13 ปีที่แล้วก่อนการเสียชีวิตของพี่ใหญ่-สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เซ็นทรัลกรุ๊ป
ได้มีการจัดกระบวนทัพโดยมีการ แบ่งกลุ่มความรับผิดชอบทางธุรกิจในกลุ่มจิราธิวัฒน์รุ่นที่
2 ไว้อย่างชัดเจน แต่จากความผันแปรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
จำเป็นที่ต้นไม้ใหญ่อย่างเซ็นทรัลกรุ๊ปต้องผลัดใบแล้ว
เดือนสิงหาคม 2532 ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ป เมื่อสัมฤทธิ์
แม่ทัพรุ่นที่สองของจิราธิวัฒน์เริ่มชราและเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด จึงแต่งตั้งวันชัย
น้องรอง เป็นประธานคณะกรรมการเครือเซ็นทรัล และจัดองค์กรใหม่โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจผู้บริหารรับผิดชอบโดยตรง
5 กลุ่ม
หนึ่ง-กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) มีสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน
สอง-กลุ่มพัฒนาอสังหา- ริมทรัพย์ (CPN) มีสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน
สาม-กลุ่มธุรกิจอุตสาห-กรรมและค้าส่ง (CMG) มี สุทธิศักดิ์ เป็นประธาน
สี่-กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสุทธิเกียรติเป็นประธาน
ห้า-กลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด มีสุทธิเกียรติเป็นประธานขณะนั้น
ความสำคัญของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก CRC ที่มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 74.2% ของทั้งหมด
70,000 ล้านบาท ถือเป็นแกนหลักของเซ็นทรัลกรุ๊ปที่สุทธิชาติมีภารกิจดูแลนโยบาย
และกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการตลาด ที่แหลมคมทะลุเป้าหมายให้สำเร็จได้ โดยมีน้องและลูกหลานเป็นผู้บริหารสายปฏิบัติการคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ทันสมัยและเฉียบคมร่วมด้วย
สามวันสามคืนตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2543 ผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปของธุรกิจในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัลกรุ๊ป
กว่า 40 ชีวิต ได้ไปร่วมสัมมนากัน ที่โรงแรมเซ็นทรัล วงศ์อมาตย์ พัทยา
ทะเลหน้าฝนไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการระดมสมองของระดับบริหาร เพื่อกำหนดภารกิจ
วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของกลุ่มค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลในอีก 5-7 ปีข้างหน้า
ที่สงครามการตลาดจะแข่งขันด้วยยุทธวิธีอันรุนแรงจากคู่แข่งยักษ์ใหญ่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ที่กำลังขยาย สาขาอย่างรวดเร็ว เช่น กลุ่มซูเปอร์สโตร์ Tesco Lotus
หัวเรือใหญ่ในวาระสำคัญนั้นก็คือ สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ
บริษัทเซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่น (CRC) ในฐานะประธาน กลุ่มค้าปลีก
บทสรุปจากการสัมมนาครั้งนั้น ระดับบริหารของ CRC จะนำมาร่างเป็นแผนปฏิบัติการ
สำหรับการรุกในธุรกิจค้าปลีกในอนาคตว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนอย่างไร
"การร่างแผนจะเสร็จภายใน 1 เดือนหลังการสัมมนาเราจะประกาศแผนปฏิบัติการครั้งนี้ในที่ประชุม
MIM (Management Information Meeting) ได้ก่อนปีใหม่" สุทธิชาติเล่าให้ฟัง
ยุคสุทธิชาติคุมค้าปลีก CRC
ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่สุทธิชาติ น้องชายของสัมฤทธิ์ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามารับผิดชอบในฐานะประธานกลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัลกรุ๊ปใหม่ๆ
เมื่อกลางปี 2532 เขาต้องการให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ มีการทบทวนตัวเอง และกำหนดกรอบทิศทางเดินให้เด่นชัดในทุกช่วง
5-7 ปี ดังนั้นจึงกำหนดให้ผู้บริหารทุก ฝ่ายมีการทำแผนระยะยาว 5 ปีออกมา
