คงสุดทนกับแผนบริหารจัดการ“แบงก์ทหารไทย”ที่ไม่เคยสักครั้งสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ถึงกับทำให้รายย่อยเกิดอาการบันดาลโทสะระเบิดอารมณ์กลางเวทีประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประหนึ่งการลงดาบหวังผลทำลายล้างบอร์ดบริหารที่ปฏิบัติงานไม่ได้ดั่งใจ ผลงานขาดทุนสะสมอย่างไรก็เป็นเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีกำไรจากการดำเนินงานแต่ยังไม่มากพอยาไส้ แถมแผนล้างหนี้ยังถูกตีกลับ ยิ่งทวีความไม่พึงใจให้รายย่อย
อนาคตของ “แบงก์ทหารไทย”เหมือนอยู่ท่ามกลางสายหมอกที่มองเท่าใดก็ไม่อาจเห็นความชัดเจนของภาพที่จินตนาการไว้...นั่นคงเป็นความรู้สึกของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะในรายย่อย
หลังวิกฤติเศรษฐกิจ“ทหารไทย” ใช้เงินเพิ่มทุนเพื่อเยียวยาองค์กรไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทแล้ว ในจำนวนนี้กระทรวงการคลังถมเงินเข้าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ยังไม่นับเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ 3.5 หมื่นล้านที่ขอไปกับทางกระทรวงการคลัง แต่แผนดังกล่าวถูกตีกลับ ประเด็นสำคัญว่ากันว่าเพราะคลังนั้นเงินหมดหน้าตักแล้ว
จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการเพิ่มทุนของแบงก์แห่งนี้อย่างชัดเจน...แม้แต่ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นก็ไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด... มีเพียงกระแสข่าวว่าคลังจะใส่เงิน 10,000 ล้านบาท ด้วยยินยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 31% เหลือ 25% พร้อมยอมให้ ธนาคารดีบีเอส เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น จาก 16%เป็นมากว่า 20%
ความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาแบงก์ทหารไทย สร้างความไม่พอใจกับผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยเฉพาะประเด็นขาดทุนสะสมที่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท
ผู้ถือหุ้นรายย่อยถึงกับเอ่ยปากถามกลางที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่าจะแก้ปัญหา อย่างไร?...ในเมื่อลดพาร์ล้างขาดทุนสะสมก็ไม่ได้ เพิ่มทุนใหม่ก็มีปัญหาต้องยื้อเวลาออกไป..แล้วแบบนี้เมื่อไรผู้ถือหุ้นถึงจะได้เงินปันผล
ประธานกรรมการ “สมใจนึก เองตระกูล” ก็ดูลำบากใจต่อการชี้แจงประเด็นนี้ ด้วยการตอบคำถามที่ฟังดูช่างคลุมเครือเหลือเกินโดยเฉพาะเรื่องการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนที่ต้องล้มไป นั่นเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์ทหารไทย
สมใจนึก จึงได้แต่เอ่ยว่า “เรื่องการลดพาร์ที่ต้องล้มไปนั้น เกินวิสัยที่กระทรวงการคลังจะสามารถอธิบายได้”
ทั้งที่จริงแล้วทุกฝ่ายต่างก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่กระทรวงการคลังต้องเสียไป นั่นเพราะในมือคลังถือคลองหุ้นบุริมสิทธิของทหารไทยไว้ การลดพาร์โดยถือคลองหุ้นบุริมสิทธิทำให้คลังเสียสิทธิ และประโยชน์ที่พึงได้ ดังนั้นแผนนี้จึงไม่ผ่าน
หากถ้ามองสภาพความเป็นจริง การเสียสิทธิดังกล่าวไม่กระทบเพียงแค่คลัง แต่รวมถึงประชาชนที่เสียภาษีด้วย แหล่งข่าวระดับสูงจากสายการเงิน ได้กล่าวว่า เหตุนี้ก็ต้องคิดจากมุมมองทางด้านคลังด้วย
