|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติออกรายงานแนวโน้มธุรกิจไตรมาสแรก เผยผู้ประกอบการยังกังวลใน 3 เรื่องหลัก "ภาคการเมืองที่ไม่ชัดเจน-สถานการณ์ความรุนแรง3จังหวัดภาคใต้" "ความผันผวนค่าเงินบาท" และ"ความชัดเจน-ต่อเนื่องของนโยบายรัฐ" ฟุ้งเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นที่กลับคืน ขณะที่ภาคส่งออกยังเป็นแรงหนุนหลัก หลังไตรมาสแรกโตเกินคาด ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไตรมาสแรกเศรษฐกิจโต 3% จากแรงฮึดภาคส่งออก
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกรายงานแนวโน้มธุรกิจจากการรวบรวมข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจในสาขาต่างๆทั่วประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี2550 จำนวน 170 ราย โดยพบว่าอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบกังวลใจเป็นกรณีสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ เป็นกรณีความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ในการออกกฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินำนเข้าระยะสั้น และพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กระทบการดำเนินธุรกิจผู้ประกอบการส่งออกค่อนข้างมาก และปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
ส่วนผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของเงินและมาตรการภาครัฐ จากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจตส่งออกส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่โน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องค่อนข้างมาก ซึ่งมีผลทำให้ผลกำไรของธุรกิจลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging)ไว้ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ใช้กลยุทธในการบริหารต้นทุนค่าใข้จ่ายด้านอื่นๆเพื่อทดแทนกำไรที่สูญเสียไป ขณะที่บางรายได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาจำหน่ายในประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องการดำเนินมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของธปท.นั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฎิบัติและความเข้าใจในระยะแรก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ และอาจส่งผลให้แผนการลงทุนบางโครงการต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ
ยังหวังส่งออกพยุงเศรษฐกิจต่อ
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2550 คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ แม้ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
โดยปัจจัยเสี่ยงและประเด็นที่ต้องระมัดระวังในปี 2550 ทั้งปัจจัยภายนอกและข้อจำกัดภายในประเทศ ได้แก่ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาขาดดุลแฝด (Twin deficits)ของสหรัฐฯที่อารุนแรงมากขึ้นซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์สรอ.อ่อนลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้นและมีความผันผวนต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่สำคัญ คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้
เตือนส่งออกเริ่มรับผลบาทแข็งมากขึ้น
ด้านอุปสงค์โดยรวม จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่องและทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำในไตรมาสแรก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาระหนี้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคนั้น คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยภาพรวมในปี 2550 น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและความชัดเจนทางการเมือง รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น หากสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ตามกำหนด ซึ่งน่าจะช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่ไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงชะลอการตัดสินใจการลงทุนออกไปจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของรับบาลชุดใหม่ รวมทั้งรอดูความชัดเจนในเรื่องนโยบายสำคัญๆของรัฐบาลใหม่ สำหรับนักลงทุนต่างชาตินั้นยังรอให้การปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าวมีความชัดเจนมากขึ้น ในเรื่องสิทธิการออกเสียงและความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ รวมทั้งการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจในกิจการที่เคยคุ้มครองไว้เฉพาะคนไทย
ส่วนการลงทุนภาครัฐ ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งแบบราง(รถไฟฟ้า)ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการประมูล ทำสัญญา และของบประมาณอย่างน้อย 1 ปี และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้อย่างเร็วในปี 2551
ภาคการส่งออก แนวโน้มในปี 2550 คาดว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้น แม้ว่าในไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มต้องเพิ่มปริมาณการส่งออกเพื่อชดเชย Margin ที่ลดลง ขณะที่บางกลุ่มหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น โดยรวมคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวและอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าในประเทศในลดลง กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ และคเรื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าและระดับ Margin ค่อนข้างต่ำ ส่วนการท่องเที่ยวและการให้บริการทางการแพทย์ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในระยะสั้นแต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกเพราะทำให้ราคาสูงขึ้น ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัว
ด้านภาคการผลิตและอุปทานโดยรวมนั้น ส่วนของภาคเกษตรในไตรมาสแรกปี 2550 ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมขยายตัวในเกษณ์ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลผลิตพืชผลสำคัญ แต่ปี 2550 ก็นับได้ว่าเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรแปรรูป ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ราคาน้ำมันที่แม้ขณะนี้ปรับลดลงแล้ว แต่ก็จะนับทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีความผันผวนที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(Non-tariff barriers)ที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาใช้กันมากขึ้น และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทย
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2550 คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวจากปี 2549 ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซา และประเด็นความเสี่ยงและสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆภายในประเทศ สอดคล้องกับภาวะการลงทุนที่ชะลอลง ขณะที่อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงในไตรมาสแรกได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี จากการที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯยังคงใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้าสิ่งทอจากจีนจนถึงปี 2551 น่าจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องต่อไป ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับชะลอลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและการส่งออกที่ชะลอลง เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอต้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยตค้องพยายามหาตลาดใหม่ทดแทน
ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินจีดีพีไตรมาสแรกโต3%
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณอัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2550 ว่า จะขยายตัวประมาณ 3.0% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 4.2% ในไตรมาสที่สี่ปี 2549 โดยยังได้รับแรงหนุนหลักจากการส่งออก ซึ่งขยายตัว18.5% แม้ชะลอตัวลงจาก 19.7% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 แต่ยังนับเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวเพียง 3.5% ในไตรมาสแรกของปี 2550 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 7.2% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีมูลค่าเกินดุล 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
สำหรับภาวะการใช้จ่ายในประเทศ ชะลอตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน เห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่ขยายตัว 3.3% ลดลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 5.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่หดตัว 16.2% ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว 19.4% เป็นผลจากปัญหาความเชื่อมั่น ที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการเดินหน้าแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ยอดการเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2550 ขยายตัว 26.8% ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2550 (ม.ค.-มี.ค. 2550) เทียบกับที่หดตัว 17.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้รัฐบาลมีดุลเงินสด ขาดดุลเป็นจำนวน 127,50 ล้านบาท ส่วนภาคการเกษตร อัตราการขยายตัวด้านการผลิตสินค้าเกษตรได้ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้าที่ถูกกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 4.7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับ 2.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2549 แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว 4.3% ต่อเนื่องจากที่หดตัว 5% ในไตรมาสที่สี่ปี 2549
ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวไว้ที่ 3.5-4.5% โดยมีกรณีฐานอยู่ที่ 4% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 5% ในปี 2549 เป็นผลจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชนจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกของทั้งปีอาจจะขยายตัวประมาณ 10.0-12.5% การนำเข้าจะขยายตัว 5.5-8.0% ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจเกินดุลถึง 8,700-12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับที่เกินดุล 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนหน้า
|
|
|
|
|