แม้จะเป็นปีแห่งฤกษ์งามยามดี หลังจากก้าวผ่านพ้นปีที่ 25 ยืนยันความแข็งแกร่งขององค์กรที่หากเปรียบเป็นคน ก็อยู่ในวัยกลางคน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสภาพเศรษฐกิจที่ทั้งพุ่งขึ้นสูง และดิ่งล้มลงต่ำ แต่ก็ยังสามารถยืนอยู่เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้า นักลงทุนและประชาชนทั่วไปตลอดมา รวมไปถึงมีการเคลื่อนไหวปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ เปลี่ยนภาพจากค่ายเทปอันดับ 2 ของประเทศ ให้กลายเป็นผู้ให้บริการด้านคอนเท้นต์ความบันเทิง Entertainment Network อันดับหนึ่งของประเทศ ที่มองได้ถึงเส้นทางของธุรกิจในอนาคต แต่ผ่านการดำเนินธุรกิจเพียงแค่ 3 เดือนของปีนี้ ดูเหมือนสภาพเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณเตือนว่า ปีที่ 26 อาจไม่ใช่ปีที่ดีของอาร์เอส ก็เป็นได้
โครงสร้าง Entertainment Network ของอาร์เอส ที่แบ่งออกเป็น 2 สายงานหลัก Entertainment & Sport Content Provider และ Multimedia Service และกระจายออกเป็น 8 สายธุรกิจ Music, Digital, Showbiz, Film, Sports, Television, Radio และ Publishing เดินหน้าสร้างรายได้ตั้งแต่ก่อนมีการประกาศเปิดตัว แผนการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ แผนการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องใหม่ ตลอดจนลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬารายการใหญ่ อย่างฟุตบอลโลก ทยอยเปิดตัวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ 35,000 ล้านบาทในปี 2550 แต่เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ อาร์เอส ก็มาพบว่า ลำพังโครงสร้างธุรกิจ แม้จะมีความน่าสนใจเพียงใด แต่หากไม่มีการเดินเครื่องด้วยกลยุทธการตลาดที่เหมาะสม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจของปัจจุบันนี้
การปรับโมเดลด้านการขาย สร้างทีมขาย One Stop Service เปลี่ยนรูปแบบการเข้าหาลูกค้าที่เคยเป็นเพียงการขายสื่อ สู่การเป็นเสมือน Marketing Agency พนักงานขายที่เคยต่างคนต่างขายเฉพาะสื่อที่ตนดูแล กลายเป็นทีมขายจากส่วนกลางที่มุ่งเสนอขายสื่อในลักษณะซินเนอยี่บริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน 8 ธุรกิจ สร้างเป็นกลยุทธการตลาดแบบ IMC (Integrated Marketing Communication) ที่นักการตลาดมองว่าเหมาะสมกับการทำตลาดของสินค้าหรือบริการในปัจจุบัน
มณฑิรา ลิมปนารมณ์ รองกรรมการผู้จัดการ อาร์เอส อดีตมือการตลาดด้านค้าปลีก ที่มีบทบาทในการบริหารห้างสรรพสินค้าโรบินสันยุครุ่งโรจน์ ได้รับมอบหมายให้นำประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นกลับมาดูแลงานด้านการขายรวมของอาร์เอส กล่าวว่า ภาวะการณ์ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ปรับตัวได้เร็ว จะได้เปรียบในการทำตลาด
"วันนี้เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดมีน้อยมาก ลูกค้าส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล รีรอ ไม่กล้าใช้เงิน หรือหากจะใช้ก็จะไม่มีการซื้อสื่อในระยะยาว อาร์เอส จึงต้องเร่งปรับตัว"
มณฑิรา กล่าวว่า ทีมขายของตนจะทำหน้าที่เหมือนกับพาร์ทเนอร์ที่จะเข้าไปร่วมพูดคุยกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมวางแผนการสื่อสารการตลาด หาแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยใช้เครื่องมือจาก 8 ธุรกิจของอาร์เอส ที่สามารถนำมาซินเนอยี่เพื่อบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งขณะนี้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า 3-4 ราย เช่น ความร่วมมือระหว่างกลุ่ม Music กับเนสท์เล่ ในการจัดกิจกรรมดนตรีลูกทุ่งเจาะตลาดภาคใต้ อันเป็นตลาดที่เนสกาแฟยังไม่แข็งแกร่ง รวมถึงความร่วมมือกับ ยามาฮ่า เซเว่น-อีเลฟเว่น และเนสท์เล่ กับธุรกิจ Film ในการให้การสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องใหม่ รักนะ 24 ชั่วโมง
สุรชัย กล่าวว่า โมเดลธุรกิจนี้ จะเป็นการสร้างความแตกต่าง ชูศักยภาพในการให้บริการที่มีมากกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันถือเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน สร้างรูปแบบการบริการในแบบ IMC ที่สอดรับกับความต้องการของธุรกิจ ทำให้มั่นใจว่า สิ้นปีนี้อาร์เอสจะยังคงเป้าหมายรายได้ที่ 3,500 ล้านบาท ได้ตามที่เคยประกาศไว้ได้แน่นอน
|