“ถ้ามีการลดพาร์ คลังต้องสละหุ้นบุริมสิทธิลดลงด้วย ซึ่งอาจมีคำถามเกิดขึ้นในคลังได้ว่า คุณได้สิทธิพิเศษจากการถือหุ้นบุริมสิทธิอยู่แล้ว ทำไมต้องทิ้งสิทธินั้นด้วย”แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว พร้อมกับบอกด้วยว่าเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคลังด้วย
การถือครองหุ้นบุริมสิทธินั้นมีอายุ 10 ปี ตั้งแต่ สมัยที่แบงก์ทหารไทยเข้าโครงการ 14 สิงหาคม 2541 (แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน) ซึ่งเหลือระยะเวลาอีก 3 ปีก็สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งพอถึงเวลานั้นโอกาสแก้ไขอาจง่ายกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันได้
ในระหว่างนี้ทหารไทยก็คงต้องเฝ้าเพียรหามาตรการด้านอื่น ๆ มาจัดทัพไปพลางก่อนเพื่อยื้อลมหายใจต่อไปอีก 3 ปี
แต่การยื้อเวลาออกไปถึง 3 ปี เหมือนยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ เพราะแผนที่งัดมาใช้ระหว่างทางไม่ได้ชี้ชัดว่าแบงก์จะล้างขาดทุนสะสมและจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นจะมีก็เพียงคำปลอบใจจากบอร์ดบริหารที่ว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแบงก์ทำกำไรได้ตอด จะติดก็ตรงขาดทุนสะสมที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ ดังนั้นกำไรจากการดำเนินงานก็อยู่ในกองทุนไม่ได้หายไปไหน
หรือถ้ามองในแง่ดี ถึงเวลา 3 ปี แบงก์มีกำไรต่อเนื่อง เงินกองทุนเพียงพอ ไม่มีขาดทุนสะสม อาจประกาศจ่ายปันผล 80%ของกำไรก็ได้
คำตอบ...เหมือนฝนชโลมใจผู้ถือหุ้น...แต่ไม่รู้คนฟังคิดเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ ?
นั่นเพราะความเหลืออดที่ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นทหารไทย และเรื่องประเมินเกณฑ์ IAS 39 ที่แบงก์ต้องตั้งสำรอง 18,000 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลขาดทุน 12,000 ล้านบาท แต่กลับบอกว่าจะนำกำไรจากการบริหารงานมาล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดกว่า 60,000 ล้านบาท โดยไม่เห็นแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ยิ่งเพิ่มโทสะให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยบางรายที่ถึงกับรุกออกมาแสดงความเห็นแบบแตกเป็นแตกกับบอร์ดทหารไทย
“สมใจนึก” ได้ออกมาแจงว่า เกณฑ์ตั้งสำรอง IAS 39 สร้างความปั่นป่วนต่อแบงก์ค่อนข้างมากเพราะต้องใช้วงเงินกันสำรองสูง ขณะเดียวกันยังต้องใช้เม็ดเงินเพื่อบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องอีก จึงทำให้ทหารไทยมีอาการเป๋ไปบ้างในปีที่ผ่านมา
แต่ถึงอย่างไรเสีย สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้บอกว่า ปีนี้ แบงก์ยังคงต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 อีก 7,000 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกตั้งสำรองแล้ว 1,000 ล้านบาท โดยเพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุน ทำให้ปีนี้แบงก์ต้องพยายามทำรายได้ให้สูงกว่า 7,000 ล้านบาท
นับว่ายังโชคอยู่ข้างบอร์ดบริหารที่จำนวน “ผู้ถือหุ้นรายย่อย”อยากพิฆาตบอร์ดชุดนี้มีจำนวนน้อย ....ถือเป็นเวลาสำคัญที่ต้องเร่งสร้างผลงาน จัดทำการแผนที่สามารถบริหารเยียวยา “แบงก์ทหารไทย”ได้อย่างเป็นรูปธรรม...เพื่อความเป็นสุขของทุกฝ่ายที่ไม่ต้องเห็น “โศกนาฏกรรม” องค์กรแห่งนี้
|