แหล่งข่าววาณิชธนกิจ เปิดเผยว่าบริษัท เบียร์ไทย 1991 จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเบียร์
ภายใต้สัญญลักษณ์เบียร์ช้าง ที่มีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวน้ำเมา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
จะเระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้ โดยจะจัดโครงสร้างบริษัทเป็นลักษณะโฮลดิ้ง
มูลค่าเงินระดมทุนรวมประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดโครงสร้างธุรกิจ
และบริษัทกลุ่มเหล้าในเครือ
โดยแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ริลภัทร
จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงิน และแกนนำจัดจำหน่ายหุ้น
"การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท เบียร์ไทย ถือเป็นหุ้นไอพีโอที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งในปีนี้
เพราะจะเป็นขนาดของทุนจดทะเบียนใหญ่ที่สุดของ บจ. เอกชนปีนี้ ทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดฯ
เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2-3 หมื่นล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
ระดมทุนหวัง "ตัดตอน" ส่วนแบ่งตลาดเบียร์
เบียร์ช้าง ของเจ้าสัวเจริญ เบียดเบียร์สิงห์ ของกลุ่มตระกูลภิรมย์ภักดี ที่เคยเป็นจ้าวตลาดเบียร์ไทยมานับทศวรรษ
หลังจากนายเจริญทุ่มงบผูกขาดถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลโลกปี 2002 ที่โสมขาว-ยุ่น เป็นเจ้าภาพร่วม
โดยไม่มีโฆษณาคั่น ซึ่งสร้างความฮือฮาทั่วประเทศช่วงนั้น
ส่งผลเบียร์ช้างเบียดเบียร์สิงห์ ผงาดขึ้นแท่นแชมป์เบียร์ไทยสำเร็จ ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจที่ถึงลูกถึงคน
และกล้าได้กล้าเสีย ของเจ้าสัวเจริญ พร้อมการบังคับขายเบี้ยร์ช้างควบเหล้าแสงโสม
ผ่านร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ที่เกือบเป็นปัญหาระดับชาติมาแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การระดมทุนมหาศาลของนายเจริญครั้งนี้ เพื่อใช้เงินสยายปีกกลุ่มเบียร์ช้างต่อเนื่อง
รวมถึงการซื้อเครือข่ายเหล้านอก เพื่อให้ธุรกิจน้ำเมาของเขาครบวงจร พร้อม ๆ กับการรักษาแชมป์เบียร์ในประเทศต่อเนื่อง
เพื่อ "ผูกขาด ตัดตอน" ความเป็นแชมป์ระยะยาว
ถอนยวงอิมพีเรียล
ก่อนหน้านี้ นายเจริญสั่งถอนยวงเครือโรงแรมอิมพีเรียลจากตลาดหลักทรัพย์ หลังเทกเครือนี้เบ็ดเสร็จจากนายอากร
ฮุนตระกูล ผู้ก่อตั้ง และสร้างโรงแรมเครือนี้ จนอยู่ตัว หลังจากที่เขาประสบปัญหาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
ซึ่งต้องตัดสินใจขายธุรกิจทิ้ง เพราะไร้ทายาทสืบทอด
การถอนเครืออิมพีเรียลจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะนายเจริญมองว่า ขณะนั้น เขามีแหล่งเงินทุนเหลือเฟือ
ไม่จำเป็นต้องพึ่งการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ พร้อมเปลี่ยนชื่อ-ตบแต่งใหม่โรงแรมอิมพีเรียล
ถนนวิทยุ เป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว พลาซ่า แอทธินี ปัจจุบัน
ตลท. เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริษัทที่จะจดทะเบียนมากกว่าปริมาณ ดังนั้น
บริษัทที่มีคุณสมบัติพอจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมให้ดี
ก่อนจดทะเบียนในตลาด
โดยตลาดหลักทรัพย์ยังคงตั้งเป้าบริษัทที่จะจดทะเบียนปีนี้ 60 บริษัท แบ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ อย่างละครึ่ง
ภาษี บจ. ปั 45 เพิ่ม 20%
การที่ภาครัฐเพิ่มแรงจูงใจบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการลดหย่อนการเก็บภาษีนิติบุคคล
ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับลดหย่อนภาษีจาก 30% เหลือ 25%
ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (เอ็มเอไอ) ปรับลดภาษีนิติบุคลลจาก 30%
เหลือ 20% มีผลรอบบัญชีระหว่างปี 2545-2547
ปี 2545 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 373 ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม
37,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ที่มียอดรวม 31,256 ล้านบาท ถึง 20.41% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่
8 บริษัท รวมบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป และบริษัท ทราฟฟิก คอนเนอร์ โฮลดิ้ง ที่ปัจจุบันย้ายเข้าตลาดหลักทรัพย์หลักแล้ว
ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 101.1 ล้านบาท จากปี 2544 ที่ 66.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
51.67% ซึ่งถือว่ารัฐบาลยังได้รับผลประโยชน์จากการเก็บภาษี แม้จะมีมาตรการลดหย่อนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
ตลท.เร่งศีกษายืดลดภาษี บจ.
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จะศึกษาการยกเว้นภาษีให้บริษัทจดทะเบียน
คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในปีนี้ว่า จะขยายเวลาหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับตลาดหุ้นมากแล้ว
ภาคเอกชนจึงควรใช้ประโยชน์ให้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าว จะครอบคลุมมาตรการภาษีทุกด้าน ที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์กับตลาดหลักทรัพย์
"ตลาดหลักทรัพย์จะมีการศึกษาเรื่องการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน
ซึ่งจะหมดสิทธิประโยชน์ในปี 2547 เพื่อให้ได้ข้อสรุปรวดเร็ว
แต่จะไม่ใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขดึงบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ จำนวนมาก เพราะขณะนี้
ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ" นายกิตติรัตน์กล่าว
กรรมการผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า กฏเกณฑ์รับหลักทรัพย์ที่แก้ไข จึงเข้มขึ้น ช่วงที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการบางรายให้ความเห็นว่า จะทำให้เอกชนเข้ามาจดทะเบียนยากขึ้น เพราะฉะนั้น
บริษัทที่คุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ จึงควรเตรียมความพร้อม ก่อนเข้ามาจดทะเบียน
รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ตลาดหุ้น ประกอบด้วย ภาษีกำไรจากการลงทุนหุ้นสามัญของบุคคลธรรมดา
ภาษีกำไรจากการลงทุนหน่วยลงทุน ภาษีกำไรจากการบริหารกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)
ภาษีนิติบุคคลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่