|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วิจัยกสิกร ชี้ผลกระทบหากไทยถูกสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ(PWL) จากที่เคยอยู่ในบัญชีจับตา(WL)อาจส่งผลต่อประเทศไทยด้านการค้าและการลงทุน ทั้งอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เชื่อมโยงต่างชาติชะลอการลงทุนออกไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานสหรัฐฯ ประกาศผลการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของประเทศคู่ค้าตามกฎหมาย Special 301 ในรายงาน “Special 301” ซึ่งสหรัฐฯ ดำเนินการทบทวนเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ 42 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร โดยสหรัฐฯ แบ่งระดับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็น 2 ระดับ คือ บัญชีจับตา (Watch List : WL) และบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ซึ่งเป็นระดับที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี PWL จะต้องเข้าสู่การหารือสองฝ่ายกับสหรัฐฯ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
ทั้งนี้ประเทศที่สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีจับตามอง (WL) ในปีนี้ มีทั้งสิ้น 30 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เบลีซ โบลีเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน รีพับลิค เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮังการี อิตาลี จาไมกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน คูเวต ลิทัวเนีย เม็กซิโก ปากีสถาน เปรู โปแลนด์ โรมาเนีย ซาอุดิอาระเบีย ทาจิกิสถาน เติร์กมีนิสถาน อุสเบกิสถาน รวมทั้งประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
โดยผลกระทบจากการถูกปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงขึ้น (PWL) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่ไทยถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ในปีนี้ จากเดิมที่อยู่บัญชีจับตา (WL) มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2538 เป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้านการค้าและการลงทุน ทั้งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทย การถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย นอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทยในสายตาของนักลงทุนสหรัฐฯ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับบัญชีที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารุนแรงน้อยกว่าไทย อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ พิจารณาหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายภายในของไทยยังมีความไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ค้าปลีก ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในไทยในปีนี้
ผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ ลดระดับบัญชีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเป็นระดับที่มีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ กำหนดให้การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษ GSP กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการทบทวนรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550
สำหรับในปัจจุบันไทยใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยได้รับการยกเว้นภาษี (ภาษีเป็น 0%) รวมราว 1,200 รายการ มูลค่าประมาณ 4,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าส่งออกไทยดังกล่าวที่ได้รับสิทธิ GSP มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคามากขึ้น สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูงในปัจจุบันเรียงตามลำดับ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินมีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น ยางเรเดียล เครื่องรับโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก (โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)
อย่างไรก็ตามสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ เป็นสิทธิพิเศษสำหรับการส่งออกของไทยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสหรัฐฯ สามารถยกเลิกหรือระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP แก่ไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ในอนาคตไทยอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทุกรายการสินค้า หากเศรษฐกิจไทยมีระดับการพัฒนาสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรกระจายความเสี่ยง โดยการกระจายการส่งออกไปตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส เช่น ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ และประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่งออกน้ำมัน รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการส่งออกไปประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเว้นภาษีศุลกากรไปตลาดดังกล่าว
|
|
|
|
|