หลังจากนั้นการบริหารการตลาดอย่างเป็นระบบและมียุทธวิธีชัดเจนก็เกิดขึ้นเมื่อคราวที่เขาได้ประกาศ
Segmentation ของกลุ่มค้าปลีกในปี 2536 ตั้งแต่นั้นมาทิศทางของธุรกิจค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล
ได้แตก Segment ใหม่ๆ ออกมาสร้างสีสันให้กับวงการค้าปลีกบ้านเราเป็นอย่างมาก
"แผนที่เราจะประกาศใน MIM รอบนี้ เราเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมงาน
การสร้างยอดขายและมุ่งเน้นทำแต่ธุรกิจหลัก"
CRC เป็นบริษัทแม่ที่ดูแลธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัลกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจค้าปลีกครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เซ็นทรัลกรุ๊ป เริ่มต้นจากธุรกิจค้าปลีก และยังคงถือว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มมาโดยตลอด
แม้ว่าปัจจุบันในเซ็นทรัลกรุ๊ปได้แตกแขนงธุรกิจออกไปถึง 5 กลุ่มแล้วก็ตาม
ปี 2542 ธุรกิจค้าปลีกสามารถทำรายได้ให้ถึง 74.2% ของรายได้รวมทั้งหมดของเซ็นทรัลกรุ๊ป
ซึ่งสูงถึง 70,000 ล้านบาท
ผู้ที่รับผิดชอบธุรกิจค้าปลีก จึงเท่ากับดูแลหัวใจของเซ็นทรัลกรุ๊ป
บริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยตระกูลจิราธิวัฒน์
และจิราธิวัฒน์จะยังคงความเป็นเจ้าของเซ็นทรัลกรุ๊ปต่อไปอีกนาน โดยไม่มีวันเปลี่ยน
ตั้งแต่ปี 2499 หลังจากห้างเจ็งอันเต็ง วังบูรพา ต้นแบบ ของห้างเซ็นทรัล
ดีพาทเม้นท์สโตร์ ถือกำเนิดขึ้นจนสยายปีกมาเป็นเซ็นทรัลกรุ๊ป ในปัจจุบันจิราธิวัฒน์ตั้งแต่รุ่นที่
1-เตียง จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2- สัมฤทธิ์, วันชัย จิราธิวัฒน์ คือ ผู้ที่กุมหัวใจในการบริหารธุรกิจของตระกูล
โดยมีน้องๆ และรุ่นลูก เป็นกำลังสำคัญมาโดยตลอด
"จุดเด่นของตระกูลนี้ คือ มีความสามัคคีในหมู่พี่น้อง ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นเสมอมา"
ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตระกูลจิราธิวัฒน์มานาน ตั้งข้อสังเกต
ความเป็นปึกแผ่นของพี่น้องและการประสบความ สำเร็จทางธุรกิจ ทำให้คนทั่วไปมองจิราธิวัฒน์
และเซ็นทรัลกรุ๊ปเป็นภาพที่ทับซ้อนกัน
"คนส่วนใหญ่มองว่าเซ็นทรัล คือ จิราธิวัฒน์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด"
จนถึงขณะนี้ Generation ของจิราธิวัฒน์ มาถึงรุ่นที่ 4-5 มีสมาชิกในตระกูลมากถึง
164 คนในปี 2543 แต่คนที่เป็นจิราธิวัฒน์โดยกำเนิด และเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้บริหาร
อยู่ในเซ็นทรัลกรุ๊ป ในปัจจุบันมีอยู่ไม่เกิน 50 คนเท่านั้น
เป็นสิ่งยืนยันความ จริงในประเด็นที่ว่า แม้ว่าเซ็นทรัลกรุ๊ปจะเป็นของจิราธิวัฒน์
แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้นามสกุลจิราธิวัฒน์ทุกคน จะมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในเซ็นทรัลกรุ๊ป
"เราต้องมองบริษัทเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาตัวบุคคลเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าคนในความสามารถไม่ถึง
เราจึงไม่สามารถให้เขาทำ" สุทธิชาติบอก
มีการวิเคราะห์กันว่า จากประสบการณ์ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นมาจนถึงทุกวันนี้
ระดับแกนนำของตระกูลจิราธิวัฒน์ได้เรียนรู้หลักการสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการ
ที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับองค์กรธุรกิจของตระกูลให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง
และแข็งแรงได้นั้น จะต้องมีการบริหารครอบครัวและคนในตระกูลให้ดีด้วย
ในยุคของเตียง จิราธิวัฒน์ (2470-2511) สิ่งที่เขาพร่ำสั่งสอนรุ่นลูกทั้ง
26 คน คือ หลักของความขยัน อดทน ประหยัด รู้จัก และรักในการค้าขาย
ซึ่งเป็นหลักที่คนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบ ที่พากันอพยพจากเมืองจีนเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
ประสบความความสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก
ลูก ที่มีความใกล้ชิด และได้รับการสั่งสอนโดย ตรงจากเตียงมากที่สุดคือ
ลูก 3 คนแรก-สัมฤทธิ์, วันชัย และสุทธิพร เพราะเป็นกำลังหลักของตระกูลในช่วงเริ่มต้นการก่อร่างสร้างตัว
รุ่นน้องรองๆ ลงไป แม้จะทันได้รับการอบรมสั่งสอนจาก เตียง แต่ความใกล้ชิดก็ไม่เท่าลูก
3 คนแรก เพราะในช่วงนั้นกิจการของเซ็นทรัลเริ่มใหญ่โตขึ้น และจำนวนพี่น้องก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย
บทบาทหลักจึงตกอยู่ที่สัมฤทธิ์ ในฐานะพี่ชายคนโต
ในยุคของสัมฤทธิ์ (2511-2535) เป็นยุคของการวางรากฐานตระกูลให้มีความมั่นคงพร้อมที่จะเติบโตควบ
คู่กันไปกับธุรกิจ
ยุคของเขาเป็นช่วงที่กิจการเซ็นทรัลกรุ๊ปอยู่ในช่วงของการขยายตัว ขณะเดียวกันจำนวนคนในตระกูลก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้น
เพราะทั้งตัวเขาและรุ่นน้องๆ ต่างเริ่มมีครอบครัว มีลูกในรุ่นที่ 3 ให้เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบ
หลักการหลายอย่างที่สัมฤทธิ์นำมาใช้ในการปกครองคนในครอบครัว ก็เพื่อเตรียมคนในตระกูลให้พร้อมเข้ามาอยู่ในธุรกิจ
เพื่อร่วมกันสร้างธุรกิจให้เจริญเติบโตขึ้น
เขากำหนดให้พี่น้องทุกคนต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน รับประทานข้าวเย็นพร้อมกัน
เพื่อให้เกิดความสามัคคี และใช้โต๊ะกินข้าวตอนเย็นเป็นห้องประชุมย่อย เพื่อปรึกษาหารือเรื่องธุรกิจ
ข้อกำหนดนี้ทำ ให้พี่น้องในตระกูลจิราธิวัฒน์มีความสามัคคีกันอย่างแนบแน่น
และพร้อมจะร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจของตระกูลให้เติบโตยิ่งขึ้น
เขากำหนดสถานศึกษาให้คนในตระกูล โดยลูกผู้ชายจะต้องเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ
ลูกผู้หญิงจะต้องเข้ามาแตร์เดอีวิทยาลัย เพื่อให้ทุกคนได้มีความรู้ภาษาอังกฤษ
และทุกคนมีโอกาสได้เข้ารับการศึกษาจาก ต่างประเทศ
"ในครอบครัวจิราธิวัฒน์ สัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร เป็นเพียง 3 คนที่ไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศ
เพราะอยู่ในช่วงที่ครอบครัวกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ดังนั้นเขาจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก"
คนที่ใกล้ชิดกับตระกูลนี้ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ และมาแตร์เดอีวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากนักสอนศาสนาชาวตะวันตก
การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องภาษาและวัฒนธรรมทางตะวันตก การที่สัมฤทธิ์บังคับให้รุ่นน้องๆ
ต้องผ่านการศึกษาจากทั้ง 2 สถาบัน เปรียบเสมือนการปลูกฝังให้คนในตระกูลจิราธิวัฒน์
มีแนวความคิดในเชิงที่อิงตะวันตกค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับมาเป็นผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตระกูลในภายหลัง เพราะเป็นธุรกิจที่มีการผันแปรตลอดเวลา
คนที่ทำธุรกิจนี้จะต้องรู้จักปรับเปลี่ยนให้ทันแนวคิดการค้าสมัยใหม่ ซึ่ง
มีต้นแบบมาจากทางตะวันตก
"ค้าปลีกทุกอย่างไม่เหมือนกันทุกวัน มีการเปลี่ยน แปลงตลอดเวลา"
สุทธิชาติบอก
ว่ากันว่าแนวคิดในการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ของสัมฤทธิ์ เกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงที่เขาสั่งหนังสือจากต่างประเทศเข้ามาขาย
ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของธุรกิจก่อน ที่จะขยายตัวมาเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
เขาใช้เวลาอ่านหนังสือเหล่านี้ค่อนข้างมาก และได้เห็นข้อได้เปรียบในแนวความคิดของทางตะวันตก
ที่มีมากกว่าทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะวิธีการค้าขายดั้งเดิมแบบไทยๆ ซึ่งเขาและน้องๆ
ก็ได้นำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับห้างเซ็นทรัล
