปแบบครอบครัวไทยในปัจจุบันเป็นครอบครัวเล็ก แต่ละบ้านมีลูกน้อย จึงทุ่มเทกำลังทรัพย์ให้กับลูกแต่ละคนมากขึ้น ประกอบกับฟังก์ชั่นการใช้งานสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมวดเอวี และไอทีล้วนแต่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะเน้นความเฮฮา สนุกสนาน

ซัมซุงถือเป็นอีกแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเด็กมาอย่างต่อเนื่องโดยในปีนี้มีการวางกลยุทธ์ Youth Marketing เพื่อทำการตลาดสำหรับเด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะ เช่น การให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ การแข่งขันเวิลด์ไซเบอร์เกม การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นการส่งข่าวสารผ่านอีเมลของลูกค้า การสร้างบล็อกหรือสังคมออนไลน์ การโฆษณาในเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งรูปแบบส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนานสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ซัมซุงเคยชูคอนเซ็ปต์ในการสร้างความสนุกให้กับฐานลูกค้าด้วยการทุ่มงบกว่า 30 ล้านบาท พัฒนาคลับออนไลน์ภายใต้ชื่อ Samsung Fun Club ผ่านเว็บไซต์ของซัมซุงเมื่อ 3 ปีที่แล้วเพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของซัมซุงได้สนุกกับการดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น เกมกว่า 300 รายการ ริงโทนกว่า 1,000 เพลง วอลเปเปอร์ สกรีนเซฟเวอร์ และแอปพลิเคชั่นต่างๆ

คอนเทนต์ในปัจจุบัน ถ้าไม่มีความบันเทิงเข้ามาเกี่ยวข้องก็อยู่ไม่ได้ เพราะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงมากขึ้น มีการโหลดรูป ดูหนัง ฟังเพลง ผ่านโทรศัพท์มือถือ เอนเตอร์เทนเมนต์ คอนเทนต์ จึงถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จะเข้าถึงตลาดเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ชอบค้นหาความบันเทิงใหม่ๆ ใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล

นอกจากนี้ความบันเทิงทุกอย่างยังสามารถต่อเชื่อมกันได้ทำให้ผู้บริโภคได้รับความบันเทิงทุกที่ทุกเวลาทั่งในบ้านและนอกบ้าน ซัมซุงจึงมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์วิชั่นจาก Samsung Digital Everyone Invited หรือการแนะนำผู้บริโภคให้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งดิจิตอล เปลี่ยนมาเป็น Imagine หรือเทคโนโลยีที่มีสไตล์ในยุคแห่งการควบรวมเทคโนโลยี (Digital Convergence) ที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เป็นความสนุกแบบทุกที่ทุกเวลาอย่างแท้จริง

ล่าสุดซัมซุงมีการนำความสนุกไปสู่ช่องทางจำหน่ายด้วยการพัฒนาร้านจำหน่ายสินค้าในกลุ่มไอทีภายใต้ชื่อ ซัมซุง โมบายล์ พลาซ่า เพื่อให้ลูกค้าได้สนุกกับการทดลองใช้โทรศัพท์มือถือ สร้างความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์ซัมซุงกับลูกค้าให้มากขึ้น โดยมีมุมบริการดาวน์โหลดดิจิตอลคอนเทนต์ต่างๆ แอปพลิเคชั่นภาพถ่าย ทดสอบการเล่นเกมจากโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ซัมซุงตั้งเป้าที่จะขยายร้าน ซัมซุง โมบายล์ พลาซ่า ให้ได้ 10 สาขาในปีนี้เพื่อกระจายความสนุกไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด เนื่องจากความสนุกถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Emotional Marketing ที่จะทำให้ผู้บริโภคมองข้ามเรื่องราคา โดยหันมาสนใจในสิ่งที่แบรนด์สินค้านั้นสามารถตอบสนองความต้องการได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเองมากกว่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us