ในยุคของสัมฤทธิ์ เขาจะเป็นคนคัดเลือกคนในตระกูล ในรุ่นน้อง รุ่นลูก และรุ่นหลาน
ให้เข้าไปรับผิดชอบงานส่วนต่างๆ ของเซ็นทรัลกรุ๊ปด้วยตัวเอง แต่หลักในการคัดเลือกตัวบุคคลของเขายึดตามความสามารถ
ไม่ยึดตามศักดิ์อา-หลาน หรือหลักความอาวุโส และหลักการนี้ก็ยังคงได้รับการยึดถือมาโดยตลอด
"เรื่องงานเราไม่นับตามหลักอาวุโส ใครมีความสามารถด้านไหน ก็ให้ทำด้านนั้น
จะนับลำดับศักดิ์ก็ไม่ได้ เพราะหลานมีอายุมากกว่าอา เรานับตามอายุ อย่างยุวดี
(ลูกสาวคนที่ 3 ของสัมฤทธิ์) เป็นหลาน จริยา, สุทธิสาร (ลูกสาว-ลูกชาย คนสุดท้องของเตียง)
เป็นอา สุทธิสาร ต้องเคารพคุณยุวดี เพราะคุณยุวดีอายุมากกว่า"
สัมฤทธิ์เป็นผู้นำตระกูลและผู้นำเซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นเวลาถึงกว่า 20 ปี สามารถวางรากฐานให้กับทั้งเซ็นทรัลกรุ๊ป
และตระกูลจิราธิวัฒน์ได้อย่างแน่นหนา
หลังจากสัมฤทธิ์เสียชีวิตลงในปี 2535 วันชัยน้องชายคนต่อจากเขาได้ขึ้นมาเป็นผู้นำตระกูลแทน
หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานเซ็นทรัลกรุ๊ปมาก่อนหน้าแล้ว 3 ปี
ยุคนี้เป็นช่วงที่คนในตระกูลจิราธิวัฒน์เริ่มมีจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันในการทำธุรกิจก็เริ่มมีความ
สลับซับซ้อน และการแข่งขันกันสูงขึ้น
ยุคนี้เป็นยุคที่วันชัยมองเห็นแล้วว่า การจะนำพากิจการเซ็นทรัลกรุ๊ป ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น
จะต้องทำ 2 ส่วนไปพร้อมเพรียงกัน คือ วางระบบธุรกิจ ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส
และการสร้างระบบครอบครัว ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่น เอื้อต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่ๆ
ให้พร้อมเข้ามารับช่วงธุรกิจ
การสร้างระบบครอบครัว วันชัยดำริให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา
เรียกเป็น Family Council ของตระกูลจิราธิวัฒน์ กรรมการชุดนี้จะเข้ามามีบทบาท
ในการวางรากฐานให้กับครอบครัวจิราธิวัฒน์ เพื่อให้เติบ ใหญ่ได้อย่างมีระบบต่อไปในอนาคต
เขามองไกลไปข้างหน้า โดยยึดหลักการเดิมของเตียง บิดาของเขาที่ต้องการสร้างครอบครัวให้ใหญ่
แต่จะทำอย่างไรที่ครอบครัวใหญ่แล้วยังคงมีความกลมเกลียว สมานสามัคคีกันอย่างแนบแน่น
ซึ่ง Family Council จะต้องเข้ามากำหนดกฎระเบียบตรงนี้ให้มีความชัดเจน
นอกจากนี้ Family Council จะต้องเข้ามาดูในเรื่องสวัสดิการ การดูแลคนในครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
มีการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมของคนในรุ่นหลังๆ ในการเข้ามารับผิดชอบในธุรกิจของตระกูล
"คนที่อยู่ในครอบครัวของเรา เข้ามาทำธุรกิจของ ครอบครัวจำนวนไม่น้อย
ซึ่งตรงนี้ ถ้าเขาเรียนหนังสือดี ได้รับโอกาสดี มีพื้นฐานจิตใจดี ครอบครัวเขาดี
เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำธุรกิจให้ดีขึ้น ไม่ต้องมานั่งห่วงใยครอบครัว"
ดร.สุทธิพันธ์ ลูกชายคนที่ 7 จากบุญศรี ภรรยาคนที่ 2 ของเตียง ในฐานะเลขาธิการ
Family Council ของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ บอกกับ "ผู้จัดการ"
"เราทำธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน และต่อไปจะเป็นรุ่นเหลน
รุ่น 4 รุ่น 5 ซึ่งพอมาถึง ตรงนี้เขาอาจไม่รู้แล้วว่ารุ่นคุณทวด คุณปู่ เขาเป็นกันมาอย่างไร"
ดร.สุทธิพันธ์กล่าวถึงอีกวัตถุประสงค์หนึ่งในการจัดตั้ง Family Council (รายละเอียดอ่านใน
Family Council รูปแบบการจัดการกงสีอย่างมีระบบ)
การจัดระบบธุรกิจในยุคของวันชัย ตั้งแต่ปี 2535 เป็นช่วงที่เซ็นทรัลกรุ๊ปได้จัดโครงสร้างของธุรกิจที่กระจัดกระจายให้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระบบ
และการจัดวางกำลังคนในตระกูลไว้ตามจุดต่างๆ
ในยุคนี้ได้ชูบทบาทบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งเป็น โฮลดิ้ง คัมปะนี ของตระกูล
ให้เป็นแกนนำ โดยเข้าไปถือหุ้นใหญ่และคอยกำกับนโยบายการดำเนินงานของบริษัทในเครือ
มีวันชัยเป็นประธาน สุทธิพร น้องชายคนถัดจาก เขาเป็นรองประธาน และสุทธิชัย
ซึ่งเป็นคนดูแลด้านการ เงินของเซ็นทรัลมาตลอด รองประธาน และประธานอำนวยการฝ่ายการเงิน
ส่วนธุรกิจในเครือทั้งหมดได้มีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 กลุ่ม ที่มอบหมายให้แต่ละคนดูแล
ได้แก่ สุทธิชาติ เป็นประธานธุรกิจค้าปลีก สุทธิธรรมดูแลกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สุทธิเกียรติรับผิดชอบธุรกิจโรงแรมและฟาสต์ฟู้ด และสุทธิศักดิ์เป็นประธานธุรกิจอุตสาหกรรมและค้าส่ง
บุคคลทั้งหมดเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 2 ซึ่งคนที่เหลืออีก 21
คนได้ถูกกระจายออกไปดูแลงาน หลักๆ ของทั้ง 5 กลุ่ม ปี 2543 ประกอบด้วย
กลุ่มค้าปลีก มีสุกัญญา พร้อมพันธ์ ดูแลด้านการเงิน, สุทธิลักษณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
CRC, บุษบา จิราธิวัฒน์ ดูแลห้างสรรพสินค้าเซน, วัลยา จิราธิวัฒน์ ดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจ,
นาถยา จิราธิวัฒน์ ดูแลโรบินสัน, จริยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ
บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ รองผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายบริหารสินค้าห้าง Power Buy
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีสุทธิเดช จิราธิวัฒน์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
และสุทธิภัค จิราธิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
กลุ่มโรงแรม มีสุพัตรา ประมิติธนการ เป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และกลุ่มผลิต
และค้าส่ง มีมุกดา เอื้อวัฒนะสกุล ดูแลด้านการเงิน และปิยพรรณ ชูเทศะ ดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬา
"ต่อไปถ้าจะพูดกันถึงเรื่องของธุรกิจ เราจะต้องมองไปที่เซ็นทรัลกรุ๊ป
และถ้าจะพูดถึงเรื่องจิราธิวัฒน์ ให้มาดูที่ Family Council" ดร.สุทธิพันธ์พยายามแยกภาพที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างความเป็นจิราธิวัฒน์กับเซ็นทรัล
ให้ชัดเจนขึ้น
เซ็นทรัลในยุคที่ 3
ในขณะที่จิราธิวัฒน์รุ่นที่ 2 ยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทหลักในธุรกิจของเซ็นทรัลกรุ๊ป
แต่ในยุคนี้ก็มีจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 ที่เริ่มขยายบทบาทแทรกเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจมากขึ้น
จิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 ที่ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญ เช่น ยุวดี พิจารณ์จิตร
ลูกสาวคนที่ 3 ของสัมฤทธิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล
(CDS) กอบชัย จิราธิวัฒน์ ลูกชายของวันชัย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา
(CPN) หรือปริญญ์ ลูกชายของสัมฤทธิ์ เป็นกรรมการบริหารดูแลเรื่องการเงิน
เซ็นทรัลกรุ๊ป และทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CRC
สังเกตได้ว่าจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 ที่เข้ามามีบทบาทส่วนใหญ่ในขณะนี้ จะเป็นลูกของจิราธิวัฒน์รุ่นที่
2 ที่เกิดจากหวาน ภรรยาคนแรกของเตียง
ซึ่งประกอบไปด้วยสัมฤทธิ์, วันชัย, สุทธิพร, มุกดา เอื้อวัฒนสกุล, สุทธิเกียรติ
และสุทธิชาติ
มีเพียง พงษ์ และพลินี ศกุนตนาค ซึ่งเป็นลูกของลิดา (ภายหลังเปลี่ยนกลับมาใช้นามสกุลจิราธิวัฒน์)
ลูกสาวที่เกิดจากบุญศรี ภรรยาคนที่ 2 ของเตียงเท่านั้น ที่ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในธุรกิจของตระกูลแล้ว
ส่วนจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 ที่เหลือ ถ้าไม่อยู่ในระหว่างการศึกษาก็ทำงานอยู่ในบริษัทอื่นที่อยู่นอกเซ็นทรัลกรุ๊ป
ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ปต่อไปในอนาคต
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจิราธิวัฒน์กลุ่มนี้จะมีสิทธิ์เข้ามาอยู่ในเซ็นทรัลกรุ๊ปได้ทั้งหมด
"เราดูที่ความสามารถเป็นหลัก" สุทธิชาติย้ำ
ในยุคของวันชัย เป็นช่วงที่เซ็นทรัลกรุ๊ปมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากยุคก่อน
ที่สัมฤทธิ์ได้เคยวางรากฐานไว้
เป็นช่วงเดียวกับที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างหวือหวา
ตั้งแต่วันชัยขึ้นมารับตำแหน่งประธานเซ็นทรัลกรุ๊ปในเดือนสิงหาคม 2532
ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว เซ็นทรัลกรุ๊ปก็ได้อาศัยจังหวะนี้ เปลี่ยนรูปแบบการระดมทุน
โดยการผลักดันบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในช่วงต้นปี 2533 ซึ่งสามารถระดมเงินได้ก้อนใหญ่ไว้ใช้ในการขยายกิจการ
การนำธุรกิจในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นการเปลี่ยนแนวทางการบริหารเงินของเซ็นทรัลกรุ๊ป
เพราะกลุ่มนี้ถนัดในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการมาตลอด
ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น
โครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้มากที่สุด คือ โครงการ เซ็นทรัลพลาซา ที่ต้องอาศัยเงินกู้ส่วนหนึ่งจากต่างประเทศ
เพราะในช่วงปี 2521 ที่เริ่มโครงการใหม่ๆ ธนาคารภายในประเทศไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์
จึงไม่ค่อย เต็มใจปล่อยกู้ให้มากนัก มีเพียงธนาคารกรุงเทพ ที่ปล่อย สินเชื่อให้
600 ล้านบาท กับธนาคารศรีนคร อีก 100 ล้านบาท
ซึ่งเงินกู้จากต่างประเทศก้อนดังกล่าว เคยทำให้เซ็นทรัลกรุ๊ปเจ็บปวดไม่น้อย
ภายหลังจากการประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2524 และ 2527
และได้กลายเป็นประสบการณ์ ที่ทำให้เซ็นทรัลกรุ๊ป ไม่นิยมกู้เงินจากต่างประเทศ
แม้ว่าปัจจัยหลายประการจะเอื้ออำนวยให้อย่างมากในภายหลัง
นอกจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นแล้ว ในภาคพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในยุคนี้ก็จัดได้ว่าบูมสุดขีด
เดือนมีนาคม 2538 เซ็นทรัลกรุ๊ป ได้ผลักดันให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (CPN)
บริษัทหลักทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อีกแห่งหนึ่ง
CPN มีสุทธิธรรมเป็นคนดูแล ปัจจุบันเป็นกอบชัย
การเข้าจดทะเบียนของ CPN ถือเป็น Strategic Movement ครั้งสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ป
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มค้าปลีก (CRC) กลุ่มธุรกิจหลักของตระกูล
ซึ่งมีสุทธิชาติเป็นคนดูแล
และเป็นผลกระทบด้านบวก !!!
ในกลุ่มจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 2 สามารถแบ่งช่วงทายาท ธุรกิจ ออกได้เป็น 2
ยุค ยุคแรกคือ กลุ่มบุคคลที่ทำงาน ใกล้ชิดกับเตียงตั้งแต่ยังบุกเบิกธุรกิจ
ซึ่งประกอบด้วยสัมฤทธิ์, วันชัย, สุทธิพร ซึ่งต่อมาภายหลังจากการเปิดห้างเซ็นทรัลสาขาสีลมใหม่ๆ
ในปี 2511 สุทธิเกียรติ กับสุทธิชัยเพิ่งเรียนจบมาจากนอกก็เข้ามาอยู่ร่วมในกลุ่มนี้ด้วย
ในปี 2529 "ผู้จัดการ" เคยขนานนามทั้ง 5 คนนี้ว่า เป็น "5
เสือเซ็นทรัล" เพราะเป็น กลุ่ม ที่มีบทบาทนำในธุรกิจทุกๆ ด้าน
หลังจากนั้นเป็นลูกสาว ประกอบด้วย สุจิตรา มุกดา และรัตนา ก็เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจในช่วงนี้
ส่วนจิราธิวัฒน์รุ่น 2 ยุคถัดมา ซึ่งเข้ามามีบทบาท ในธุรกิจของตระกูล เมื่อเริ่มมีการขยายตัวไปแล้วระดับหนึ่ง
แกนนำของคนรุ่นนี้คือ สุทธิชาติ และสุทธิธรรม
ทั้งคู่ ถือเป็นพี่น้องที่ทำงานเข้าขากันได้อย่าง ดียิ่ง
ทั้งสุทธิชาติ และสุทธิธรรม เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ พร้อมๆ ไปกับการเปิดห้างเซ็นทรัลสาขาชิดลม
โดยสุทธิชาติเริ่มต้นจากการดูแลการพัฒนาบุคลากร และสุทธิธรรมดูแลการโฆษณา
และส่งเสริมการขาย
ผลงานของทั้งคู่ทำให้สาขาชิดลมเป็นสาขาที่ประสบความสำเร็จ สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เปิดเป็นปีแรก
และยังคงเป็นห้างที่มีกำไรสูงสุดอยู่จนถึงปัจจุบัน
ภายหลังการแบ่งกลุ่มรับผิดชอบในปี 2532 โดยสุทธิชาติดูแลกลุ่มค้าปลีก และสุทธิธรรมดูแล
CPN เป็นช่วงที่กลุ่มค้าปลีกของเซ็นทรัลกรุ๊ป มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
มีการขยายรูปแบบห้างสรรพสินค้าประเภทใหม่ นอกเหนือจากห้างเซ็นทรัลดีพาทเม้นท์สโตร์อีกหลายประเภท
ทั้งคอนวีเนียนสโตร์ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ การแยกซูเปอร์มาร์เก็ตออกมาดำเนินกิจการเองต่างหากในชื่อ
ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เพื่อหวังเจาะลูกค้ากลุ่ม
C โดยเฉพาะ
แม้กระทั่งการออกไปเปิดห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ก็เคยวางแผนเอาไว้ (รายละเอียดอ่านใน
CRC หัวหอกธุรกิจเซ็นทรัลกรุ๊ป)
การขยายตัวของกลุ่มค้าปลีก ดำเนินควบคู่ไปกับการขยายตัวของ CPN โดย CPN
จะเป็นคนรับภาระการลงทุนก่อสร้างตัวอาคาร และบริหารอาคาร โดยให้ CRC เป็นลูกค้าเซ้งพื้นที่อาคารทำเป็นห้างสรรพสินค้า
ซึ่งเป็นการตัดภาระการลงทุนก่อสร้างตัวอาคารออกไปจาก CRC ทำให้ CRC สามารถทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าได้อย่างเต็มที่
ส่วน CPN ก็ไม่ต้องพะวงในเรื่องของเงินทุน เพราะสามารถระดมทุนได้จากตลาดหลักทรัพย์
Strategic Movement ครั้งนี้ ทั้ง CRC และ CPN มีแต่ได้กับได้ทั้ง 2 ฝ่าย
จากการขยายงานที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดของเซ็นทรัลกรุ๊ปในยุคนี้ ได้เปิดช่องว่างให้คนนอกตระกูลจิราธิวัฒน์สามารถแทรกเข้ามามีบทบาทในเซ็นทรัลกรุ๊ปมากขึ้น
เพราะยังเป็นช่วงที่จิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 หลายคนยังไม่พร้อมที่จะเข้ามารับผิดชอบงานในธุรกิจของตระกูล
ความไม่พร้อมดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้ยังเด็กเกินไป แต่เป็นเพราะกฎของตระกูลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในภายหลัง
บังคับให้คนรุ่นนี้จะต้องออกไปทำงานหาประสบการณ์จากบริษัทอื่นๆ ก่อนระยะหนึ่ง
จึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานในเซ็นทรัลกรุ๊ปได้
"เรากำหนดไว้เลยว่าอย่างน้อยต้องทำงานข้างนอกมาแล้ว 6 ปี ถึงค่อยกลับเข้ามา"
สุทธิชาติย้ำกับ "ผู้จัดการ"
ในยุคของวันชัย เซ็นทรัลกรุ๊ปต้องผ่านพ้นอุปสรรค สำคัญถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อห้างเซ็นทรัลสาขาชิดลมไฟไหม้ในช่วงปลายปี 2538 หลัง CPN
เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้เพียง 9 เดือน
สาขาชิดลม ถือเป็นหัวใจของเซ็นทรัลกรุ๊ป เพราะนอกจากจะเป็นห้างต้นแบบของห้างเซ็นทรัลหลาย
สาขาแล้ว ยังเป็นฐานบัญชาการสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ป
การเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ห้างนี้ นอกจากจะทำให้สาขานี้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งสูญเสียรายได้ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่แล้วยังทำลายเอกสารสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ปไปเป็นจำนวนมาก
แต่เซ็นทรัลกรุ๊ปก็ใช้จังหวะที่จะต้องรื้อตัวอาคารเพื่อสร้างใหม่ ถือโอกาสปรับระบบการทำงานภายใน
นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เพื่อทำให้ระบบการทำงาน ได้มาตรฐานขึ้น
อุปสรรคครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540
อาจนับได้ว่าเซ็นทรัลกรุ๊ปโชคดีกว่านักธุรกิจในเมืองไทยอีกหลายกลุ่ม เพราะเคยมีประสบการณ์เจ็บปวดมารอบหนึ่งแล้วเมื่อครั้งประเทศไทยลดค่าเงินบาทในปี
2524 กับปี 2527 ทำให้สัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศของเซ็นทรัลกรุ๊ปมีไม่มาก
"เรามีเพียงโรบินสัน ที่มีเงินกู้ต่างประเทศสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์"
สุทธิชาติกล่าว
ผลกระทบที่เซ็นทรัลกรุ๊ปได้รับคือ ขาดเงินสด เพื่อนำมาใช้ในการขยายงาน
เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อย เงินกู้ให้
และเช่นเดิม เซ็นทรัลกรุ๊ปได้ฉวยจังหวะที่เกิดวิกฤติในครั้งนี้ หันกลับมาพิจารณาตัวเองใหม่
มีการปรับทิศทางการลงทุน โครงการใดที่ลงทุนไปแล้วมีแนวโน้มว่าจะไม่มีกำไรได้ตัดทิ้งไป
เหลือไว้เฉพาะโครงการที่มีความจำเป็น หรือเป็นธุรกิจที่เซ็นทรัลกรุ๊ปมีความถนัด
"แต่ก่อนเราอยากจะทำอะไรก็จดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นว่าเล่น มีเกือบ
200-300 บริษัท แต่ตอนนี้เราปิดหมด เหลือทิ้งไว้เฉพาะที่สำคัญจริงๆ"
สุทธิชาติ บอกกับ "ผู้จัดการ"
โดยเฉพาะ CRC สุทธิชาติประกาศเป็นนโยบายออกมาตั้งแต่วิกฤติใหม่ๆ เลยว่า
จะไม่ขยายสาขาของเซ็นทรัลดีพาทเม้นท์สโตร์ไปอีก 3 ปี โดยใช้เวลาในช่วงนี้ทำการล้างบ้านใหม่
เป็นแนวทางคล้ายกับที่เคยทำไว้เมื่อครั้งไฟไหม้สาขาชิดลม
"การล้างบ้าน หมายถึงการจัดสรรทำใหม่ให้เข้าที่ เพราะตอนนั้นเราขยาย
เรารับคนมากเกินไป ตอนนี้เราต้องมาดูว่าอะไรที่อ้วนๆ คนมากไป ต้องจับมารวมกันใหม่
ให้คนกลุ่มเดียวทำ"
ถือเป็นการพลิกฟื้นอุปสรรคที่เผชิญอยู่ให้เป็นโอกาสเป็นครั้งที่ 2 ในยุคที่วันชัยเป็นประธานกรรมการ
เซ็นทรัลกรุ๊ป
ปัจจุบัน วันชัยอายุ 77 ปี แต่ก็ยังทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเขารับตำแหน่งประธานมาแล้วถึง
11 ปีเต็ม
สุทธิพร น้องคนถัดจากวันชัย หลายปีก่อนเขาสุขภาพไม่ดี ช่วงนี้จึงมุ่งทำงานทางด้านศาสนา
เป็นตัวแทนให้กับเซ็นทรัลกรุ๊ป นำกฐินพระราชทานไปถวายตามวัดต่างๆ เป็นหลัก
ทั้ง 2 คน นับวันยิ่งห่างจากงานประจำวันในธุรกิจของตระกูลมากขึ้นตามอายุ
ในขณะที่ภาคธุรกิจเอง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติจากฝั่งตะวันตก
ธุรกิจที่จะต้องอยู่รอดได้ในช่วงนี้ จะต้องมีความกระฉับกระเฉง และก้าวทันแนวคิดของทุนต่างชาติ
คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวในกลุ่มเซ็นทรัลมาอย่างต่อเนื่อง มองสถานการณ์ของเซ็นทรัลกรุ๊ปในขณะนี้
แล้วเริ่มมีความรู้สึกว่าอีกไม่นานอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ขึ้นในเซ็นทรัลกรุ๊ป
ทั้งนี้เพราะมีสัญญาณบ่งชี้บางประการแสดงออกมาให้เห็น
ประการแรก - ระยะเวลา 3 ปีที่กลุ่มค้าปลีกของ เซ็นทรัลกรุ๊ป ชะลอการขยายตัว
ใกล้จะหมดลงแล้ว และในปี 2545 โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการ ใหม่ของ
CPN ที่พระราม 2 สร้างเสร็จ ซึ่งกลุ่มค้าปลีกของเซ็นทรัลกรุ๊ปก็จะขยายสาขาไปเปิดในโครงการดังกล่าว
ด้วย ทั้งเซ็นทรัลดีพาทเม้นท์สโตร์, ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต, Power Buy และ
Super Sport
ซึ่งหมายความได้ว่า เซ็นทรัลกรุ๊ปจะเริ่มกลับมารุก ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ประการที่ 2 - ในกลุ่มจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 2 ขณะนี้ได้เริ่มมีแนวคิดที่จะโยกย้ายสายงานในความรับผิด
ชอบของแต่ละคนใหม่ หลังจากมีการแบ่งกลุ่มกันมา แล้วกว่า 10 ปี
ขณะเดียวกันก็จะมีการปรับย้ายสายงานของจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 3 ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
และอาจจะมีการคัดเลือกคนในรุ่นเดียวกันที่มีประสบการณ์และความพร้อม เข้ามาทำงานในเซ็นทรัลกรุ๊ปเพิ่มมากขึ้น
เป็นการจัดกระบวนทัพเพื่อเตรียมต่อสู้ในสมรภูมิธุรกิจที่กำลังเข้มข้นขึ้น
โดยเฉพาะการรุกเข้ามาของยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกจากต่างประเทศ
"เรื่องการเปลี่ยนแปลงคงจะต้องเข้าไปคุยในบอร์ดของเซ็นทรัลกรุ๊ป โดยปีหน้าเป็นปีที่เราจะคัดเลือกตัวบุคคล
ส่วนการ Rotate เป็นปีถัดไป" สุทธิชาติสรุปกับ "ผู้จัดการ"
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเซ็นทรัลกรุ๊ปช่วงหลังจากนี้ ไปเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง